พระศรีสรรเพชญดาญาณ

พระศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นพระประธานแห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระอารามในพระบรมมหาราชวังกรุงศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปยืน สร้างในปี พ.ศ. 2043 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ในวิหาร ถวายพระนามว่า "พระศรีสรรเพชญดาญาณ" ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง[1] (ประมาณ 171 กิโลกรัม)

ภาพจำลองพระศรีสรรเพชญดาญาณ

ประวัติ

แก้
 
พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ (เจดีย์ย่อมุม องค์สีเขียวกลางภาพ)

พระศรีสรรเพชญดาญาณ ถูกสร้างขึ้นในศักราช 862 วอกศก (พ.ศ. 2043)[1] โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้สร้างขึ้นหลังจากการสร้างพระวิหารหลวงในปี พ.ศ. 2042 ครั้นถึงปีต่อมาก็ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (16 เมตร) พระพักตร์ยาว 4 ศอก (2 เมตร) กว้าง 3 ศอก (1.5 เมตร) พระอุระกว้าง 11 ศอก (5.5 เมตร) ใช้ทองสำริดหล่อเป็นแกนในน้ำหนัก 5,800 ชั่ง (3,480 กิโลกรัม) หุ้มทองคำน้ำหนัก 286 ชั่ง (347.776 กิโลกรัม) แล้วถวายพระนามว่า "พระศรีสรรเพชญดาญาณ" [1] โดยทองคำที่ใช้หุ้มองค์พระนั้น ด้านหน้าเป็นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ด้านหลังองค์พระเป็นทองเนื้อหกน้ำสองขา (สมัยนั้นถือว่าทองนพคุณเก้าน้ำหรือทองเนื้อเก้าเป็นทองคำบริสุทธิ์กว่าทองเนื้ออื่นน้ำอื่น) ในขณะที่บาทหลวงตาชาร์ ระบุไว้ในบันทึกว่า เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน กว้างราว 7-8 ฟุต มีความสูงราว 45 ฟุต (13.72 เมตร) ยอดพระเศียรจรดหลังคาพระวิหาร และเป็นพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในวัดพระศรีสรรเพชญ์[2]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ก็โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปเก่าตามหัวเมืองเหนือและกรุงเก่า มาประดิษฐาน ณ พระนครแห่งใหม่ ปรากฏว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ได้รับความเสียหายอย่างหนักมิอาจซ่อมแซมได้ ทรงปรารถนาจะยุบหุ่นแล้วหล่อใหม่ แต่สมเด็จพระสังฆราชห้ามไว้ว่า "ที่จะเอาทองอันเป็นพระพุทธรูปอยู่แล้ว กลับหลอมหล่อใหม่เห็นไม่สมควร"[3] จึงโปรดให้สร้างเจดีย์แบบย่อมุมไม้ 12 สูงเส้นเศษ บรรจุพระศรีสรรเพชญ์[3][4] ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระราชทานนามว่า "พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ" ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วิหารทิศ ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เศียรใหญ่

แก้
 
เศียรใหญ่ (องค์กลาง)

ในปี พ.ศ. 2559 รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้นำเสนอว่า "เศียรใหญ่" ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งระบุว่าพบในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระเศียรขนาดใหญ่ (92.5 เซนติเมตร เฉพาะส่วนของพระเศียรที่เหลืออยู่ ไม่นับรวมส่วนที่เป็นพระเกตุมาลาที่หักหายไป)[5] จึงไม่อาจเป็นเศียรของพระพุทธรูปในศาลารายรอบมหาสถูปได้ เพราะที่ประดิษฐานไม่เพียงพอ และไม่อาจเป็นพระโลกนาถได้[6] เนื่องจากมีการอัญเชิญพุทธรูปองค์ดังกล่าวมายังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในรัชกาลที่ 1 แล้ว[3] ในด้านของพุทธศิลปะพบว่ามีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนกลาง สอดคล้องกับเอกสารที่ระบุว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2043 ประกอบกับการที่เอกสารระบุว่าพระศรีสรรเพชญดาญาณ ได้รับความเสียหายอย่างหนักมิอาจซ่อมแซมได้ ทั้งที่พระพุทธรูปองค์อื่นก็สามารถบูรณะได้ เหตุผลสำคัญคงจะมาจากการที่ไม่พบพระเศียรนั้นเอง ดังนั้น พระเศียรนี้จึงเป็นของพระเศียรพระศรีสรรเพชญดาญาณ[6]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอว่าพุทธลักษณะของ "เศียรใหญ่" ไม่สอดคล้องกับพระพุทธรูปอื่นที่มีบันทึกว่าสร้างในช่วงเดียวกัน และการคำนวณสัดส่วนตามตำราการสร้างพระพุทธรูป ก็ได้ความสูงต่ำกว่าพระโลกนาถ[5] ซึ่งไม่สอดคล้องกับบันทึกว่า "เป็นพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในวัดพระศรีสรรเพชญ์"[2] จึงไม่อาจจะเป็นพระเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ[7] หาก “เศียรใหญ่” ดังกล่าวพบที่วัดพระศรีสรรเพชญจริง น่าจะเป็นเศียรของพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างขึ้น[8]

ข้อสันนิฐานลักษณะเศียรพระศรีสรรเพชญดาญาณ

แก้
 
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อยประธานอภัยสองพระหัตถ์ (สร้าง พ.ศ. 2084)

พิชญา สุ่มจินดา ได้นำเสนอรูปแบบพระเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ ว่าหากมิใช่ "เศียรใหญ่" ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร พระเศียรมีลักษณะอย่างไร โดยเปรียบเทียบจากพระพุทธรูปที่มีบันทึกว่าสร้างขึ้นในสมัยใกล้เคียงกัน แม้ว่าระยะเวลาที่สร้างพระพุทธรูปที่นำมาเปรียบเทียบจะห่างจากเวลาที่สร้างพระศรีสรรเพชญดาญาณ ตั้งแต่ 9 - 41 ปี แต่จะพบว่าลักษณะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ได้แก่[9]

โดยปรากฎพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์องค์หนึ่งที่ระเบียงคดของวัดพระเชตุพนฯ ทรงครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ทั้งสองอยู่ในท่าประทานอภัยพระหัตถ์ขวาเช่นเดียวกัน พระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์ใกล้เคียง กับพระมงคลบพิตร พ.ศ. 2081 และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย พ.ศ. 2084 ดังนั้น ถ้าพระศรีสรรเพชญยังคงสภาพสมบูรณ์ก็อาจมีพระพักตร์และพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปยืนองค์นี้ หรือไม่พระพุทธรูปยืนองค์นี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นรูปจำลองของพระศรีสรรเพชญ[9]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 vajirayana.org - พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
  2. 2.0 2.1 จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชารด์
  3. 3.0 3.1 3.2 vajirayana.org - พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑ / ๙๑-สร้างและฉลองวัดพระเชตุพน
  4. สิริวัฒน์ คำวันสา. พุทธศาสนาในประเทศไทย. 2541
  5. 5.0 5.1 เศียรใหญ่ คือ พระศรีสรรเพชญ ? ปลุกวงการประวัติศาสตร์ให้ตื่นอีกครั้ง I ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.37, สืบค้นเมื่อ 2024-05-02
  6. 6.0 6.1 เชื่อไหม? พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก ! (matichon.co.th)
  7. เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ @พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่ใช่ “พระศรีสรรเพชญ” (silpa-mag.com)
  8. ข้อเสนอใหม่ "เศียรใหญ่" จากวัดพระศรีสรรเพชญ คือ "เศียรพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์" (silpa-mag.com)
  9. 9.0 9.1 พระศรีสรรเพชญน่าจะมีพระพักตร์อย่างไร (ดี) ? - ศิลปวัฒนธรรม (silpa-mag.com)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้