ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน

คีตกวีชาวเยอรมัน (ค.ศ. 1770–1827)
(เปลี่ยนทางจาก ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน)

ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน (เยอรมัน: Ludwig van Beethoven, ออกเสียง: [ˈluːtvɪç fan ˈbeːtˌhoːfn̩]; (หรือที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นชื่อ บีโธเฟ่น) 16 ธันวาคม ค.ศ. 1770 – 26 มีนาคม ค.ศ. 1827) เป็นคีตกวีและนักเปียโนชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองบ็อน ประเทศเยอรมนี

ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน
Portrait by Joseph Karl Stieler, 1820
ภาพวาดโดยโยเซ็ฟ คาร์ล ชตีเลอร์ ค.ศ. 1820
เกิด16 ธันวาคม ค.ศ. 1770
บ็อน รัฐผู้คัดเลือกโคโลญ
เสียชีวิต26 มีนาคม ค.ศ. 1827(1827-03-26) (56 ปี)
เวียนนา
อาชีพ
  • คีตกวี
  • นักเปียโน
บิดามารดาโยฮัน ฟัน เบทโฮเฟิน
มารีอา มัคเดเลนา เคเวอริช
ลายมือชื่อ

เบทโฮเฟินเป็นตัวอย่างของศิลปินยุคจินตนิยมผู้โดดเดี่ยว และไม่เป็นที่เข้าใจของบุคคลในยุคเดียวกันกับเขา ในวันนี้เขาได้กลายเป็นคีตกวีที่มีคนชื่นชมยกย่องและฟังเพลงของเขากันอย่างกว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง ตลอดชีวิตของเขามีอุปสรรคนานัปการที่ต้องฝ่าฟัน ทำให้เกิดความเครียดสะสมในใจเขา ในรูปภาพต่าง ๆ ที่เป็นรูปเบทโฮเฟิน สีหน้าของเขาหลายภาพแสดงออกถึงความเครียด แต่ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งของเขา ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตของเขาได้ ตำนานที่คงอยู่นิรันดร์เนื่องจากได้รับการยกย่องจากคีตกวีจินตนิยมทั้งหลาย เบทโฮเฟินได้กลายเป็นแบบอย่างของพวกเขาเหล่านั้นด้วยความเป็นอัจฉริยะที่ไม่มีใครเทียมทาน ซิมโฟนีของเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งซิมโฟนีหมายเลข 5 ซิมโฟนีหมายเลข 6 ซิมโฟนีหมายเลข 7 และซิมโฟนีหมายเลข 9) และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนที่เขาประพันธ์ขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนแชร์โตหมายเลข 4 และหมายเลข 5) เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ก็มิได้รวมเอาความเป็นอัจฉริยะทั้งหมดของคีตกวีไว้ในนั้น

ประวัติ

แก้
 
บ้านเกิดของเบทโฮเฟินที่เมืองบ็อน
 
ภาพวาด ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ใน ค.ศ. 1783
 
ภาพวาด ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ใน ค.ศ. 1803
 
ภาพวาด ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ใน ค.ศ. 1815
 
ภาพวาด ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ใน ค.ศ. 1823

ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟินเกิดที่เมืองบ็อน (ประเทศเยอรมนี) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1770 และได้เข้าพิธีศีลจุ่มในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1770 เป็นลูกชายคนรองของโยฮัน ฟัน เบทโฮเฟิน (Johann van Beethoven) กับมารีอา มัคเดเลนา เคเวอริช (Maria Magdalena Keverich) ขณะที่เกิดบิดามีอายุ 30 ปี และมารดามีอายุ 26 ปี ชื่อต้นของเขาเป็นชื่อเดียวกับปู่ และพี่ชายที่ชื่อลูทวิชเหมือนกัน แต่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ครอบครัวของเขามีเชื้อสายเฟลมิช (จากเมืองเมเคอเลินในประเทศเบลเยียม) ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าเหตุใด นามสกุลของเขาจึงขึ้นต้นด้วย ฟัน ไม่ใช่ ฟ็อน ตามที่หลายคนเข้าใจ

บิดาเป็นนักร้องในคณะดนตรีประจำราชสำนัก และเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ซ้ำยังติดสุรา รายได้เกินครึ่งหนึ่งของครอบครัวถูกบิดาของเขาใช้เป็นค่าสุรา ทำให้ครอบครัวยากจนขัดสน บิดาของเขาหวังจะให้เบทโฮเฟินได้กลายเป็นนักดนตรีอัจฉริยะอย่างโมทซาร์ท นักดนตรีอีกคนที่โด่งดังในช่วงยุคที่เบทโฮเฟินยังเด็ก จึงเริ่มสอนดนตรีให้ใน ค.ศ. 1776 ขณะที่เบทโฮเฟินอายุ 5 ขวบ

แต่ด้วยความหวังที่ตั้งไว้สูงเกินไป (ก่อนหน้าเบทโฮเฟินเกิด โมทซาร์ทสามารถเล่นดนตรีหาเงินให้ครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 6 ปี บิดาของเบทโฮเฟินตั้งความหวังไว้ให้เบทโฮเฟินเล่นดนตรีหาเงินภายในอายุ 6 ปีให้ได้เหมือนโมทซาร์ท) ประกอบกับเป็นคนขาดความรับผิดชอบเป็นทุนเดิม ทำให้การสอนดนตรีของบิดานั้นเข้มงวด โหดร้ายทารุณ เช่น ขังเบทโฮเฟินไว้ในห้องกับเปียโน 1 หลัง , สั่งห้ามไม่ให้เบทโฮเฟินเล่นกับน้อง ๆ เป็นต้น ทำให้เบทโฮเฟินเคยท้อแท้กับเรื่องดนตรี แต่เมื่อได้เห็นสุขภาพมารดาที่เริ่มกระเสาะกระแสะด้วยวัณโรค ก็เกิดความพยายามสู้เรียนดนตรีต่อไป เพื่อหาเงินมาสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว

ค.ศ. 1777 เบทโฮเฟินเข้าเรียนโรงเรียนสอนภาษาละตินสำหรับประชาชนที่เมืองบ็อน

ค.ศ. 1778 การฝึกซ้อมมานานสองปีเริ่มสัมฤทธิ์ผล เบทโฮเฟินสามารถเปิดคอนเสิร์ตเปียโนในที่สาธารณะได้เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ขณะอายุ 7 ปี 3 เดือน ที่เมืองโคโลญ แต่บิดาของเบทโฮเฟินโกหกประชาชนว่าเบทโฮเฟินอายุ 6 ปี เพราะหากอายุยิ่งน้อย ประชาชนจะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น ในฐานะนักดนตรีที่เก่งตั้งแต่เด็ก

หลังจากนั้น เบทโฮเฟินเรียนไวโอลินและออร์แกนกับอาจารย์หลายคน จนใน ค.ศ. 1781 เบทโฮเฟินได้เป็นศิษย์ของคริสทีอัน ก็อทโลพ เนเฟอ (Christian Gottlob Neefe) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สร้างความสามารถในชีวิตให้เขามากที่สุด เนเฟอสอนเบทโฮเฟินในเรื่องเปียโนและการแต่งเพลง

ค.ศ. 1784 เบทโฮเฟินได้เล่นออร์แกนในคณะดนตรีประจำราชสำนัก ในตำแหน่งนักออร์แกนที่สอง มีค่าตอบแทนให้พอสมควร แต่เงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ ก็หมดไปกับค่าสุราของบิดาเช่นเคย

ค.ศ. 1787 เบทโฮเฟินเดินทางไปยังเมืองเวียนนา เพื่อศึกษาดนตรีต่อ เขาได้พบโมทซาร์ท และมีโอกาสเล่นเปียโนให้โมทซาร์ทฟัง เมื่อโมทซาร์ทได้ฟังฝีมือของเบทโฮเฟินแล้ว กล่าวกับเพื่อนว่าเบทโฮเฟนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีต่อไป แต่อยู่เมืองนี้ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ได้รับข่าวว่าอาการวัณโรคของมารดากำเริบหนัก จึงต้องรีบเดินทางกลับบ็อน หลังจากกลับมาถึงบ็อนและดูแลมารดาได้ไม่นาน มารดาของเขาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1787 ด้วยวัย 43 ปี เบทโฮเฟินเศร้าโศกซึมเซาอย่างรุนแรง ในขณะที่บิดาของเขาก็เสียใจไม่แพ้กัน แต่การเสียใจของบิดานั้น ทำให้บิดาของเขาดื่มสุราหนักขึ้น ไร้สติ จนในที่สุดก็ถูกไล่ออกจากคณะดนตรีประจำราชสำนัก เบทโฮเฟินในวัย 16 ปีเศษ ต้องรับบทเลี้ยงดูบิดาและน้องชายอีก 2 คน

ค.ศ. 1788 เบทโฮเฟินเริ่มสอนเปียโนให้กับคนในตระกูลบรอยนิงค์ เพื่อหาเงินให้ครอบครัว

ค.ศ. 1789 เบทโฮเฟินเข้าเป็นนักศึกษาไม่คิดหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยบ็อน

ค.ศ. 1792 เบทโฮเฟินตั้งรกรากที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เบทโฮเฟินมีโอกาสศึกษาดนตรีกับโยเซ็ฟ ไฮเดิน หลังจากเขาเดินทางมาเวียนนาได้ 1 เดือน ก็ได้รับข่าวว่าบิดาป่วยหนักใกล้จะเสียชีวิต (มาเวียนนาครั้งก่อน อยู่ได้ครึ่งเดือนมารดาป่วยหนัก มาเวียนนาครั้งนี้ได้หนึ่งเดือนบิดาป่วยหนัก) แต่ครั้งนี้เขาตัดสินใจไม่กลับบ็อน แบ่งหน้าที่ในบ็อนให้น้องทั้งสองคอยดูแล และในปีนั้นเองบิดาของเบทโฮเฟินก็สิ้นใจลงโดยไม่มีเบทโฮเฟินกลับไปดูใจ แต่เบทโฮเฟินเองก็ประสบความสำเร็จในการแสดงคอนเสิร์ตในฐานะนักเปียโนเอก และเป็นผู้ที่สามารถเล่นได้โดยคิดทำนองขึ้นมาสด ๆ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงและครอบครัวขุนนาง

ค.ศ. 1795 เขาเปิดการแสดงดนตรีในโรงละครสาธารณะในเวียนนา และแสดงต่อหน้าประชาชน ทำให้เบทโฮเฟินเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น

ค.ศ. 1796 ระบบการได้ยินของเบทโฮเฟินเริ่มมีปัญหา เขาเริ่มไม่ได้ยินเสียงในสถานที่กว้าง ๆ และเสียงกระซิบของผู้คน เขาตัดสินใจปิดเรื่องหูตึงนี้เอาไว้ เพราะในสังคมยุคนั้น ผู้ที่ร่างกายมีปัญหา (พิการ) จะถูกกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม จนในที่สุดผู้พิการหลายคนกลายเป็นขอทาน ดังนั้น เขาต้องประสบความสำเร็จให้ได้เสียก่อนจึงจะเปิดเผยเรื่องนี้ จากนั้นเขาก็เริ่มประพันธ์บทเพลงขึ้นมา แล้วจึงหันเหจากนักดนตรีมาเป็นผู้ประพันธ์เพลง เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวแตกต่างไปจากดนตรียุคคลาสสิกคือ ใช้รูปแบบยุคคลาสสิก แต่ใช้เนื้อหาจากจิตใจ ความรู้สึกในการประพันธ์เพลง จึงทำให้ผลงานเป็นตัวของตัวเอง เนื้อหาของเพลงเต็มไปด้วยการแสดงออกของอารมณ์อย่างเด่นชัด

ค.ศ. 1801 เบทโฮเฟินเปิดเผยเรื่องปัญหาในระบบการได้ยินให้ผู้อื่นฟังเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้สังคมยอมรับ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องปกปิดเรื่องอาการหูตึงอีก หลังจากนั้น ก็เป็นยุคที่เขาประพันธ์เพลงออกมามากมาย แต่เพลงที่เขาประพันธ์นั้นจะมีปัญหาตรงที่ล้ำสมัยเกินไป ผู้ฟังเพลงไม่เข้าใจในเนื้อหา แต่ในภายหลัง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเข้าใจในเนื้อเพลงของเบทโฮเฟิน บทเพลงหลายเพลงเหล่านั้นก็เป็นที่นิยมล้นหลามมาถึงปัจจุบัน

เมื่อเบทโฮเฟินโด่งดังก็ย่อมมีผู้อิจฉา มีกลุ่มที่พยายามแกล้งเบทโฮเฟินให้ตกต่ำ จนเบทโฮเฟินคิดจะเดินทางไปยังเมืองคัสเซิล ทำให้มีกลุ่มผู้ชื่นชมในผลงานของเบทโฮเฟินมาขอร้องไม่ให้เขาไปจากเวียนนา พร้อมทั้งเสนอตัวให้การสนับสนุนการเงิน โดยมีข้อสัญญาว่าเบทโฮเฟินต้องอยู่ในเวียนนา ทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ และผลิตผลงานตามที่ต้องการโดยไม่ต้องรับคำสั่งจากใคร

เบโทเฟินโด่งดังมากในฐานะคีตกวี อาการสูญเสียการได้ยินมีมากขึ้น แต่เขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถและสภาพที่ตนเป็นอยู่ มีผลงานชั้นยอดเยี่ยมให้กับโลกแห่งเสียงเพลงเป็นจำนวนมาก ผลงานอันโด่งดังในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เบทโฮเฟินถ่ายทอดท่วงทำนองออกมาเป็นจังหวะ สั้น - สั้น - สั้น - ยาว อาการไม่ได้ยินรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่เขาประพันธ์ออกมาเมื่อหูหนวกสนิทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา รวมทั้งบทเพลงควอเท็ตเครื่องสายที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาก็ประพันธ์ออกมาในช่วงเวลานี้เช่นกัน

ในช่วงนี้ เบโทเฟินมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลานชายที่เขารับมาอุปการะ เขาถูกหาว่าเป็นคนบ้า และถูกเด็ก ๆ ขว้างปาด้วยก้อนหินเมื่อเขาออกไปเดินตามท้องถนน แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของเขาได้ แต่ภายหลังเขาก็ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกับหลานชายเป็นที่เรียบร้อย

ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้ที่เบทโฮเฟินเป็นมานานก็กำเริบหนัก หลังจากรักษาแล้ว ได้เดินทางมาพักฟื้นที่บ้านน้องชายบนที่ราบสูง แต่อารมณ์แปรปรวนก็ทำให้เขาทะเลาะกับน้องชายจนได้ เขาตัดสินใจเดินทางกลับเวียนนาในทันที แต่รถม้าที่นั่งมาไม่มีเก้าอี้และหลังคา เบทโฮเฟินทนหนาวมาตลอดทาง ทำให้เป็นโรคปอดบวม แต่ไม่นานก็รักษาหาย

12 ธันวาคม ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้และตับของเบทโฮเฟินกำเริบหนัก อาการทรุดลงตามลำดับ

26 มีนาคม ค.ศ. 1827 เบทโฮเฟินเสียชีวิตลง พิธีศพของเขาจัดขึ้นอย่างอลังการในโบสถ์เซนต์ทรินิตี โดยมีผู้มาร่วมงานกว่า 20,000 คน ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานกลางในกรุงเวียนนา

เบทโฮเฟินมีชีวิตอยู่ตรงกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในสมัยธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์

รูปแบบทางดนตรีและนวัตกรรม

แก้

ในประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว ผลงานของเบทโฮเฟินแสดงถึงช่วงรอยต่อระหว่างยุคคลาสสิก (ค.ศ. 1750 - ค.ศ. 1810) กับยุคจินตนิยม (ค.ศ. 1810 - ค.ศ. 1900) ในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเขา เบทโฮเฟินได้นำเสนอทำนองหลักที่เน้นอารมณ์รุนแรงในท่อนท่อน เช่นเดียวกับในอีกสามท่อนที่เหลือ (เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยในผลงานประพันธ์ช่วงวัยเยาว์ของเขา) ช่วงต่อระหว่างท่อนที่สามกับท่อนสุดท้าย เป็นทำนองหลักของอัตทากาโดยไม่มีการหยุดพัก และท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 ได้มีการนำการขับร้องประสานเสียงมาใช้ในบทเพลงซิมโฟนีเป็นครั้งแรก (ในท่อนที่สี่) ผลงานทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นนวัตกรรมทางดนตรีอย่างแท้จริง

เขาได้ประพันธ์อุปรากรเรื่อง "ฟิเดลิโอ" โดยใช้เสียงร้องในช่วงความถี่เสียงเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีในวงซิมโฟนี โดยมิได้คำนึงถึงขีดจำกัดของนักร้องประสานเสียงแต่อย่างใด

หากจะนับว่าผลงานของเขาประสบความสำเร็จต่อสาธารณชน นั่นก็เพราะแรงขับทางอารมณ์ที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในงานของเขา

ในแง่ของเทคนิคทางดนตรีแล้ว เบโฮเฟนได้ใช้ทำนองหลักหล่อเลี้ยงบทเพลงทั้งท่อน และนับเป็นผลสัมฤทธิ์ทางดนตรีที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้นทางจังหวะที่มีความแปลกใหม่อยู่ในนั้น เบทโฮเฟินได้ปรับแต่งทำนองหลัก และเพิ่มพูนจังหวะต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการของบทเพลงเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ

เขาใช้เทคนิคนี้ในผลงานเลื่องชื่อหลายบท ไม่ว่าจะเป็นท่อนแรกของเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 4 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรก) ท่อนแรกของซิมโฟนีหมายเลข 5 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรกเช่นกัน) ท่อนที่สองของซิมโฟนีหมายเลข 7 (ในจังหวะอนาเปสต์) การนำเสนอความสับสนโกลาหลของท่วงทำนองในรูปแบบแปลกใหม่ตลอดเวลา ความเข้มข้นของท่วงทำนองตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ย้อนกลับมาสู่โสตประสาทของผู้ฟังอยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้เกิดความประทับใจต่อผู้ฟังอย่างถึงขีดสุด

เบทโฮเฟินยังเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ศึกษาศาสตร์ของวงออร์เคสตราอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบทเพลง การต่อบทเพลงเข้าด้วยกันโดยเปลี่ยนรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโน้ตแผ่นที่เขาเขียนให้เครื่องดนตรีชิ้นต่าง ๆ นั้น ได้แสดงให้เห็นวิธีการนำเอาทำนองหลักกลับมาใช้ในบทเพลงเดียวกันในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ โดยมีการปรับเปลี่ยนเสียงประสานเล็กน้อยในแต่ละครั้ง การปรับเปลี่ยนโทนเสียงและสีสันทางดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง เปรียบได้กับการเริ่มบทสนทนาใหม่ โดยที่ยังรักษาจุดอ้างอิงของความทรงจำเอาไว้

สาธารณชนในขณะนี้จะรู้จักผลงานซิมโฟนีและคอนแชร์โตของเบทโฮเฟินเสียเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยคนที่ทราบว่าผลงานการคิดค้นแปลกใหม่ที่สุดของเบทโฮเฟินนั้นได้แก่เชมเบอร์มิวสิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนาตาสำหรับเปียโน 32 บท และบทเพลงสำหรับวงควอเท็ตเครื่องสาย 16 บท นั้น นับเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรีอันเจิดจรัส --- โซนาตาสำหรับเครื่องดนตรีสองหรือสามชิ้นนับเป็นผลงานสุดคลาสสิก --- บทเพลงซิมโฟนีเป็นผลงานคิดค้นรูปแบบใหม่ --- ส่วนบทเพลงคอนแชร์โตนั้น ก็นับว่าควรค่าแก่การฟัง

ผลงานซิมโฟนี

แก้

โจเซฟ ไฮเดินได้ประพันธ์ซิมโฟนีไว้กว่า 104 บท โมทซาร์ทประพันธ์ไว้กว่า 40 บท หากจะนับว่ามีคีตกวีรุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว เบทโฮเฟินไม่ได้รับถ่ายทอดมรดกด้านความรวดเร็วในการประพันธ์มาด้วย เพราะเขาประพันธ์ซิมโฟนีไว้เพียง 9 บทเท่านั้น และเพิ่งจะเริ่มประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 10 แต่สำหรับซิมโฟนีทั้งเก้าบทของเบทโฮเฟินนั้น ทุกบทต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ซิมโฟนีสองบทแรกของเบทโฮเฟินได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากดนตรีในยุคคลาสสิก อย่างไรก็ดี ซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่มีชื่อเรียกว่า "อิรอยกา" จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเรียบเรียงวงออร์เคสตราของเบทโฮเฟิน ซิมโฟนีบทนี้แสดงถึงความทะเยอทะยานทางดนตรีมากกว่าบทก่อน ๆ โดดเด่นด้วยความสุดยอดของเพลงทุกท่อน และการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตรา เพราะแค่ท่อนแรกเพียงอย่างเดียวก็มีความยาวกว่าซิมโฟนีบทอื่น ๆ ที่ประพันธ์กันในสมัยนั้นแล้ว ผลงานอันอลังการชิ้นนี้ได้ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นโปเลียน โบนาปาร์ต และส่งเบทโฮเฟินขึ้นสู่ตำแหน่งสุดยอดสถาปนิกทางดนตรี และเป็นคีตกวีคนแรกแห่งยุคจินตนิยม

แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นซิมโฟนีที่สั้นกว่าและคลาสสิกกว่าซิมโฟนีบทก่อนหน้า ท่วงทำนองของโศกนาฏกรรมในท่อนโหมโรงทำให้ซิมโฟนีหมายเลข 4 เป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางรูปแบบของเบทโฮเฟิน ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยซิมโฟนีสุดอลังการสองบทที่ถูกประพันธ์ขึ้นในคืนเดียวกัน อันได้แก่ซิมโฟนีหมายเลข 5 และซิมโฟนีหมายเลข 6 - หมายเลข 5 นำเสนอทำนองหลักเป็นโน้ตสี่ตัว สั้น - สั้น - สั้น - ยาว สามารถเทียบได้กับซิมโฟนีหมายเลข 3 ในแง่ของความอลังการ และยังนำเสนอรูปแบบทางดนตรีใหม่ด้วยการนำทำนองหลักของโน้ตทั้งสี่ตัวกลับมาใช้ตลอดทั้งเพลง ส่วนซิมโฟนีหมายเลข 6 ที่มีชื่อว่า พาสโทราล นั้นชวนให้นึกถึงธรรมชาติที่เบทโฮเฟินรักเป็นหนักหนา นอกเหนือจากช่วงเวลาที่เงียบสงบชวนฝันที่ผู้ฟังสามารถรู้สึกได้เมื่อฟังซิมโฟนีบทนี้แล้ว มันยังประกอบด้วยท่อนที่แสดงถึงพายุโหมกระหน่ำที่เสียงเพลงสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเหมือนจริงที่สุดอีกด้วย

แม้ว่าซิมโฟนีหมายเลข 7 จะมีท่อนที่สองที่ใช้รูปแบบของเพลงมาร์ชงานศพ แต่ก็โดดเด่นด้วยรูปแบบที่สนุกสนานและจังหวะที่รุนแรงเร่าร้อนในท่อนจบของเพลง ริชชาร์ท วากเนอร์ได้กล่าวถึงซิมโฟนีบทนี้ว่า เป็น "ท่อนจบอันเจิดจรัสสำหรับการเต้นรำ" ซิมโฟนีบทต่อมา (ซิมโฟนีหมายเลข 8) เป็นการย้อนกลับมาสู่รูปแบบคลาสสิก ด้วยท่วงทำนองที่เปล่งประกายและสื่อถึงจิตวิญญาณ

ท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 เป็นซิมโฟนีบทสุดท้ายที่เบทโฮเฟินประพันธ์จบ นับเป็นอัญมณีแห่งซิมโฟนีทั้งหลาย ประกอบด้วยบทเพลงสี่ท่อน รวมความยาวกว่าหนึ่งชั่วโมง และมิได้ยึดติดกับรูปแบบของโซนาตา แต่ละท่อนของซิมโฟนีบทนี้นับได้ว่าเป็นผลงานชั้นครูในตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเบทโฮเฟินได้หลุดพ้นจากพันธนาการของยุคคลาสสิก และได้ค้นพบรูปแบบใหม่ในการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตราในที่สุด ในท่อนสุดท้าย เบทโฮเฟินได้ใส่บทร้องประสานเสียงและวงควอเท็ตประสานเสียงเข้าไป เพื่อขับร้อง "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ซึ่งเป็นบทกวีของฟรีดริช ชิลเลอร์ บทประพันธ์ชิ้นนี้ได้เรียกร้องให้มีความรักและภราดรภาพในหมู่มวลมนุษย์ และซิมโฟนีบทนี้ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ยังได้ถูกเลือกให้เป็นบทเพลงประจำชาติของยุโรปอีกด้วย

นอกเหนือจากซิมโฟนีแล้ว เบทโฮเฟินยังได้ประพันธ์ คอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน ที่สุดแสนไพเราะไว้อีกด้วย และได้ถ่ายทอดบทเพลงเดียวกันออกมาเป็นคอนแชร์โตสำหรับเปียโน ที่ใช้ชื่อว่า คอนแชร์โตหมายเลข 6 นอกจากนั้นก็ยังมี คอนแชร์โตสามชิ้นสำหรับไวโอลิน เชลโล และเปียโน และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนอีก 5 บท ซึ่งในบรรดาคอนแชร์โตทั้งห้าบทนี้ คอนแชร์โตหมายเลข 5 สำหรับเปียโน นับว่าเป็นรูปแบบของเบทโฮเฟินที่เด่นชัดที่สุด แต่ก็ไม่ควรลืมช่วงเวลาอันเข้มข้นในท่อนที่สองของคอนแชร์โตหมายเลข 4 สำหรับเปียโน

เบทโฮเฟินยังได้ประพันธ์เพลงโหมโรงอันเยี่ยมยอดไว้หลายบท (เลโอนอเร่, ปิศาจแห่งโพรเมเธอุส) แฟนตาซีสำหรับเปียโน วงขับร้องประสานเสียง และวงออร์เคสตราอีกหนึ่งบท ซึ่งทำนองหลักทำนองหนึ่งของเพลงนี้ได้กลายมาเป็นต้นแบบของ "บทเพลงแห่งความอภิรมย์"

นอกจากนี้ยังมีเพลงสวดมิสซา ซึ่งมี มิสซาโซเลมนิส โดดเด่นที่สุด ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานดนตรีขับร้องทางศาสนาที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ท้ายสุด เบทโฮเฟินได้ฝากผลงานประพันธ์อุปรากรเรื่องแรกและเรื่องเดียวไว้ มีชื่อเรื่องว่า ฟิเดลิโอ นับเป็นผลงานที่เขาผูกพันมากที่สุด อีกทั้งยังทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจไปมากที่สุดอีกด้วย

บทเพลงสำหรับเปียโน

แก้

เชมเบอร์มิวสิก

แก้

ผลงานของเบทโฮเฟิน

แก้

ผลงานของเบทโฮเฟินแบ่งได้เป็นสามระยะ ตามลักษณะดนตรีที่แตกต่างกัน ระยะแรก (1780 – 1802) ใช้รูปแบบการประพันธ์เพลงของดนตรียุคคลาสสิกอย่างเด่นชัด ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากไฮเดินและโมทซาร์ท ระยะที่สอง (1802 – 1816) เบทโฮเฟินแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเด่นชัด รูปแบบการประพันธ์มีการพัฒนาอย่างสง่างามมากขึ้น ความยาวในแต่ละส่วนแต่ละตอนมีมากกว่าเพลงในยุคแรก วงออร์เคสตราปรับปรุงเพิ่มจำนวนเครื่องดนตรีให้มากขึ้น เพราะต้องการแสดงถึงความมีพลัง ความยิ่งใหญ่ ชัยชนะ การประสานเสียงโดยใช้คอร์แปลก ๆ มากขึ้น จัดได้ว่าเป็นผลงานเพลงที่แตกต่างจากยุคคลาสสิกอย่างชัดเจน ระยะที่สาม (1816 – 1827) เป็นช่วงที่เบทโฮเฟินเปลี่ยนแนวการประพันธ์ไป เนื่องจากต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา ผลงานในช่วงท้ายมักจะแสดงออกถึงความเข้มแข็ง ไม่นุ่มนวลมากนักและหลายบทเพลงไม่เป็นที่รู้จัก ผลงานของเบทโฮเฟินประกอบด้วย ซิมโฟนี 9 บท เปียโนคอนแชร์โต 5 บท ไวโอลินคอนแชร์โต 1 บท โอเปรา 1 เรื่อง สติงควอเท็ต 16 บท เปียโนโซนาตา 32 บทและผลงานสำคัญอีกจำนวนมาก นับว่าเบทโฮเฟินเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างยุคคลาสสิกและยุคจินตนิยมเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง

ผลงานของเบทโฮเฟินในปัจจุบัน

แก้

มีเดีย

แก้

Orchestral

Chamber

Other

อ้างอิง

แก้
 
รูปปั้นของเบทโฮเฟินและบ้านเกิดของเขาที่เมืองบ็อน

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้