พระสยามเทวาธิราช
พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า "ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช" (暹國顯靈神位敬奉) เรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
พระสยามเทวาธิราช | |
---|---|
เทวรูปจำลองที่จังหวัดเชียงราย | |
วัสดุ | ทองคำ |
ความสูง | 8 นิ้ว (20 เซนติเมตร) |
ความกว้าง | 2 นิ้ว (5.1 เซนติเมตร) |
สร้าง | พ.ศ. 2402-2403 |
ช่วงเวลา/วัฒนธรรม | รัตนโกสินทร์ |
ที่อยู่ปัจจุบัน | พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร |
พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองนี้ เรียกว่า พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองสามมุข ด้านหน้าขององค์พระสยามเทวาธิราชตั้งรูปพระสุรัสวดี หรือพระพราหมี เทพเจ้าแห่งการดนตรีและขับร้อง มุขตะวันออกของพระวิมาน ตั้งรูปพระอิศวรและพระอุมา มุขตะวันตกของพระวิมาน ตั้งรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
เทวรูปนี้ถูกสร้างตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงประมาณ พ.ศ. 2402–2403[1] โดยมีการสักการะในพระราชพิธีส่วนพระองค์ทุกปีในขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติไทย[2][3]
ประวัติ
แก้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการศึกษาประวัติศาสตร์ มีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นหล่อเทวรูปสมมุติขึ้น ถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
"...ตอนมหาอำนาจทางตะวันตกทำการเปิดประตูค้ากับพวกตะวันออก ในระยะเวลาต้น ๆ ศตวรรษที่ 19 ของคริสต์ศักราชนั้น พวกเมืองข้างเคียงไม่รู้ทันเหตุการณ์ภายนอกว่า ทางตะวันตกมีอำนาจปืนเรือพอที่จะเอาชนะได้อย่างง่ายดาย จึงพากันไม่ยอมทำสัญญาด้วย ซ้ำยังขับไล่ ใช้อำนาจจนเกิดเป็นสงครามขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่คนมีแต่มีดจะต้องแพ้ผู้มีปืน แล้วถูกเป็นเมืองขึ้นไปโดยสะดวก ฝ่ายทางเมืองไทยเรานั้นมหาอำนาจตกลงกันให้อังกฤษมาเป็นผู้เปิดประตูทำสัญญาค้าขาย ซึ่งตามที่จริงก็เคยมีไมตรีกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่เมื่อบ้านเมืองมีเหตุการณ์ศึกสงครามเกิดขึ้นชาวต่างประเทศไปมาค้าขายไม่สะดวกได้ ก็จำต้องหยุดการติดต่อกันไปเป็นพัก ๆ การเป็นเช่นนี้แก่ทุกบ้านทุกเมือง ฉะนั้น เมื่อเสร็จศึกกับพม่าในรัชกาลที่ ๑ แล้ว ถึงรัชกาลที่ ๒ ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาจากเมืองมาเก๊า เพื่อขอทำสัญญาค้าขายใน พ.ศ. ๒๓๖๓ โปรดเกล้าฯ ให้รับสัญญาเพราะเรายังต้องการซื้อปืนไฟจากชาวตะวันตกอยู่ ต่อมาอีก ๒ ปี มิสเตอร์ จอน ครอเฟิด (John Crawford) ทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียใน พ.ศ. ๒๓๖๕
ถึงรัชกาลที่ ๓ อังกฤษเกิดรบกันขึ้นกับพม่าเป็นครั้งแรก ครั้นชนะแล้วจึงให้กัปตันเฮนรี่ เบอร์เนย์ (Henry Burney) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ทูตอเมริกัน มิสเตอร์ เอ็ดมอนด์ โรเบิต (Edmond Roberts) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ มิสเตอร์ริดชัน (Ridson) ทูตอังกฤษเข้ามาทำสัญญาขอซื้อช้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ และเซอร์เจมส์ บรู้ค (Sir James Brooke) ผู้เคยเป็นรายา (White Raja) ผู้ครองเกาะซาราวัก (Sarawak) เข้ามาขอทำสัญญาอีกเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๓ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต รวมทูตอังกฤษที่เข้ามาทำสัญญากับเมืองไทยถึง ๔ ครั้ง แต่ก็ได้ทำแต่เรื่อง เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นเรื่องผ่านแดนไทยกับพม่า และสัญญาซื้อขายช้าง ม้า และแลกเปลี่ยนสินค้าบางอย่าง ไม่ได้ทำสัญญากับเมืองไทยโดยตรงอย่างเมืองอื่น ๆ ส่วนทางเมืองไทยก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะมีผู้ใดจะเกะกะทางนี้ได้ บางคนนึกเลยไปว่าเหล็กจะลอยน้ำได้อย่างไร ในเมื่อมีใครมาเล่าว่าทางมหาอำนาจตะวันตกนั้นมีเรือรบที่ทำด้วยเหล็ก ไทยจึงไม่เต็มใจจะเปิดประตูค้ากับผู้ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่รับข้อที่จำเป็นในเวลานั้นเท่านั้น แต่ในที่สุดเราก็ได้พบรายงานของเซอร์เจมส์ บรู๊ค ผู้ซึ่งเข้ามาครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๓ ว่า
‘..พระเจ้าแผ่นดินกำลังเสด็จอยู่บนพระแท่นสวรรคต และพระองค์ที่จะเสวยราชย์ใหม่ก็มีหวังจะพูดกันได้เรียบร้อย ฉะนั้น จึงขอรอการใช้กำลังบังคับไว้ก่อน...’
ตามรายงานนี้เห็นได้ชัดว่า เขาเตรียมจะใช้กำลังกับเราอยู่แล้ว เผอิญให้เกิดมีการสวรรคตและเปลี่ยนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นมาเสวยราชย์ในเวลาที่ทรงทราบเหตุการณ์นอกประเทศดีอยู่แล้ว เพราะทรงมีเวลาศึกษาเพียงพอ ในเวลาที่ผนวชเป็นพระภิกษุถึง ๒๗ ปี พอเสวยราชย์ได้ ๔ ปี เซอร์จอน โบว์ริง (Sir John Bowring) เจ้าเมืองฮ่องกง ก็มีจดหมายส่วนตัวเข้ามากราบทูลว่า คราวนี้ตัวเขาจะเข้ามาเป็นราชทูตแทนพระองค์ควีน วิคตอเรีย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงทูตมาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียเช่นคนก่อน ๆ เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าจะไม่มีเรื่องเดือดร้อนถึงต้องขัดใจกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข้อไขอันนี้ดี จึงเปิดประตูรับในฐานะมิตร และเป็นผลให้เราได้พ้นภัยมาได้แต่ผู้เดียวในทางตะวันออกประเทศนี้
..เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เมืองไทยเรานี้มีเหตุการณ์หวิด ๆ จะต้องเสียอิสรภาพมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นได้เสมอมา ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้น ไว้สักการบูชา แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าดิษฐวรการ (หม่อมเจ้ารัชกาลที่ ๑) นายช่างเอกทรงปั้นรูปเทพพระองค์นั้น เป็นรูปทรงต้นยืนถือพระขรรค์ในพระหัตถ์ขวา ขนาด ๘ นิ้วฟุตงดงามได้สัดส่วนแล้วหล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ ทรงถวายพระนาม "พระสยามเทวาธิราช" แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิมานกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณจนทุกวันนี้ ท่านผู้ใหญ่ชั้นคุณย่าของข้าพเจ้าเล่าว่า ในรัชกาลที่ ๔ ทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะทุกวัน และเป็นที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก บัดนี้เนื่องแต่ทางพระราชสำนักต้องตัดทอนรายจ่ายมากมายมาแต่ในรัชกาลที่ ๗ จึงคงยังมีเครื่องสังเวยถวายแต่เฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ อาทิตย์ละ ๒ ครั้ง และในเวลาปีใหม่ก็มีการบวงสรวงสังเวยเป็นพิธีใหม่ มีละครรำของกรมศิลปากรในเวลาเช้าวันสังเวยนั้น..
..อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังเราท่านได้ประสบมาด้วยตนเอง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นมีจริง เราจงพร้อมใจกันอธิษฐานด้วยกุศลผลบุญที่เราได้ทำมาแล้วด้วยดี ขอให้เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ จงได้ทรงคุ้มครองป้องกันภัย และโปรดประสิทธิ์ประสาทความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ประชาชนชาวสยามทั่วกันเทอญ.."
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะเป็นประจำวัน เครื่องสังเวยที่ถวายเป็นประจำนั้น จะถวายเฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นใน เป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา เครื่องสังเวยประกอบด้วย ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง หมูนึ่งหนึ่งชิ้น พร้อมด้วยน้ำพริกเผา ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ผลไม้ตามฤดูกาลสองอย่าง และน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีสังเวยเทวดา ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเลียนแบบพระสยามเทวาธิราชแต่แปลงเค้าพระพักตร์ให้เหมือนสมเด็จ พระชนกาธิราช เพื่อทรงสักการะ พระบรมรูปองค์นี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้หุ้มปูน ที่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ยากที่จะบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงทั้งหมด และอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานทองสามมุขเหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตราบจนถึงทุกวันนี้
ระเบียงภาพ
แก้-
ภาพพระสยามเทวาธิราชกราบทูลเชิญพระอิศวรอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ เป็นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมชุดพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
-
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ด้านหลัง) แสดงภาพพระสยามเทวาธิราชประทับยืนในท่าปราบปรปักษ์
-
เหรียญดุษฎีมาลา (ด้านหลัง) เป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ห์ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยสวมที่ตรงจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน
-
พระสยามเทวาธิราช ในตราสัญลักษณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
อ้างอิง
แก้- ↑ กิเลน ประลองเชิง (4 November 2010). "พระสยามเทวาธิราช". Thairath. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-21. สืบค้นเมื่อ 20 January 2019.
- ↑ โรม บุนนาค (2 January 2019). "พระสยามเทวาธิราช เทวดาผู้คุ้มครองประเทศไทย! วิกฤติการณ์ผ่านพ้นได้หลายครั้ง!!". Manager Online. สืบค้นเมื่อ 20 January 2019.
- ↑ "พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช". Thai Studies CU. Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University. 29 September 2018. สืบค้นเมื่อ 20 January 2019.