พระโพธิรังสี เป็นพระเถระ เป็นผู้รจนา สิหิงคนิทาน และ จามเทวีวงศ์

บางหลักฐานว่าท่านเป็นชาวหริภุญชัย[1] คำว่า "โพธิรังสี" สันนิษฐานว่าเป็นฉายา มิใช่สมณศักดิ์ ท่านเป็นบุคคลที่มีชีวิตในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาครองเมืองเชียงใหม่ ถึงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชครองเมืองเชียงใหม่[2]

สันนิษฐานว่า พระสาครสามีเป็นผู้อาราธนาพระโพธิรังสีให้แต่งสิหิงคนิทาน ซึ่งอาจเป็นรูปที่ไปลังกา และพระโพธิรังสีก็อาจเป็นหนึ่งใน 25 รูป ที่เดินทางไปลังกาเมื่อ พ.ศ. 1928 ตามที่ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้[3] ท่านได้รับอาราธนามาอยู่เชียงใหม่เพราะท่านเจตนารจนา จามเทวีวงศ์ ให้เป็นประวัติของเมืองหริภุญชัยและกษัตริย์เมืองหริภุญชัยโดยเฉพาะ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อท้องถิ่นที่ท่านกำเนิด ในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมือง พระโพธิรังสีเป็นพระเถระแล้ว มี 20 พรรษา ท่านอาจอายุได้ 40 ปี ขณะรจนา สิหิงคนิทาน พระโพธิรังสีคงมรณภาพในสมัยพระเจ้าติโลกราช เพราะในสมัยต่อมาโดยเฉพาะในสมัยพระเมืองแก้วครองเมืองเชียงใหม่ ได้มีการกล่าวถึงพระภิกษุสำคัญรูปอื่นที่ได้รจนาหรือสร้างปูชนียสถานไว้ โดยมิได้เอ่ยถึงพระโพธิรังสีเลย[4]

อ้างอิง

แก้
  1. ชุ่ม ณ บางช้าง, นำชมจังหวัดเชียงใหม่, (กรุงเทพมหานคร : กรมการศาสนา, 2516), หน้า 40
  2. สดุภณ จังกาจิตต์, จามเทวีวงศ์ : วรรณกรรมที่ถูกลืม, (กรุงเทพมหานคร : โอเอสพริ้นติ้งเฮ้าส์, 2551), หน้า 235.
  3. สุพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการงานเขียนภาษาบาลีในประเทศไทย : จารึก ตำนาน พงศาวดาร สาส์นประกาศ, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฎราชวิทยาลัย), 2529, หน้า 327.
  4. พระหล้า อมรเมโธ (มูลใจทราย). "การวิเคราะห์ตํานานสิหิงคนิทานในล้านนา" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.[ลิงก์เสีย]