มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นชื่อของเครือข่ายวิชาการและเว็บไซต์ที่นำเสนอการสนทนาแลกเปลี่ยนจากเครือข่ายวิชาการในชื่อเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ[ต้องการอ้างอิง] ก่อตั้งโดยกลุ่มนักวิชาการซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี สมเกียรติ ตั้งนโม เป็น "อธิการบดี" มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทางวิชาการหลายสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งมีกระดานข่าวสาธารณะให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และส่วนสารานุกรมฟรีในเรื่องเกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ การนำเสนอคำศัพท์ใหม่ ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เนื้อหาในเว็บไซต์ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ โดยระบุไว้ในหน้าแรกของเว็บไซต์ว่า "ผู้ที่นำข้อมูลสารานุกรมฟรีไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร โดยระบุถึงเว็บไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org" โดยมี สมเกียรติ ตั้งนโม ทำหน้าที่เป็นทั้งเว็บมาสเตอร์และบรรณาธิการเว็บไซต์
ประวัติ
แก้เครือข่ายวิชาการในชื่อ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" ก่อตั้งเมื่อปี 2540 ส่วนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2541[1] เริ่มแรกใช้พื้นที่ฟรีของ GeoCities ให้บริการที่ที่อยู่ www.geocities.com/midnightuniv ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้บริการพื้นที่เว็บของบริษัท Thaiis[2] เนื่องจากพื้นที่เดิมไม่เพียงพอ โดยใช้ชื่อโดเมนว่า midnightuniv.org[3] โดเมนนี้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547[4]
กรณีรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
แก้หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกนำเป็นประเด็นว่ามีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก และควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ต โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ออกคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า[5] แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 สมเกียรติ ตั้งนโม เว็บมาสเตอร์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยกล่าวว่าจากการหาข่าวในทางลับนั้น เรื่องการปิดเว็บไซต์ไม่เกี่ยวกับคปค. แต่อย่างใด การดำเนินการครั้งนี้เป็นการจัดการนอกคำสั่งของคนในกระทรวงไอซีทีซึ่งสมเกียรติก็ทราบว่าเป็นลูกน้องใคร "เพื่อเสี้ยมให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไปชนกับ คปค." ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่ตกเป็นเหยื่อของแผนการดังกล่าว[6] จนวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ตัวแทนกระทรวงไอซีที ได้แถลงยอมรับต่อศาลว่า ออกคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์จริงตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่หลังจากนั้นได้ยกเลิกการปิดกั้นเว็บไซต์เนื่องจากสถานการณ์ยึดอำนาจได้คลี่คลาย แต่ไม่ทราบว่าการยกเลิกการปิดกั้นนั้นได้คลายการล็อกเลขที่อยู่ไอพีทั้ง 30 เว็บไซต์ของ บริษัทไทยอิสครบถ้วนหรือไม่ เมื่อศาลรับทราบข้อเท็จจริงจากกระทรวงไอซีทีแล้ว จึงออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระทรวงไอซีทียกเลิกการบล็อกของเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนแล้ว[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "สมเกียรติ ตั้งนโม" อดีตอธิการบดี ม.เที่ยงคืน เสียชีวิตแล้ว, ประชาไท, 6 ก.ค. 2553
- ↑ http://thaiis.com
- ↑ การต่อสู้เพื่อให้ความจริงพูดได้ กรณีการบล็อกเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน (รายงานประชาชนฉบับที่ ๒) (การดำเนินคดี), กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 23 ต.ค. 2549
- ↑ http://www.whois.net/whois/midnightuniv.org[ลิงก์เสีย]
- ↑ ห้ามเข้า ม.เที่ยงคืนแล้ว หลังท้าทายอำนาจฉีกร่างธรรมนูญ คปค., ประชาไท, 30 ก.ย. 2549, เรียกดู 5 ส.ค. 2553
- ↑ เจ้าของเว็บ"ม.เที่ยงคืน"ร้อง"กสม." ชี้"ไอซีที"ปิดเครือข่ายไม่เกี่ยวคปค.[ลิงก์เสีย], มติชนรายวัน, 10 ต.ค. 49 (เรียกดู 5 ส.ค. 2553 จากเว็บไซต์รัฐสภา)
- ↑ ศาลปกครองสั่งไอซีทีคลายบล็อก เว็บ ม.เที่ยงคืน เอกชนฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายซ้ำ, ประชาไท, 21 ต.ค. 2549, เรียกดู 5 ส.ค. 2553
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- “ความรู้” ในแบบสมเกียรติ ตั้งนโม แห่ง ม.เที่ยงคืน โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล, 22 ก.ค. 2553
- รายงานกรณีการปิดกั้นเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดย กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- ฉบับที่ 1, 22 ต.ค. 2549
- ฉบับที่ 2 (การดำเนินคดี), 23 ต.ค. 2549
- ฉบับที่ 3 (ข่าวและบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์), 27 ต.ค. 2549
- ฉบับที่ 4 (รายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเว็บไซต์), 28 ต.ค. 2549