อาสนวิหารกลอสเตอร์
อาสนวิหารกลอสเตอร์ (อังกฤษ: Gloucester Cathedral) เป็นอาสนวิหารที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของเมืองกลอสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แต่เดิมเป็นแอบบีย์ที่อุทิศให้นักบุญเปโตร เมื่อราวปี ค.ศ. 678 หรือ 679 มาจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นอาสนวิหาร (cathedral) เมื่อปี ค.ศ. 1541
ประวัติ
แก้เมื่อปี ค.ศ. 1072 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1แห่งอังกฤษ แต่งตั้งให้อธิการแซร์ลอ (Serlo) จากมง-แซ็ง-มีแชล (ประเทศฝรั่งเศส) มาปกครองอาสนวิหารนี้ ตอนนั้นอารามอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมาก[1] แซร์ลอทุ่มตัวสร้างวัดขึ้นมาใหม่จนเป็นที่เห็นกันทุกวันนี้ ต่อมาท่านก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นดีนของอาสนวิหารเอ็กซีเตอร์ วอลเตอร์ กลอสเตอร์ (Walter Gloucester) นักประวัติศาสตร์ของอารามนี้ได้เป็นอธิการอารามเมื่อปี ค.ศ. 1381 อาสนวิหารกลอสเตอร์เดิมขึ้นอยู่กับมุขมณฑลวูสเตอร์ (Worcester) จนถึงปี ค.ศ. 1541 จากนั้นก็ย้ายไปขึ้นกับมุขมณฑลทูกสบรี (Tewkesbury) โดยมีจอห์น เวกแมน (John Wakeman) อธิการองค์สุดท้ายได้เป็นบิชอป มุขมณฑลทูกสบรีครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของกลอสเตอร์เชอร์รวมถึงบางส่วนเฮริฟอร์ดเชอร์และวิลท์เชอร์
อาสนวิหารนี้เป็นอาสนวิหารที่เดิมสร้างแบบโรมาเนสก์แต่ต่อมาต่อเติมเป็นแบบกอทิกที่สวยงามมาก ภายในมีบานหน้าต่างประดับกระจกสี ในช่องเล็ก ๆ ของบานหนึ่งซึ่งทำเมื่อปี ค.ศ. 1350 มีรูปคล้ายคนเล่นกอล์ฟ เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่กล่าวถึงกีฬาเล่นกอล์ฟ รูปนี้ทำขี้นก่อนรูปที่พบสกอตแลนด์ ประมาณ 300 ปี[2] นอกจากนั้นก็ยังมีรูปคนเล่นฟุตบอลซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรูปการเล่นฟุตบอลที่เป็นหลักฐานเก่าที่สุดจากยุคกลาง
การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม
แก้ตัวโบสถ์เดิมเป็นแบบโรมาเนสก์ หรือ นอร์มัน ตามที่เรียกกันที่ประเทศอังกฤษ การต่อเติมภายหลังเป็นแบบกอทิกหลายยุค ตัววัดลึก 420 ฟุต กว้าง 144 ฟุต มีหอกลางที่ต่อเติมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 สูง 225 ฟุต ข้างบนมียอดสี่ยอด ตัวโบสถ์ด้านในเป็นเพดานสมัยอังกฤษตอนต้น มีห้องใต้ดินสำหรับเก็บศพ (Crypt) แบบโรมาเนสก์อยู่ภายใต้บริเวณร้องเพลงสวด ห้องใต้ดินของอาสนวิหารนี้เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของสถานที่แบบเดียวกันนี้ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศอังกฤษ อีกสามแห่งอยู่ที่ อาสนวิหารวูสเตอร์ อาสนวิหารวินเชสเตอร์ และอาสนวิหารแคนเทอร์เบอรี จากนั้นก็มีหอประชุมนักบวช
ระเบียงฉันนบถด้านใต้เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ เพดานเป็นโค้งใบพัดหรือที่เรียกว่าเพดานพัด เหมือนกับทางด้านเหนือ ภายในตัววัด ทางด้านใต้เป็นลักษณะที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตร บริเวณที่ทำพิธีเป็นลวดลายเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ทำทับงานเดิมที่เป็นแบบโรมาเนสก์ มีโบสถ์น้อยประกบทั้งสองข้าง ระหว่างโบสถ์น้อยสองส่วนนี้เป็นโบสถ์น้อยแม่พระ หน้าต่างทางด้านตะวันออกเป็นแบบเด็คคอเรทีฟแต่งด้วยกระจกสีสมัยยุคกลาง
สิ่งที่สวยงามที่สุดภายในโบสถ์นี้คือซุ้มที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ที่ถูกปลงพระชนม์ที่ปราสาทบาร์คลี (Berkeley Castle) อาสนวิหารนี้มั่งคั่งขึ้นมาด้วยรายได้จากนักแสวงบุญที่มาถวายความเคารพที่ฝังพระศพนี้ ในโบสถ์น้อยทางด้านข้างมีอนุสรณ์ที่ทำจากไม้บ็อกโอ๊ก (bog oak) ของโรเบิร์ต เคอธอส ดยุกแห่งนอร์ม็องดี (Robert Curthose) ผู้เป็นพระโอรสองค์โตของ พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของโบสถ์ และยังมีอนุสรณ์ที่น่าจดจำของนายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ อารามแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1216 ซึ่งมีบันทึกเป็นภาพในหน้าต่างกระจกสีทางทิศใต้[3]
ระหว่างปี ค.ศ. 1873–1890 และ ปี ค.ศ.1897 ทางอาสนวิหารมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยเซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ (George Gilbert Scott)
ทางเดินกลาง ทางเดินข้าง
แก้โถงทางเดินกลางรายด้านแนวเสาโรมาเนสก์สูงกว่า 9 เมตรเป็นเสาเดิมของโบสถ์ ภายในกลวงถมด้วยวัสดุก่อสร้าง ตอนล่างของเสาจะออกสีแดงซึ่งเป็นผลจากการความร้อนจากหลังคาที่ร่วงลงมาหลังจากเกิดไฟไหม้สองครั้ง หลังคาเดิมเป็นไม้เมื่อสร้างหลังคาใหม่ครั้งสุดท้ายจึงเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างเป็นหิน ทรงเพดานเป็นแบบกอทิกอังกฤษยุคแรก โค้งจึงยังไม่แหลมมาก
สิ่งที่น่าสนใจของอาสนวิหารคือโถงทางเดินข้างที่กระหนาบทางเดินกลางด้านเหนือเป็นของเดิมตั้งแต่สร้างโบสถ์เป็นแบบโรมาเนสก์สังเกตได้จากหน้าต่างเป็นโค้งมนแต่งรอบโค้งบนด้วยรอยหยัก แต่ทางเดินข้างด้านใต้เป็นแบบกอทิกรายด้วยหน้าต่างโค้งแหลม สาเหตที่เป็นคนละแบบเพราะทางเดินด้านใต้ทรุดเพราะสร้างบนที่ซึ่งเดิมเคยเป็นคูของโรมัน เมื่อกำแพงทรุดก็เป็นอันตรายที่อาจจะดึงตัวอาสนวิหารตามไปด้วย ถ้ายืนมองจากมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่ากำแพงด้านตะวันออกของวัดจะเอียงไปทางด้านนอกอาสนวิหาร จึงจำเป็นต้องสร้างและเสริมใหม่เป็นกอทิกวิจิตร ซึ่งจะเห็นได้จากรูปดอกไม้ตกแต่งรอบหน้าต่าง ว่ากันว่าในวันหนึ่ง ๆ ช่างแกะหินจะแกะได้เพียง 5 ดอก เมื่อดูแต่ละหน้าต่างจะมีดอกไม้ตกแต่งเป็นร้อยแสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของผู้ก่อสร้างสมัยนั้น
ด้านนี้มีหน้าต่างประดับกระจกสีที่น่าสนใจสองหน้าต่างหนึ่งเป็นรูปพิธีราชาภิเษกพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ยังทรงพระเยาว์ที่อาสนวิหารนี้ และเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษองค์เดียวที่ราชาภิเษกที่อาสนวิหารนี้ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ เหนือพระเศียรมิได้เป็นมงกุฏแต่เป็นที่รัดแขนของพระมารดา เพราะเกวียนเครื่องราชภัณฑ์ไปล่มลงในหนองที่ทางตะวันออกของอังกฤษจึงไม่มีอะไรเหลือ
หน้าต่างประดับกระจกสีทางด้านตะวันออกอีกบานหนึ่งเป็นรูปการสร้างอนุสรณ์ที่ฝังพระศพ และการฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรสที่อาสนวิหารนี้
บริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวด
แก้บริเวณนี้อยู่หลังฉากหินมหึมาแยกจากโถงกลางมาเป็นศักดิ์สิทธิสถาน บริเวณนี้ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยเปลี่ยนจากแบบโรมาเนสก์เดิมเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งเป็นสมัยปลายกอทิกที่เน้นแนวดิ่ง เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เพื่อให้สมพระเกียรติกับการเป็นสถานที่ที่เป็นที่ฝังพระศพพระราชบิดา โครงสร้างเดิมที่เป็นโรมาเนสก์มิได้ถูกรื้อทั้งหมดทิ้งแต่ “ปะหน้า” ด้านศักดิ์สิทธิสถานด้วยกอทิก ฉะนั้นถ้าออกไปทางด้านนอกศักดิ์สิทธิสถาน (ทางเดินรอบบริเวณสวดมนต์) จะเห็นว่าหน้าต่างที่เห็นด้านในเป็นกอทิกด้านนอกจะยังคงเป็นโรมาเนสก์ ภายในบริเวณสวดมนต์มีหน้าต่างประดับกระจกสีรอบด้านทำให้มีแสงส่องผ่านกระจกสีเข้ามาได้ทั่วถึงทำให้มีลักษณะโปร่ง เพดานประดับด้วยปุ่มหินนับร้อย แต่ชิ้นที่สำคัญที่สุดเป็นรูปพระเยซูประทานพร ล้อมรอบด้วยชิ้นทูตสวรรค์เล่นดนตรี
ครึ่งทางด้านใต้เป็นที่นั่งของนักร้องเพลงสวดและนักบวชที่แกะสลักเสลาอย่างสวยงาม ภายใต้ที่นั่งเป็นเก้าอี้อิงซึ่งเป็นคันยื่นออกมาราวหกนิ้วเมื่อพับม้านั่ง นักพรตคณะเบเนดิกตินต้องอธิษฐานวันละแปดหน เวลาสวดก็ต้องยืนทำให้บางครั้งเมื่อย ฉะนั้นภายใต้เก้าอี้พับจะมีที่รองนั่งสั้น ๆ ยื่นออกมา กล่าวกันว่าใช้สำหรับให้พระเอนเวลาเมื่อยจะได้ไม่เห็นว่านั่ง การแกะสลักภายใต้ที่นั่งจะพบมากที่สุดในประเทศอังกฤษ ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปมาก ลักษณะการแกะสลักก็น่าสนใจเพราะจะไม่เป็นศิลปะศาสนาแต่จะเป็นศิลปะชาวบ้านและเป็นการแสดงความมีอารมณ์ขันของช่างสลักไม้ เช่นอาจจะทำเป็นรูปสามีภรรยาตบตีกัน ภาพเงือก ภาพผู้หญิงทำอาหาร ภาพการเก็บเกี่ยว แต่ละอันก็จะไม่ซ้ำกัน
นอกจากนั้นในบริเวณนี้ยังมีอาสนะบิชอป แต่สิ่งที่แปลกกว่าอาสนวิหารคืออาสนวิหารกลอสเตอร์มีที่นั่งตรงกันข้ามกับบิชอปแต่มีขนาดใหญ่กว่าที่นั่งของบิชอป ที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณต่อนายกเทศมนตรีของเมืองกลอสเตอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่สามารถพูดหว่านล้อมให้ทหารของกองทัพของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ย้ายม้าไปผูกนอกอาสนวิหาร ไม่เช่นนั้นอาสนวิหารก็คงจะเสียหายมากกว่านั้น
ด้านเหนือของบริเวณสวดมนต์เป็นฉากแท่นบูชาขนาดใหญ่สร้างในสมัยฟื้นฟูกอทิกในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย อยู่หน้าบานกระจกประดับสีที่ใหญ่ที่สุดในอาสนวิหารที่เรียกว่า “The Great East Window”
คูหาสวดมนต์พระแม่มารี
แก้ด้านหลังของบริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวดเป็นทางเดินรอบ (Ambulatory) จากทางเดินออกไปมีคูหาสวดมนต์สามคูหา คูหาที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงกลางเรียกว่า Lady chapel เป็นคูหาสวดมนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับคูหาสวดมนต์แบบนี้ในอังกฤษ ตัวคูหามีหน้าต่างกระจกล้อมรอบจนไม่มีกำแพงดูเหมือนเรือนกระจก
ระเบียง
แก้ระเบียงฉันนบถทางด้านเหนือของอาสนวิหารเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ ซึ่งเป็นสมัยปลายกอทิกที่เน้นเส้นดิ่ง รอบระเบียงเป็นซุ้มโค้งสลักด้วยหินอย่างวิจิตรตลอดทั้งสี่ด้าน ตัวระเบียงล้อมรอบลานสี่เหลี่ยม เพดานเป็นแบบเพดานพัด ซึ่งเป็นลักษณะเอกลักษณ์ของอังกฤษ ทางด้านเหนือของระเบียงเป็นหอประชุมนักบวช ซึ่งเป็นที่ประชุมอ่านพระคัมภีร์ประจำวันเป็นบทบท ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อห้อง ทางด้านนี้เคยเป็นทางเข้าหอที่พระพำนักอยู่แต่มาถูกทำลายในสมัย พระเจ้าเฮนรีที่ 8 พร้อมกับโรงฉันของพระ ทางด้านเหนือของระเบียงเป็นซุ้มแคบยาวเกือบตลอดแนวภายในมีรางตลอดซึ่งใช้เป็นบริเวณซักล้าง ทางด้านใต้มีคูหาเล็ก ๆ ตลอดแนวใช้เป็นที่ที่นักบวชทำกิจกรรมต่าง ๆ
หน้าต่างประดับกระจกสี
แก้สิ่งที่เด่นที่สุดของอาสนวิหารกลอสเตอร์คือหน้าต่างประดับกระจกสีแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งมีรอบอาสนวิหาร แต่ที่สำคัญคือบานใหญ่มหึมา 5 บาน และหน้าต่างโดย ทอมัส เด็นนี (Thomas Denny)
- ด้านหน้าหรือด้านตะวันตก
- ด้านแขนกางเขนด้านใต้
- ด้านแขนกางเขนด้านเหนือ
- ด้านหลังหรือด้านตะวันออกหลังโบสถ์น้อยแม่พระ หน้าต่างด้านนี้เสียหายมากจนต้องเอามาประกอบแบบหาที่ปะเข้าไปโดยไม่เป็นรูปอะไรแน่นอนผลที่ออกมาจึงเป็นกึ่งนามธรรม
- กลางบริเวณพิธี หน้าต่างนี้ใหญ่ขนาดสนามเทนนิส สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1350 เป็นหน้าต่างที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษในสมัยนั้น บานกระจกแบ่งเป็นห้าชั้น ชั้นแรกเป็นตราตระกูล ชั้นบนถัดไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ถัดไปเป็นพระเยซูยกพระหัตถ์ทำเครื่องหมายประทานพร พระแม่มารีย์และสาวก ถัดขึ้นไปเป็นทูตสวรรค์
- หน้าต่างโดยทอมัส เด็นนี อยู่ภายในโบสถ์น้อยเล็กทางด้านใต้ เป็นบานหน้าต่างกระจกสีสีน้ำเงินสดเป็นส่วนใหญ่ที่ทำเมื่อปี ค.ศ. 1992 เป็นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกสองบานประกบรูปกลางซึ่งเป็นรูปพระเยซูกับนักบุญทอมัส โบสถ์น้อยนี้ยังใช้เป็นที่สวดมนต์ตอนเช้าทุกวัน
ออร์แกน
แก้ออร์แกนถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1666 โดยโธมัส แฮร์ริส และเป็นออร์แกนของโบสถ์สมัยศตวรรษที่ 17 ที่สมบูรณ์เพียงหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในสหราชอาณาจักร ท่อลมที่ปรากฏที่ด้านหน้าของเครื่องยังคงใช้งานได้ ออร์แกนได้รับการขยายขนาดและแก้ไขโดยผู้สร้างออร์แกนเกือบทุกรายในสหราชอาณาจักร รวมทั้งเฮนรี "ฟาเธอร์" วิลลิส ที่บำรุงรักษาออร์แกนในปี ค.ศ. 1847 และทำการสร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1888–89[4] ออร์แกนถูกสร้างใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1920 โดย แฮร์ริสัน & แฮร์ริสัน[5]
ในปี ค.ศ. 1971 ฮิลล์, นอร์แมนและเบียร์ด ได้ทำการออกแบบใหม่ทั้งหมด ภายใต้การดูแลของจอห์น แซนเดอร์ส นักออร์แกนของอาสนวิหารและที่ปรึกษาราล์ฟ ดาวเนส ในปี ค.ศ. 1999 นิโคลสัน & โค ได้ทำการซ่อมแซมใหญ่ออร์แกน โดยมีการซ่อมแซมซาวด์บอร์ด ระบบท่อ และการจ่ายลม และปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ ในปี ค.ศ. 2010 นิโคลสันยังได้เพิ่ม Trompette Harmonique solo reed[5]
ออร์แกนประกอบด้วยสี่แป้นคีย์บอร์ดและสี่คันเหยียบ ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเล่นจากตำแหน่งฉากกางเขน ให้สามารถรับฟังไปจนถึงฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอาสนวิหาร ส่วนขยายเสียง (Swell) ตั้งอยู่ที่กึ่งกลางของเครื่องที่ระดับคอนโซลและควบคุมโดยแป้นเหยียบสองอัน อันหนึ่งสำหรับแต่ละด้านของเครื่อง ตรงเหนือ Swell คือส่วนประกอบขนาดใหญ่ของออร์แกนซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนตะวันออกและตะวันตก ประกอบด้วยส่วนประสานเสียงสองส่วนหลักที่แยกจากกัน คีย์บอร์ดแป้นที่สี่คือออร์แกนขนาดเล็กสำหรับด้านตะวันตก (West Positive) มีการทำงานเช่นเดียวกับของออร์แกนประสานเสียงสำหรับฝั่งตะวันตกของอาสนวิหาร[5]
ที่ฝังศพและอนุสรณ์
แก้ที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2
แก้อนุสรณ์ที่ฝังศพที่สวยงามที่สุดภายในวัดนี้คือซุ้มที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ที่สร้างโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 พระราชโอรสเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชบิดาผู้ถูกปลงพระชนม์อย่างทารุณที่ปราสาทบาร์คลี (Berkeley Castle) อาสนวิหารนี้มั่งคั่งขึ้นมาด้วยรายได้จากผู้แสวงบุญที่มาสักการะที่ฝังพระศพนี้
ที่ฝังพระศพของโรเบิร์ต เคอธอส
แก้โรเบิร์ต เคอธอส (Robert Curthose) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แต่มิได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษต่อจากพระราชบิดา ได้เป็นเพียงดยุกแห่งนอร์ม็องดีที่เป็นตำแหน่งเดิมของพระราชบิดา เมื่อ โรเบิร์ต เคอธอสมีชีวิตอยู่ก็มีความประสงค์อยากจะฝังร่างของท่านเองเมื่อตายไปที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ อนุสรณ์ของโรเบิร์ต เคอธอสทำจากไม้บอกโอค ทาสีอย่างสวยงามตั้งอยู่ทางด้านเหนือนอกบริเวณพิธีติดกับฉากแท่นบูชาเอก แต่ว่าร่างของโรเบิร์ตเองว่ากันว่าถูกฝังไว้ภายในหอประชุมสงฆ์ภายในระเบียง
ที่ฝังพระศพของพระเจ้าออสริคแห่งเมอร์เซีย
แก้ทางด้านเหนือนอกบริเวณพิธีติดกับฉากแท่นบูชาเอกเป็นอนุสรณ์พระเจ้าออสริกแห่งเมอร์เซีย (Prince Osric of Mercia) ผู้เป็นผู้สร้างอาสนวิหาร เป็นรูปพระเจ้าออสริคนอนราบอุ้มอาสนวิหารในมือซ้าย รูปคล้ายกันนี้อีกรูปหนึ่งอยู่ด้านขวาของทางเข้าอาสนวิหารด้านใต้คู่กับบาทหลวงเซอร์โลทางด้านซ้ายผู้เป็ผู้มีบทบาทสำคัญในการบูรณะอาสนวิหาร
เหตุการณ์สำคัญ
แก้- 678-9 เริ่มมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานใกล้วัดระหว่างสมัยแซกซันนำโดย Osric of the Hwicce น้องสาวของ Hwicce เป็นอธิการิณีอาราม (Abbess) องค์แรก
- 1017 นักพรตเบเนดิกตินติน เข้ามาปกครองหลังจากที่บาทหลวงประจำมุขมณฑล (Secular priests) ถูกไล่ออกจากไป
- 1072 แซร์ลอได้รับแต่งตั้งโดยพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ให้มาเป็นเจ้าอาวาส
- 1089 โรเบิร์ต เดอ โลซินยา (Robert de Losinga) บิชอปแห่งแฮรฟอร์ด (Hereford) วางศิลาฤกษ์
- 1100 ได้รับการสถาปนา (consecrate) เป็นวัดเซนต์ปีเตอร์
- 1216 พระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าเฮนรีที่ 3
- 1327 พระราชพิธีฝังพระศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2
- 1331 ซ่อมบริเวณทำพิธีของนักพรตแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์
- 1373 อธิการฮอร์ตัน (Horton) เริ่มสร้างระเบียง มาเสร็จเอาสมัยอธิการฟรูสเตอร์ (Frouster)
- 1420 อธิการมอร์เว้นท์ (Morwent) ปฏิสังขรณ์ด้านตะวันตก
- 1450 อธิการซีโบรค (Sebrok) ต่อเติมหอ มาเสร็จโดยโรเบิร์ต ทัลลี (Robert Tully)
- 1470 อธิการแฮนลี (Hanley) ปฏิสังขรณ์ Lady Chapel มาเสร็จเอาสมัยอธิการฟาร์ลี (Farley)
- 1540 อารามถูกยุบตามพระราชกฤษฎีกายุบอาราม ของพระเจ้าเฮนรีที่ 8
- 1541 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 สถาปนาอารามที่ถูกยุบไปขึ้นเป็นอาสนวิหาร
- 1616-21 วิลเลียม ลอด เป็นอธิการ
- 1649-60 ตำแหน่งอธิการถูกยุบแต่ถูกตั้งใหม่โดย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2
- 1735-52 บิชอปมาร์ติน เบ็นสัน (Martin Benson) ปฏิสังขรณ์อาสนวิหารครั้งใหญ่
- 1847-73 บูรณปฏิสังขรณ์สมัยวิกตอเรีย โดย สถาปนิก เอฟ เอส วอลเลอร์ (F.S.Waller) และ เซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สก็อต
- 1968 ปูหลังคาใหม่
- 1994 เสร็จการปฏิสังขรณ์หอ
- 2000 ฉลองครบรอบ 900 ปึ
เกร็ดน่ารู้
แก้อาสนวิหารกลอสเตอร์ใช้เป็นฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ตอนที่หนึ่ง สอง และหก เมื่อปี ค.ศ. 2000
สมุดภาพ
แก้-
อาสนวิหารมองจากทางด้านเหนือ -
นักบุญเปโตรกับนักบุญเปาโลกับผู้นิพนธ์พระวรสารสี่ท่าน เหนือประตูทางด้านใต้ -
ห้องใต้ดินใต้ศักดิ์สิทธิสถานชั้นบน -
หอ -
ทางเดินกลางขนาบด้วยเสานอร์มัน เพดานกอทิกอังกฤษ -
ปุ่มหินเหนือทางเข้าทางด้านตะวันตก -
ฉากประดับแท่นบูชาและหน้าต่างกระจกเอก - The Great East Window -
แท่นบูชาสมัยฟื้นฟูกอทิก -
แท่นอ่านคัมภีร์ภายในบริเวณสงฆ์ -
ห้องกระจก Lady chapel -
ค้ำยันภายในตัวอาสนวิหาร -
ระเบียงฉันนบถ
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "Gloucester Cathedral - History". Gloucester Cathedral. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 October 2014.
- ↑ "The first Golf record?". A Royal and Ancient Golf History video. Fore Tee Video. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2009. สืบค้นเมื่อ 16 January 2009.
- ↑ David Welander (June 1991). The history, art, and architecture of Gloucester Cathedral. Wolfeboro Falls, NH: Alan Sutton. ISBN 978-0862998219.
- ↑ "Gloucestershire, Gloucester Cathedral of St. Peter and Holy Trinity [D07556]". Npor.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-23. สืบค้นเมื่อ 2007-12-20.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "Gloucester Cathedral – Organ". Gloucestercathedral.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 December 2016. สืบค้นเมื่อ 12 December 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ของอาสนวิหารกลอสเตอร์
- เว็บไซต์ของเทศบาลเมืองกลอสเตอร์
- ท่องเที่ยวเมืองกลอสเตอร์
- ประวัตินักร้องเพลงสวดของอาสนวิหารกลอสเตอร์ เก็บถาวร 2006-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แกลเลอรีอาสนวิหารกลอสเตอร์โดย Adrian Fletcher’s Paradoxplace เก็บถาวร 2014-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แกลเลอรีอาสนวิหารกลอสเตอร์ของ hayquesufrir
- แกลเลอรีอาสนวิหารกลอสเตอร์ของ Flickr
- หน้าต่างประดับกระจกสีในประเทศอังกฤษ