สุขุม นวลสกุล
รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล (เกิด 8 มกราคม พ.ศ. 2486) เป็นนักพูดและนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ชาวไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สุขุม นวลสกุล | |
---|---|
เกิด | 8 มกราคม พ.ศ. 2486 จังหวัดยะลา ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | อาจารย์มหาวิทยาลัย |
มีชื่อเสียงจาก | นักวิชาการ,นักพูด |
ประวัติ
แก้เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2486 ที่ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 8 คน (ชาย 4 หญิง 4) บิดามีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง (หลวงอนุกูลประชากิจ) ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปครอง พ.ศ. 2475 โดยที่ครอบครัวมีธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์
เริ่มศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา แล้วไปศึกษาต่อยังโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยขณะเรียนได้เรียนในสายวิทยาศาสตร์เพราะมีความตั้งใจจะเป็นแพทย์ แต่คะแนนวิชาทางเคมีหรือชีววิทยาได้ไม่ดี แต่กลับได้คะแนนดีในวิชาภาษาไทย จึงเปลี่ยนไปสอบเอนทรานซ์สายสังคมศาสตร์แทน ซึ่งสอบได้คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาในปี พ.ศ. 2511 (รุ่นที่ 15) ด้วยการใช้เวลาศึกษานานถึง 5 ปี ต่อมาได้เรียนระดับปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์และสังคมวิทยา) มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม (Master of Science [government & Sociology] Texas A & M University) สหรัฐอเมริกา และได้ศึกษาเพิ่มเติมที่สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้รับประกาศนียบัตรสงครามจิตวิทยา
เมื่อครั้งจบปริญญาตรี ได้ทำงานเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารมวยไทยอยู่ 6 เดือน ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เมื่อจบปริญญาโทในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเพิ่งก่อตั้ง นับเป็นคณาจารย์รุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัยด้วยคนหนึ่ง จนกระทั่งได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ และได้เป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จนถึงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2525 และยุติการรับราชการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ก่อนเกษียณอายุราชการจริงหลายปี
นอกจากนี้แล้วในทางการเมือง สนใจและติดตามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่ออายุเพียง 15 ปี เคยเป็นที่ปรึกษาทางการมืองให้แก่นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524-พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม
ในระหว่างดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้เกิดเหตุนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงผู้หนึ่ง ได้เข้าทำร้ายร่างกาย พล.อ.เปรม ด้วยการชกหน้าและด่าทอด้วยคำหยาบคาย ขณะที่ พล.อ.เปรมเป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ที่ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นเจ้าภาพ จน พล.อ.เปรมต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ทาง รศ.สุขุมในฐานะอธิการบดีและที่ปรึกษาของ พล.อ.เปรม ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกทันที แต่ทว่าทางสภามหาวิทยาลัย โดย ศ.ประภาศน์ อวยชัย ประธานสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติให้ดำรงตำแหน่งต่อ[1]
รศ.สุขุม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีจากการวิทยากร พิธีกร นักพูด ในรายการอภิปราย ปราศรัย โต้วาที ทอล์คโชว์ต่าง ๆ รวมทั้งได้จัดรายการทางวิทยุ รายการโทรทัศน์ ในปัจจุบันเป็นวิทยาการให้ความเห็นทางการเมืองและเรื่องทั่วไปทางช่อง 3 โดยเป็นพิธีกรประจำรายการ ก๊วนข่าวเช้าวันหยุด คู่กับ กฤษนะ ละไล[2]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2539 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ กองบรรณาธิการมติชน, 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน, 2549, สำนักพิมพ์มติชน ISBN 974-323-889-1
- ↑ "รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 2011-07-29.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๗ ง หน้า ๔๘๐, ๑๕ มกราคม ๒๕๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๖๗๖, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๙
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- รศ.สุขุม นวลสกุล
- ประวัติ และผลงาน เก็บถาวร 2020-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สถาบันฝึกอบรมมัลติสมาร์ท (www.multi-smart.com)