เยเรเมียส ฟาน ฟลีต
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (ดัตช์: Jeremias van Vliet; ค.ศ. 1602 - 1663 [1]) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัน วลิต [2] พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย เป็นผู้อำนวยการการค้าของอีสต์อินเดียในกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระหว่าง พ.ศ. 2176 ถึง 2185 [3] และได้เขียนหนังสือบันทึกเกี่ยวกับประเทศไทยไว้ 5 เล่ม [4] เป็นภาษาดัตช์ ต่อมาได้มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ [5]
- Description of the Kingdom of Siam (การพรรณนาเรื่องราชอาณาจักรสยาม) เมื่อ พ.ศ. 2179 แปลเป็นภาษาไทยโดยกรมศิลปากร
- The Short History of the Kingdom of Siam (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขป) เมื่อต้นปี พ.ศ. 2183 แปลเป็นภาษาไทยโดย พล.ต. ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี ชื่อ "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา" และโดยวนาศรี สามนเสน และประเสริฐ ณ นคร ชื่อ "พระราชพงศาวดารสังเขป"
- The Historical Account of the War of Succession following the death of king Pra Interajatsia, 22nd King of Ayuthian Dynasty (รายงานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามสืบราชสมบัติหลังจากสมเด็จพระอินทรราชา[6] พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา) เมื่อปลายปี พ.ศ. 2183 แปลเป็นภาษาไทยโดยกรมศิลปากร ตีพิมพ์ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 ชื่อ "จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์)"
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต เกิดที่เมืองสกีดาม เป็นบุตรคนสุดท้องของ Eewout Huybrechtszoon และ Maritge Cornelisdochter van Vliet [1] ได้เดินทางออกจากเนเธอร์แลนด์ด้วยเรือ Het Wapen van Rotterdam (The Rotterdam Arms) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2171 ถึงเมืองปัตตาเวียเมื่อ พ.ศ. 2172 ก่อนจะได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่ญี่ปุ่น ก่อนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพ่อค้า ทำหน้าที่ทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2176 ในขณะที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา ฟาน ฟลีตได้มีภรรยาลับชื่อออสุต พะโค (Osoet Pegua) หญิงชาวมอญ โดยทั้งคู่มีบุตรสาว 3 คน ภายหลังเมื่อนายฟานฟลีตออกจากสยามใน พ.ศ. 2184 จึงได้มีศึกชิงลูกกัน ผลก็คือบุตรทั้งสามคนอยู่กับนางออสุตตราบจนเธอสิ้นชีวิต[7]
หลังจากเป็นผู้อำนวยการสถานีการค้าในสยามเป็นเวลา 9 ปี เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองมะละกา คนที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2185 [1] เขาเดินทางกลับเนเธอร์แลนด์เมื่อ พ.ศ. 2190 และใช้ชีวิตที่บ้านเกิดจนเสียชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2206 อายุ 61 ปี
อ้างอิงและเชิงอรรถ
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 "The Dutch in Siam: Jeremias van Vliet and the 1636 Incident at Ayutthaya" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-11-22. สืบค้นเมื่อ 2009-06-19.
- ↑ การเรียกชื่อเฉพาะ (๒), รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ
- ↑ จากพิษณุโลกสู่เวียงแหง ตามรอยนเรศวรมหาราช นอกกรอบประวัติศาสตร์ “ชาตินิยม” เก็บถาวร 2007-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารสารคดี, ปีที่ 22 ฉบับที่ 262, ธันวาคม 49
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้. กรุงเทพฯ : สยามรัฐ, 2519. 104 หน้า. ISBN 974-85680-9-7 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ↑ "บันทึกของ วันวลิต หรือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-04. สืบค้นเมื่อ 2009-06-20.
- ↑ จดหมายเหตุวันวลิต เรียกสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมว่า พระอินทราชาเจ้าช้างเผือก
- ↑ สุภัตรา ภูมิประภาส (กันยายน 2552). "นางออสุต:เมียลับผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 97