ภาษาโปรตุเกสแบบยุโรป
ภาษาโปรตุเกสแบบยุโรป (โปรตุเกส: português europeu)[2] หรือที่เรียกว่า ภาษาโปรตุเกสแบบโปรตุเกส (português de Portugal), ภาษาโปรตุเกสคาบสมุทร (português peninsular) และ ภาษาโปรตุเกสแบบไอบีเรีย (português ibérico) เป็นชื่อเรียกโดยรวมของวิธภาษาต่าง ๆ ของภาษาโปรตุเกสที่ใช้ในประเทศโปรตุเกส
ภาษาโปรตุเกสแบบยุโรป | |
---|---|
português europeu | |
ออกเสียง | [puɾtuˈɣez ewɾuˈpew] |
ประเทศที่มีการพูด | โปรตุเกส |
จำนวนผู้พูด | 40 ล้านคน (2555)[1] |
ตระกูลภาษา | |
ระบบการเขียน | |
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | – |
กลุ่มภาษาโรมานซ์แถบไอบีเรียที่รวม ภาษาโปรตุเกสแบบยุโรป และสำเนียงของภาษานี้ |
ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป ภาษาโปรตุเกสเป็นหนึ่งในภาษาทางการของสหภาพ (เป็นภาษาทำงานของรัฐสภายุโรป แต่ไม่ใช่ภาษาทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป) ดังนั้นในเอกสารระหว่างประเทศรวมทั้งในเว็บไซต์ทางการต่าง ๆ ของสหภาพจึงใช้ภาษาโปรตุเกสแบบยุโรป นอกจากนี้ยังมีการสอนภาษาโปรตุเกสแบบยุโรปในประเทศสเปน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นเอซเตรมาดูรา)[3] และทั่วโลกผ่านทางสถาบันกามอยช์ ประเทศและดินแดนอื่น ๆ ที่พูดภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาหลัก (ยกเว้นประเทศบราซิล) ยังรับมาตรฐานภาษาโปรตุเกสแบบยุโรปไปใช้ด้วยเนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานทางภาษาเป็นของตนเอง
สิ่งที่เรียกว่า "วิธภาษามาตรฐาน" ของภาษาโปรตุเกสแบบยุโรปนั้นแตกต่างกันไปตามความเห็นของนักวิชาการ บางคนถือว่าวิธภาษามาตรฐานของภาษานี้คือวิธภาษาภาคกลาง-ใต้ของผู้พูดที่มีการศึกษาในลิสบอน ในขณะที่บางคนถือว่าวิธภาษามาตรฐานของภาษานี้มาจาก "กลุ่มวิธภาษาของผู้มีการศึกษาในภูมิภาคลิสบอน–กูอิงบรา"[4] อย่างไรก็ตาม "ภูมิภาคลิสบอน-กูอิงบรา" ไม่เคยมีปรากฏไม่ว่าจะเป็นในแง่ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ สังคมวิทยา ภาษาศาสตร์ หรืออื่น ๆ บางคนจึงเห็นว่าการให้สถานะพิเศษแก่กูอิงบราในการเผยแพร่มาตรฐานทางภาษามาจากการที่เมืองดังกล่าวเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสำคัญเท่านั้น ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อานีแซตู ดุช ไรช์ กงซัลวึช วียานา นักภาษาศาสตร์และผู้บุกเบิกวงการสัทศาสตร์โปรตุเกส แม้จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของ "มาตรฐานกลาง" ใน "ภาคกลางของราชอาณาจักร ระหว่างกูอิงบรากับลิสบอน" แต่ก็เขียนตำราอธิบาย "การออกเสียงเชิงบรรทัดฐาน" ของภาษาโปรตุเกสแบบยุโรปโดยอิงจากวิธภาษาที่ใช้ในลิสบอน[5]
ปัจจุบัน หน่วยงานที่มีหน้าที่วางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาโปรตุเกสแบบยุโรปคือ แผนกอักษรศาสตร์แห่งบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์ลิสบอน (Classe de Letras da Academia das Ciências de Lisboa)
อ้างอิง
แก้- ↑ ภาษาโปรตุเกสแบบยุโรป ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
- ↑ Cunha, Celso; Cintra, Lindley (1996). Nova Grámática do Português Contemporâneo (12.ª ed.). Lisboa: Edições João Sá da Costa. p. 9–19. ISBN 972-9230-00-5.
- ↑ Espanha: Extremadura lança campanha para fomentar aprendizagem da língua portuguesa, in Público[ลิงก์เสีย]
- ↑ Cunha, Celso; Cintra, Lindley (1984). Nova Grámática do Português Contemporâneo. Lisboa: Edições João Sá da Costa. p. 10.
- ↑ VIANNA, Aniceto dos Reis Gonçalves (1892): Exposição da pronuncia normal portuguesa para uso de nacionais e estrangeiros, Lisboa, Imprensa Nacional (Memória apresentada na 10ª Sessão do Congresso Internacional dos Orientalistas), reimpresso in Estudos de fonética portuguesa, Lisboa : Imprensa Nacional /Casa da Moeda, 1973, pp. 153 - 257; disponível online na Biblioteca Nacional Digital.