รัฐบาลญี่ปุ่น
รัฐบาลญี่ปุ่น ประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ภายใต้แนวคิดอธิปไตยของปวงชน รัฐบาลดำเนินการภายใต้โครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นที่นำมาใช้ใน ค.ศ. 1947 ประเทศญี่ปุ่นเป็นรัฐเดี่ยวที่ประกอบด้วยเขตการปกครอง 47 แห่ง โดยมีจักรพรรดิเป็นประมุขแห่งรัฐ[1] พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งในเชิงพิธีและไม่มีอำนาจต่อรัฐบาล[2] แต่อำนาจนั้นตกเป็นของคณะรัฐมนตรีอันประกอบด้วยรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและกำกับกิจการของรัฐบาลและข้าราชการพลเรือน คณะรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารและแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาล[3][4] นายกรัฐมนตรีได้รับการเสนอชื่อโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติและได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการโดยจักรพรรดิให้ดำรงตำแหน่งนี้[5][6]
รัฐบาลญี่ปุ่น 日本国政府 | |
---|---|
ประเภทรัฐ | รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ |
รัฐธรรมนูญ | รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น |
ฝ่ายนิติบัญญัติ | |
ชื่อ | สภานิติบัญญัติแห่งชาติ |
สถานที่ประชุม | อาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ |
สภาสูง | |
ชื่อ | ราชมนตรีสภา |
สภาล่าง | |
ชื่อ | สภาผู้แทนราษฎร |
ฝ่ายบริหาร | |
ประมุขแห่งรัฐ | |
คำเรียก | จักรพรรดิ |
ปัจจุบัน | นารูฮิโตะ |
หัวหน้ารัฐบาล | |
คำเรียก | นายกรัฐมนตรี |
ปัจจุบัน | ฟูมิโอะ คิชิดะ |
ผู้แต่งตั้ง | จักรพรรดิ |
คณะรัฐมนตรี | |
คำเรียก | คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น |
หัวหน้า | นายกรัฐมนตรี |
ผู้แต่งตั้ง | นายกรัฐมนตรี |
สำนักงานใหญ่ | ทำเนียบนายกรัฐมนตรี |
ฝ่ายตุลาการ | |
ศาลสูงสุด | |
ที่ตั้งศาล | ชิโยดะ |
รัฐบาลญี่ปุ่น | |||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||
---|---|---|---|---|---|
คันจิ | 日本国政府 | ||||
ฮิรางานะ | にほんこくせいふ (ทางการ) にっぽんこくせいふ (ไม่ทางการ) | ||||
|
สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภานี้ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยราชมนตรีสภาที่ทำหน้าที่เป็นสภาสูง และสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นสภาล่าง สมาชิกในสภาเหล่านี้ได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชน ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอธิปไตย[7] โดยถือเป็นองค์กรสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลสูงสุดและศาลภายในอื่น ๆ อยู่ในฝ่ายตุลาการ และถืออำนาจตุลาการเบ็ดเสร็จ โดยมีเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายหน้าที่โดยองค์กรตุลาการต่าง ๆ ในการตีความรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น และถืออำนาจในการพิจารณาทบทวน ฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร[8] คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อหรือแต่งตั้งผู้พิพากษาและฝ่ายนิติบัญญัติหรือบริหารไม่สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนี้ได้ เว้นแต่จะอยู่ในช่วงการฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่ง
ประวัติ
แก้ก่อนหน้าการฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่นปกครองโดยรัฐบาลทหารโชกุนที่สืบทอดตามสายโลหิต ระหว่างยุคนี้ ประสิทธาภิบาลในกิจการของรัฐตกเป็นของโชกุน ผู้ซึ่งปกครองประเทศในพระปรมาภิไธยของจักรพรรดิ[9] โชกุนเป็นผู้ว่าการฝ่ายทหารที่สืบทอดกันมา โดยเทียบเท่ากับชั้นยศสมัยใหม่ เจเนราลิสซีโม แม้ว่าจักรพรรดิผู้มีอำนาจสูงสุดจะทรงแต่งตั้งโชกุนก็ตาม แต่บทบาทของจักรพรรดินั้นมีไว้เพียงเป็นพิธีและทรงไม่เข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการบริหารประเทศ[10] ซึ่งมักนำมาเปรียบเทียบได้กับบทบาทปัจจุบันของจักรพรรดิที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี[11]
การฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิใน ค.ศ. 1872 นำไปสู่การลาออกของโชกุน โทกูงาวะ โยชิโนบุ ที่ยินยอม "เป็นเครื่องมือในการสนองพระบรมราชโองการ" ของจักรพรรดิ[12] จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศญี่ปุ่นปกครองโดยจักรพรรดิ และการประกาศสถาปนาจักรวรรดิญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1889 มีการนำรัฐธรรมนูญเมจิมาใช้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศญี่ปุ่นให้อยู่ในระดับเดียวกันกับชาติตะวันตก และทำให้เป็นชาติแรกในเอเชียที่นำระบบรัฐสภามาใช้[13] ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ–สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ได้รับต้นแบบจากแบบจำลองของชาวปรัสเซียในขณะนั้น โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอิสระ[14]
กลุ่มชนชั้นสูงใหม่ที่เรียก คาโซกุ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมขุนนางโบราณในยุคเฮอัง, คูเงะ และไดเมียว ขุนนางมูลนายต่อโชกุน[15] นอกจากนี้ยังมีการสถาปนาสภานิติบัญญัติแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นและสภาขุนนางญี่ปุ่นที่มีสมาชิกเป็นราชวงศ์, คาโซกุ และผู้ที่ได้รับการเสนอนามโดยจักรพรรดิ[16] ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับการเลือกโดยบุรุษที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง[17] แม้ว่าจะมีการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายบริหารและจักรพรรดิในยุครัฐธรรมนูญเมจิออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด ความคลุมเครือและข้อพิพาทในรัฐธรรมนูญฯ นำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองในที่สุด[18] นอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียความเชื่อต่อแนวคิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน ซึ่งหมายถึงทหารนั้นสามารถพัฒนากองทัพของตนเพื่อให้มีอิทธิพลในการเมืองได้[19]
หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นฉบับปัจจุบันถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นการแทนที่กลไกการปกครองโดยจักรพรรดิให้เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก[20]
จวบจนถึง ค.ศ. 2020 สถาบันวิจัยญี่ปุ่น (Japan Research Institute) พบว่ารัฐบาลแห่งชาติส่วนใหญ่ดำเนินกิจการด้วยระบบแอนะล็อก เนื่องจากมีเพียงแค่ 7.5% (4,000 จาก 55,000) ของขั้นตอนทางราชการของรัฐบาลสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จได้ โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมอยู่ที่ 7.8%, กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารอยู่ที่ 8% และเพียงแค่ 1.3% ที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง[21]
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เท็ตสึชิ ซากาโมโตะ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเพื่อความเหงา มีหน้าที่ช่วยลดความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาในกลุ่มอายุและเพศต่าง ๆ[22]
จักรพรรดิ
แก้จักรพรรดิญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本天皇; โรมาจิ: Nihon Tennō) เป็นผู้นำพระบรมวงศานุวงศ์และเป็นประมุขแห่งรัฐเชิงพิธี พระจักรพรรดิได้รับการจำกัดความในรัฐธรรมนูญว่า "เป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชน"[7] อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิทรงไม่ได้เป็นผู้ถืออำนาจสูงสุดตามตำแหน่งของพระองค์ และยังทรงมีพระราชอำนาจที่จำกัดไว้เพียงการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพิธีสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น พระจักรพรรดิไม่ได้มีพระราชอำนาจที่แท้จริงต่อรัฐบาลตามที่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ[23]
มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น กำหนดให้จักรพรรดิทรงมีบทบาทเชิงพิธีดังต่อไปนี้:
- การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่ได้เสนอชื่อโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- การแต่งตั้งผู้พิพากษาสูงสุดตามที่ได้เสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี
ขณะที่คณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจบริหารและอำนาจส่วนใหญ่นั้นได้รับการนำมาใช้โดยตรงผ่านนายกรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจส่วนหนึ่งนำมาใช้โดยจักรพรรดิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ ได้แก่:
- การประกาศใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับคณะรัฐมนตรี และสนธิสัญญา
- การเรียกประชุมร่วมกันของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- การยุบสภาผู้แทนราษฎร
- การประกาศการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- การรับรองการแต่งตั้ง และการถอดถอนรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการอื่นตามที่บัญญัติไว้โดยกฎหมาย ตลอดจนอักษรสาสน์ตราตั้ง และหนังสือมอบอำนาจของเอกอัครราชทูต และอัครราชทูต
- การรับรองการนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไป และการนิรโทษกรรมเฉพาะบุคคล การลดหย่อนโทษ การอภัยโทษ และการคืนสู่สิทธิโดยชอบธรรม
- การสถาปนาเกียรติยศและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- การรับรองหนังสือสัตยาบัน และเอกสารทางการทูตอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้โดยกฎหมาย
- การต้อนรับเอกอัครราชทูตต่างชาติ และอัครราชทูต
- การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพระราชพิธีต่าง ๆ
จักรพรรดิเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้ถืออำนาจเชิงพิธี เช่น จักรพรรดิทรงเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีอำนาจในการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งก็ตาม หรือการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. 2009 นั้นเลื่อนออกไปสำหรับการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปครั้งถัดไปเนื่องจากทั้งจักรพรรดิและจักรพรรดินีทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศแคนาดา[24][25]
ด้วยเหตุนี้ บทบาทสมัยใหม่ของจักรพรรดิจึงมักได้รับการนำไปเปรียบเทียบกับผู้ปกครองสูงสุดในยุครัฐบาลโชกุน และประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะพบจักรพรรดิที่ถืออำนาจหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่แต่มีอำนาจทางการเมืองที่น้อย ซึ่งผู้ถืออำนาจดังกล่าวมักเป็นบุคคลผู้ที่จักรพรรดิทรงแต่งตั้งเอง จนถึงทุกวันนี้ มรดกบางส่วนยังสืบทอดต่อมายังอดีตนายกรัฐมนตรีที่แม้จะไม่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้วแต่ยังคงไว้ซึ่งอำนาจส่วนหนึ่งนั้นเรียกว่าโชกุนเงา (闇将軍, Yami Shōgun)[26]
ซึ่งแตกต่างจากกษัตริย์ในยุโรป จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของอำนาจอธิปไตยและรัฐบาลไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินในพระปรมาภิไธยของพระองค์ แต่จักรพรรดิทรงเป็นตัวแทนของรัฐและทรงแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อื่น ๆ ในนามแห่งรัฐ โดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ครองอำนาจอธิปไตยดังกล่าว[27] มาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญ และกฎราชวงศ์ได้บัญญัติให้มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินภายใต้พระปรมาภิไธยหากจักรพรรดิทรงไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้[28]
ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ศาลสูงสุด ได้ตัดสินว่าศาลฯ ไม่มีอำนาจตุลาการเหนือจักรพรรดิ[29]
ราชวงศ์ญี่ปุ่นได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่มีการสืบทอดสันตติวงศ์มาอย่างยาวนานที่สุดในโลก[30] อ้างอิงจากพงศาวดารโคจิกิและนิฮงโชกิ ญี่ปุ่นนั้นก่อตั้งโดยราชวงศ์ญี่ปุ่นเมื่อ 660 ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยจักรพรรดิจิมมุ[31] จักรพรรดิจิมมุทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของญี่ปุ่น และเป็นบรรพบุรุษของจักรพรรดิพระองค์ต่อ ๆ มา[32] ตามเทวตำนานของญี่ปุ่น รัชทายาทโดยตรงของพระเจ้าแห่งพระอาทิตย์ในศาสนาชินโตพื้นเมือง อามาเตราซุ (天照大御神, Amaterasu) ผ่านนินิงิ พระอัยกาทวดของจักรพรรดิจิมมุ[33][34]
จักรพรรดิองค์ปัจจุบันของญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 今上天皇; โรมาจิ: Kinjō Tennō) คือสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 หลังการสละราชสมบัติของพระบิดา[35][36] พระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงมีพระบรมราชอิสริยยศว่า สมเด็จพระจักรพรรดิ (天皇陛下, Tennō Heika; His Imperial Majesty) และทรงมีชื่อรัชสมัยของพระองค์ว่า เรวะ (令和, Reiwa) เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ ทรงเป็นทายาทโดยสันนิษฐานต่อราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ
ฝ่ายบริหาร
แก้ฝ่ายบริหารของประเทศญี่ปุ่น นำโดยนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี และได้รับการเสนอชื่อโดยฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[5] คณะรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งหรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งโดยนายกรัฐมนตรีเมื่อใดก็ได้[4] ฝ่ายบริหารเป็นแหล่งที่มาของอำนาจบริหารอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบการใช้อำนาจนั้น หากคณะรัฐมนตรีสูญเสียความไว้วางใจและการให้ความสนับสนุนในการดำรงตำแหน่งต่อไปโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาฯ ก็สามารถถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ[37]
นายกรัฐมนตรี
แก้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 内閣総理大臣; โรมาจิ: Naikaku Sōri Daijin) ได้รับการเสนอชื่อโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งในวาระ 4 ปี หรือน้อยกว่า โดยไม่มีการกำหนดว่านายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งได้กี่วาระ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีและ "ควบคุมดูแล" ฝ่ายบริหาร อีกทั้งยังเป็นหัวหน้ารัฐบาลและผู้บัญชาการทหารของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น[38] นายกรัฐมนตรีได้รับอำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ลงนามกฎหมาย, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ตามอัธยาศัย[39] นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งหรือถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้[4]
ทั้งสองสภาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีโดยการลงบัตรเลือกตั้งภายใต้ระบบสองรอบ หากทั้งสองสภาไม่สามารถตกลงในผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งได้ ให้มีคณะกรรมาธิการร่วมตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 วัน โดยไม่นับช่วงเวลาที่รัฐสภาปิดสมัยประชุม[40] อย่างไรก็ตาม หากทั้งสองสภายังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ให้ถือว่าการตัดสินใจโดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[40] ในกรณีที่ได้รับการเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะกรรมาธิการร่วมจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยจักรพรรดิ[6]
เมื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งได้รับการเสนอชื่อโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้สมัครจะต้องรายงานตนต่อสภานิติบัญญัติฯ หากได้รับการร้องขอ[41] นายกรัฐมนตรียังต้องเป็นทั้งพลเรือนและสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[42]
ลำดับที่ | ชื่อ | ชื่อญี่ปุ่น | เพศ | เข้ารับตำแหน่ง | พ้นจากตำแหน่ง | วาระ | การศึกษา |
---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | จุนอิจิโร โคอิซูมิ | 小泉 純一郎 | ชาย | 26 เมษายน 2001 | 26 กันยายน 2006 | 5 ปี | มหาวิทยาลัยเคโอ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน |
2 | ชินโซ อาเบะ | 安倍 晋三 | ชาย | 26 กันยายน 2006 | 26 กันยายน 2007 | 1 ปี | มหาวิทยาลัยเซเก |
3 | ยาซูโอะ ฟูกูดะ | 福田 康夫 | ชาย | 26 กันยายน 2007 | 24 กันยายน 2008 | 1 ปี | มหาวิทยาลัยวาเซดะ |
4 | ทาโร อาโซ | 麻生 太郎 | ชาย | 24 กันยายน 2008 | 16 กันยายน 2009 | 1 ปี | มหาวิทยาลัยกากูชูอิง[43] |
5 | ยูกิโอะ ฮาโตยามะ | 鳩山 由紀夫 | ชาย | 16 กันยายน 2009 | 2 มิถุนายน 2010 | 1 ปี | มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด |
6 | นาโอโตะ คัง | 菅 直人 | ชาย | 8 มิถุนายน 2010 | 2 กันยายน 2011 | 1 ปี | สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว |
7 | โยชิฮิโกะ โนดะ | 野田 佳彦 | ชาย | 2 กันยายน 2011 | 26 ธันวาคม 2012 | 1 ปี | มหาวิทยาลัยวาเซดะ |
8 | ชินโซ อาเบะ | 安倍 晋三 | ชาย | 26 ธันวาคม 2012 | 16 กันยายน 2020 | 7 ปี | มหาวิทยาลัยเซเก |
9 | โยชิฮิเดะ ซูงะ | 菅 義偉 | ชาย | 16 กันยายน 2020 | 4 ตุลาคม 2021 | 1 ปี | มหาวิทยาลัยโฮเซ |
10 | ฟูมิโอะ คิชิดะ | 岸田 文雄 | ชาย | 4 ตุลาคม 2021 | ปัจจุบัน | มหาวิทยาลัยวาเซดะ |
※ จวบจนถึง 17 ตุลาคม 2021
คณะรัฐมนตรี
แก้คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 内閣; โรมาจิ: Naikaku) ประกอบด้วยรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สมาชิกของคณะรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีและตามกฎหมายคณะรัฐมนตรี จำนวนของสมาชิกคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่รวมนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่เกิน 14 คน แต่อาจเพิ่มจนถึง 19 ได้หากมีความต้องการพิเศษ[44][45] มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสมาชิกคณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะต้องเป็นพลเรือน และจำนวนสมาชิกส่วนใหญ่จะต้องได้รับการรับเลือกจากสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[46] การบัญญัติที่ชัดเจนสร้างโอกาสให้นายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งข้าราชการสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง[47] คณะรัฐมนตรีจำเป็นที่จะต้องลาออกทั้งคณะในขณะยังคงปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่หากเกิดสถานการณ์ดังต่อไปนี้ขึ้น:
- สภาผู้แทนราษฎรในสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือปัดตกมติอธิปรายไว้วางใจ เว้นแต่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรภายในระยะเวลา 10 วัน
- หากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง หรือเมื่อมีการเรียกประชุมสามัญครั้งแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป
โดยปรับใช้หลักความชอบธรรมจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบหลักการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจทั้งทางปฏิบัติ กล่าวคือใช้อำนาจผ่านนายกรัฐมนตรี อีกทางหนึ่งคือใช้อำนาจผ่านพระปรมาภิไธยของจักรพรรดิ[3]
มาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนี้นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดินดังนี้:
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงตรงและดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน
- กำกับดูแลกิจการการต่างประเทศ
- ลงมติในสนธิสัญญา อย่างไรก็ตามควรได้รับคำยินยอมก่อนหรือภายหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วแต่กรณี
- บริหารระบบข้าราชการพลเรือนให้สอดคล้องกับมาตรฐานตามที่บัญญัติไว้โดยกฎหมาย
- จัดเตรียมรายงานงบประมาณและนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ประกาศคำสั่งคณะรัฐมนตรีในการดำเนินกิจการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงการกำหนดบทลงโทษทางอาญาเว้นแต่กฎหมายจำเพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
- การพิจารณาการนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไป และการนิรโทษกรรมเฉพาะบุคคล การลดหย่อนโทษ การอภัยโทษ และการคืนสู่สิทธิโดยชอบธรรม
ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายและคำสั่งคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้นล้วนจะต้องลงนามโดยรัฐมนตรีที่ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีและลงนามกำกับโดยนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการโดยจักรพรรดิ อีกทั้งยังไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีสมาชิกคณะรัฐมนตรีทุกคนได้ยกเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีโดยไม่ลดทอนสิทธิของผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี[48]
ข้อมูลเมื่อ 11 เมษายน ค.ศ. 2023[update] คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกอบด้วย:[49]
คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น คณะที่ 101 คณะรัฐมนตรีคิชิดะที่สอง 2 (ปรับใหม่) | |||||
สี: เสรีประชาธิปไตย โคเม สส.: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สว.: วุฒิสมาชิก | |||||
รัฐมนตรี เขตเลือกตั้ง |
ตำแหน่ง | ประจำ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | ||
---|---|---|---|---|---|
คณะรัฐมนตรี | |||||
ฟูมิโอะ คิชิดะ สส. ฮิโรชิมะเขต 1 |
นายกรัฐมนตรี | สำนักงานคณะรัฐมนตรี | 4 ตุลาคม 2021 | ||
ทาเกอากิ มัตสึโมโตะ สส. เฮียวโงะเขต 11 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร | กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร | 21 พฤศจิกายน 2022 | ||
เค็น ไซโต สส. ชิบะเขต 7 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | กระทรวงยุติธรรม | 11 พฤศจิกายน 2022 | ||
โยชิมาซะ ฮายาชิ สส. ยามางูจิเขต 3 |
รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ | กระทรวงการต่างประเทศ | 10 พฤศจิกายน 2021 | ||
ชุนอิจิ ซูซูกิ สส. อิวาเตะเขต 2 |
กระทรวงการคลัง รัฐมนตรีเพื่อการบริการการเงิน รัฐมนตรีดูแลการแก้ไขภาวะเงินฝืด |
กระทรวงการคลัง กรมบริการการเงิน |
4 ตุลาคม 2021 | ||
เคโกะ นางาโอกะ สส. อิบารากิเขต 7 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รัฐมนตรีดูแลการปฏิรูปการศึกษา |
กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี | 10 สิงหาคม 2022 | ||
คัตสึโนบุ คาโต สส. โอกายามะเขต 5 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ | กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ | 10 สิงหาคม 2022 | ||
เท็ตสึโระ โนมูระ สว. เขตคาโงชิมะ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง | กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง | 10 สิงหาคม 2022 | ||
ยาซูโตชิ นิชิมูระ สส. เฮียวโงะเขต 9 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม รัฐมนตรีดูแลการแข่งขันทางอุตสาหกรรม รัฐมนตรีเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศรัสเซีย รัฐมนตรีดูแลการตอบโต้ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ รัฐมนตรีเพื่อการเยียวยาความเสียหายทางนิวเคลียร์และอำนวยความสะดวกในการปลดระวาง |
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม | 10 สิงหาคม 2022 | ||
เท็ตซูโอะ ไซโต สส. ฮิโรชิมะเขต 3 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว รัฐมนตรีดูแลนโยบายวงจรน้ำ รัฐมนตรีเพื่อการประกวดพืชสวนโลก โยโกฮามะ 2027 |
กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว | 4 ตุลาคม 2021 | ||
อากิฮิโระ นิชิมูระ สส. มิยางิเขต 3 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีเพื่อความพร้อมในเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ |
กระทรวงสิ่งแวดล้อม | 10 สิงหาคม 2022 | ||
ยาซูกาซุ ฮามาดะ สส. ชิบะเขต 12 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม | กระทรวงกลาโหม | 10 สิงหาคม 2022 | ||
ฮิโรกาซุ มัตสึโนะ สส. ชิบะเขต 3 |
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีดูแลการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากกองกำลังสหรัฐในโอกินาวะ รัฐมนตรีดูแลปัญหาการลักพาตัว รัฐมนตรีดูแลการส่งเสริมการให้วัคซีน |
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี | 4 ตุลาคม 2021 | ||
ทาโร โคโนะ สส. คานางาวะเขต 15 |
รัฐมนตรีเพื่อการเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัล รัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูปทางดิจิทัล รัฐมนตรีเพื่อกิจการผู้บริโภคและความปลอดภัยทางอาหาร รัฐมนตรีดูแลการปฏิรูประบบราชการ |
สำนักงานดิจิทัล สำนักงานคณะรัฐมนตรี |
10 สิงหาคม 2022 | ||
ฮิโรมิจิ วาตานาเบะ สส. ชิบะเขต 6 |
รัฐมนตรีว่าการสำนักงานการบูรณะ รัฐมนตรีดูแลการประสานงานนโยบายรอบด้านที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ |
สำนักงานการบูรณะ | 27 ธันวาคม 2022 | ||
โคอิจิ ทานิ สส. เฮียวโงะเขต 5 |
ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ รัฐมนตรีดูแลการสร้างพลังเข้มแข็งแห่งชาติ รัฐมนตรีดูแลปัญหาดินแดน รัฐมนตรีดูแลการปฏิรูประบบราชการ รัฐมนตรีเพื่อการจัดการภัยพิบัติและนโยบายมหาสมุทร |
คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ สำนักงานคณะรัฐมนตรี |
10 สิงหาคม 2022 | ||
มาซาโนบุ โองูระ สส. โตเกียวเขต 23 |
รัฐมนตรีดูแลนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก รัฐมนตรีดูแลสังคมที่เชื่อมโยงกัน รัฐมนตรีเพื่อการเสริมสร้างพลังสตรี รัฐมนตรีดูแลมาตรการความเหงาและการโดดเดี่ยว รัฐมนตรีเพื่อมาตรการตอบโต้อัตราการเกิดที่ลดถอยลง รัฐมนตรีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ |
สำนักงานเด็กและครอบครัว สำนักงานคณะรัฐมนตรี |
10 สิงหาคม 2022 | ||
ชิเงยูกิ โกโต สส. นางาโนะเขต 4 |
รัฐมนตรีดูแลการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐมนตรีดูแลทุนนิยมใหม่ รัฐมนตรีดูแลวิสาหกิจเริ่มต้น รัฐมนตรีดูแลมาตรการโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และการจัดการวิกฤตทางการแพทย์ รัฐมนตรีดูแลการปฏิรูปการประกันสังคม รัฐมนตรีเพื่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการคลัง |
สำนักงานคณะรัฐมนตรี | 25 ตุลาคม 2022 | ||
ซานาเอะ ทากาอิจิ สส. นาระเขต 2 |
รัฐมนตรีดูแลความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีเพื่อยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญา รัฐมนตรีเพื่อนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีเพื่อนโยบายอวกาศ |
สำนักงานคณะรัฐมนตรี | 10 สิงหาคม 2022 | ||
นาโอกิ โอกาดะ สว. อิชิกาวะ |
รัฐมนตรีเพื่อกิจการโอกินาวะและดินแดนทางตอนเหนือ รัฐมนตรีเพื่อการกระตุ้นท้องถิ่น รัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูปข้อบังคับ รัฐมนตรีเพื่อกลยุทธ์ "คูลเจแปน" รัฐมนตรีเพื่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวไอนุ รัฐมนตรีดูแลวิสัยทัศน์สวนดิจิทัลซิตีเนชัน รัฐมนตรีเพื่อเวิลด์เอ็กซ์โป 2025 รัฐมนตรีดูแลการปฏิรูปการบริหารราชการ |
สำนักงานคณะรัฐมนตรี | 10 สิงหาคม 2022 |
กระทรวง
แก้กระทรวงในประเทศญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 行政機関; โรมาจิ: Gyōseikikan) ประกอบด้วย 11 กระทรวงและสำนักคณะรัฐมนตรี แต่ละกระทรวงมีรัฐมนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกอาวุโสของสภานิติบัญญัติและได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกของคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้นำกระทรวง สำนักคณะรัฐมนตรีนำโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกิจการภายในคณะรัฐมนตรีวันต่อวัน กระทรวงเป็นส่วนราชการที่มีอิทธิพลต่อการใช้อำนาจบริหารมากที่สุดอย่างเป็นประจำทุกวัน ขณะที่รัฐมนตรีบางคนอาจดำรงตำแหน่งมากกว่า 1 ปี เพื่อปฏิบัติราชการในกระทรวงหรือทบวงนั้นหากมีความจำเป็น ดังนั้นอำนาจส่วนใหญ่ตกเป็นของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่[50]
- ※ รับผิดชอบราชการในกิจการฝ่ายราชวงศ์
- สำนักงานการบูรณะ
- กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร
- กระทรวงยุติธรรม
- กระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงการคลัง
- กระทรวงป้องกันประเทศ
- กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT)
- ※ ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม จัดการดูแลลิขสิทธิ์ รวมถึงมอบเงินทุนสนับสนุนสำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้านดนตรี การละคร การเต้นรำ งานแสดงศิลปะ และการผลิตภาพยนตร์ และการพัฒนาภาษาประจำชาติ
- กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ
- กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI)
- ※ จัดการดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร, ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์, การออกแบบ และเครื่องหมายการค้า
※ จวบจนถึง 14 ตุลาคม ค.ศ. 2018[51][52]
คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีแผ่นดิน (ญี่ปุ่น: 会計検査院; โรมาจิ: Kaikei Kensa'in) เป็นองค์กรเดียวของรัฐบาลที่คณะกรรมการนั้นแยกออกเป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลและรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น และพระราชบัญญัติคณะกรรมการตรวจสอบแผ่นดิน ค.ศ. 1947 นั้นมอบความเป็นอิสระอย่างยิ่งยวดจากทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี[53]
ฝ่ายนิติบัญญัติ
แก้องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศญี่ปุ่นคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ญี่ปุ่น: 国会; โรมาจิ: Kokkai) ที่ใช้ระบบสองสภาโดยประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาล่าง และราชมนตรีสภาเป็นสภาสูง ฝ่ายนิติบัญญัติได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นให้เป็น "องค์กรสูงสุดแห่งอำนาจรัฐ" และเป็น "องค์กรเพื่อการออกกฎหมายเพียงองค์กรเดียวของรัฐ" ทั้งสองสภาได้รับเลือกโดยตรงภายใต้ระบบการลงคะแนนระบบคู่ขนาน อีกทั้งยังได้รับการประกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในคุณสมบัติของสมาชิกสภา ไม่ว่าจะเป็น "เชื้อชาติ, ความเชื่อ, เพศ, สถานะทางสังคม, ต้นกำเนิดของครอบครัว, การศึกษา, ทรัพย์สิน หรือรายได้" โดยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงสะท้อนอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน (หลักอธิปไตยของปวงชน) ที่ว่าในกรณีนี้ อำนาจสูงสุดตกเป็นของชาวญี่ปุ่น[7][54]
หน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แก่ การออกกฎหมาย, การพิจารณาอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี, การอนุมัติข้อตกลงของสนธิสัญญา และการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีอำนาจในการริเริ่มร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าหากได้รับความเห็นชอบก็จะได้รับการนำเสนอต่อประชาชนในการให้สัตยาบันผ่านการออกเสียงประชามติ ก่อนที่จะได้รับการประกาศโดยจักรพรรดิภายใต้นามของชาวญี่ปุ่น[55] รัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้ทั้งสองสภาดำเนินการสืบสวนในกิจการของรัฐบาล, การเรียกเพื่อให้แสดงตน, เบิกพยานบุคคล และพยานหลักฐาน รวมถึงยังอนุญาตให้ทั้งสองสภาเรียกนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนอื่น ๆ เพื่อตอบกระทู้ถามหรือให้คำอธิบายเพิ่มเติมเมื่อต้องการ[41] สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังสามารถฟ้องร้องผู้พิพากษาศาลที่ได้รับการตัดสินว่ากระทำความผิดทางอาญาหรือประพฤติตนไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวิธีการลงคะแนน จำนวนสมาชิกของแต่ละสภา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับเลือกของสมาชิกผู้มีสิทธิพิจารณาการฟ้องร้องแต่ละคนอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ[56]
ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ผู้ใหญ่ทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งลับ และผู้ที่ได้รับการเลือกจะได้รับความคุ้มครองบางประการจากการจับกุมตัวขณะกำลังมีการประชุมสภา[57] สุนทรพจน์, การอภิปราย และการลงมติในสภายังได้รับความคุ้มครองจากเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา แต่ละสภามีหน้าที่ในการควบคุมให้สมาชิกของตนอยู่ในวินัย และการพิจารณาไตร่ตรองทั้งสิ้นล้วนเป็นสาธารณะ เว้นแต่สองในสามหรือมากกว่าของสมาชิกแต่ละสภายื่นญัตติเป็นอย่างอื่น อีกทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำเป็นที่จะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งในสามของสมาชิกแต่ละสภาเพื่อให้ครบองค์ประชุม[58] ข้อสรุปทุกข้อล้วนตัดสินใจมาจากสมาชิกส่วนใหญ่ที่ปรากฏตัวอยู่ในสภา เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นโดยรัฐธรรมนูญ และในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ประธานมีสิทธิตัดสินข้อพิพาทดังกล่าว การถอดถอนสมาชิกสภาจะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เสียงส่วนใหญ่สองในสามหรือมากกว่าของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในสภาผ่านญัตติให้ถอดถอน[59]
ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องมีการเรียกประชุมสภาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี คณะรัฐมนตรียังสามารถเรียกประชุมสภาวาระพิเศษเมื่อใดก็ได้ แต่จำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกทั้งหมดหนึ่งในสี่หรือมากกว่า[60] ในระหว่างการเลือกตั้ง มีการยุบลงของสภาผู้แทนราษฎรแต่เพียงสภาเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ราชมนตรีสภาจะไม่ยุบแต่จะปิดลงและสามารถเรียกประชุมวาระฉุกเฉินได้ในกรณีเกิดภาวะเร่งด่วนระดับชาติ[61] จักรพรรดิสามารถเรียกประชุมสภาและยุบสภาผู้แทนราษฎรได้โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
ในการที่ร่างกฎหมายจะประกาศให้เป็นกฎหมาย จะต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งสองสภาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ลงนามโดยรัฐมนตรี และลงนามกำกับโดยนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงประกาศอย่างเป็นทางการโดยจักรพรรดิ อย่างไรก็ตามไม่มีข้อกฎหมายกำหนดอำนาจของจักรพรรดิในการคัดค้านร่างกฎหมาย
สภาผู้แทนราษฎร
แก้สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 衆議院; โรมาจิ: Shūgi'in) เป็นสภาล่างที่มีสมาชิกสภาได้รับเลือกทุก 4 ปี หรือเมื่อมีการยุบสภาจะดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี[62] จวบจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 465 คน ในบรรดาเหล่านั้น สมาชิก 176 คนได้รับเลือกจาก 11 ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหลายคนโดยระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ และสมาชิกอีก 289 คนได้รับเลือกจากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งหนึ่งเขตเลือกตั้งหนึ่งคน ต้องการ 233 ที่นั่งเพื่อเป็นเสียงข้างมาก สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาที่มีอำนาจมากที่สุดจากทั้งสอง สภาผู้แทนราษฎรสามารถใช้อำนาจยับยั้งต่อร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เสนอโดยราชมนตรีสภาได้เมื่อสภาได้รับเสียงข้างมากสองในสาม อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ทุกเมื่อตามอัธยาศัย[39] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นชาวญี่ปุ่น บุคคลผู้ซึ่งอายุมากกว่า 18 ปีมีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงได้ ขณะที่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งสภาล่างนี้ได้[57]
อำนาจนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรนั้นถือได้ว่ามีอำนาจเหนือกว่าราชมนตรีสภา เพราะแม้ว่าราชมนตรีสภาสามารถใช้อำนาจยับยั้งมติที่ได้รับการตัดสินใจส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรได้ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวในการชะลอข้อตัดสินใจต่าง ๆ ได้แก่ การตราสนธิสัญญา การจัดสรรงบประมาณ และการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ในทางกลับกัน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใดก็ได้หากต้องการ[39]
การพิจารณาว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นทางการแล้วได้ต่อเมื่อมีการเตรียมสารตราประกาศการยุบสภา และสภาจะยุบลงตามธรรมเนียมปฏิบัติโดยพระราชพิธียุบสภา[63] ที่มีลำดับพิธีการดังนี้:[64]
- สารตราประทับตรายางโดยจักรพรรดิ และห้อหุ่มด้วยผ้าไหมสีม่วงอันเป็นสัญลักษณ์ว่าสารตรานั้นกระทำในนามของประชาชน
- นำสารตราส่งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ห้องรับรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
- นำสารตราไปยังโถงที่ประชุมสภาสำหรับการเตรียมการโดยเลขาธิการฯ
- เลขาธิการฯ เตรียมสารตราเพื่อให้ประธานสภาฯ อ่าน
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศการยุบสภาอย่างทันท่วงที
- สภาผู้แทนราษฎรยุบลงอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ยังมีขนบธรรมเนียมที่หลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นสำเร็จแล้ว สมาชิกสภาจะเปล่งเสียงบันไซสามครั้ง (萬歲)[63][65]
ราชมนตรีสภา
แก้ราชมนตรีสภา (ญี่ปุ่น: 参議院; โรมาจิ: Sangi'in) เป็นสภาสูงที่มีกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาได้รับการเลือกทุก 3 ปี เพื่อดำรงตำแหน่งวาระ 6 ปี จวนจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ราชมนตรีสภามีสมาชิก 242 คน โดยสมาชิก 73 คนของสมาชิกสภาทั้งหมดได้รับเลือกจาก 47 เขตจังหวัดผ่านระบบการลงคะแนนแบบเสียงเดียวโอนไม่ได้ และสมาชิกอีก 48 คนได้รับเลือกผ่านการเลือกตั้งระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเปิด นายกรัฐมนตรีไม่สามารถสั่งให้ยุบราชมนตรีสภาได้[61] สมาชิกสภาราชมนตรีสภาต้องเป็นชาวญี่ปุ่น บุคคลผู้ซึ่งอายุมากกว่า 18 ปีมีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงได้ ขณะที่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งสภาสูงนี้ได้[57]
ราชมนตรีสภาสามารถใช้อำนาจในการยับยั้งข้อตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังร้องขอให้สภาผู้แทนราษฎรทบทวนข้อตัดสินใจดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามสภาผู้แทนราษฎรสามารถยืนกรานตามข้อตัดสินใจเดิมโดยใช้อำนาจยับยั้งซ้อนทับอีกครั้งหากสมาชิกที่แสดงตนในสภาสองในสามเห็นด้วย ในแต่ละปีและเมื่อมีความจำเป็น ราชมนตรีสภาเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายใต้คำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้จัดการประชุมวาระสามัญหรือวิสามัญโดยจักรพรรดิได้ อย่างไรก็ตามก่อนที่จักรพรรดิจะเรียกประชุมสภาพร้อมพระราชทานพระราชดำรัสต่อสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์อย่างสั้นคนแรกก่อน[66]
ฝ่ายตุลาการ
แก้ฝ่ายตุลาการของประเทศญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 4 ลำดับขั้น ประกอบด้วยศาลสูงสุด และศาลล่างอื่น ๆ อีก 4 ศาล ได้แก่ ศาลสูง ศาลจังหวัด ศาลครอบครัว และศาลแขวง[67][68] ความเป็นอิสระของศาลจากอำนาจบริหารและนิติบัญญัติได้รับการประกันโดยรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติไว้ว่า: "มิควรมีการสถาปนาศาลชำนัญพิเศษ (extraordinary tribunal) และมิควรให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่นของอำนาจบริหารได้รับอำนาจทางตุลาการโดยสัมบูรณ์" อันเป็นส่วนหนึ่งของหลักที่รู้จักกันว่าการแยกใช้อำนาจ[8] มาตรา 76 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าผู้พิพากษาศาลนั้นเป็นอิสระทางการใช้อำนาจด้วยสติสัมปชัญญะของผู้พิพากษาศาลและภายใต้ขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย[69] โดยสามารถถอดถอนผู้พิพากษาศาลได้ผ่านการฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่งสาธารณะ หรือหากไม่มีการฟ้องร้องดังกล่าว สามารถถอดถอนผู้พิพากษาศาลได้ต่อเมื่อศาลสั่งให้ผู้พิพากษาศาลเป็นบุคคลไร้ความสามารถทั้งด้านจิตใจและร่างกายในการปฏิบัติหน้าที่ของตน[70] รัฐธรรมนูญยังอีกทั้งปฏิเสธอำนาจสำหรับองค์กรบริหารหรือหน่วยงานใด ๆ ในการพิจารณาโทษทางวินัยต่อผู้พิพากษา[70] อย่างไรก็ตามอาจถอดถอนผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้หากเสียงส่วนมากในการลงประชามติเห็นชอบภายใต้กรณีที่การลงประชามติจะต้องเกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎรในสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาล และหลังจากการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปครั้งแรกในระยะเวลา 10 ปี[71] การพิจารณาคดีจะต้องกระทำและประกาศคำตัดสินอย่างเป็นสาธารณะ เว้นแต่ศาล "เห็นควรอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าความเป็นสาธารณะนั้นอาจสร้างความอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" แต่การพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับการเมือง ความผิดเกี่ยวกับสื่อมวลชน และคดีที่สิทธิของบุคคลได้รับการประกันโดยรัฐธรรมนูญซึ่งไม่สามารถถือว่าจะพิจารณาคดีได้อย่างลับ[72] ผู้พิพากษาศาลได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐธรรมนูญผ่านการรับรองโดยจักรพรรดิ ขณะที่ประธานศาลสูงสุดได้รับการแต่งตั้งโดยจักรพรรดิด้วยพระองค์เองภายใต้คำแนะนำและการเสนอชื่อของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะได้รับคำแนะนำจากอดีตประธานศาลสูงสุด[73]
ระบบกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางประวัติศาสตร์จากกฎหมายจีนที่พัฒนาอย่างเป็นอิสระในยุคเอโดะผ่านบทบัญญัติต่าง ๆ อย่างประชุมราชนีติ (公事方御定書, Kujikata Osadamegaki)[74] แต่อย่างไรก็ตาม หลังการฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิระบบกฎหมายได้รับการเปลี่ยนแปลง และส่วนใหญ่ได้รับต้นแบบจากระบบกฎหมายซีวิลลอว์ของยุโรปในตอนนี้ นอกจากนี้การบังคับใช้จนถึงปัจจุบันของประมวลกฎหมายแพ่งได้รับการอิงจากต้นแบบของเยอรมัน[75] การนำระบบลูกขุนผสมมาใช้พึ่งเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นาน และอีกทั้งระบบกฎหมายยังยอมรับบัญญัติสิทธิมาตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1947[76] นอกจากนี้หกประมวลยังเป็นองค์ประกอบหลักของกฎหมายซีวิลลอว์ญี่ปุ่น[75]
กฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้นในประเทศญี่ปุ่นจะต้องได้รับการประทับตรายางโดยจักรพรรดิด้วยพระราชลัญจกรแห่งจักรพรรดิ (天皇御璽, Tennō Gyoji) และไม่มีกฎหมายใดจะนำไปบังคับใช้โดยปราศจากการลงนามโดยคณะรัฐมนตรี การลงนามกำกับโดยนายกรัฐมนตรี และการประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยจักรพรรดิ[77][78][79][80][81]
ศาลสูงสุด
แก้ศาลสูงสุด หรือ ศาลฎีกา (ญี่ปุ่น: 最高裁判所; โรมาจิ: Saikō Saibansho) เป็นศาลลำดับขั้นสุดท้ายและมีอำนาจพิจารณาทบทวนโดยศาลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "ศาลลำดับขั้นสุดท้ายมีอำนาจในการกำหนดความเป็นรัฐธรรมนูญของกฎหมาย คำสั่ง ข้อบังคับ หรือพระราชบัญญัติใด ๆ"[82] ศาลสูงสุดยังอีกทีมีหน้าที่ในการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลล่างและกำหนดกระบวนการทางตุลาการ ควบคุมดูแลระบบตุลาการ การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ และรักษาไว้ซึ่งระเบียบวินัยของผู้พิพากษาศาลและบุคคลากรทางตุลาการอื่น ๆ[83]
ศาลสูง
แก้ศาลสูง (ญี่ปุ่น: 高等裁判所; โรมาจิ: Kōtō Saibansho) มีอำนาจในการรับฟังคำอุทธรณ์ต่อคำชี้ขาดของศาลจังหวัดและศาลครอบครัว ยกเว้นคดีที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลสูงสุด การอุทธรณ์คดีอาญานั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลของศาลสูงโดยตรง แต่คดีแพ่งจะมีศาลจังหวัดเป็นศาลแรกที่รับดูแลคดีก่อน ในประเทศญี่ปุ่นมีศาลสูงอยู่ 8 ศาล: ศาลสูงโตเกียว, โอซากะ, นาโงยะ, ฮิโรชิมะ, ฟูกูโอกะ, เซ็นได, ซัปโปโร และทากามัตสึ[83]
ระบบราชทัณฑ์
แก้ระบบราชทัณฑ์ (ญี่ปุ่น: 矯正施設; โรมาจิ: Kyōsei Shisetsu) อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงยุติธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม มีจุดประสงค์เพื่อขัดเกลาทางสังคม, เปลี่ยนแปลง และฟื้นฟูผู้กระทำความผิด กรมราชทัณฑ์ของกระทรวงฯ ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเรือนจำผู้ใหญ่, ระบบราชทัณฑ์เยาวชน และสถานพัฒนาสตรี 3 แหล่ง[84] ขณะที่กรมฟื้นฟูผู้ต้องขังดำเนินงานเกี่ยวกับระบบการคุมประพฤติและระบบการปล่อยตัวชั่วคราว[85]
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ตามความในมาตรา 92 แห่งรัฐธรรมนูญ การปกครองส่วนท้องถิ่น (ญี่ปุ่น: 地方公共団体) มีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งมีกฎหมายกำหนดโครงสร้างและหน้าที่ให้สอดคล้องกับหลักแห่งการปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น[86][87] กฎหมายแม่ที่บัญญัตินั้นคือกฎหมายปกครองตนเองท้องถิ่น[88][89] องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นได้รับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติที่จำกัดโดยรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี และสมาชิกของสภาต่าง ๆ ต้องได้รับการเลือกโดยประชาชนอย่างเป็นประชาธิปไตย
กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแทรกแซงองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกันกระทรวงอื่น ๆ การแทรกแซงส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องทางการเงิน เนื่องจากภาระหน้าที่ขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นส่วนมากต้องการเงินทุนโดยกระทรวงของรัฐบาลกลาง ความสัมพันธ์เช่นนี้ได้รับการเรียกว่า "การปกครองตนเองแบบ 30%"[90]
ผลที่ได้จากอำนาจนี้คือการวางมาตรฐานนโยบายและโครงสร้างในระดับสูงของเขตปกครองตนเองท้องถิ่นที่แตกต่างกันซึ่งสามารถคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด, นคร หรือเมืองได้ นอกจากนี้เขตการปกครองแบบชุมชนนิยม (collectivist jurisdiction) อย่างโตเกียวและเกียวโตได้ทดลองบังคับใช้นโยบายในด้านสวัสดิการสังคมซึ่งต่อมาได้รับการยินยอมโดยรัฐบาลแห่งชาติ[90]
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ประเทศญี่ปุ่นแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 47 จังหวัด ได้แก่ 1 มหานคร (โตเกียว), 2 จังหวัดนคร (จังหวัดเกียวโต และจังหวัดโอซากะ), 43 จังหวัด และ 1 มลฑล (ฮกไกโด) แต่ละจังหวัดจะแบ่งออกเป็นอำเภอ บางจังหวัดอาจแบ่งออกเป็นกิ่งจังหวัดก่อนแล้วจึงแบ่งย่อยเป็นอำเภอ
เขตการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างของประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า เทศบาล มี 3 ประเภท ได้แก่ นคร เมือง และหมู่บ้าน นครเป็นหน่วยการปกครองตนเองที่เป็นอิสระจากอำเภอ เพื่อที่จะได้สถานะนครมาครอง เขตการปกครองนั้นจะต้องมีผู้พำนักอาศัยอย่างน้อย 50,000 คน โดยร้อยละ 60 จากทั้งหมดจะต้องมีอาชีพแบบชาวเมือง (urban occupation) มีการแบ่งนครขนาดใหญ่ออกเป็นเขต และแบ่งย่อยต่อไปเป็นย่าน หรือบางครั้งเรียกว่าเมือง หรือชุมชน นอกจากนี้ยังมีเมืองที่ปกครองตนเองที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนคร ซึ่งแตกต่างจากเมืองหรือย่านที่อยู่ภายใต้เขตของนครขนาดใหญ่ การบริหารของเมืองจะมีลักษณะเช่นเดียวกับนคร คือจะมีนายกเทศมนตรีเมืองและสภาเมืองที่ได้รับการเลือกผ่านการเลือกตั้ง ส่วนหมู่บ้านเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เล็กที่สุดในเขตชนบท ซึ่งมักจะประกอบด้วยหมู่บ้านขนาดเล็กหลาย ๆ แห่งที่มีประชากรรวมราวพันคน โดยหมู่บ้านขนาดเล็กเหล่านี้จะเชื่อมโยงซึ่งกันและกันผ่านขอบค่ายการบริหารงานหมู่บ้านที่ได้มีการกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ หมู่บ้านจะมีนายกเทศมนตรีหมู่บ้านและสภาหมู่บ้านที่ได้รับเลือกโดยประชาชนเพื่อดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี[91][92]
โครงสร้าง
แก้ในแต่ละเขตการปกครองจะมีผู้บริหารสูงสุดที่เรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด (知事, Chiji) ในระดับจังหวัด และนายกเทศมนตรี (市町村長, Shichōsonchō) ในระดับเทศบาล เขตการปกครองส่วนใหญ่จะมีสภาท้องถิ่น (議会, Gikai) แบบระบบสภาเดี่ยว อย่างไรก็ตามเมืองและหมู่บ้านสามารถเลือกให้มีการปกครองตนเองโดยตรงจากประชาชนเพื่อจัดตั้งสมัชชาสามัญ (総会, Sōkai) ได้ ทั้งฝ่ายบริหารและสภาต่าง ๆ ได้รับเลือกโดย คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี[93][94][95]
การปกครองท้องถิ่นนั้นเป็นไปตามแบบจำลองดัดแปลงของการแยกใช้อำนาจที่ใช้ในรัฐบาลแห่งชาติ สมัชชาสามารถมีมติเห็นชอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อฝ่ายบริหารได้ ในกรณีนั้น ฝ่ายบริหารจะต้องยุบสภาท้องถิ่นภายใน 10 วัน หากไม่ทำเช่นนั้นจะไม่สูญเสียตำแหน่งของตนไปโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามหลังจากการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปครั้งถัดไป ฝ่ายบริหารจะยังคงอยู่ในตำแหน่งเว้นแต่สภาองค์ใหม่จะมีมติเห็นชอบญัตติไม่ไว้วางใจอีกครั้ง[88]
ขั้นตอนในชั้นปฐมภูมิของการตรากฎหมายนั้นคือข้อบัญญัติท้องถิ่น (条例, Jōrei) และ ข้อบังคับท้องถิ่น (規則, Kisoku) ข้อบัญญัติที่มีความคล้ายคลึงกับพระราชบัญญัติในระบบแห่งชาตินั้นจะผ่านโดยสมัชชาสามัญและอาจกำหนดโทษทางอาญาแบบจำกัดสำหรับบุคคลที่ละเมิดข้อบัญญัติดังกล่าว (จำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับ 1 ล้านเยน หรือทั้งจำและปรับ) ขณะที่ข้อบังคับซึ่งคล้ายคลึงกับคำสั่งคณะรัฐมนตรีในระบบแห่งชาตินั้นจะผ่านโดยฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นและจะแทรกแทนข้อบัญญัติใด ๆ ที่ขัดแย้งกับข้อบังคับดังกล่าว ทั้งนี้ฝ่ายบริหารสามารถกำหนดโทษได้เพียงโทษปรับสูงสุด 50,000 เยน[91]
การปกครองท้องถิ่นยังอีกทั้งมีคณะกรรมการที่หลากหลาย เช่น คณะกรรมการบริหารโรงเรียน, คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ (มีหน้าที่ในการกำกับดูแลตำรวจ) คณะกรรมการบริหารงานบุคคล, คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการตรวจสอบบัญชี[96] คณะกรรมการเหล่านี้อาจได้รับการเลือกผ่านการเลือกตั้งหรือเลือกโดยสภาหรือฝ่ายบริหารหรือทั้งสอง[90]
จังหวัดทุกจังหวัดจำเป็นที่จะต้องมีส่วนราชการฝ่ายทั่วไป, ฝ่ายการเงิน, ฝ่ายสวัสดิการ, ฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายแรงงาน ขณะที่ฝ่ายเกษตรกรรม, ฝ่ายการประมง, ฝ่ายป่าไม้, ฝ่ายการค้า และฝ่ายอุตสาหกรรมเป็นทางเลือกโดยขึ้นอยู่กับความต้องการในพื้นที่นั้น ๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่กำกับดูแลในทุกกิจกรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาษีบำรุงท้องที่หรือรัฐบาลแห่งชาติ[90][94]
อ้างอิง
แก้- ↑ "The World Factbook Japan". Central Intelligence Agency. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ หมวด 1 มาตรา 4(1) แห่ง รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 3.0 3.1 หมวด 5 มาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 4.0 4.1 4.2 หมวด 5 มาตรา 68(1) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 5.0 5.1 หมวด 5 มาตรา 67(1) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 6.0 6.1 หมวด 1 มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 7.0 7.1 7.2 หมวด 1 มาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 8.0 8.1 หมวด 6 มาตรา 76(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ Chaurasla, Radhey Shyam (2003). History of money. New Delhi: Atlantic Publishers and Distributors. p. 10. ISBN 9788126902286.
- ↑ Koichi, Mori (December 1979). "The Emperor of Japan: A Historical Study in Religious Symbolism". Japanese Journal of Religious Studies. 6/4: 535–540.
- ↑ Bob Tadashi, Wakabayashi (1991). "In Name Only: Imperial Sovereignty in Early Modern Japan". Journal of Japanese Studies. 7 (1): 25–57.
- ↑ Satow, Ernest Mason (Aug 23, 2013). A Diplomat in Japan. Project Gutenberg. p. 282. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ "Asia's First Parliament" (PDF). The New York Times. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ "The Nature of Sovereignty in Japan, 1870s–1920s" (PDF). University of Colorado Boulder. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ Lebra, Takie Sugiyama (1992). Japanese social organization (1 ed.). Honolulu: University of Hawaii Press. p. 51. ISBN 9780824814205.
- ↑ หมวด 3 มาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญจักรวรรดิญี่ปุ่น (1889)
- ↑ หมวด 3 มาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ Skya, Walter A. (2009). Japan's holy war the ideology of radical Shintō ultranationalism. Durham: Duke University Press. p. 40. ISBN 9780822392460.
- ↑ Martin, Bernd (2006). Japan and Germany in the modern world (1. paperback ed.). New York [u.a.]: Berghahn Books. p. 31. ISBN 9781845450472.
- ↑ "The Constitution: Context and History" (PDF). Hart Publishing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 September 2015. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ "Japan's analog government struggles to accept anything online". Nikkei. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 June 2020. สืบค้นเมื่อ 18 June 2020.
- ↑ "Japan appoints 'minister of loneliness' to help people home alone". Nikkei. February 13, 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 23, 2021.
- ↑ หมวด 1 มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ "Did the Emperor of Japan really fall from being a ruler to a symbol" (PDF). Tsuneyasu Takeda. Instructor, Keio University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 February 2019. สืบค้นเมื่อ 28 August 2015.
- ↑ "2009 Japanese Emperor and Empress Visited in Vancouver". YouTube. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-07. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ "A shadow of a shogun". The Economist. 2012. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ "Fundamental Structure of the Government of Japan". Prime Minister's Official Residence Website. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ หมวด 1 มาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ "最高裁判所判例集 事件番号 平成1(行ツ)126". Courts in Japan. สืบค้นเมื่อ August 10, 2020.
- ↑ "Japan's royal family pose for unusual New Year photo". The Daily Telegraph. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-12. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ Kitagawa, Joseph M. (1987). On understanding Japanese religion. Princeton, N.J.: Princeton University Press. p. 145. ISBN 9780691102290.
- ↑ Smith, Robert J. (1974). Ancestor worship in contemporary Japan ([Repr.]. ed.). Stanford, Calif.: Stanford University Press. pp. 8–9. ISBN 9780804708739.
- ↑ "Kojiki". Ō no Yasumaro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 April 2020. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ "Nihon Shoki" (PDF). Prince Toneri. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ "Enthronement and Ceremonies". Imperial Household Agency. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ "The 20th Anniversary of His Majesty the Emperor's Accession to the Throne". Ministry of Foreign Affairs. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ หมวด 5 มาตรา 69 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 5 มาตรา 72 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 39.0 39.1 39.2 หมวด 1 มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 40.0 40.1 หมวด 5 มาตรา 67(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 41.0 41.1 หมวด 4 มาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 5 มาตรา 66(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ "The Cabinet, Taro ASO". Cabinet Public Relations Office, Cabinet Secretariat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 สิงหาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2016.
- ↑ "内閣法". Government of Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 April 2010. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ "Toshiaki Endo appointed Olympics minister". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ หมวด 5 มาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 5 มาตรา 68(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 5 มาตรา 75 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ "List of reshuffled Kishida Cabinet Members > List of Ministers". Prime Minister's Office of Japan. สืบค้นเมื่อ 12 April 2023.
- ↑ "Bureaucrats of Japan". Library of Congress Country Studies. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ "Links to Ministries and Other Organizations". Prime Minister's Official Residence Website. สืบค้นเมื่อ 14 October 2018.
- ↑ "Ministries and Agencies". Government of Japan Website. สืบค้นเมื่อ 14 October 2018.
- ↑ "Board of Audit of Japan". Board of Audit. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-16. สืบค้นเมื่อ 5 September 2015.
- ↑ หมวด 4 มาตรา 43(1) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 9 มาตรา 96 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 4 มาตรา 64(1) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 57.0 57.1 57.2 "Diet enacts law lowering voting age to 18 from 20". The Japan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-10. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ หมวด 4 มาตรา 56(1) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 4 มาตรา 55 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 4 มาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 61.0 61.1 หมวด 4 มาตรา 42(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 4 มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 63.0 63.1 "解散と万歳". Parti démocrate du Japon. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ Japanese PM dissolves lower house of parliament, calls snap elections 일본 중의원 해, journal télévisé, Arirang News, 21 novembre 2014 - une partie des phases et éléments la cérémonie peut être vue en arrière-plan
- ↑ "小泉進次郎氏、衆議院解散でも万歳しなかった「なぜ今、解散か」". The Huffington Post. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ "開会式". House of Councillors. สืบค้นเมื่อ 1 September 2015.
- ↑ "Overview of the Judicial System in Japan". Supreme Court of Japan. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ "ระบบกฎหมาย". Office of Labour Affairs, Royal Thai Embassy, Tokyo, Japan. สืบค้นเมื่อ 26 April 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ หมวด 6 มาตรา 76 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 70.0 70.1 หมวด 6 มาตรา 78 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 6 มาตรา 79(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 6 มาตรา 82(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ "Change at the top court's helm". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ Dean, Meryll (2002). Japanese legal system : text, cases & materials (2nd ed.). London: Cavendish. pp. 55–58. ISBN 9781859416730.
- ↑ 75.0 75.1 "Japanese Civil Code". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ "MacArthur and the American Occupation of Japan". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2017. สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ หมวด 5 มาตรา 74 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ หมวด 1 มาตรา 7(1) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ "II. The law-making process". Cabinet Legislation Bureau. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ "The Privy Seal and State Seal". Imperial Household Agency. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ "Promulgation of Laws". National Printing Bureau. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ หมวด 6 มาตรา 81 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 83.0 83.1 "Overview of the Judicial System in Japan". Supreme Court of Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2015.
- ↑ "Correction Bureau". Ministry of Justice. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ "Rehabilitation Bureau". Ministry of Justice. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ มาตรา 92, 93, 94 และ 95 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ "Final Report" (PDF). Research Commission on the Constitution House of Representatives, Japan. สืบค้นเมื่อ September 3, 2020. p463-480
- ↑ 88.0 88.1 "AUTHORITY OF THE NATIONAL AND LOCAL GOVERNMENTS UNDER THE CONSTITUTION". Duke University School of Law. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ "地方自治法について" (PDF). Ministry of Internal Affairs and Communications. สืบค้นเมื่อ August 22, 2020.
- ↑ 90.0 90.1 90.2 90.3 三割自治 "Local Government". สืบค้นเมื่อ 18 June 2015.
- ↑ 91.0 91.1 "Local Autonomy Law". Government of Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 February 2018. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ "The Large City System of Japan" (PDF). National Graduate Institute for Policy Studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-09-17. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ หมวด 8 มาตรา 93(2) แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (1947)
- ↑ 94.0 94.1 "Local Autonomy in Japan Current Situation & Future Shape" (PDF). Council of Local Authorities for International Relations. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ "An Outline of Local Government in Japan" (PDF). Council of Local Authorities for International Relations. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
- ↑ "The Organization of Local Government Administration in Japan" (PDF). National Graduate Institute for Policy Studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 6 September 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ภูมิหลังของรัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
- ค้นหาเอกสารราชการและบันทึกของรัฐบาลญี่ปุ่น
- ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นโดยเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊กของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ
- วิดีโอพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น
- วิดีโอของรัฐพิธีการเรียกประชุมวาระสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- วิดีโอของพิธียุบสภาผู้แทนราษฎร
- ผลงานโดย รัฐบาลญี่ปุ่น บนเว็บ LibriVox (หนังสือเสียง ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ)