สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11

สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 พระนามเดิม อัมโบรโจ ดามีอาโน อาคิลเล รัตตี (อิตาลี: Ambrogio Damiano Achille Ratti) เป็นประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิกตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 จนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1939 เป็นประมุของค์แรกของนครรัฐวาติกันตั้งแต่เป็นรัฐอิสระในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929

สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ใน ค.ศ. 1922

พระองค์ออกสมณสาส์นหลายฉบับ เช่น Quadragesimo anno เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีที่สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ออกสมณสาส์น Rerum novarum, ที่แสดงถึงความละโมบของทุนนิยม อันตรายของสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ และความยุติธรรมทางสังคม และสมณสาส์น Quas primas ตั้งวันฉลองพระคริสตราชาเพื่อตอบโต้คตินิยมต่อต้านศาสนจักร สมณสาส์น Studiorum ducem ที่ออกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1923 เนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ศตวรรษแห่งการสถาปนาบาทหลวงทอมัส อไควนัส เป็นนักบุญ[1][2]

พระองค์ยังทำข้อตกลงหลายฉบับ เช่น Reichskonkordat กับนาซี แต่ต่อมานาซีละเมิดข้อตกลงนั้น จนต้องทรงออกสมณสาส์น Mit brennender Sorge ประนามการกระทำดังกล่าว ในสมณสมัยของพระองค์มีการทำสนธิสัญญาลาเตรันในปี ค.ศ. 1929 เพื่อแก้ไขความขัดแย้งกับรัฐบาลอิตาลีเกี่ยวกับสถานะของพระสันตะปาปาและศาสนจักรคาทอลิกในประเทศอิตาลี และทรงสามารถระงับการเบียดเบียนศาสนจักรและนักบวชในประเทศเม็กซิโก สเปน และสหภาพโซเวียต พระองค์ได้ประกาศตั้งนักบุญหลายองค์ เช่น ทอมัส มอร์ ปีเทอร์ กานิส แบร์นาแด็ต ซูบีรู และโจวันนี บอสโก ตลอดจนเตแรซแห่งลีซีเยอ ที่ทรงนับถือเป็นพิเศษ และได้สถาปนานักบุญอัลแบร์ตุส มาญุส เป็นนักปราชญ์แห่งคริสตจักร นอกจากนี้สมณสมัยของพระองค์ยังส่งเสริมบทบาทของฆราวาสในศาสนจักร และวิจารณ์ฮิตเลอร์และมุสโสลินี

สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 ณ พระราชวังพระสันตะปาปา และฝังพระศพที่มหาวิหารนักบุญเปโตร โดยระหว่างขุดเตรียมหลุมพระศพได้มีค้นพบกระดูกซึ่งเชื่อว่าเป็นของนักบุญเปโตร.[3][4][5]

อ้างอิง

แก้
  1. "Studiorum ducem". Vatican.va. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2013.
  2. "STUDIORUM DUCEM (On St. Thomas Aquinas)[English translation]". EWTN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2015.
  3. Rev. William P. Saunders (13 กุมภาพันธ์ 2014). "Does the church possess the actual bones of St. Peter?". Catholic Straight Answers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 ธันวาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2015.
  4. "Vatican displays Saint Peter's bones for the first time". The Guardian. 24 พฤศจิกายน 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2015.
  5. Jacob Neusner (9 กรกฎาคม 2004). Christianity, Judaism and Other Greco-Roman Cults, Part 2: Early Christianity. Wipf and Stock Publishers. p. 149. ISBN 978-1-59244-740-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2018.