ลิลิตพระลอ
ลิลิตพระลอ เป็นลิลิตโศกนาฏกรรมความรัก ที่แต่งขึ้นอย่างประณีตงดงาม มีความไพเราะของถ้อยคำ และเต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์ พรรณนาเรื่องด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ใช้กวีโวหารอย่างยอดเยี่ยม ในการบรรยายเนื้อเรื่อง ที่มีฉากอย่างมากมาย หลากหลายอารมณ์ โดยมีแก่นเรื่องแบบรักโศก หรือโศกนาฏกรรม และแฝงแง่คิดถึงสัจธรรมของชีวิต ลิลิตพระลอนี้เคยถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากนักวรรณคดีบางกลุ่ม เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่มอมเมาทางโลกีย์
ลิลิตพระลอ | |
---|---|
ชื่ออื่น | ไม่ทราบ |
กวี | ไม่ทราบ |
ประเภท | นิยาย |
คำประพันธ์ | ลิลิตสุภาพ |
ความยาว | 660 บท |
ยุค | กรุงศรีอยุธยา |
ปีที่แต่ง | ไม่ทราบ |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์ |
ลิลิตพระลอที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ. 2459 ให้เป็นยอดแห่งลิลิต
ผู้แต่งและปีที่แต่ง
แก้ทั้งเรื่องผู้แต่งและปีที่แต่ง ไม่ปรากฏหลักการหรือข้อความระบุที่ชัดเจน แต่อาจอาศัยเนื้อเรื่องที่ระบุถึงสงครามระหว่างอยุธยาและเชียงใหม่มาเป็นจุดอ้างอิง ซึ่งเดิมนั้นเชื่อว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน และเป็นที่ถกเถียงกันมาจวบจนปัจจุบัน นักวิจารณ์วรรณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ลิลิตพระลอแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาแน่ และเชื่อว่าเป็นไปได้มากที่จะแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากหนังสือสอนภาษาไทย "จินดามณี" ที่แต่งโดยพระโหราธิบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอบทที่ว่า
เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง | อันใด พี่เอย |
เสียงย่อมยอยศใคร | ทั่วหล้า |
สองเขือพี่หลับใหล | ลืมตื่น ฤๅพี่ |
สองพี่คิดเองอ้า | อย่าได้ถามเผือฯ |
มาใช้เป็นแบบโคลง 4 เพราะเอกโทตรงตามตำราหมดทุกแห่ง นอกจากหนังสือจินดามณี ยังมีเค้าเงื่อนอย่างอื่นเป็นที่สังเกต คือ หนังสือบทกลอนแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา (ว่าตามตัวอย่างที่ยังมีอยู่) ในช่วงตอนต้นนับแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาชอบแต่งลิลิตกันเป็นพื้นมีลิลิตโองการแช่งนํ้าพระพิพัฒนสัตยา ลิลิตเรื่องยวนพ่าย และลิลิตเรื่องพระลอเป็นตัวอย่างสำนวนทันเวลากันทั้ง 3 เรื่อง แต่การกวีนิพนธ์ตอนกลางและปลายกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่ามีการแต่งลิลิตเรื่องใดเลย ดังนั้นจึงมีหลักฐานน่าเชื่อว่า ลิลิตพระลอ เป็นวรรณคดีที่แต่งใน กรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวในระหว่าง พ.ศ. 1991 จนถึง พ.ศ. 2026[1] แต่ยังมีบางท่านเสนอเวลาที่ใหม่กว่านั้น ว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังมีผู้คล้อยตามไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีหลักฐานสนับสนุน
นักวรรณคดีมักจะยกโคลงท้ายบทมาเป็นหลักฐานพิจารณาสมัยที่แต่ง ดังนี้
659.จบเสร็จมหาราชเจ้า | นิพนธ์ |
ยอยศพระลอคน | หนึ่งแท้ |
พี่เลี้ยงอาจเอาตน | ตายก่อน พระนา |
ในโลกนี้สุดแล้ | เลิศล้ำคุงสวรรค์ฯ |
660.จบเสร็จเยาวราชเจ้า | บรรจง |
กลอนกล่าวพระลอยง | ยิ่งผู้ |
ใครฟังย่อมใหลหลง | ฤๅอิ่ม ฟังนา |
ดิเรกแรกรักชู้ | เหิ่มแท้รักจริงฯ |
จากโคลงข้างบน มีผู้เสนอว่า "มหาราช" คือกษัตริย์ เป็นผู้แต่ง และ "เยาวราช" เป็นผู้เขียน (บันทึก) และสันนิษฐานว่า ผู้แต่งน่าจะเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) และผู้เขียน คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระอาทิตยวงศ์) และคาดว่าน่าจะแต่งเมื่อ พ.ศ. 2034-2072[2]
อย่างไรก็ตาม นักวรรณคดีบางท่าน เสนอว่า น่าจะอยู่ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077-2089) เนื่องจากเป็นสมัยที่มีสงครามระหว่างไทยกับเชียงใหม่ และเป็นสมัยแรกที่มีการใช้ปืน (ปืนไฟ) ในการรบ[3]
ภาษาสำนวนในลิลิตพระลอ อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ในสมัยอยุธยา แต่ก็ยังมีศัพท์ยาก และศัพท์โบราณอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้นักวิจารณ์บางท่านเสนอว่า ลิลิตพระลอแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์
คำประพันธ์
แก้คำประพันธ์ในเรื่องลิลิตพระลอ เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ, ร่ายสอดสร้อย, โคลงสองสุภาพ, โคลงสามสุภาพ และ โคลงสี่สุภาพ สลับกันตามจังหวะ ลีลา และเนื้อหาของเรื่อง
เนื้อหา
แก้ท้าวแมนสรวงเป็นกษัตริย์ของเมืองแมนสรวง พระองค์มีพระมเหสีทรง พระนามว่า “ นางบุญเหลือ ” ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสมีพระนามว่า “ พระลอดิลกราช ” หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ พระลอ ” มีกิตติศัพท์เป็นที่ร่ำลือกันว่าพระองค์นั้นทรงเป็นชายหนุ่มรูปงามไปทั่วสารทิศจนไปถึงเมืองสรอง ( อ่านว่า เมืองสอง ) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกปกครองโดยท้าวพิชัยวิษณุกร พระองค์มีพระนามว่า “ พรดาราวดี ” และพระองค์ทรงมีพระธิดาผู้เลอโฉมถึงสองพระองค์พระนามว่า “ พระเพื่อน ” และ “ พระแพง ”
พระเพื่อนและพระแพงได้ยินมาว่า พระลอเป็นชายหนุ่มรูปงาม ก็ให้ความสนใจอยากจะได้ยล พี่เลี้ยงของพระเพื่อนและพระแพงคือนางรื่น และนางโรยสังเกตเห็นความปรารถนาของนายหญิงของตนก็เข้าใจในพระประสงค์ สองพี่เลี้ยงจึงอาสาจะจัดการให้นายของตนนั้นได้พบกับพระลอ โดยการส่งคนไปขับซอในนครแมนสรวง และในขณะที่ขับซอนั้นจะไห้นักดนตรีพร่ำพรรณนาถึงความงามของเจ้าหญิงทั้งสอง ในขณะเดียวกันนั้นพี่เลี้ยงทั้งสองก็ได้ไปหาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อที่จะให้ช่วยทำเสน่ห์ให้พระลอหลงใหลในเจ้าหญิงทั้งสอง
เมื่อพระลอต้องมนต์ก็ทำให้ใคร่อยากที่จะได้ยลพระเพื่อนและพระแพงเป็นยิ่งนัก พระองค์เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงจนไม่เป็นอันทำอะไรแม้แต่กระทั่งเสวยพระกระยาหาร พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพระองค์ ได้ทำให้พระราชชนนีสงสัยว่าจะมีผีมาเข้ามาสิงสู่อยู่แต่ถึงแม้ว่าจะหาหมอผีคนไหนมาทำพิธีขับไล่ก็ไม่มีผลอันใด พระลอก็ยังคงมีพฤติการณ์อย่างเดิมอยู่
เพื่อที่จะได้ยลเจ้าหญิงทั้งสอง พระลอจึงทูลลาพระราชชนนีออกประพาสป่า แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือ เพื่อที่จะได้ไปยลเจ้าหญิงแห่งเมืองสรองนั่นเอง จากนั้นพระลอก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองสรองพร้อมคนสนิทอีก 2 คน คือ นายแก้ว กับนายขวัญ พร้อมกับไพร่พลอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดต้องเดินผ่านป่าผ่าดงจนกระทั่งมาพบแม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อว่า “ แม่น้ำกาหลง ”
และที่แม่น้ำกาหลงนี้เอง ที่พระลอได้ตั้งอธิษฐานว่าหากตนเองได้รอดกลับมาน้ำจะใสและไหลตามปรกติแต่หากต้องตายให้น้ำกลายเป็นสีเลือดและไหลผิดปรกติ หลังจากคำอธิษฐานนั้น แม่น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดในทันทีและไหลเวียนวนผิดปกติ เมื่อพระลอเห็นดังนั้นก็รู้ได้ว่าจะมีเรื่องร้ายรออยู่เบื้องหน้าของพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดความย่อท้อที่จะได้พบกับเจ้าหญิงที่พระทัยของพระองค์เรียกร้องแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าพระองค์นั้นจะไม่เคยพบนางเลย แต่พระองค์คลั่งไคล้ไหลหลงในตัวนางทั้งสองเป็นยิ่งนัก
ส่วนเจ้าหญิงทั้งสองรอการเดินทางมาของเจ้าชายรูปงามไม่ได้ และเกรงว่ามนต์เสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพรายจะไม่เห็นผล จึงได้ขอร้องให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วยเหลืออีกครั้ง โดยให้ช่วยเนรมิตไก่งามขึ้นตัวหนึ่งให้มีเสียงขันที่ไพเราะ ทั้งสองพระองค์คิดว่าไก่ตัวนั้นจะต้องทำให้พระลอสนพระทัยและติดตามมาจนถึงเมืองสรองอย่างแน่นอน
และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่เจ้าหญิงสองคาดไว้ พระลอได้ตามไก่เนรมิตไปจนถึงพระราชอุทยาน และได้พบกับเจ้าหญิงทั้งสองซึ่งกำลังทรงสำราญอยู่ ในทันทีที่ทั้งสามได้พบกันก็เกิดความรักใคร่กันในบัดดล และก็เป็นเวลาเดียวกับที่นายแก้วกับนายขวัญ ได้ตกหลุมรักของนางรื่นและนางโรยผู้ซึ่งเปิดหัวใจต้อนรับชายหนุ่มทั้งสองโดยไม่รีรอเช่นกัน ปรากฏว่าพระลอและบ่าวคนสนิทของพระองค์ลักลอบเข้าไปอยู่ในพระตำหนักชั้นในซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงทั้งสอง
อย่างไรก็ตาม ความลับนี้ได้ถูกเปิดเผยเข้าจนได้ เมื่อข่าวได้ไปถึงพระกรรณของพระราชาจึงได้เสด็จมาไต่สวนในทันที และเมื่อพระลอกราบทูลให้ทรงทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงกริ้วเป็นยิ่งนัก แต่ก็ทรงเข้าพระทัยในความรักของคนทั้งสาม และทรงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้ทั้งสามพระองค์ทันที
ด้วยการอ้างเอาพระราชโองการของพระราชโอรสของพระนางคือ ท้าวพระพิชัยวิษณุกร พระเจ้าย่าจึงสั่งให้ทหารล้อมพระลอและไพร่พลเอาไว้ ในขณะที่พระลอกับไพร่พลได้ต่อสู้เอาชีวิตรอด พระนางก็สั่งให้ทหารระดมยิงธนูเข้าใส่ ลูกธนูที่พุ่งเข้าหาพระองค์และไพร่พลประดุจดังห่าฝนก็ไม่ปานจึงทำให้ไม่อาจจะต้านทานไว้ได้อีกต่อไป
และเพื่อที่ปกป้องชีวิตของชายคนรักพระเพื่อนกับพระแพงจึงเข้าขวางโดยใช้ตัวเองเป็นโล่กำบังให้พระลอ ทั้งสามจึงต้องมาสิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของกันและกันท่ามกลางศพของบ่าวไพร่ ณ ที่ตรงนั้นเอง ทันใดนั้นทั้งสองเมืองก็ต้องตกอยู่ในความวิปโยคต่อการจากไปของทั้งสามพระองค์ผู้บูชาในรักแท้
บทร้อยกรองบางตอนจากลิลิตพระลอ
แก้30.เสียงลือเสียงเล่าอ้าง | อันใด พี่เอย | |
เสียงย่อมยอยศใคร | ทั่วหล้า | |
สองเขือพี่หลับใหล | ลืมตื่น ฤๅพี่ | |
สองพี่คิดเองอ้า | อย่าได้ถามเผือฯ | |
.................. | .................. | |
215..ใดใดในโลกล้วน | อนิจจัง | |
คงแต่บาปบุญยัง | เที่ยงแท้ | |
คือเงาติดตัวตรัง | ตรึงแน่น อยู่นา | |
ตามแต่บุญบาปแล้ | ก่อเกื้อรักษาฯ | |
.................. | .................. | |
261.ลางลิงลิงลอดไม้ | ลางลิง | |
แลลูกลิงลงชิง | ลูกไม้ | |
ลิงลมไล่ลมติง | ลิงโลด หนีนา | |
แลลูกลิงลางไหล้ | ลอดเลี้ยวลางลิง ฯ | |
.................. | .................. | |
290.ร้อยชู้ฤๅเท่าเนื้อ | เมียตน | |
เมียแล่พันฤๅดล | แม่ได้ | |
ทรงครรภ์คลอดเปนคน | ฤๅง่าย เลยนา | |
เลี้ยงยากนักท้าวไท้ | ธิราชผู้มีคุณ ฯ | |
.................. | .................. | |
625.เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้ | ทุกเรือน | |
อกแผ่นดินดูเหมือน | จักขว้ำ | |
บเห็นตะวันเดือน | ดาวมืด มัวนา | |
แลแห่งใดเห็นน้ำ | ย่อมน้ำตาคน ฯ | |
.................. | .................. |
อ้างอิง
แก้- ↑ "ลิลิตพระลอ". หอสมุดวชิรญาณ.
- ↑ ดร.สิทธา พินิจภูวดล. "ลิลิตพระลอ วรรณกรรมสมัยอยุธยา",วรรณกรรมสมัยอยุธยา ฉบับแปล. กรุงเทพฯ : โครงการวรรณกรรมอาเซียน, 2542.
- ↑ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร."ลิลิตพระลอ:การศึกษาเชิงประวัติ", พินิจวรรณกรรม. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2535.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- น.ท.หญิง สุมาลี วีระวงศ์. วิถีไทยในลิลิตพระลอ. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2549.
- ลิลิตพระลอประกอบภาพและเพลง โดย "ขุนมน" เก็บถาวร 2009-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ลิลตพระลอ นิทานล้านนา เก็บถาวร 2009-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- รูปการแสดงวิพิธทัศนาระบำสี่ภาคและละครรำเรื่องพระลอ ของมูลนิธิคนพิการไทย ในวันเสาร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ ณ.หอวชิราวุธานุสรณ์ กรุงเทพฯ[ลิงก์เสีย]
- รูปการแสดงหุ่นกระบอกออกตัว เรื่อง พระลอ ตอน เพื่อนแพงพลอดพระลอ ของคณะคุณรัตน์ ( วัชรพงศ์ ปานแสนชุติพันธุ์ )
ในรายการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ ๕๖ ครั้งที่ ๑๙ ณ.สังคีตศาลา ของกรมศิลปากร วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน