สนามมวยเวทีลุมพินี

สนามมวยเวทีลุมพินี (อังกฤษ: Lumpinee Boxing Stadium) เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย เทียบเท่ากับสนามมวยราชดำเนิน เดิมนั้นตั้งอยู่ ณ ถนนพระรามที่ 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ติดกับโรงเรียนเตรียมทหาร (เดิม) ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

สนามมวยลุมพินี
สนามแห่งใหม่ในปี 2557
แผนที่
ที่ตั้งถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (8 ธันวาคม พ.ศ. 2499 – 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557)
ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา (11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน)
แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°52′1.36″N 100°36′31.88″E / 13.8670444°N 100.6088556°E / 13.8670444; 100.6088556
เจ้าของกองการกีฬา กรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบกไทย
สุชาติ แดงประไพ (นายสนามมวย)
ผู้ดำเนินการกองการกีฬา กรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบกไทย
ความจุ5,000
ขนาดสนาม3007.5 m2
การก่อสร้าง
ก่อสร้าง2499
เปิดใช้สนาม8 ธันวาคม พ.ศ. 2499 (สนามมวยลุมพินี พระราม 4)
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (สนามมวยลุมพินี รามอินทรา)
ปิด8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (สนามมวยลุมพินี พระราม 4)
การใช้งาน
ทรงชัย โปรโมชัน
ชิงถ้วยพระราชทานประจำปี
เว็บไซต์
muaythaitickets.com/lumpinee-stadium-events/

สนามมวยเวทีลุมพินีเป็นแหล่งซูเปอร์สเปรดเดอร์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย จากการแข่งขันศึกลุมพินีแชมเปียนเกียรติเพชรเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563

ประวัติ

แก้
 
สนามมวยเวทีลุมพินีเดิม (ถนนพระราม 4)

ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2499 โดย พลตรี ประภาส จารุเสถียร ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยมีการชกมวยนัดแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองการกีฬา กรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบก[1]

สนามมวยเวทีลุมพินี นับได้ว่าเป็นสนามมวยที่มีประวัติยาวนานเช่นเดียวกับสนามมวยราชดำเนิน มีการจัดการชกมวยทั้งมวยไทยและมวยสากล ผ่านการนัดสำคัญ ๆ มาเป็นจำนวนมาก เช่น การชิงแชมป์โลกครั้งแรกของโผน กิ่งเพชร กับปาสคาล เปเรซ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 เป็นต้น มีการชิงแชมป์ของเวทีทั้งในแบบมวยไทยและมวยสากล ซึ่งผู้ที่ได้แชมป์ของเวทีนี้ก็เสมือนได้แชมป์ของประเทศไทย และมีการเดิมพันแชมป์กับแชมป์ในรุ่นเดียวกันของสนามมวยราชดำเนินเสมอ ๆ

สนามมวยเวทีลุมพินี สามารถจัดเก็บค่าผ่านประตูได้มากถึง 3,000,000 บาท ผู้ชมกว่า 10,000 คน เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 จากการชกกันของพงษ์ศิริ พ.ร่วมฤดี กับไพโรจน์น้อย ส.สยามชัย นับเป็นคู่ที่ 6 ของการชกในวันนั้น จากการจัดของทรงชัย รัตนสุบรรณ[2]

สนามมวยเวทีลุมพินี สมัยอยู่ที่ ถนนพระราม 4 จัดให้มีมวยชกทุกวันอังคาร, ศุกร์ เวลา 18.00 - 22.00 น. และวันเสาร์ เวลา 16.00 - 24.30 น. เว้นวันสำคัญทางศาสนา

ปัจจุบัน สนามมวยเวทีลุมพินี อยู่ที่ ถนนรามอินทรา กม.2 จัดให้มีมวยชกทุกวันอังคาร, ศุกร์ เวลา 18.00 - 23.00 น. และวันเสาร์ เวลา 16.00 - 22.00 น. เว้นวันสำคัญทางศาสนา

วัตถุประสงค์

แก้
  1. สนามมวยเวทีลุมพินี เป็นกิจการของกองทัพบก เพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการกองทัพบก และสนับสนุนหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพบก
  2. ผดุงและส่งเสริมศิลปะมวยไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
  3. สร้างอาชีพให้แก่นักมวยไทยและสากล ให้เป็นอาชีพที่มั่นคงประเภทหนึ่ง
  4. สร้างนักมวยสากลแชมป์โลก เพื่อส่งเสริมเกียรติภูมิของชาติไทย
  5. ร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน

นายสนามมวย

แก้
  1. พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ ธ.ค. 2499 - มิ.ย. 2504
  2. พ.ท.เทพ กรานเลิศ ก.ค. 2504 - ต.ค. 2504
  3. พลจัตวา ขุนชิดผะดุงพล ต.ค. 2504 - ก.ค. 2511
  4. พล.ต.ประเสริฐ ธรรมศิริ ก.ค. 2511 - ต.ค. 2515
  5. พ.อ.ทองเติม พบสุข ต.ค. 2515 - ก.ค. 2518
  6. พ.อ.ชาย ดิษยเดช ก.ค. 2518 - พ.ย. 2522
  7. พล.ต.อัสนี สมุทรเสน ธ.ค. 2522 - พ.ค. 2525
  8. พล.ต.สวัสดิ์ ศิริผล มิ.ย. 2525 - ก.ย. 2528
  9. พล.ต.ทวีวิทย์ นิยมเสน ต.ค. 2528 - ก.ย. 2531
  10. พล.ต.ชลอ คงสุวรรณ ต.ค. 2531 - ก.ย. 2534
  11. พล.ต.วรพงศ์ สังวรราชทรัพย์ ต.ค. 2534 - ธ.ค. 2537
  12. พล.ท.วัฒน์ เกิดสว่าง ธ.ค. 2537 - ก.ย. 2541
  13. พล.ต.วันชัย นิลเขียว ต.ค. 2541 - ก.ย. 2544
  14. พล.ต.อนันต์ศักดิ์ ลักษณลม้าย ก.ย. 2544 - 21 มี.ค. 2547
  15. พล.ต.ไพโรจน์ รัฐประเสริฐ 1 เม.ย. 2547 - 31 มี.ค. 2548
  16. พล.ต.กิตติทัศน์ บำเหน็จพันธุ์ 1 เม.ย. 2548 - ก.ย. 2550
  17. พล.ต.ธีระ ไกรพานนท์ ต.ค. 2550 - ก.ย. 2551
  18. พล.ต.เฉลิมเกียรติ โพธิ์ทองนาค 2 ต.ค. 2551 - 2553
  19. พล.ต.สุรไกร จัตุมาศ พ.ศ. 2553 - 2557
  20. พล.ท.บุญสันติ แสนสวัสดิ์ พ.ศ. 2557 - 2558
  21. พล.อ.ระพีศักดิ์ ธนะพัฒน์ พ.ศ. 2558
  22. พล.ต.เกษม เบญจนิรัติศัย พ.ศ. 2558 - 2560
  23. พล.ต.ศุภณัฐ แก้วหิรัญ พ.ศ. 2560 - 2561
  24. พล.ต.ชวเมธ จุ้ยเจริญ พ.ศ. 2561 - 2562
  25. พล.ต.เดชอุดม นิชรัตน์ พ.ศ. 2562
  26. พล.ต.ราชิต อรุณรังษี พ.ศ. 2562 - 2563 (ถูกปลดออกจากราชการ เนื่องจากกรณีการจัดแข่งขันศึกลุมพินีแชมเปียนเกียรติเพชร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563 นำไปสู่การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก)[3]
  27. พล.ท.สุชาติ แดงประไพ พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน

เหตุการณ์สำคัญ

แก้

เหตุระเบิดในสนามมวยเวทีลุมพินี พ.ศ. 2525

แก้

ในคืนวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2525 ระหว่างการจัดมวย "ศึกดังทะลุฟ้ามหากุศล" มีผู้ปาระเบิด 2 ลูก ใส่บริเวณใกล้เวที ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บ 66 คน แคล้ว ธนิกุล กล่าวว่าเหตุนี้เป็นความพยายามลอบสังหารเขา[4]

การย้ายสนามมวยเวทีลุมพินี

แก้

ในปี พ.ศ. 2557 สัญญาเช่าระหว่างสนามมวยเวทีลุมพินี กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน กำลังจะหมดสิ้นลง ทำให้ทางคณะกรรมการบริหารสนามมวยเวทีลุมพินี จำเป็นต้องย้ายเวทีไปยังสถานที่แห่งใหม่ คือ บริเวณศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา ใกล้กับสนามกอล์ฟกองทัพบก โดยในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นพร้อมด้วยคณะ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ สนามมวยเวทีลุมพินีแห่งใหม่[5] โดยจะทำการแข่งขันมวยที่เวทีลุมพินีเดิม (ถนนพระราม 4) เป็นนัดสุดท้ายในวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (แต่สนามมวยฯ ได้ทำการจัดการแข่งขันมวยเป็นวันสุดท้ายอย่างแท้จริงในวันถัดไป คือเมื่อวันเสาร์ที่ 8) โดยมีรายการศึกมวยไทยลุมพินี ทีจีเอ็น ในเวลา 16:00 น. , รายการศึกมวยดีลุมพืนีทีสปอร์ต ในเวลา 21:00 น. (ซึ่งถือเป็นนัดสุดท้ายของรายการนี้ก่อนจะยุติการถ่ายทอดสดไป) และ ศึกมวยไทยลุมพินีเกริกไกร ในเวลา 23:25 น. เป็นรายการสุดท้าย) และทำการแข่งขันมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินีใหม่บริเวณถนนรามอินทราในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[6]

สนามมวยเวทีลุมพินีกับการระบาดของโรคโควิด-19

แก้

จากสถานการณ์การระบาดทั่วของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เริ่มลามมาถึงประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐขอความร่วมมือจากเอกชน ให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนเป็นจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น ซึ่งรวมถึงสนามกีฬาทุกชนิดด้วย[7] ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยได้นำมติดังกล่าวมาทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือถึงนายสนามมวยเวทีลุมพินีไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าสนามมวยเวทีลุมพินีกลับไม่ให้ความร่วมมือ และจัดการแข่งขันศึกลุมพินีแชมเปียนเกียรติเพชร โดยเปิดให้ผู้ชมเข้าชมในสนามมวยตามปกติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม[8] ซึ่งทำให้หลังจากนั้น ในวันที่ 13 มีนาคม แม้ทธิว พอล ดีน ออกมาประกาศว่าตัวเองป่วยเป็นโรคโควิด-19[9] จากนั้นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากการไปตรวจหาเชื้อของเซียนมวยและผู้ชมที่เข้าไปรับชมในวันนั้น จนทำให้สนามมวยเวทีลุมพินีกลายเป็นแหล่งซูเปอร์สเปรดเดอร์ในประเทศไทย ในวันที่ 27 มีนาคม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จึงสั่งย้าย พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก และเป็นนายสนามมวยเวทีลุมพินีในขณะนั้นเข้ามาช่วยราชการภายในกองบัญชาการกองทัพบก และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาสอบสวน โดยมี พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก เป็นประธานกรรมการ[3] จนกระทั่งในวันที่ 4 มิถุนายน พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ในฐานะหนึ่งในกรรมการสอบสวนได้เปิดเผยผลการสอบสวนออกมาว่าสนามมวยเวทีลุมพินีมีความบกพร่องในการควบคุมโรคโควิด-19 จริง พล.อ.อภิรัชต์ จึงสั่งปลดคณะกรรมการสนามมวยเวทีลุมพินีทั้งหมด รวมถึงเตรียมที่จะพิจารณาโทษ พล.ต.ราชิต ต่อไป[10]

ระเบียงภาพ

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "History of Lumpinee". www.wmtc.nu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20.
  2. เทปการชก
  3. 3.0 3.1 สั่งย้ายด่วน! 'พล.ต.ราชิต' เข้ากรุทบ. เซ่นสนามมวยลุมพินี แพร่เชื้อโควิด-19, กรุงเทพธุรกิจ
  4. "ปาระเบิด "เจ้าพ่อ" ในสนามมวย พ.ต.ต.ลูก ผช.อตร.ตายคาที่! "นายหัวชวน" เกือบไม่ได้เป็นนายกฯ!!". mgronline.com. 2020-02-03.
  5. รู้ยัง! "สนามมวยลุมพินีใหม่" จะย้ายไปอยู่ที่ไหน จุผู้ชมกว่า 8,000 คน เวทีสามารถปรับ พับเก็บได้
  6. "เปิดสนามมวยลุมพินีแห่งใหม่ เน้าโชว์นัดเปิดสนาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-12-23.
  7. คณะรัฐมนตรี (3 มีนาคม 2563). "ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี" (PDF). cabinet.soc.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. สำนักข่าวไทย (24 มีนาคม 2563). "กกท.ยันส่งหนังสือแจ้งลุมพินีก่อน 6 มี.ค.63". www.mcot.net. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ไทยพีบีเอส (13 มีนาคม 2563). ""แมทธิว ดีน" ยอมรับติด COVID-19 เตือนคนใกล้ชิดเฝ้าดูอาการ". news.thaipbs.or.th. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. พีพีทีวี (4 มิถุนายน 2563). ""บิ๊กแดง" สั่งปลดยกชุด กก.สนามมวยลุมพินี ฟันซ้ำ "เจ้ากรมฯ" บกพร่องทำโควิดระบาด". www.pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°52′02″N 100°36′32″E / 13.867143°N 100.608816°E / 13.867143; 100.608816