ละครชาตรี
ละครชาตรี เป็นละครประเภทหนึ่งของไทย สันนิษฐานว่าคงนำเอาการขับร้องและระบำ รำฟ้อน ประกอบดนตรี ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาผสมกับละคร มีลักษณะคล้ายละครอินเดียที่เรียกว่า ยาตรี หรือ ยาตรา ซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยว
ประวัติ
แก้ละครชาตรีเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาราชสำนักอยุธยานำลงไปสอนละครชาตรีที่ภาคใต้[1] ละครชาตรีได้เป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ เรื่องที่นิยมแสดงคือเรื่อง พระสุธนและนางโนราห์ จึงเรียกละครประเภทนี้ว่า โนราห์ชาตรี[2] พ.ศ. 2312 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช และพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร พ.ศ. 2323 ในงานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง
พ.ศ. 2375 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบและระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกชาวใต้ จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วย ราษฎรเหล่านั้นเป็นไพร่หลวงเกณฑ์บุญ เมื่อราชการมีงานบุญ และให้ตั้งบ้านเรือน ซึ่งในปัจจุบันเป็นบริเวณถนนหลานหลวงและถนนดำรงรักษ์ ภายหลังได้ตั้งคณะละครรับจ้างแสดง
ปัจจุบันมีละครแก้บนที่แสดงตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ กรุงเทพมหานคร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนตามวัดสำคัญ ๆ ในจังหวัดภาคกลาง ประชาชนทั่วไป เรียกการแสดงแก้บนนี้ว่า ละครชาตรี
แม้ว่าการแสดงละครชาตรีในปัจจุบันจะเหมือนละครนอกเกือบทั้งหมด แต่ยังคงมีการแสดงละครชาตรีแบบดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง เช่น คณะนายพูน เรืองนนท์ ที่ถนนหลานหลวง กรุงเทพมหานคร คณะละครชาตรีที่จังหวัดเพชรบุรีที่เรียกว่า ละครชาตรีเมืองเพชร[3]
ลักษณะ
แก้ในสมัยโบราณ ผู้แสดงเป็นชายล้วน มีตัวละครเพียง 3 ตัว คือตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงแสดงละครนอกและละครชาตรี ผู้หญิงจะใช้แสดงเฉพาะละครในเท่านั้น จนกระทั่งในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถแสดงละครนอกและละครชาตรีได้ สมัยปัจจุบันนิยมใช้ผู้หญิงแสดงเป็นส่วนใหญ่ ละครชาตรีสมัยโบราณไม่สวมเสื้อเนื่องจากตัวแสดงเป็นชาย ตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลานุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้างสวมสังวาล ทับทรวง กรองคอกับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงาม เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง"
เครื่องดนตรีที่ใช้เป็นวงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบด้วย ปี่ โทน ฆ้องคู่ กรับ และกลองชาตรี ละครชาตรีไม่มีฉากประกอบ ยกเว้นให้มีเสากลางโรง 1 ต้น เสานี้สําคัญมาก (เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทําเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง)[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ชม "ละครชาตรี" ละครชาวบ้านความเป็นมาลึกซึ้ง-ครื้นเครง ต่างจากในรั้ววัง (ชมคลิป)". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ละครชาตรี (เท่งตุ๊ก)". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-21. สืบค้นเมื่อ 2022-10-21.
- ↑ "กำเนิดของละครชาตรี". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
- ↑ "ละครชาตรี" (PDF).