สตรีในประเทศไทย
บทบาทของสตรีในประเทศไทยนั้นได้เพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากและพบว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น[1] โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในทวีปเอเชียที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2475[2][3] อย่างไรก็ดี บทบาทด้านการพัฒนาชาติยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อยในการเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่เพียงพอและจากทัศนคติของสังคม[4] อย่างไรก็ดีพวกเธอก็ยังได้รับการยอมรับจากสังคมในภาพรวมมากกว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[ต้องการอ้างอิง]
การศาสนา
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้บวชเป็นภิกษุณี (เถรวาท) หลายรูป โดยบวชมาจากคณะภิกษุณีสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เช่น ภิกษุณีธัมมนันทา ซึ่งมีสำนักภิกษุณีเป็นเอกเทศคือทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม แต่คณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์เพราะเคยมีประเด็นถกเถียงอยู่ช่วงหนึ่งว่าปัจจุบันนี้สามารถบวชภิกษุณีได้หรือไม่ มีข้อสรุปจากทางพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีการบวชเป็นภิกษุณีได้ก็ต่อเมื่อบวชต่อสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือต้องบวชทั้งฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เป็นการลงญัตติจตุตถกรรมวาจาทั้งสองฝ่าย จึงจะสามารถเป็นภิกษุณีได้ ดังนั้นในเมื่อภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้เสื่อมสิ้นลงไม่มีผู้สืบต่อ จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทำการบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทได้ การที่มีข้ออ้างว่าสายมหายานสืบสายวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ไปก็ไม่สามารถอ้างได้ เพราะการสืบสายทางมหายานมีข้อวินัยและการทำสังฆกรรมบวชภิกษุณีที่ไม่ถูกต้องกับพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
การเมือง
แก้ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งได้แก่ การกีดขวางทางโครงสร้าง อุปสรรคทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีคุณวุฒิ สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า[4][5] วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2492 อรพินท์ ไชยกาล (ภรรยาเลียง ไชยกาล อดีตรัฐมนตรีและสมาชิสภาผู้แทนราษฎร) เป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร[2]ในรัฐสภาไทย[3] ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี[6] ซึ่ง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ วิมลศิริ ชำนาญเวช รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นสตรีไทยสองคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แม้เวลาจะล่วงมาถึงพุทธทศวรรษ 2540 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหญิงยังมีไม่ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด[7] โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าเป็นสตรีไทยคนแรก ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารของไทย
อย่างไรก็ดี สตรีในประเทศไทย (หรือสยาม) มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ปี 2475 และมีสิทธิเลือกตั้งหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2440 ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สองในโลกที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีตามหลังประเทศนิวซีแลนด์[8]
งานราชการ
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ธุรกิจ
แก้ในแวดวงการประกอบการ ประชากรผู้หญิงไทยคิดเป็นแรงงาน 47% ของทั้งประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนผู้หญิงทำงานที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยยังเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและความไม่เท่าเทียมทางเพศในเรื่องค่าจ้างเนื่องจากผู้หญิง "กระจุกตัวอยู่ในงานรายได้ต่ำ"[4][5] ในด้านสวัสดิการหญิง ผู้หญิงไทยบางคนยังมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของการถูกสามีข่มขืน การค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และรูปแบบอื่นของความรุนแรงในครัวเรือนและอาชญากรรมทางเพศ[4][5]
การสมรส
แก้ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้หญิงไทยเฉลี่ยแล้วสมรสโดยมีอายุน้อยกว่าชาย และครัวเรือน 24% ที่ระบุว่าหญิงเป็น "หัวหน้าครอบครัว"[4] ในปี พ.ศ. 2550 เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า หลังสงครามเวียดนาม ประเทศไทยได้กลายมาเป็นจุดหมายของ "แหล่งพักผ่อนและสันทนาการ" และ "การท่องเที่ยวทางเพศ" สำหรับชายต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งส่งผลให้มีการแต่งงานกับหญิงไทย ในหมู่ชายต่างประเทศที่มาแต่งงานเหล่านี้เป็นชายจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งแสวงหาคู่และการปลดภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกษียณ ขณะที่หญิงไทยแต่งงานกับชายต่างประเทศเพื่อชดใช้ชีวิตที่ผ่านมาที่เคยเป็นโสเภณี จากการถูกทิ้งโดยอดีตคนรัก และเป็นทางหนีจาก "ความยากจนและความไม่มีความสุข" แต่ไม่ใช่หญิงไทยทุกคนที่แต่งงานกับชายต่างประเทศจะเคยเป็นโสเภณีมาก่อน[9]
บทบาทและสถานภาพของสตรีในประวัติศาสตร์
แก้สังคมไทยในอดีตเป็นแบบ "ผัวเดียวหลายเมีย" หมายความว่า ชายมีสถานะเหนือหญิงในทุกด้าน[7] ในสมัยสุโขทัย ตำหนิชายที่มีชู้กับภรรยาคนอื่น แต่ไม่ห้ามชายมีภรรยาหลายคน ต่อมา ในสมัยอยุธยา กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 1904 ยังได้แบ่งภรรยาออกเป็น 3 ประเภท และชายจะมีภรรยากี่คนก็ได้ ทั้งยังมีภาษิตที่ว่า "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน"[10] ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าไม่ยุติธรรม ให้ยกเสีย เนื่องจากกรณีถวายฎีกาของอำแดงเหมือน จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงมีกฎหมายให้ชายมีภรรยาได้เพียงคนเดียว[7]
โสเภณีในประวัติศาสตร์มีมาแต่สมัยใดไม่ทราบได้ แต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการตั้งโรงหญิงนครโสเภณีเป็นการผูกขาด และเก็บอากรโสเภณี อยู่ในย่านที่เรียกว่า "สำเพ็ง" (ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็เรียกย่านโสเภณีว่าสำเพ็งเหมือนกัน) ในสมัยรัชกาลที่ 4 อากรโรงโสเภณีเก็บได้ปีละ 50,000 บาท ในสมัยนั้นมีหญิงลักลอบค้าประเวณีกันทำให้อาณาจักรขาดรายได้ จึงออกประกาศ "ห้ามอย่าให้ไทย มอญ ลาว ลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วย แขก ฝรั่ง อังกฤษ คุลา มลายู" หากจับได้มีโทษประหารชีวิต บรรดาญาติพี่น้องก็ถูกลงโทษหนักเบาด้วยเพราะไม่ตักเตือน[11]: 213–4
สำหรับบทบาทด้านการเมือง สตรีสมัยอยุธยามีบทบาททางการเมืองอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งพงศาวดารอยุธยาเน้นว่าการเข้าสู่อำนาจของหญิงนำมาซึ่งความเสื่อมเสียและความยุ่งยาก ดังเช่นกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์[7] ในกฎหมายอยุธยา หญิงเป็นสมบัติของชายเสมอ เริ่มจากเป็นสมบัติของบิดา แล้วเป็นสมบัติของสามี และเป็นสมบัติของเจ้าของ (กรณีตกเป็นทาส) นอกจากนี้ ยังมีตำนานว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยและท้าวสุรนารีเป็นวีรสตรีผู้สร้างวีรกรรมในประวัติศาสตร์
หญิงเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยหญิงได้เป็นกำนันตลาดหรือนายอากรตลาดในรัชกาลที่ 2 มีผลงานสร้างสรรค์บทกวี และบางคนได้เรียนหนังสือ[7] พระราชบัญญัติเรื่อง "ผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร พ.ศ. 2410" ห้ามไม่ให้สามีขายภรรยาหากภรรยาไม่ยินยอม หลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องสิทธิสตรีขึ้น มีหนังสือพิมพ์สตรีเกิดขึ้นหลายฉบับ[7]
สถานภาพของหญิงในสังคมดีขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกได้ให้สิทธิแก่ชายและหญิงในการเลือกตั้ง หญิงได้รับเลือกเป็นผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478[7] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513[12] จำนวนสตรีในประเทศไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติมีมากขึ้นเนื่องจากสตรีในประเทศไทยมีความต้องการได้สัญชาติของคนต่างชาติ
พ.ศ. 2525 มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้หญิงเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านได้
สตรีมีบทบาทในทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยอัตราการมีงานทำของสตรีอยู่ที่ร้อยละ 44.1 ใน พ.ศ. 2547 ทำงานในภาคเกษตรกรรมสูงสุด (ร้อยละ 40.4) ตามมาด้วยภาคบริการและอุตสาหกรรม (ร้อยละ 40.2 และ 19.5 ตามลำดับ)[13] สถิติสตรีเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง และประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างเพิ่มขึ้น และช่วยเศรษฐกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างลดลง[13] สตรีมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงกว่าชาย สตรียังมีสถิติทำงานในแวดวงราชการสูงกว่าชายโดยอยู่ที่ร้อยละ 60.1[13]
อ้างอิง
แก้- ↑ 100 ปี วันสตรีสากล news.sanook.com
- ↑ 2.0 2.1 Sopchokchai, Orapin. Female Members of Parliament, Women's Political Participation at the National Level, Women's Political Participation in Thailand, TDRI Quarterly Review, Vol. 13, No. 4, December 1998, pp. 11-20
- ↑ 3.0 3.1 Iwanaga, Kazuki. Women in Politics in Thailand, Working Paper No. 14, Centre for East and South-East Asian Studies, Lund University, Sweden, 2005
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Key Figures เก็บถาวร 2016-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Gender Statistics, Social Statitsics Division, National Statistical Office, Bangkok.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "Women's rights situation in Thailand" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-03-28. สืบค้นเมื่อ 2011-05-15.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 17 ราย)
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. บทบาทและสถานภาพของผู้หญิงไทยในประวัติศาสตร์[ลิงก์เสีย]. สืบค้น 27-8-2554.
- ↑ Bowie, Katherine (undefined NaN). "Women's Suffrage in Thailand: A Southeast Asian Historiographical Challenge". Comparative Studies in Society and History. 52 (4): 708–741. doi:10.1017/S0010417510000435.
{{cite journal}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Bernstein, Richard. Variations on a theme: Thai women and foreign husbands, Letter from Thailand, Asia-Pacific, The New York Times, August 12, 2007
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-11. สืบค้นเมื่อ 2013-10-05.
- ↑ จิตร ภูมิศักดิ์. (2550). โฉมหน้าศักดินาไทย, กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 9, ISBN 9789748075242. (สาธารณสมบัติ)
- ↑ มองทะลุม่านมายาคติ “หญิงไทยกับสามีฝรั่ง” : เมื่อสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น
- ↑ 13.0 13.1 13.2 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (พฤศจิกายน 2548). บทบาทการทำงานของสตรีไทย. สืบค้น 27-8-2554.
ดูเพิ่ม
แก้บทอ่านเพิ่ม
แก้- Macan-Markar, Marwaan. Battered Women, No Longer Alone, Rights-Thailand, ipsnews.net, November 24, 2005
- Praparnun, Yada Gender Sensitivity & Accountability in Thai Government Policy Formulation, Implementation & Evaluation from an Historical Perspective, Paper for presentation at the IAFFE 2009 conference in Boston, USA