ยุทธการที่นานกิง

ยุทธการที่นานกิง เริ่มหลังจากยุทธการเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1937 และสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 1937 ถึงกองกำลังญี่ปุ่นไม่กี่วันหลังจากที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ย้ายเมืองหลวงไปยังอู่ฮั่น การสังหารหมู่ที่นานกิงเกิดขึ้นหลังจากญี่ปุ่นยึดเมืองดังกล่าวได้สำเร็จ

ยุทธการที่นานกิง
ส่วนหนึ่งของ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง

มัตสึอึ อิวาเนะ ขี่ม้าเดินสวนสนามหลังยึดนานกิงได้
วันที่9 ธันวาคม 1937 -- 31 มกราคม 1938 ค.ศ. 1938
สถานที่
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) กรุงนานกิง เมืองหลวงแห่งสาธารณรัฐจีน
ผล จักรวรรดิญี่ปุ่นชนะ เกิดการสังหารหมู่ที่นานกิง
คู่สงคราม

สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) สาธารณรัฐจีน

ญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) ถัง เฉิงจื้อ จักรวรรดิญี่ปุ่น มัตสึอิ อิวาเนะ
กำลัง
70,000-80,000 [1] 240,000
ความสูญเสีย
50,000 6,000 [2]

เบื้องหลัง

แก้
 
ภาพถ่ายทางอากาศของนครนานกิง ใช้คูเมืองและกำแพงเมืองโบราณเป็นที่ตั้งรับการโจมตี

กองทัพญี่ปุ่นกรีฑาทัพเข้าสู่เมืองนานกิง เมืองหลวงของสาธารณรัฐจีนหลังจากที่ยึดเมืองเซี่ยงไฮ้ที่อยู่ริมชายฝั่ง ทหารจีนไม่สามารถรักษาแนวตั้งรับทิศตะวันออกของเมืองได้ เมืองคุนชานในมณฑลเจียงสูก็ถูกยึดภายในสองวัน แนวป้องกันวูฟูแตกในวันที่ 19 พฤศจิกายนและแนวป้องกันซีเฉิงแตกในวันที่ 26 พฤศจิกายน ในบรรดาผู้นำของจีนแนวป้องกันสองแห่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันนานกิง นายพลอาวุโสหลี่ซงเหรินคิดว่าการวางกำลังที่นานกิงจะทำให้เกิดการสูญเสียเปล่าๆ เขาจึงประกาศเปิดเมืองขณะเดียวกันทหารก็ได้รับคำสั่งทำลายทุกสิ่งที่ญี่ปุ่นสามารถใช้ได้หลังจากที่เมืองถูกยึด นายพลอาวุโสไป่ชงซีและที่ปรึกษาพลโทอเล็กซานเดอร์ วอน ไฟล์คเฮาส์เซนจากกองทัพเยอรมนีสนับสนุนแผนของนายพลลี่ แต่จอมพลเจียงไคเช็กคัดค้านอ้างว่าไม่มีความพยายามรักษาต้นทุนทางการเมืองซึ่งจะมีผลกระทบรุนแรงต่อขวัญกำลังใจของทหารและชื่อเสียงของจีนในนานาชาติ จอมพลเจียงกล่าวอีกว่า"ผมเองสนับสนุนให้ปกป้องนานกิงจนตัวตาย" เจียงได้ออกคำสั่งให้ทหารสู้เพื่อรักษาเมืองจนคนสุดท้ายและได้วางกำลังของพลเอกอาวุโสถังเฉิงจื้อรักษาเมืองไว้ 100,000 นาย นายพลถังรู้ดีว่ากองกำลังของเขาเป็นทหารเกณฑ์ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนแต่อย่างใดและยังไม่มีความเชื่อมั่นในหน้าที่แต่เขาก็ทำให้เหมือนว่ากองทหารดูแข็งแกร่งต่อหน้าประชาชน อีกทั้งยังมีการก่อเสริมแนวป้องกันกำแพงเมืองโบราณของเมืองนานกิงให้เข้มแข็งขึ้น ในการแถลงข่าววันที่ 27 พฤศจิกายน เขาประกาศว่าทหารของเขาจะตั้งรับกับการโจมตีของญี่ปุ่นแต่ขอให้ชาวตะวันตกในเมืองอพยพออกไปขณะเดียวกันเขายังสั่งทำลายอาคารถางป่าระยะทาง 1 ไมล์จากปริมณฑลของเมืองเพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นไม่มีที่กำบังแต่กลับกลายเป็นพิสูจน์ว่าเป็นคำสั่งที่พลาดเพราะทำให้มีปริมาณผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาในเมืองมากมายและกำแพงไหม้ไฟที่เกิดจากการเผาทำลายบ้านลวกๆก็เป็นที่กำบังให้ทหารญี่ปุ่นได้อยู่ดี แต่เบื้องหลังนายพลถังกำลังหาวิธีอื่นเพื่อปกป้องเมืองจากญี่ปุ่นโดยให้ชาวตะวันตกในนานกิงเกลี้ยกล่อมจอมพลเจียงให้เขาประกาศเปิดเมืองและเจรจาพักรบกับญี่ปุ่นแต่ก็ล้มเหลว

ในวันที่ 1 ธันวาคม รัฐบาลจีนย้ายออกจากนานกิง ตั้งฉงชิ่งเป็นเมืองหลวงชั่วคราวเป็นเวลาหลายวัน แต่จอมพลเจียงไคเช็กและครอบครัวยังไม่ได้ออกมาจากนานกิงจนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม ขณะที่ทหารวางกำลังเตรียมการตั้งรับ ฝ่ายพลเรือนก็ถูกปล่อยให้คณะกรรมการนานาชาติโดยมียอน ราเบอ นักธุรกิจชาวเยอรมันเป็นประธาน เมื่อรัฐบาลจีนออกไป ทหารทำลายอาคารและโครงสร้างพื้นฐานภายในเมืองอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับที่ทำลายนอกกำแพงเมืองเมื่อวันก่อน แต่นโยบายทำลายเมืองสร้างความสูญเสียประมาณระหว่าง 20,000,000 ถึง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ระหว่างเหตุการณ์เซี่ยงไฮ้แตกจนเริ่มยุทธการนานกิง หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐออกไปจากเมือง ประชาชนก็อพยพออกจากเมืองสร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว นายพลถังเฉิงจื้อปิดเส้นทางออกทุกเส้นเพื่อควบคุมความตื่นตระหนกของประชาชนจนไปถึงเผาเรือบนแม่น้ำแยงซีเกียงเพื่อป้องกันไม่ให้ออกจากพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต

การรบ

แก้
 
ทหารญี่ปุ่นเข้าประตูจงฮวาของกำแพงเมืองนานกิง
 
ขบวนรถถังญี่ปุ่นเข้าระดมยิงถล่มประตูเมืองหลวงนานกิง

กองทัพญี่ปุ่นกรีฑาทัพมาถึงชานเมืองนานกิงในช่วงต้นเดือนธันวาคม พลเอกอาวุโสถังเฉิงจื้อทราบดีว่าทหารในแนวตั้งรับไม่ได้รับการฝึกฝนและเสียขวัญกำลังใจซึ่งอาจนำไปสู่การทิ้งฐานที่มั่นโดยไม่มีโอกาสชนะ จอมพลเจียงออกคำสั่งยืนยันกับนายพลถังว่าขณะนี้เขาทราบดีว่าไม่สามารถเอาชนะได้ก็ให้ดำเนินการตั้งรับให้สุดความสามารถ ในวันที่ 7 ธันวาคมกองทัพญี่ปุ่นประกาศต่อทหารว่าหากทหารนายใดกระทำการผิดต่อกฎหมายและเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของกองทัพองค์จักรพรรดิในระหว่างการเข้าตีนานกิงจะได้รับโทษหนัก ทหารญี่ปุ่นประชิดกำแพงเมืองนานกิงในเช้าวันที่ 9 ธันวาคมและประกาศให้ทหารจีนหลังกำแพงยอมแพ้ภายใน 24 ชัวโมง แต่ไม่มีผู้แทนของฝั่งจีนปรากฏตัวเจรจา เวลา 13.00 น. พลเอกมัตสึอิ อิวาเนะและพลโทเจ้าฟ้าอากาสะ ยาสุฮิโกะสรุปว่าจีนไม่ให้ความสนใจต่อการเจรจาจึงออกคำสั่งบุกโจมตี

กรมทหารราบที่ 36 กองพลที่ 9 แห่งกองทัพญี่ปุ่นโจมตีประตูกวนฮวาอย่างหนักซึ่งเป็นที่มั่นของทหารจีนที่ไร้ประสบการณ์ในเวลา 14.00 น. ในช่วงบ่ายกำลังทหารจีนที่ประตูกวนฮวาเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 นาย ป้อมปืนกลคอนกรีต รถถังเล็ก และปริมาณการยิงทำให้ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากแต่อานุภาพการทำลายล้างที่เหนือกว่าของญี่ปุ่นทำให้ทหารจีนต้องล่าถอยไป ในเวลากลางคืนทหารญี่ปุ่นใช้ปืนใหญ่ภูเขาทำลายส่วนหนึ่งของประตูทหารญี่ปุ่นบุกเข้าไปและจัดการกับทหารจีนที่ตั้งรับ นายพลถังทราบดีว่าขวัญกำลังใจของทหารต่ำจึงเรียกรวมผู้บัญชาการภายในกองพลที่กองบัญชาการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถชนะได้ นายพลถังไม่ยอมรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหากพ่ายแพ้ในการรบจึงให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนลงนามเอกสารจากจอมพลเจียงไคเช็กว่าด้วยไม่ยอมล่าถอยนอกจากจำเป็นจริงๆจึงได้รับการอนุญาต ในวันที่ 12 ธันวาคมนายพลถังตัดสินใจหนีออกจากเมือง ในเวลานี้ประตูยี่เจียงเป็นประตูเดียวที่อยู่ในการควบคุมของจีน เขาออกจากเมืองโดยไม่ประกาศยอมจำนนอย่างเป็นทางการต่อญี่ปุ่นทำให้เกิดความไม่แน่ใจที่ทำให้ทหารหนีทัพ ทหารหลายนายพบว่าผู้บังคับบัญชาหายไปแล้วและเริ่มหนีทัพไปทั่วรอบทิศทาง แฟรงค์ ทิลแมนนักข่าวชาวอเมริกันจากนิวยอร์กไทมส์และ อาชิบอลด์ สตีลย์จากชิคาโกเดลีรายงานว่าทหารจีนปล้นสะดมร้านค้า ขณะที่ทหารคนอื่นทิ้งเครื่องแบบและอาวุธแฝงตัวเข้าไปในฝูงชน การหนีทัพของทหารจีนยุติลงเมื่อทหารจากกองพลที่ 36 ของสาธารณรัฐจีนที่ประตูยี่เจียงยังคงปฏิบัติตามคำสั่งป้องกันการหนีทัพ(นายพลถังไม่ได้ถอนคำสั่งก่อนออกจากเมือง)เผชิญหน้ากับทหารที่พยายามปีนประตูหนี ทหารจีนนับพันคนแออัดในประตูยี่เจียงบังคับให้เปิดทาง กองพลที่ 36 จึงเปิดฉากยิงทหารหนีทัพ บางคนก็เริ่มหวาดกลัวมากขึ้นและบางคนก็ถูกเหยียบตาย

ในเวลา 13.27 น.ของวันที่ 12 ธันวาคม USS Panay เรือรบอเมริกันและเรือบรรทุกน้ำมันสามลำเหนือแม่น้ำแยงซีเกียงจากนานกิง ถึงแม้ว่ายูเอสเอส พาเนย์จะชักธงอเมริกาขึ้นสู่ยอดเสาแต่ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด B4Y 96 สามลำและเครื่องบินประจัญบาน A4N 95 เก้าลำโจมตี เรือยูเอสเอส พาเนย์จมลงในเวลา 15.54 น.และมีผู้เสียชีวิต 3 ศพ ถือเป็นเรือรบอเมริกาลำแรกที่จมในสงครามโลกครั้งที่ 2 กรณีพาเนย์ทำให้ความสัมพันธ์อเมริกาและญี่ปุ่นตึงเครียด ในที่สุดกรณีพิพาทก็จบลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ธันวาคม 1937 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นขอโทษและชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐโดยกล่าวว่าเป็นผลจากการะบุเป้าหมายผิดพลาด

ในเวลา 03.00 น.ของวันที่ 12 ธันวาคม นายพลถังเฉิงจื้อประชุมกับนายทหารเสนาธิการและออกคำสั่งให้ทหารกองเล็กอพยพข้ามแม่น้ำแยงซีและทหารที่เหลืออยู่โจมตีญี่ปุ่นทางทิศใต้ เขาพบกับนายทหารเสนาธิการอีกครั้งในเวลา 17.00 น. แต่สถานการณ์อันเลวร้ายเปลี่ยนความคิดของเขา เขาออกคำสั่งเพิ่มขนาดกองทหารที่ข้ามแม่น้ำเป็นห้ากองพล ในเวลา 18.00 น.การอพยพเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทหารนับพันและผู้ลี้ภัยแออัดกันที่เส้นทางสู่ท่าเรือ การเดินทางช้าลงเป็นเพราะอุปกรณ์ของทหารและรถเข็นประชาชนถูกทิ้ง มีผู้ถูกเหยียบตายนับกว่าร้อยคนขณะที่ปืนลั่นก็คร่าชีวิตคนซ้ำเข้าไปอีก นายพลถังได้รับคำสั่งจากประธานาธิบดีเจียงไคเช็กให้ออกจากเมือง เขาขึ้นรถของทหารเสนาธิการไปยังท่าเรือในเวลา 21.00 น. และโดยสารเรือไอน้ำพลังงานถ่านหินและข้ามไปยังอีกฝั่งแม่น้ำอย่างปลอดภัย

เช้าวันที่ 13 ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นจากกองพลที่ 6 และกองพลที่ 114 ของญี่ปุ่นบุกเข้าเมือง สมทพกองพลที่ 9(ทางประตูจงฮวา) และกองพลที่ 16(ทางประตูซงชานและประตูไท่ผิง)ของญี่ปุ่น สี่กองพลรวมกันแล้วมีทหารประมาณ 50,000 นาย บ่ายวันนั้นกองเรือแม่น้ำญี่ปุ่นมาถึงท่าเรือนานกิง เวลาพลบค่ำญี่ปุ่นประกาศชัยชนะในยุทธการนี้

การเสียเมืองนานกิง

แก้
 
หน่วยสารวัตรทหาร "เค็นเปไต" แห่งกองทัพญี่ปุ่นตรวจค้นอาวุธพลเรือนจีน
 
ทหารญี่ปุ่นกับชาวเมืองนานกิง
 
ธงชาติญี่ปุ่นถูกประดับเหนือที่ทำการรัฐบาลเมืองนานกิง

หลังจากที่นานกิงถูกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครอง ทหารญี่ปุ่นได้จับกุมเชลยศึกทหารชาวจีนมาได้หลายคน ทางด้านผู้บัญชาการกองทัพได้มีคำสั่งให้มีการกำจัดเชลยศึกโดยได้รับคำสั่งจากจักรพรรดิฮิโรฮิโตทำให้เชลยศึกถูกสังหารอย่างโหดเหียม หลังจากนั้นทหารญี่ปุ่นก็ได้ทำการบุกเข้ายึดอาคารที่ทำการรัฐบาล ธนาคารและโรงเก็บสินค้า ยิงผู้คนตามท้องถนนอย่างไม่เลือกหน้า โดยใช้ทั้งปืนพก ปืนกล ปืนเล็กยาว ยิงเข้าไปในฝูงคนที่มีทั้งทหารที่บาดเจ็บ หญิงชรา และเด็ก ๆ โดยทหารญี่ปุ่นฆ่าพลเรือนทุกมุมเมือง ไม่ว่าจะตามตรอกเล็ก ๆ หรือถนนสายใหญ่ ในสนามเพลาะ หรือแม้แต่ในอาคารที่ทำการรัฐบาล นอกจากนั้นทหารญี่ปุ่นก็ได้กระทำทารุณชาวจีนด้วยวิธีต่างๆรวมทั้งกระทำข่มขืนหญิงชาวจีนเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ไม่ว่าจะเป็นสาว คนท้อง หรือคนแก่ เหตุการณ์นี้ได้ถูกเรียกว่า การสังหารหมู่ที่นานกิง(Nanking Massacre) เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจอย่างยิ่งต่อชาวจีนในสงครามโลกครั้งที่สอง

แม้ว่าในเมืองนานกิงที่มีการสังหารหมู่ชาวจีนไปทั่วทุกแห่ง แต่ได้มีการสร้างเขตปลอดทหารสำหรับพลเรือนจีนที่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ (22 พฤศจิกายน 1937) วันพักรบของญี่ปุ่นก่อนยุทธการนานกิง เขตปลอดทหารเพื่อความปลอดภัยถูกสร้างโดย ยอน ราเบอ นักธุรกิจเยอรมันสมาชิกพรรคนาซี ร่วมกับโรเบิร์ต โอ วิลสัน แพทย์ชาวอเมริกันและชาวตะวันตกคนอื่น ๆ โดยขอความร่วมมือจากนายกเทศมนตรีเมืองนานกิงให้อพยพชาวเมืองเข้าไปในเขตปลอดภัย เขตปลอดภัยมีหน้าที่ในการช่วยชีวิตของพลเรือนหลายพันคนของจีนให้รอดพ้นจากการถูกสังหารหมู่

ต่อมาหลังสงครามโลกด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น นายพลมัตสึอิ อิวาเนะแห่งกองทัพจักรวรรดิที่มีส่วนรับผิดชอบในการสังหารหมู่ที่นานกิงถูกศาลทหารของสัมพันธมิตรพิพากษาโทษด้วยการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ หลังจากนั้นก็ได้มีการรำลึกไว้อาลัยถึงผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่นานกิงของชาวจีนด้วยความโศกเศร้า จากเหตุการณ์จากการกระทำของญี่ปุ่นอย่างโหดร้ายก็ได้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างจีน-ญี่ปุ่นที่มิอาจจะฟื้นฟูขึ้นมาได้มาจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง

แก้
  1. Askew, Defending Nanking: An Examination of the Capital Garrison Forces, p.173.
  2. Askew, Defending Nanking: An Examination of the Capital Garrison Forces, p.158.