หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ร้อยเอก หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ (9 มีนาคม พ.ศ. 2461 — 24 กันยายน พ.ศ. 2528) เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี
หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 4 | |
ประสูติ | 9 มีนาคม พ.ศ. 2461 |
สิ้นชีพตักษัย | 24 กันยายน พ.ศ. 2528 (67 ปี) |
หม่อม | หม่อมราชวงศ์ภัทราตรีทศ สวัสดิวัตน์ |
ราชสกุล | สวัสดิวัตน์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ |
พระมารดา | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี |
พระประวัติ
แก้หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ มีพระนามลำลองว่า ท่านชายม่ำ[1] เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี และเป็นพระโสทรานุชาองค์เล็กในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประสูติ ณ โรงนา อยู่คนละฝั่งถนนตรงกันข้ามกับพระราชวังพญาไทเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2460[2] (แบบสากลคือ พ.ศ. 2461) มีโสทรเชษฐาและโสทรเชษฐภคินีรวม 9 องค์ ดังนี้
- หม่อมเจ้าเสรีสวัสดิกมล (6 กันยายน พ.ศ. 2445 — 7 มีนาคม พ.ศ. 2454)
- หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน์ (8 มกราคม พ.ศ. 2446 — 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2514)
- สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 — 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527)
- หม่อมเจ้าใหม่ (19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 — 17 มีนาคม พ.ศ. 2448)
- หม่อมเจ้าแดง (25 เมษายน พ.ศ. 2450 — 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2450)
- หม่อมเจ้านนทิยาวัด สวัสดิวัตน์ (25 เมษายน พ.ศ. 2452 — 18 ตุลาคม พ.ศ. 2501)
- หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ (15 มกราคม พ.ศ. 2453 — 26 ตุลาคม พ.ศ. 2512)
- หม่อมเจ้ารอดรมาภัฎ (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458 — 4 สิงหาคม พ.ศ. 2460)
การศึกษา
แก้เมื่อเยาว์วัยทรงศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
พ.ศ. 2474 ได้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ สถาบันวิลลิสตัน สหรัฐ เป็นเวลา 4 ปี สำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญา
พ.ศ. 2479 - 2483 ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคอร์เนล สำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
พ.ศ. 2484 - 2486 ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นเวลาปีครึ่ง เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
พ.ศ. 2486 - 2488 เป็นอาสาสมัครปฏิบัติราชการพิเศษในขบวนการเสรีไทย ในสำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ ได้รับเหรียญอิสรภาพประธานาธิบดี จากรัฐบาลสหรัฐ
พ.ศ. 2488 ได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยเอก แห่งกองทัพบกไทย
พ.ศ. 2490 - 2491 ทรงกลับไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน โดยทุนของรัฐบาลเป็นเวลา 2 ปี จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์
การทรงงาน
แก้หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร ทรงเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส คนแรก ในปี พ.ศ.2514 จากนั้นทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี พ.ศ. 2516 และสุดท้ายทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างปี พ.ศ. 2516 - 2522 ก่อนเกษียณอายุราชการ
ช่วงเวลา 2 ปี ที่หม่อมเจ้ายุธิษเฐียรทรงดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ท่านได้ทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีอาสาฬหบูชา ครั้งที่ 2 ณ หอประชุมโรงเรียนลีนวูด เมืองลีนวูด รวมถึงได้ทำหน้าที่เป็นสักขีพยานในการถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดไทยในลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐ โดยพูนศักดิ์ ซอโสตถิกุล ได้ถวายที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพน ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต และพระสงฆ์ 18 รูป เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ก่อนจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันรุ่งขึ้น
เสกสมรส
แก้หม่อมเจ้ายุธิษเฐียรเสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์ภัทราตรีทศ สวัสดิวัตน์ (ราชสกุลเดิม เทวกุล; พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย) เมื่อ พ.ศ. 2494 ณ กรุงวอชิงตัน ไม่มีโอรสธิดา
หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ สิ้นชีพตักษัย เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2528 สิริชันษา 67 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2521 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[3]
- พ.ศ. 2518 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. 2518 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2519 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[5]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 4 (ป.ป.ร.4)[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ เนื่องในวโรกาสพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ ที่ 7 พฤศจิกายน 2553. [ม.ป.ท.]: ม.ป.พ.; 2553.
- ↑ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัฒน์ ท.จ.,ป.ม.,ป.ช. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ.2528
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2020-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 96 ตอนที่ 11 วันที่ 31 มกราคม 2522
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา 16 พฤษภาคม 2518 เล่ม 92 หน้า 95http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2518/D/095/12.PDF
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย] เล่ม 93 ตอนที่ 24 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2519, หน้า 1423
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า เล่ม 43 หน้า 3124 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2469