ศรีนาถ สุริยะ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ท่านผู้หญิง ศรีนาถ สุริยะ (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554) คุณข้าหลวงใหญ่ในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และเป็นพระอาจารย์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และอดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศรีนาถ สุริยะ | |
---|---|
เกิด | ศรีนาถ สุทธะสินธุ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา |
เสียชีวิต | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 (94 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
มีชื่อเสียงจาก | พระอาจารย์ ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี คณบดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร |
คู่สมรส | พลอากาศโท มานพ สุริยะ |
บุตร | นางมานวี จัตตารีส์ รองศาสตราจารย์ นพนิธิ สุริยะ นางศศินี หงษ์หยก |
บิดามารดา | พระนาถปัญญา (ทับทิม สุทธะสินธุ) นางแจ่มมานู นาถปัญญา |
ประวัติ
แก้ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ มีนามเดิมว่า ศรีนาถ สุทธะสินธุ เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ที่อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เป็นธิดาของพระนาถปัญญา (ทับทิม สุทธะสินธุ) กับนางแจ่มมานู นาถปัญญา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน คือ
- พันเอกฟื้น สุทธะสินธุ
- นางกมะลา กวดหุ้มแพร ภรรยานายกวดหุ้มแพร (โต สุจริตกุล)
- ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ
ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาโททางวิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์และหัวหน้าหมวดสังคมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาต่อมาได้เป็นศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและครั้งสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (รักษาการแทนคณบดี 1 สิงหาคม 2513 – 26 ธันวาคม 2514 และ ดำรงตำแหน่งคณบดี 27 ธันวาคม 2514 – 31 มกราคม 2517 ลาออกราชการ)
คุณข้าหลวงและพระอาจารย์
แก้ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ เป็นทั้งคุณข้าหลวงในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระอาจารย์ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งทรงไว้วางพระทัยมาก ท่านผู้หญิงเคยตามเสด็จ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประพาสสหรัฐอเมริกา
เมื่อครั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ยังทรงพระเยาว์ทรงเคยตรัสกับท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ความว่า
...ฟ้าหญิงรักทูลกระหม่อมก๊ะมาก ชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นลูกทูลกระหม่อมก๊ะ ขอให้นับถือพระพุทธศาสนา และขอให้ได้เกิดเป็นคนไทย
แต่เมื่อมีพระชันษาสูงได้มีผู้เข้าเฝ้าถามถึงการจำชื่อและวันเดือนปีเกิดที่เคยโปรดได้ไหม พระองค์จึงรับสั่งว่า "สมองฟ้าหญิงแก่แล้ว ทำ (คิดเลข) ไม่ได้แล้ว" แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงใฝ่รู้อยู่เสมอ มีรับสั่งกับคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ พระอาจารย์ที่เข้าเฝ้าประจำว่า "ฟ้าหญิงอยากเรียนหนังสือ" คุณหญิงศรีนาถจึงถวายบทเรียนง่าย ๆ แก่พระองค์
งานประพันธ์
แก้งานประพันธ์ของท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ส่วนใหญ่เป็นประเภทสารคดีและตำราที่เกี่ยวกับวิชาสังคมศึกษาโดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ไทย งานเขียนและงานค้นคว้าที่อยู่ในความสนใจคืองานที่เกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลที่ได้กระทำคุณงามความดีแก่ชาติบ้านเมือง เช่น
- ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร
- พระยาไชยบูรณ์และพระยาพิชัยดาบหัก
ส่วนงานเขียนอื่น ได้แก่
- ลำดับราชวงศ์ กษัตริย์ลานนาไทย
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- อนุสรณ์ดอนเจดีย์
ชีวิตครอบครัว
แก้ท่านผู้หญิง ศรีนาถ สุริยะ สมรสกับ พลอากาศโท มานพ สุริยะ มีบุตร-ธิดา คือ
- นางมานวี จัตตารีส์ สมรสกับ พลตำรวจโท ปิยะวัฒน์ จัตตารีส์
- รองศาสตราจารย์ นพนิธิ สุริยะ สมรสกับ นางศรีมนา สุริยะ
- นางศศินี หงษ์หยก สมรสกับ ร้อยโท ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก
อนิจกรรม
แก้ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 สิริอายุ 94 ปี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ เป็นเวลา 3 วัน และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ 4 วัน
และในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิง ศรีนาถ สุริยะ ป.ม. ท.จ.ว. ต.ช. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้
- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[1]
- พ.ศ. 2550 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[2]
- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[3]
- พ.ศ. 2510 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2008-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๔, ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๖๘, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๒๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙๗๑, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๐