วังจั่นน้อย ส.พลังชัย

วังจั่นน้อย ส.พลังชัย มีชื่อจริงว่า อาภรณ์ โสภาพ (ชื่อเล่น: ภรณ์) เกิดวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี[1] เป็นนักมวยไทยชื่อดังระดับเงินแสนคนหนึ่งในประเทศไทย โด่งดังมีชื่อเสียงอยู่ในช่วง พ.ศ. 2530–2538 มีสถิติการชกที่แท้จริงไม่มีการบันทึกไว้ แต่คาดว่าอยู่ที่ 300 ครั้ง แพ้ไม่น่าจะเกิน 50 ครั้ง[1]

วังจั่นน้อย ส.พลังชัย
เกิดอาภรณ์ โสภาพ
30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 (57 ปี)

ประวัติ

แก้

วังจั่นน้อยเป็นบุตรของนายหยาด และนางบุญ โสภาพ เรียนจบชั้นอนุปริญญาจากโรงเรียนรัตนพณิชยการ เริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตระเวนชกมวยแถวบ้านเกิดจนมีชื่อเสียง จากนั้นจึงเดินทางเข้ามาชกมวยในกรุงเทพมหานคร อยู่ในสังกัดของทรงชัย รัตนสุบรรณ มีโอกาสขึ้นชกมวยหลายครั้ง จนมาเป็นที่รู้จักเมื่อ ชนะคะแนน นำพล หนองกี่พาหุยุทธ ได้ครองแชมป์มวยไทยรุ่นไลท์ฟลายเวท ของสนามมวยเวทีลุมพินี และฟลายเวท ถึง 4 สมัย ของเวทีเดียวกัน

ต่อมา วังจั่นน้อยสละแชมป์ และขยับมาชกในรุ่นที่สูงขึ้น ได้ครองแชมป์รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวทของสนามมวยเวทีลุมพินี 5 สมัย ได้ชกกับนักมวยชื่อดังมากมาย เช่น สามารถ พยัคฆ์อรุณ, เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง, ฉมวกเพชร ช่อชะมวง, สำราญศักดิ์ เมืองสุรินทร์, ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ, โอเล่ห์ เกียรติวันเวย์ เป็นต้น เงินค่าตัวสูงสุดที่ได้รับคือ 350,000 แสนบาท เมื่อชกกับสามารถ พยัคฆ์อรุณ โดยในครั้งนั้นวังจั่นน้อยเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนสามารถได้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 ที่เวทีมวยลุมพินี ซึ่งทั้งคู่ชกเป็นคู่มวยประกอบรายการชิงแชมป์โลกมวยสากลของเมืองชัย กิตติเกษม กับเทรซี่ มาคาลอส เจ้าของตำแหน่งชาวฟิลิปปินส์ เมื่อกรรมการประกาศผลคะแนนออกมา สามารถได้ประกาศแขวนนวมไปทันทีบนเวที[2] นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2536

วังจั่นน้อย ได้รับฉายาว่า "ไอ้หมัด 33 วิ" จากการเอาชนะน็อก นำขบวน หนองกี่พาหุยุทธ น้องชายของนำพล หนองกี่พาหุยุทธ ด้วยหมัดไปด้วยเวลาเพียง 33 วินาที ของยกแรกเท่านั้น ซึ่งนับเป็นสถิติการชกที่รวดเร็วมาก[2] และยังมีอีกฉายาหนึ่งว่า "ไอ้หนุ่มชีวาส" เนื่องจากชอบสังสรรค์เฮฮา กินเลี้ยงกับเพื่อนฝูงด้วยวิสกี้ยี่ห้อชีวาสรีเกิล โดยเฉพาะหลังชกเสร็จ[1] และยังมีฉายาอื่นอีก เช่น "เมธีหมัดตรง" และ"พระกาฬละโว้"[3]

วังจั่นน้อยเลิกชกมวยเมื่อ พ.ศ. 2540 เพราะสภาพร่างกายไม่ไหว โดยชกครั้งสุดท้ายแพ้คะแนน แรมโบ้น้อย ช.ทับทิม จึงหันมาช่วยพี่ชายดูแลค่ายมวยเพชรอาภรณ์อยู่ระยะหนึ่งจึงไปเป็นครูมวยไทยที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับสลับชกไปด้วย เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีจึงกลับมาประเทศไทย ประกอบอาชีพส่วนตัวและช่วยพี่ชายทำค่ายมวย[4] ประสบความสำเร็จอยู่ระดับหนึ่ง โดยสร้างนักมวยชื่อดังขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง และได้เลิกในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน วังจั่นน้อยเป็นเทรนเนอร์อยู่ที่ค่าย ช.ห้าพยัคฆ์ ที่คลอง 8 อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี [3]

ชื่ออื่น

แก้
  • วั่งจั่นน้อย ส.สิระดา (ชื่อในการชกมวยระยะหลัง)

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "ทำเนียบมวยดัง .."วังจั่นน้อย ส.พลังชัย" คุณยังจำเขาได้หรือไม่ และคุณลืมเขาไปแล้วหรือยัง..?!?! (ตอนที่ 2 ความทรงจำจากแฟนพันธุ์แท้)". ข่าวสด. March 19, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-31. สืบค้นเมื่อ 2016-09-09.
  2. 2.0 2.1 "แฟนพันธุ์แท้ 2014_7 มี.ค. 57 (มวยไทย)". แฟนพันธุ์แท้ 2014. March 7, 2014. สืบค้นเมื่อ September 9, 2016.
  3. 3.0 3.1 วันนี้ของ 'วังจั่นน้อย ส.พลังชัย' ร่วมสร้างตำนาน ช.ห้าพยัคฆ์. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก. ปีที่ 16 ฉบับที่ 6545 วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 หน้า 9 กีฬา
  4. อนิรุธ เชื้อบาง. วังจั่นน้อย ส.สิระดา ไอ้หนุ่มชีวาส. หนังสือพิมพ์สยามกีฬา. ปีที่ 23 ฉบับที่ 8356 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 หน้า 27