หลุยส์-นีกอลา ดาวู
หลุยส์-นีกอลา ดาวู (ฝรั่งเศส: Louis-Nicolas Davout) เป็นผู้บัญชาการทหารชาวฝรั่งเศสในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาได้รับยศจอมพลแห่งจักรวรรดิในช่วงสงครามนโปเลียน เขาเป็นนักการทหารผู้มากความสามารถ และได้รับการนับถือในความมีวินัยอย่างเคร่งครัด ทำให้เขาได้รับฉายา จอมพลเหล็ก (Le Maréchal de fer) เขาเป็นหนึ่งจอมพลชั้นเยี่ยมที่สุดของนโปเลียน[1][2] อยู่ในระดับเดียวกับจอมพลอ็องเดร มาเซนา และฌ็อง ลาน เขามีความจงรักภักดีต่อนโปเลียนผู้เดียว ภายหลังนโปเลียนสิ้นอำนาจ เขาปฏิเสธที่จะรับใช้ราชวงศ์บูร์บงและลาออกจากราชการ
จอมพลแห่งจักรวรรดิ หลุยส์-นีกอลา ดาวู ดยุกแห่งเอาเออร์ชเต็ท เจ้าชายแห่งเอ็คมืล | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการสงครามแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส | |
ดำรงตำแหน่ง 20 มีนาคม 1815 – 9 กรกฎาคม 1815 | |
กษัตริย์ | นโปเลียนที่ 1 นโปเลียนที่ 2 |
ก่อนหน้า | อ็องรี ฌัก กีโยม กลาร์ก |
ถัดไป | โลร็อง เดอ กูวียง แซ็งซี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1770 อานูว์, ราชอาณาจักรฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 1 มิถุนายน ค.ศ. 1823 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส | (53 ปี)
บุตร | 8 คน |
ชื่อเล่น | จอมพลเหล็ก |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ราชอาณาจักรฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 |
สังกัด | กองทัพบก |
ประจำการ | 1788–1815 |
ยศ | จอมพลแห่งจักรวรรดิ |
ผ่านศึก | สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส สงครามนโปเลียน |
หลังออกจากราชการ เขาเป็นแสดงความมาดร้ายต่อราชวงศ์บูร์บงอย่างเปิดเผย ต่อมาเมื่อนโปเลียนหนีจากเกาะเอลบาสู่ปารีส ดาวูกลับมารับใช้นโปเลียนอีกครั้ง และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม ทำหน้าที่อยู่ในปารีส โดยไม่ได้เข้าร่วมยุทธการที่วอเตอร์ลู เมื่อราชวงศ์บูร์บงคืนสู่อำนาจอีกครั้งก็ถอดยศดาวู ผ่านไปไม่นาน ดาวูเริ่มเปิดใจให้ราชวงศ์บูร์บง ท้ายที่สุดเขาก็ได้ยศคืนในปี 1819 และเป็นสมาชิกโรงขุนนาง
ประวัติ
แก้หลุยส์-นีกอลา ดาวู เกิดในหมู่บ้านขนาดเล็กนามว่าอานูว์ จังหวัดช็องปาญ เป็นบุตรชายคนโตของนายทหารม้านามว่าฌ็อง-ฟร็องซัว ดาวู (Jean-François d'Avout) ตระกูลดาวูมีเชื้อสายขุนนางชั้นล่างแต่ยากจน หลุยส์เข้าศึกษาในเทศบาลบรีแยน-เลอ-ชาโต ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไม่ไกลมาก[3] ต่อมาในปี 1785 ก็ย้ายไปศึกษาในวิทยาลัยทหารในปารีส เขาสำเร็จการศึกษาในปี 1788 และได้ติดยศร้อยตรีในกรมทหารม้าหลวงช็องปาญ[3]
สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส
แก้เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เขามียศเป็นพันเอกในกองทหารอาสา และทำการรบในยุทธการที่เนียร์วินเดินเมื่อปี 1793 ในยุทธการครั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาของเขาแปรพักตร์ไปเข้าข้างออสเตรีย แต่ดาวูปฏิเสธจะเชื้อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา และทำการรบอย่างกล้าหาญ เขาจึงได้เลื่อนยศเป็นพลโท (ฝรั่งเศสสมัยนั้นไม่มียศพลตรี) แต่แล้วการที่เขามีพื้นเพขุนนาง ก็ทำให้เขาถูกปลดจากราชการ แต่ไม่นานก็ได้กลับเข้ารับราชการภายหลังรอแบ็สปีแยร์สิ้นอำนาจ ต่อมาในปี 1794 เขาได้เป็นเพื่อนกับนายพลหลุยส์ เดอแซ และนายพลนีกอลา อูดีโน
นายพลเดอแซเป็นผู้แนะนำให้ดาวูได้รู้จักกับนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต นายพลดาวูปฏิบัติหน้าที่ในการทัพไรน์เมื่อปี 1796 และต่อมา เขาได้ร่วมกับนายพลเดอแซกับนายพลโบนาปาร์ตในการทัพอียิปต์เมื่อปี 1798 ดาวูถูกอังกฤษจับเป็นเชลยเมื่อปี 1800 และก็ได้รับการปล่อยตัวจากการตกลงแลกเปลี่ยนเชลย[4] เมื่อเขาเดินทางกลับยุโรป เขาไม่ได้เข้าร่วมในยุทธการที่มาเร็งโก ที่ซึ่งนายพลเดอแซเสียชีวิต นโปเลียนมองเห็นและเชื่อมั่นในฝีมือของดาวู จึงเลื่อนยศเขาเป็นพลเอก นอกจากนี้ยังจัดแจงให้ดาวูแต่งงานกับเอมี เลอแคลร์ก (น้องสามีของเปาลีน โบนาปาร์ต) ทำให้ดาวูมีเป็นหนึ่งในเครือญาติของนโปเลียน ต่อมาเมื่อนโปเลียนขึ้นเป็นกงสุลเอก ก็แต่งตั้งดาวูเป็นผู้บัญชาการกองทหารคุ้มกันกงสุล
จักรวรรดิฝรั่งเศส
แก้ในปี 1804 เมื่อนโปเลียนปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส ดาวูเป็นหนึ่งในนายพลสิบแปดคนแรกที่ได้รับยศจอมพลแห่งจักรวรรดิ และเป็นผู้มีอายุน้อยที่สุดรวมถึงประสบการณ์น้อยที่สุดที่ได้รับยศจอมพล ด้วยเหตุนี้ ดาวูจึงตกเป็นเป้าอิจฉาริษยาจากนายพลคนอื่นตลอดการรับราชการทหารที่เหลือ
ในช่วงเวลานี้เอง ดาวูในวัยสามสิบกว่าเริ่มหัวล้านและสายตาสั้นจนต้องใส่แว่น รูปลักษณ์ภายนอกดูไม่สง่างามมากนัก แต่เขาเป็นคนซื่อตรงและไม่เห็นแก่เงินเช่นจอมพลหลายคน ดาวูนอนในค่ายกับพวกทหารตลอด ขณะที่จอมพลคนอื่นชอบหาที่นอนที่สะดวกสบายอยู่นอกค่าย กองทัพน้อยที่ 3 ของดาวูต์เป็นหน่วยที่ฝึกหนักที่สุดและเคร่งวินัยที่สุด พวกเขาฝึกรบหลายแบบที่หน่วยอื่นไม่ทำ เช่นการฝึกรบในเวลากลางคืน ฝึกเสริมสมรรถภาพทางกาย
ดาวูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้กองทัพฝรั่งเศสได้รับชัยชนะในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์เมื่อปี 1805 เขานำทหารเจ็ดพันนายเดินทัพด่วนจากเวียนนามาเสริมปีกขวาของกองทัพนโปเลียนที่เอาสเทอร์ลิทซ์ ดาวูใช้เวลาเดินทัพเพียงสองวันด้วยระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตร การมาถึงของดาวูสร้างความตกตะลึงต่อแม่ทัพข้าศึก
ในปี 1806 ยุทธการที่เอาเออร์ชเต็ท ดาวูนำทหาร 27,000 นายเผชิญหน้ากองทัพปรัสเซียในบัญชาของจอมพลดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ซึ่งมีกำลังมากถึง 64,000 นาย ในศึกครั้งนี้ ดาวูต้องสู้ข้าศึกเพียงลำพังโดยที่ไม่มีกองหนุนมาช่วย กระนั้น ดาวูก็อาศัยชัยภูมิ สภาพอากาศ และจิตวิทยา จนคว้าชัยชนะโดยเสียทหารเพียงเจ็ดพันนาย ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์บาดเจ็บหนักและเสียชีวิตในภายหลัง ชัยชนะครั้งนี้ทำให้นโปเลียนตะลึง ทรงแซวดาวูว่ามองจำนวนข้าศึกผิดรึเปล่า ดาวูได้รับการอวยยศเป็นดยุกแห่งเอาเออร์ชเต็ท และได้รับคำชมจากนโปเลียนว่า:
"จอมพลผู้นี้ได้แสดงความกล้าหาญอันโดดเด่นและบุคลิกแน่วแน่ ถือเป็นบุรุษชั้นยอดแห่งการสงคราม"[5]
— 15 ตุลาคม 1806 โดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1
อ้างอิง
แก้- ↑ "Louis Davout". Napoleonic Guide. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
- ↑ Chandler, David G. (1987). Napoleon's Marshals. p. 94. MacMillan, New York.
- ↑ 3.0 3.1 Six, Georges (1934). "D'Avout ou Davout (Louis-Nicolas duc d'Awerstaedt et prince d'Eckmühl)". Dictionnaire biographique des généraux et amiraux français de la Révolution et de l'Empire: 1792–1814 (in French). Vol. 1. Paris: Librairie Historique et Nobilaire. pp. 296–297.
- ↑ ประโยคหรือส่วนของบทความก่อนหน้านี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติ: Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 7 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 870–871. Cites as sources:
- The Marquise de Blocqueville (Davout's daughter) (1870–1880, 1887). Le Maréchal Davout raconté par les siens et lui-même. Paris.
- Chenier (1866). Davout, duc d'Auerstaedt. Paris.
- ↑ ข้อความต้นฉบับ: « Ce maréchal a déployé une bravoure distinguée et de la fermeté de caractère, première qualité d'un homme de guerre. »