สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Development Research Institute) หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) [1] เป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ที่มีพันธกิจหลักคือ การทำการวิจัยเชิงนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเผยแพร่ต่อภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อการกำหนดนโยบายระยะยาวอันมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ทีดีอาร์ไอถูกก่อตั้งขึ้นโดยความริเริ่มของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ต้องการให้มีหน่วยงานวิจัยและเสนอนโยบายเป็นอิสระของอำนาจการเมืองและข้าราชการ ด้วยเหตุนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น และ ปิแอร์ ทรูโด (Pierre Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา จึงได้ลงนามในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือเพื่อมอบทุนดำเนินการจัดตั้งสถาบันในระยะเริ่มแรก ผ่านทาง องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (Canadian International Development Agency) นอกจากนี้ ยังมี องค์กรเพื่อการพัฒนานานาชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ร่วมให้ทุนสนับสนุนการก่อตั้ง เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนอื่นๆ เช่น บริษัทในกลุ่มมิตซุย บริษัทยูโนแคล ประเทศไทย เป็นต้น
นับตั้งแต่ก่อตั้ง สถาบันได้ดำเนินงานวิจัยไปแล้วมากกว่า 800 โครงการ ในหัวข้อต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศ ทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยมีเป็นหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างประเทศเป็นผู้ว่าจ้างหลัก
นอกเหนือจากรายได้จากการถูกว่าจ้างจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างประเทศแล้ว ทีดีอาร์ไอยังใช้งบประมาณของตนเองในการผลิตงานวิจัยเชิงนโยบายในหัวข้อที่กำหนดเอง โดยเน้นหัวข้อที่ทีดีอาร์ไอคิดว่าสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การพัฒนาระบบศึกษาไทย และโมเดลใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
ปัจจุบัน ทีดีอาร์ไอมีทรัพยากรบุคคลประมาณ 120 คน ในฝ่ายการวิจัย 19 ฝ่าย ได้แก่
- นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม
- นโยบายการเกษตรสมัยใหม่และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชนบท
- นโยบายด้านการกำกับดูแลที่ดี
- นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
- นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา
- นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
- นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์
- นโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร
- นโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม
- นโยบายพลังงานเพื่อความยั่งยืน
- นโยบายด้านแรงงาน
- นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา
- นโยบายการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
- นโยบายด้านอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ
- นโยบายด้านหลักประกันทางสังคม
- นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดแก๊สเรือนกระจก
- นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว
- กฎหมายเพื่อการพัฒนา
- นโยบายทรัพยากรมนุษย์
นักวิชาการของสถาบันฯในปัจจุบัน เช่น ศ. พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร รศ. ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นต้น และในอดีต เช่น ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด