ออสุต พะโค
ออสุต พะโค (อักษรโรมัน: Osoet Pegua; ค.ศ. 1615?–1658?), เจ้าสุต (Tjau Soet) หรือ ออสุต (Osoet) เป็นหญิงสามัญเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เธอมีความสัมพันธ์เป็น "เมียลับ" กับพ่อค้าชาวดัตช์สามคน และมีบทบาทด้านการค้ากับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ในสยาม โดยมีอิทธิพลจากราชสำนักฝ่ายในของกรุงศรีอยุธยาหนุนหลังเธอ
ออสุต พะโค | |
---|---|
เกิด | ค.ศ. 1615 กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
เสียชีวิต | ค.ศ. 1658 (ราว 43 ปี) กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
อาชีพ | นักธุรกิจ |
คู่รัก | ยาน ฟาน เมียร์ไวค์ (? –1633) เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (1633–1641) ฟาน เมาเดน (1645–1650) |
บุตร | 4 คน |
ประวัติ
แก้ชีวิตตอนต้น
แก้ออสุตเกิดในครอบครัวชาวมอญที่ต่ำต้อย ตั้งบ้านอยู่ในชุมชนวิลันดาใกล้บ้านพักของหัวหน้าสถานีการค้าและอาคารอื่น ๆ เช่น โกดังและคอกม้าของบริษัท เข้าใจว่าครอบครัวของเธอเข้ามาอาศัยที่บ้านวิลันดาเพราะหวังจะถูกจ้างงานจากบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ซึ่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน
เมียลับ
แก้ออสุตเริ่มการเป็น "ภรรยาลับ" ของยาน ฟาน เมียร์ไวค์ (ดัตช์: Jan van Meerwijck) วานิชเอกชน มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน ต่อมานายเมียร์ไวค์มีปัญหากับราชสำนัก กรณีที่เขายึดเรือกำปั่นหลวงของราชสำนักลำหนึ่ง โดยอ้างว่ามีขุนนางมุสลิมคนหนึ่งโกง ผลคือนายเมียร์ไวค์ต้องออกจากกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1633 ออสุตถูกจำคุก ส่วนบุตรคนชายครั้นจำเริญวัยได้เป็นพนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์
ต่อมาเมื่อเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (ดัตช์: Jeremias van Vliet) พ่อค้าชาวดัตช์ของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ เข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1633 ก็ได้ออสุตเป็นภรรยาลับ มีลูกสาวด้วยกันสามคน คนโตชื่อมาเรีย ฟาน ฟลีต (ดัตช์: Maria van Vliet) ส่วนคนหลัง ๆ ไม่ปรากฏนาม ภายหลังฟาน ฟลีตย้ายไปประจำการที่ปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1641 ความสัมพันธ์จึงยุติลง พร้อมกับการแย่งชิงบุตร เพราะฟาน ฟลีตต้องการเลี้ยงดูบุตรเองที่ปัตตาเวีย แต่ผลคือออสุตได้ใช้อำนาจจากเครือข่ายในราชสำนัก บุตรทั้งสามของเธอที่เกิดกับฟาน ฟลีตจึงอยู่กับออสุตจนกระทั่งเธอเสียชีวิต
หลังยุติความสัมพันธ์กับฟาน ฟลีต เธอเป็นเมียลับของฟาน เมาเดน รักษาการหัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1644–1689) ต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าสถานีการค้าในปี ค.ศ. 1647 แต่ภายหลังเขาถูกย้ายไปปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1650 เพราะปล่อยให้ออสุตบริหารงานเสียเอง หลังยุติความสมพันธ์กับฟาน เมาเดน ออสุตก็ไม่เป็นเมียลับของใครอีก
ออสุตเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1658 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาเรีย ฟาน ฟลีต บุตรสาวได้แต่งงานกับลูกจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกคนหนึ่งที่อยุธยา ภายหลังได้ย้ายตามสามียังเมืองปัตตาเวีย
การทำงาน
แก้จากการที่เธอเป็นเมียลับของเยเรเมียส ฟาน ฟลีตตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1633 ออสุตเริ่มมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมระหว่างบริษัทเอเชียตะวันออกกับราชสำนักราวปี ค.ศ. 1636 เธอเริ่มมีการติดต่อกับพระมเหสีพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองผ่านนางพระกำนัล รวมทั้งยังมีความสนิทสนมกับภรรยาคนโปรดของออกญาสมบัติธิบาลผู้มีอำนาจ ผ่านการมอบของขวัญอย่างงาม แล้วพัฒนากลายเป็นเครือข่ายการค้าในราชสำนัก นอกจากนี้เธอยังมีเครือข่ายการค้ากับผู้ค้าท้องถิ่นและต่างถิ่นอย่างล้านช้าง เมื่อนายฟาน ฟลีตย้ายไปประจำการที่ปัตตาเวีย (จาการ์ตา อินโดนีเซีย) ในปี ค.ศ. 1641 ออสุตยังคงดำเนินธุรกิจส่วนตัวกับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์กับราชสำนักต่อไป
ต่อมาเมื่อเธอเป็นเมียลับของฟาน เมาเดน ออสุตได้จัดหาสินค้าต่าง ๆ แก่บริษัทกลับมีราคาแพงกว่าท้องตลาดถึงร้อยละ 40 นายฟาน เมาเดนคงได้ส่วนต่างไปไม่น้อย จากการที่สามีปล่อยให้ออสุตได้ทำหน้าที่เปรียบดังหัวหน้าสถานีการค้าในอยุธยา จึงได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ ส่งผู้แทนมาสอบสวน หลังจากนั้นจึงย้ายนายฟาน เมาเดนไปปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1650 แม้บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์จะทราบถึงการทุจริตของเธอ แต่ทางบริษัทก็ไม่มีมาตรการสำหรับจัดการเธอแต่อย่างใด และไม่กล้าที่จะตัดเธอออกจากการค้าของบริษัท รวมทั้งยังรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเธอและบริษัท หลังนายฟาน เมาเดนถูกย้ายไปแล้ว ทางบริษัทยังให้หัวหน้าสถานีการอยุธยาคนใหม่เอาอกเอาใจออสุต เพราะเธอเป็นคนเดียวที่สามารถหาสินค้าผูกขาดของหลวงมาขายให้บริษัทได้ อาทิ ดีบุก งาช้าง และช้างโดยไม่ต้องอาญาแผ่นดิน ในปี ค.ศ. 1655 ออสุตส่งช้างไปให้ข้าหลวงใหญ่เมืองปัตตาเวียสองเชือก
อ้างอิง
แก้- ธีรวัต ณ ป้อมเพชร. (2550). ออสุต ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสตรีในสังคมอยุธยา กับพ่อค้าชาวดัตช์. ใน สตรีแถวหน้าในประวัติศาสตร์เอเชีย. บรรณาธิการโดย สุวดี เจริญพงศ์; และ ปิยนาถ บุนนาค. น. 239-266. กรุงเทพฯ: บ้านพิทักษ์อักษร.
- สุภัตรา ภูมิประภาส (2552, กันยายน). นางออสุต: เมียลับผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม. ศิลปวัฒนธรรม. 30(11): 85-97.
- Dhiravat na Pombejra. (2000). VOC Employees and their Relationships with Mon and Siamese Women: A Case Study of Osoet Pegua. In Other Pasts: Women, Gender and history in Early Modern Southeast Asia. edited by Barbara Watson Andaya. pp. 195-214. Hawai’i: Center of Southeast Asian Studies.