พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร

พระบาทสมเด็จพระนโรดม (เขมร: ព្រះបាទនរោត្តម, พฺระบาทนโรตฺตม "พระบาทนโรดม") หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ หรือ นักองค์ราชาวดี (เขมร: អង្គ រាជាវតី, องคฺราชาวดี "องค์ราชาวดี") เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 109 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

พระบาทสมเด็จพระนโรดม
พระบรมฉายาลักษณ์ในปี 2423
พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา
ครองราชย์19 ตุลาคม 2403 – 24 เมษายน 2447 (43 ปี 188 วัน)
ราชาภิเษก3 มิถุนายน 2407
ก่อนหน้าสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
ถัดไปพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
พระราชสมภพ3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377
จังหวัดตาแก้ว อาณาจักรเขมร
สวรรคต24 เมษายน พ.ศ. 2447 (70 พรรษา)
พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล ราชธานีพนมเปญ, กัมพูชา
คู่อภิเษกพระอัครมเหสี:
พระองค์เจ้าดารากร
พระมเหสี:
หม่อมเจ้าพัชนี
พระองค์เจ้าอรรคนารี
พระองค์เจ้าสำอางค์
รวม 47 พระองค์[1]
พระราชบุตร61 พระองค์
พระนามเต็ม
องค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร คุณสารสุนทรฤทธิ์ มหิศวราธิบดี ศรีสุริโยสุรัตน์นฤพัทธ์พงศ์ดำรงราช บรมนารถมหากำโพชาธิบดินทร สรรพศิลปสิทธิ์สถิตสถาพร พรหมามรอำนวยไชย เป็นมไหสวริยาธิบดีในปฐพีดล สกลกัมโพชาณาจักร อัครมหาบุรุษรัตนวัฒนาดิเรก เอกอุดมบรมบพิตร พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี
ราชวงศ์ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
(ราชสกุลนโรดม)
พระราชบิดาสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระราชมารดาสมเด็จพระวรราชินี (แป้น)
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระองค์เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) และเป็นพระเชษฐาร่วมสมเด็จพระราชบิดาของ พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์) กษัตริย์กัมพูชาองค์ต่อมาซึ่งทรงขึ้นครองราชย์เมี่อ พ.ศ. 2447 สืบต่อจากพระองค์

ในรัชสมัยของพระองค์กัมพูชาได้หลุดพ้นการตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามและกลายมาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้พระองค์ได้ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชาองค์แรกที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

เมื่อทรงพระเยาว์

แก้
  พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชายุคใหม่
 สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร
 พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
 พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ครั้งที่ 1)
 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต
 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ครั้งที่ 2)
 พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี

เสด็จพระราชสมภพเมี่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377 ที่อังกอร์โบเร (จังหวัดตาแก้ว) ขณะที่เอกสารของไทยระบุว่าพระองค์เสด็จพระราชสมภพที่กรุงเทพมหานคร[2][3][4]

เมื่อพำนักในกรุงเทพฯ พระองค์มีสถานะเป็นพระราชบุตรบุญธรรมของกษัตริย์สยาม ผนวชในธรรมยุติกนิกาย 1 พรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาแล้ว พระองค์ได้ส่งพระราชโอรส คือ นักองค์ราชาวดี เข้ามาทำราชการที่กรุงเทพมหานครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานครว่า "ตนมีชนมายุเจริญล่วงมากไปแล้ว ขอพระราชทานให้พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงตั้งนักพระองค์ราชาวดี บุตรผู้ใหญ่เป็นมหาอุปราช นักพระองค์ศรีสวัสดิ์บุตรที่ 2 เป็นพระแก้วฟ้า ออกไปช่วยรักษาเมืองเขมร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นักพระองค์ราชาวดีมีนามว่า "องค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์มหาอุปราช" ตั้งนักพระองค์ศรีสวัสดิ์เป็น "องค์หริราชดะไนไกรแก้วฟ้า" ตามที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงขอมา[5] เมื่อ พ.ศ. 2400

ความยุ่งยากก่อนขึ้นครองราชย์

แก้
 
พระราชพิธีของพระนโรดมที่กรุงเทพฯ

หลังจากสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีเสด็จสวรรคตลง เมื่อ พ.ศ. 2403 ได้เกิดความยุ่งยากในการสืบราชสมบัติของกัมพูชา เมื่อนักองค์วัตถา พระอนุชาของพระนโรดมพรหมบริรักษ์ พระมหาอุปราช ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ขอกลับไปถวายบังคมพระบรมศพ เมื่อมาถึงกัมพูชา นักองค์วัตถาแสดงความต้องการที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์และได้รับการสนับสนุนจากสนองโส (หรือสนองสู) ผู้เป็นลุง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของนักองค์ศรีวัตถากับพระนโรดม

ในระหว่างความขัดแย้งนั้น สนองโสได้รวบรวมขุนนางไปตั้งมั่นที่กัมพูชาตะวันออกแล้วยกทัพเข้ามายึดพนมเปญและเมืองอุดงมีไชยได้ พระนโรดมหนีไปพระตะบองซึ่งขณะนั้นอยูในพระราชอาณาเขตสยาม ขุนนางฝ่ายตรงข้ามของสนองโสได้รวบรวมกำลังเข้าต่อต้าน และเป็นฝ่ายชนะ จับตัวสนองโสได้ แต่สนองโสหลบหนีไปสู่อินโดจีนฝรั่งเศสได้ในที่สุด

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในกัมพูชา สยามได้เรียกตัวนักองค์วัตถาเข้ากรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน พระนโรดมก็เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อ 24 มกราคม พ.ศ. 2404 สยามได้ตัดสินใจสนับสนุนให้นักองค์ราชาวดีขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพฯ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร โดยมีขุนนางกัมพูชาในกรุงเทพช่วยกันประกอบพิธี พิธีราชาภิเษกของพระนโรดมได้เป็นไปโดยโดยนิตินัย ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกอีกครั้งที่กรุงอุดงมีชัย โดยพฤตินัย จากนั้นพระองค์ได้ถูกเรียกตัวให้เข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นการอำลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ องค์พระรัชทายาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีในพระนโรดมและได้พระราชทานพระปรมาภิไธยแก่พระนโรดมว่า "องค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร คุณสารสุนทรฤทธิ์ มหิศวราธิบดี ศรีสุริโยสุรัตน์นฤพัทธพงศ์ดำรงราช บรมนารถมหากำโพชาธิบดินทร สรรพศิลปสิทธิ์สถิตสถาพร พรหมามรอำนวยไชย เป็นมไหสวริยาธิบดีในปฐพีดล สกลกัมโพชาณาจักร อัครมหาบุรุษรัตนวัฒนาดิเรก เอกอุดมบรมบพิตร พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี"[6] ทางการสยามได้จัดทัพทางเรือไปส่งนักองค์ราชาวดีที่เมืองกำปอด และเดินทัพทางบกไปยังเมืองอุดงมีไชย ในระหว่างนี้ เกิดการกบฏอีก ออกญาสุทศ (บา) ได้รวบรวมกองทัพตั้งมั่นที่โพธิสัตว์ สยามจึงส่งทัพจากเสียมราฐและจันทบุรีไปปราบจนราบคาบ และได้อัญเชิญสมเด็จพระนโรดมประกอบพิธีราชาภิเษกที่กรุงอุดงมีชัยและขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2407

ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสและการเข้าเป็นรัฐในอารักขา

แก้
 
การขยายตัวของอินโดจีนฝรั่งเศส
 
แผนที่จังหวัดทั้ง 6 ของเวียดนามในปีพ.ศ. 2403

หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ฝรั่งเศสได้เข้ามาขอให้ทำสนธิสัญญาเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งพระนโรดมยินยอมที่จะเข้าเป็นรัฐในอารักขา ในช่วงแรกของการเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสค่อนข้างราบรื่น แต่เมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนนโยบายการปกครองให้เข้มงวดขึ้นจึงเกิดปัญหาขัดแย้งกับข้าหลวงฝรั่งเศส พระองค์ถูกบังคับให้ลงนามในการปฏิรูปกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2427 ทำให้เกิดกบฏชาวนาที่ยืดเยื้อตามมา กบฏยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2430 เมื่อฝรั่งเศสเจรจากับพระองค์สำเร็จ พระองค์จึงประกาศให้ยุติการกบฏและประกาศนิรโทษกรรม

ปลายรัชกาล

แก้
 
พระบรมรูปสมเด็จพระนโรดมทรงม้า ที่วัดพระแก้วมรกต กรุงพนมเปญ

ในช่วงนี้ ฝรั่งเศสพยายามจะลิดรอนอำนาจของกษัตริย์กัมพูชาและเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าการสูงสุดของฝรั่งเศส แต่พระองค์ไม่ยินยอม พระโอรสของพระองค์คือพระยุคนธรได้เดินทางไปยังฝรั่งเศสเพื่อคัดค้านนโยบายนี้จนถูกถอดจากบรรดาศักดิ์และต้องลี้ภัยไปสยาม ฝ่ายฝรั่งเศสก็ได้ทำการย้ายเมืองหลวงจากกรุงอุดงไปที่พนมเปญซึ่งพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ทางการฝรั่งเศสก็ได้ทำใบแจ้งเรื่องย้ายเมืองหลวงและบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยจนสำเร็จ ในช่วงระยะเวลานี้ฝรั่งเศสได้มอบรางวัลเล็กน้อยให้แก่กัมพูชาโดยการเสนอสร้าง พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคลที่คล้ายกับพระบรมมหาราชวังของสยามในกรุงเทพมหานคร ถวายพระนโรดม

เมื่อพระองค์ได้เริ่มต่อต้านฝรั่งเศสมากขึ้นทางการฝรั่งเศสจึงลดพระราชอำนาจของพระนโรดมลง จนสถานะพระมหากษัตริย์กัมพูชากลายเป็นเพียงหุ่นเชิดของฝรั่งเศสเท่านั้นและได้ให้พระสีสุวัตถิ์พระอนุชาของพระองค์ที่นิยมฝรั่งเศสขึ้นสืบสมบัติต่อ ส่วนพระนโรดมได้เสด็จสวรรคตอย่างในปี พ.ศ. 2447 ที่พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นที่กรุงพนมเปญ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2449 ปัจจุบันมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าของพระองค์อยู่ในวัดอุดง

หลังการสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนโรดม ทรงได้รับการถวายพระนามว่า "พระกรุณาพระสุวรรณโกศ"

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้
  ฝรั่งเศส พ.ศ. 2415 เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นประถมาภรณ์  
  สยาม ไม่ทราบปี เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์  
  สยาม ไม่ทราบปี เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาวราภรณ์  

พระราชตระกูล

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. The Varman Dynasty Genealogy
  2. จาก สกุลไทย ฉบับที่ 2605 ปีที่ 50 21 กันยายน 2547 เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ระบุว่าพระราชสมภพที่กรุงเทพ
  3. เติม สิงหัษฐิต. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง. พระนคร : คลังวิทยา, 2490, หน้า 301
  4. ธำรงศักดิ์,2552 ระบุว่าพระราชสมภพที่กรุงเทพฯ เช่นกัน
  5. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๑, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โปรดเกล้า ฯ ให้ตีพิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑, กรุงเทพบรรณาการ, สี่กั๊กพระยาศรี, พระนคร
  6. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑ ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ตอนที่ ๑๔๓. ราชาภิเศกองค์พระนโรดมขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. สยามประเทศไทยกับดินแดนในกัมพูชาและลาว. กทม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์. 2552 หน้า 31-38
ก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ถัดไป
สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี    
พระมหากษัตริย์กัมพูชา
(ราชสกุลนโรดม)

(19 ตุลาคม พ.ศ. 2403 – 24 เมษายน พ.ศ. 2447)
  พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์