พระสุตตันตปิฎก
พระสุตตันตปิฎก เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก ซึ่งประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่าง ๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 5 นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที มะ สัง อัง ขุ) ได้แก่
- ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว 34 สูตร
- มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง 152 สูตร
- สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่ง ๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 56 สังยุตต์ มี 7,762 สูตร
- อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวด ๆ เรียกว่านิบาตหนึ่ง ๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม 11 นิบาต หรือ 11 หมวดธรรม มี 9,557 สูตร
- ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้ มี 15 คัมภีร์[1]
พระสุตตันตปิฎก 25 เล่ม
แก้- พระไตรปิฎกเล่มที่ 9 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว 13 สูตร หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 10 ทีฆนิกาย มหาวรรค มีพระสูตรยาว 10 สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย "มหา" เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 11 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว 11 สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียงเช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 12 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง 50 สูตร
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 13 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลางมีพระสูตรขนาดกลาง 50 สูตร
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ บั้นปลายมีพระสูตรขนาดกลาง 52 สูตร
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 15 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่าง ๆ เช่น เทวดามาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี 11 สังยุตต์
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 16 สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัด เป็น 10 สังยุตต์
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 17 สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ 5 ในแง่มุมต่าง ๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่อง สมาธิและทิฏฐิต่าง ๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น 13 สังยุตต์
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 18 สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ 6 ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น 10 สังยุตต์
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 19 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม 37 แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธานพละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอา นิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น 12 สังยุตต์ (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความ มีกัลยาณมิตร เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 อังคุตตรนิกาย เอกะ-ทุกะ-ติกะนิบาต (ว่าด้วยชุมนุมหมวดธรรมะที่มี 1, 2 และ 3 ข้อ)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 21 อังคุตตรนิกาย จตุกกะนิบาต (ว่าด้วยชุมนุมหมวดธรรมะที่มี 4 ข้อ)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 อังคุตตรนิกาย ปัญจกะ-ฉักกะนิบาต (ว่าด้วยชุมนุมหมวดธรรมะที่มี 5 และ 6 ข้อ)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย สัตตกะ-อัฏฐกะ-นวกะนิบาต (ว่าด้วยชุมนุมหมวดธรรมะที่มี 7, 8 และ 9 ข้อ)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 24 อังคุตตรนิกาย ทสกะ-เอกาทสกนิบาต (ว่าด้วยชุมนุมหมวดธรรมะที่มี 10 และ 11 ข้อ)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (บทสวดย่อยๆ), ธัมมปทคาถา (นิยมเรียกอีกอย่างว่า "ธรรมบท" มีบทคาถา 423 เรื่อง), อุทาน (พุทธอุทาน 80), อิติวุตตกะ (พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย "เอวัมเม สุตัง"แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า "อิติ วุจจะติ" รวม 112 สูตร), สุตตนิบาต (ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว รวม 71 สูตร)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 26 ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ (เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น 85 เรื่อง), เปตวัตถุ (เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน 51 เรื่อง), เถรคาถา (คาถาของพระอรหันตเถระ 264 รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรมเป็นต้น), เถรีคาถา (คาถาของพระอรหันตเถรี 73 รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ 1 รวมคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี 40 คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม 525 เรื่อง
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 28 ขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ 2 รวมคาถาอย่างในภาค 1 นั้น เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี 50 คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี 1,000 คาถา รวมอีก 22 เรื่อง บรรจบทั้งสองภาค เป็น 547 ชาดก
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 29 ขุททกนิกาย มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร 16 สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 30 ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร 16 สูตร ในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 31 ปฏิสัมภิทามรรค (ทางแห่งความแตกฉาน) ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่าง ๆ เช่นเรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 32 ขุททกนิกาย อปทาน ภาคที่ 1 คาถาประพันธ์แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธาปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธาปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถราปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ พระปุณณะมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ ต่อเรื่อย ไปจนจบภาค 1 รวม พระอรหันตเถระ 410 รูป
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 ขุททกนิกาย อปทาน ภาคที่ 2 คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ 550 ต่อนั้น เป็น เถรีปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี 40 เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม 16 รูป ต่อด้วยพระเถรีที่ สำคัญเรียงลำดับคือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสา โคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่น ๆ ต่อไปจน จบ ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม 33 นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงศ์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต 24 พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์จนถึงประวัติของพระองค์เองรวม เป็นพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ จบแล้วมีคัมภีร์สั้น ๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ 35 เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ
อ้างอิง
แก้- ↑ "ความหมายของพระไตรปิฎก". 84000.org.
- ↑ ปุญญานุภาพ, สุชีพ. “สารบัญ.”, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, เขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร, ฉบับรวมเป็นเล่มเดียวจบ พิมพ์ครั้งที่ 17/2550, น. (21)-(43)
- ↑ "ความหมายของพระไตรปิฎก". 84000.org.