สถานีวิทยุศาลาแดง

สถานีวิทยุศาลาแดง เป็นสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่ในแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เคยเป็นที่ตั้งของกองสัญญาณทหารเรือ และกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ปัจจุบันอาคารเดิมได้ถูกรื้อถอนแล้ว และเป็นที่ตั้งของโครงการวัน แบงค็อก

สถานีวิทยุศาลาแดง
อาคารสถานีวิทยุศาลาแดงหลังเดิม
ที่ตั้งถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
สร้างเมื่อพ.ศ. 2456
สถานะถูกรื้อถอน
เจ้าของ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนสถานีวิทยุศาลาแดง
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร (ฝั่งพระนคร)
เลขอ้างอิง0000109

ประวัติ

แก้

ในปี พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขขึ้น 2 สถานี คือ ที่ตำบลศาลาแดง อำเภอประทุมวัน จังหวัดพระนครธนบุรี กรุงเทพพระมหานคร[1][2] และที่จังหวัดสงขลาอีกแห่งหนึ่ง โดยสถานีในกรุงเทพฯ ใช้ชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า "สถานีราดิโอโทรเลขทหารเรือ"[3] เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรเลขของราชการแห่งแรกในสยาม ที่ตำบลศาลาแดง เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 และได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานส่งทางวิทยุโทรเลขถึงกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งประทับอยู่ที่สถานีสงขลา ความว่า "GREETING TO YOU ON THIS, WHICH WILL BE ONE OF THE MOST IMPORTANT DAY IN OUR HISTORY"[4]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนซึ่งเชื่อมระหว่างถนนเพลินจิตกับถนนพระรามที่ 4 และตัดผ่านด้านหน้าสถานีนี้ว่า "ถนนวิทยุ"[5]

หลังจากนั้น กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ย้ายที่ทำการจากตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขหลังเก่า มาทำการที่สถานีแห่งนี้ แต่ก็ปรากฏว่าผลการรับฟังวิทยุกระจายเสียงบริเวณรอบๆ กรุงเทพฯ ไม่ชัดเจน และมีอาการขาดหายเป็นช่วงๆ กองช่างวิทยุที่ศาลาแดงจึงได้ประกอบเครื่องส่งวิทยุขึ้นเองเป็นคลื่นความถี่ปานกลาง ทางด้านเครื่องรับวิทยุหากเป็นเครื่องประดิษฐ์เอง หรือวิทยุแร่ ว่ากันว่าแม้เสียงจะดังเหมือนแมลงหวี่ แต่ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนในเวลานั้น[4]

บทบาททางการเมือง

แก้

ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน หลังการเจรจาเพื่อให้ทหารเรือส่งตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่เป็นผล ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) จึงสั่งการให้ตำรวจและทหารบกโจมตีที่ตั้งของทหารเรือทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสถานีวิทยุดังกล่าวอันเป็นที่ตั้งของกองสัญญาณทหารเรือด้วย ฝ่ายรัฐบาลได้นำรถยานเกราะบุกเข้าไปแต่ก็ถูกตอบโต้ด้วยปืนต่อสู้รถถัง ทำให้ยานเกราะตำรวจและทหารบกหมอบไปหลายคัน ต้องถอยกลับ[6] อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ย้ายกองสัญญาณทหารเรือออกจากพื้นที่นี้ในปี พ.ศ. 2494[7]

พื้นที่หลังจากย้ายสถานีวิทยุ

แก้

โรงเรียนเตรียมทหาร

แก้

หลังกองสัญญาทหารเรือย้ายออกไป พื้นที่กองสัญญาทหารเรือเก่าจึงเป็นพื้นที่ร้างอยู่หลายปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2504 โรงเรียนเตรียมทหาร ได้ย้ายมาจากที่ตั้งชั่วคราวบริเวณโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนิน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพบก) มาพื้นที่ดังกล่าว[8] ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 โรงเรียนได้รับมอบพื้นที่เพิ่มเติมจากกองพันทหารสื่อสาร และกองร้อยทหารสื่อสารซ่อมบำรุงเขตหลัง กองบัญชาการกองทัพบก ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2543 โรงเรียนเตรียมทหารได้ย้ายไปยังอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก[9]

ในช่วงที่โรงเรียนเตรียมทหารใช้พื้นที่ดังกล่าว อาคารสถานีวิทยุรวมถึงเสาอากาศในบริเวณใกล้เคียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2526[10]

สวนลุมไนท์บาซาร์

แก้

หลังจากโรงเรียนเตรียมทหารย้ายออกไป ในปี พ.ศ. 2544 พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเก่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบกิจการสวนลุมไนท์บาซาร์[11] ซึ่งประกอบด้วยตลาด, ร้านอาหาร, โรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก และบางกอกฮอลล์ (ชื่อเดิม: บีอีซี-เทโร ฮอลล์) แต่ได้มีการรื้ออาคารสถานีวิทยุศาลาแดงที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรออก สวนลุมไนท์บาซาร์ปิดกิจการในปี พ.ศ. 2554 และย้ายไปยังโครงการใหม่ที่ย่านรัชดาภิเษก จนถึงปัจจุบัน

วัน แบงค็อก

แก้
 
ชิ้นส่วนของต่อม่อสะพานที่เดิมน่าจะเป็นของสถานีวิทยุศาลาแดง นำมาใช้สร้างเป็นส่วนหนึ่งของเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก
 
เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2557 กลุ่มทีซีซีชนะการประมูลพื้นที่สวนลุมไนท์บาซาร์เก่าพร้อมทั้งพื้นที่สนามมวยเวทีลุมพินีเดิม[12] สามปีถัดจากนั้นกลุ่มทีซีซีได้เปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่ คือ วัน แบงค็อก และเริ่มก่อสร้างในปีถัดมา จากนั้นเปิดให้บริการระยะแรกเมื่อปี พ.ศ. 2567 และกำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี พ.ศ. 2570 ทั้งนี้ โครงการได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ "เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ แอท วัน แบงค็อก" โดยนำสถาปัตยกรรมบางส่วนจากอาคารสถานีวิทยุศาลาแดงเดิมมาปรับใช้[13][14] รวมทั้งมีการจำลองเสาวิทยุเพื่อเป็นการระลึกถึงสถานีดังกล่าวด้วย[15]

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

แก้

ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีวิทยุศาลาแดง ยังเป็นที่ตั้งของศาลประดิษฐานพระรูป พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เดิมเป็นเพียงศาลไม้ขนาดเล็กและมีสภาพทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ต่อมาในสมัยที่โรงเรียนเตรียมทหารเข้าใช้พื้นที่นี้ ได้มีการบูรณะศาลแห่งนี้ใหม่ ในสมัยที่พลตรี ธีรวัฒน์ เอมะสุวรรณ เป็นผู้บัญชาการ ใช้รูปทรงเดียวกับศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่แหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[16]

พิธีหล่อพระรูปขนาดเท่าพระองค์จริงเพื่อประดิษฐานที่ศาลใหม่ มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วัดหนองไทร อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นในวันที่ 19 ธันวาคม ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญดวงพระวิญญาณเข้าสถิตในองค์พระรูป และอัญเชิญพระรูปประดิษฐานในศาล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลหลังใหม่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2530[16]

หลังโรงเรียนเตรียมทหารย้ายไปยังจังหวัดนครนายก ได้มีการสร้างศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ใหม่ที่นั่น ส่วนศาลเดิมได้มีการปรับปรุงและเปิดให้เข้าสักการะในปี พ.ศ. 2555[17] ต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีเข้าดำเนินกิจการโครงการวัน แบงค็อก ซึ่งพื้นที่ศาลดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ และโรงแรมแอนดาซ ได้มีการปรับปรุงศาลนี้อีกครั้ง โดยรื้อถอนศาลเดิมและก่อสร้างศาลใหม่ กำหนดเปิดให้เข้าสักการะในปี พ.ศ. 2569 ระหว่างนี้ได้มีการอัญเชิญพระรูปไปประดิษฐานชั่วคราวที่ฐานทัพเรือกรุงเทพ[18]

อ้างอิง

แก้
  1. "วันคล้ายวันสถาปนากรมสื่อสารทหารเรือ". ryt9.com.
  2. กรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณร้อยปีก่อนหน้าตาเมืองเป็นอย่างไร
  3. วารสาร 100 ปี กรมสื่อสาร - SlideShare
  4. 4.0 4.1 ตำนานวิทยุไทย เครื่องมือสร้าง-ชาติ
  5. "7 เรื่องราว "ถนนวิทยุ" ย่านนึงที่ไฮเอนด์ที่สุดในประเทศไทยที่คุณอาจยังไม่รู้". ไอ–เออเบิน.
  6. "เรือบินไทยบอมบ์เรือรบไทย ในศึกชิงอำนาจ! ฝ่ายแพ้ชนะใจคนดู สนุกยิ่งกว่าดูหนังสงคราม!!". mgronline.com. 2017-04-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-10-29.
  7. ปลดเขี้ยวเล็บ “กองทัพเรือ” ผลกระทบจากกบฏแมนฮัตตัน
  8. คู่มือนักเรียนเตรียมทหาร พ.ศ. 2552
  9. เกี่ยวกับ ONE BANGKOK
  10. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน - ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
  11. LADY (4 เมษายน 2017). ""One Bangkok" จุดหมายปลายทางแลนด์มาร์คระดับโลกแห่งใหม่ใจกลางเมือง". unlockmen. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "ตัวเลือกสำหรับการพัฒนาที่ดินเดิมของสวนลุมไนท์บาซาร์ในกรุงเทพมหานคร". Property-report.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2014.
  13. Limited, Bangkok Post Public Company. "One Bangkok: A New Era of Urban Living Begins on 25 October". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-10-18.
  14. เอื้อศิริศักดิ์, ธนาดล (2024-11-01). "ลายแทงงานศิลปะ One Bangkok ตั้งแต่นิทรรศการรากเหง้าถนนวิทยุ ถึงชิ้นงานหาดูยากเข้าชมฟรี". The Cloud.
  15. "รีวิว One Bangkok (วันแบงค็อก)". trueid.net.
  16. 16.0 16.1 "โลกพระวิญญาณ "เสด็จเตี่ย" เฮี้ยน !!". www.marinerthai.net.
  17. "ศาลกรมหลวงชุมพรฯ พระราม 4 เปิดให้สักการะแล้ว หลังปรับปรุงใหม่". mgronline.com. 2012-09-23.
  18. "กองทัพเรืออัญเชิญพระรูปหล่อพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มาประดิษฐาน ณ บก.ฐท.กท.เป็นการชั่วคราว". ฐานทัพเรือกรุงเทพ.

ดูเพิ่ม

แก้