เจ้านครรัฐผู้คัดเลือก

(เปลี่ยนทางจาก พรินซ์อีเล็คเตอร์)

คัวร์เฟือสท์ (เยอรมัน: Kurfürst, อังกฤษ: Prince-elector) หรือ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือก[1] หมายถึงสมาชิกของคณะผู้คัดเลือกจักรพรรดิชาวโรมัน (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) เจ้าผู้คัดเลือกมีฐานันดรเป็น เฟือสท์ (Fürst) ส่วนทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงของเจ้าผู้คัดเลือกเรียกว่า คัวร์พรินซ์ (Kurprinz)

การประชุมเจ้าผู้คัดเลือกเพื่อเลือกมัททีอัสเป็นจักรพรรดิชาวโรมันในปี 1612

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา เจ้าผู้คัดเลือกซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนจะได้รับสิทธิพิเศษในการลงมติเลือกกษัตริย์แห่งชาวโรมัน หลังจากนั้นผู้ถูกเลือกก็จะมีฐานะเป็นกษัตริย์จนกว่าจะได้รับการสวมมหามงกุฎเป็นจักรพรรดิจากพระสันตะปาปา (ซึ่งเอาแบบอย่างจากปฐมจักรพรรดิชาร์เลอมาญ) รัชกาลสุดท้ายที่ผ่านโบราณราชประเพณีแบบนี้คือ คาร์ลที่ 5 (ถูกเลือกในปี 1519 และสวมมหามงกุฎในปี 1530) รัชกาลถัดจากนั้นอาศัยเพียงการลงมติแล้วประกาศตัวเป็น "จักรพรรดิชาวโรมันผู้ถูกเลือก" (Erwählter Römischer Kaiser) โดยไม่มีการสวมมหามงกุฎจากพระสันตะปาปา

เจ้าผู้คัดเลือกมีฐานันดรศักดิ์เป็นลำดับสองรองจากกษัตริย์หรือจักรพรรดิ และเป็นสมาชิกของมหาสภาจักรวรรดิ (Dieta Imperii) ซึ่งมหาสภาแบ่งเป็นสามคณะได้แก่ คณะเจ้าผู้คัดเลือก, คณะเจ้าราชรัฐ และคณะนคร เจ้าผู้คัดเลือกส่วนใหญ่นอกจากอยู่ในเจ้าผู้คัดเลือกแล้ว ยังอยู่ในคณะเจ้าราชรัฐ ด้วยมีอำนาจปกครองดินแดน

การคัดเลือกจักรพรรดิ

แก้

การคัดเลือกมีชื่อว่า เคอนิชส์วาล (Königswahl) ที่แปลว่า "การเลือกกษัตริย์" เมื่อตำแหน่งจักรพรรดิว่างลง อัครมุขนายกแห่งไมนทซ์จะส่งหมายเรียกประชุมเจ้าผู้คัดเลือกภายในหนึ่งเดือน โดยกำหนดวันประชุมภายในสามเดือนนับแต่วันออกหมายเรียก ซึ่งในช่วงที่ไม่มีจักรพรรดิ อำนาจของจักรพรรดิจะถูกใช้โดยอุปราชจักรวรรดิ (Reichsvikar) ซึ่งมีอยู่สองคนได้แก่ เจ้าผู้คัดเลือกแห่งซัคเซิน สำหรับอาณาเขตที่ใช้กฎหมายซัคเซิน (ซัคเซิน, เว็สท์ฟาเลิน, ฮันโนเฟอร์ และเยอรมนีตอนเหนือ) และเจ้าผู้คัดเลือกแห่งฟัลทซ์ สำหรับอาณาเขตที่เหลือของจักรวรรดิ (ฟรังเคิน, ชวาเบิน, ลุ่มแม่น้ำไรน์, และเยอรมนีตอนใต้)

ในตอนแรก เจ้าผู้คัดเลือกมีเพียงเจ็ดคน ได้แก่

  • ฝ่ายศาสนา
    •   อัครมุขนายกผู้คัดเลือกแห่งไมนทซ์ (Kurfürst-Erzbischof von Mainz)
    •   อัครมุขนายกผู้คัดเลือกแห่งโคโลญ (Kurfürst-Erzbischof von Köln)
    •   อัครมุขนายกผู้คัดเลือกแห่งเทรียร์ (Kurfürst-Erzbischof von Trier)
  • ฝ่ายฆราวาส
    •   กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (König von Böhmen)
    •   ฟัลทซ์กราฟแห่งริมไรน์ (Pfalzgraf bei Rhein)
    •   ดยุกแห่งซัคเซิน (Herzog von Sachsen)
    •   มาร์คกราฟแห่งบรันเดินบวร์ค (Markgraf von Brandenburg)

ต่อมามีการแต่งตั้งเพิ่มเติม ได้แก่:

    • ในปี 1623   ดยุกแห่งบาวาเรีย (Herzog von Bayern)
    • ในปี 1692   ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์–ลือเนอบวร์ค (ฮันโนเฟอร์) (Herzog von Braunschweig-Lüneburg)

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 211


แหล่งข้อมูลอื่น

แก้