พระยาสัตยานุกูล (นุช มหานีรานนท์)

อำมาตย์เอก พระยาสัตยานุกูล (7 กันยายน พ.ศ. 2401 – 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) มีนามเดิมว่า นุช อดีตผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี ผู้กำกับถือน้ำพิพัฒน์สัตยา กระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล มหานีรานนท์

อำมาตย์เอก
พระยาสัตยานุกูล
(นุช มหานีรานนท์)
พระยาสัตยานุกูล (นุช มหานีรานนท์)
ภาพถ่ายพระยาประสิทธิสงคราม (นุช มหานีรานนท์) ขณะเป็นผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี
ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี
กระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2442 – พ.ศ. 2458
กษัตริย์
ก่อนหน้าพระยาประสิทธิสงคราม (แช่ม แช่มประสิทธิ์)
ถัดไปพระยาสุรินทรฤๅชัย (จันทร์ ตุงคสวัสดิ์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด7 กันยายน พ.ศ. 2401
แขวงบ้านช่างหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์
เสียชีวิต16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 (66 ปี)
แขวงบ้านช่างหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์
คู่สมรสคุณหญิงแปลก สัตยานุกูล
บุพการี
  • หลวงศรีเสนา (โพ มหานีรานนท์) (บิดา)
ญาติขุนปฏิกรบรรณสาร (ผล มหานีรานนท์) (พี่ชาย)
อาชีพข้าราชการกระทรวงมหาดไทย

ประวัติ

แก้

พระยาสัตยานุกูล มีนามเดิมว่า นุช (เอกสารบางแหล่งสะกดว่า นุด)[1] เกิดเมื่อวันอังคาร แรม 14 ค่ำเดือนเก้า ปีมะเมียสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๒๐ ตรงกับวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2401[2] สมัยรัชกาลที่ 4 ที่วังหลังย่านบ้านช่างหล่อ บิดาชื่อหลวงศรีเสนา (โพ) มีพี่ชายหนึ่งคนชื่อขุนปฏิกรบรรณสาร (ผล) เป็นข้าราชการกองบัญชาการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เริ่มเรียนวิชาอักษร ณ นิวาสสถานของตนเอง ต่อมาได้เล่าเรียนกับพระอาจารย์ และบวชอยู่ที่วัดอมรินทรารามวรวิหารจนกระทั่งอายุ 12 ปีบริบูรณ์แล้วจึงเริ่มเรียนฝึกหัดวิชาปกครอง[2]

เมื่อ พ.ศ. 2413 เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทยจนกระทั่งครบอายุราชการ 2 ปี เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกกรมมหาดไทยในขณะนั้นจึงแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นชำนิอักษร (นุช) เมื่อ พ.ศ. 2415[2]

เมื่อ พ.ศ. 2432 เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น นายแกว่นคชสาร (นุช) มีตำแหน่งราชการเป็นนายเวรกรมมหาดไทย[2]

เมื่อ พ.ศ. 2436 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงจินดารักษ์ (นุช) กระทรวงมหาดไทย[2]

เมื่อ พ.ศ. 2437 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ย้ายราชการหลวงจินดารักษ์ (นุช) ให้ไปเป็นข้าหลวงมณฑลราชบุรี รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี[2]

เมื่อ พ.ศ. 2441 ได้เป็นผู้รักษาราชการเมืองราชบุรี และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระจินดารักษ์ (นุช)[2]

เมื่อ พ.ศ. 2442 ได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ถือศักดินา 3000[3] มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรีคนที่ 12[4] ต่อจากพระยาประสิทธิสงคราม (แช่ม) พระยาศรีสหเทพจึงได้นำพระยาประสิทธิสงคราม (นุช) กราบบังคมทูลลาไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เมื่อ พ.ศ. 2443 พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) เดินทางไปตรวจราชการที่เมืองสังขละบุรีพร้อมกับพระยาวรเดชศักดาวุธ (แย้ม ณ นคร) ผู้ตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม โดยมีพระศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย เสตะพันธ์)[5] ผู้ว่าราชการเมืองสังขละบุรีให้การต้อนรับโดยจัดให้มีอาหารคาวหวานของชาวกะเหรี่ยง มีขนมชนิดหนึ่งคือ หมี่ญสิ เป็นที่ติดใจของพระยาทั้งสอง แต่ชนมดังกล่าวไม่มีชื่อภาษาไทย พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) กับพระยาวรเดชศักดาวุธ (แย้ม ณ นคร) จึงตั้งชื่อขนมหมี่ญสิเป็นชื่อภาษาไทยว่า ทองเยอะ โดยใช้มูลเหตุว่าในพื้นที่เมืองสังขละบุรีมีแร่ทองคำมาก และบรรดาศักดิ์ พระศรีสุวรรณคีรี ก็หมายถึง ทอง จึงตั้งชื่อขนมให้สอดคล้องกับชื่อขนมมงคลของไทยที่มักขึ้นชื่อด้วยทอง แต่ด้วยสำเนียงชาวกะเหรี่ยงเรียกผิดเพี้ยน ชื่อ ขนมทองเยอะ จึงกลายเป็น ขนมทองโยะ ถึงทุกวันนี้[6]

ใน สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๗ ยังมีบันทึกว่า พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) เคยกราบทูลทราบฝ่าพระบาทเรื่อง พระเจดีย์สามองค์ แก่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเกี่ยวกับรูปทรงสัณฐานพระเจดีย์ว่าเป็นแต่กองหินยิ่งกว่าเป็นพระเจดีย์ และที่สร้างพระเจดีย์สามองค์นั้นก็สร้างในแดนไทยห่างเข้ามาจากสันเขาที่ต่อแดนพม่า[7]

เมื่อ พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ครั้นเสด็จออกจากบ้านโป่ง มณฑลราชบุรีไปยังเมืองกาญจนบุรี ระหว่างทรงถูกฝนกลางทาง จึงเสด็จประทับที่พลับพลาท่าเรือพระแท่น พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) จึงนำข่าวลงมากราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบว่าแม่น้ำแม่กลองกำลังขึ้นด้วยเหตุฝนตกข้างเหนือน้ำ และถวายรายงานระหว่างเสด็จประพาสหัวเมืองกาญจนบุรีปรากฏใน พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ 7 กันยายน ร.ศ. 128[8]

ในระหว่างที่พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ว่าราชการเมืองกาญจนบุรีอยู่นั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงมีรับสั่งให้พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ออกสืบหาพระเจดีย์ยุทธหัตถีสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังจากทรงชัยชนะเหนือข้าศึกในสงครามยุทธหัตถี เมื่อ พ.ศ. 2135 สมัยอยุธยา ซึ่งมีบันทึกไว้ในพงศาวดารเรื่อง ไทยรบพม่า ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะยุทธหัตถีแล้วโปรดให้ก่อพระเจดียสถานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ หนองสาหร่าย ตำบลตระพังกรุ (อำเภอพนมทวน) เมืองกาญจนบุรีบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่าดอนพระเจดีย์[9] ซึ่งพงศาวดารเรื่อง ไทยรบพม่า บันทึกไว้ว่า:–

สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์ ๑ [...] พระเจดีย์ยังปรากฏอยู่ วัดฐานได้ด้านละ ๑๐ วา สูงตลอดยอดเดิมเห็นจะยาว ๒๐ วา ราษฎรเรียกที่ตำบลนั้นว่าดอนพระเจดีย์ อยู่ห่างหนองสาหร่ายไปประมาณราว ๑๐๐ เส้น ยังปรากฏจนทุกวันนี้[10]

ครั้งนั้นพระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ออกสำรวจอยู่นานแต่ไม่พบพระเจดีย์ดังกล่าวจึงบอกรายงานกราบทูลทราบฝ่าพระบาทสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า บ้านตระพังกรุนั้นมีมาแต่โบราณ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในอยู่หลายบ่อ สมัยโบราณเรียกว่า ตระพังกรุ[11] แต่ชาวบ้านว่าไม่มีเห็นพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้าง พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) เที่ยวตรวจดูเองก็พบแต่พระเจดีย์องค์เล็ก ๆ ที่ชาวบ้านนิยมสร้างกันตามวัด ไม่มีพระเจดีย์แปลกตาซึ่งเห็นควรว่าจะเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง เมื่อสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทราบก็ทรงจนพระทัยมิรู้จะค้นหาอย่างไรต่อไปจนสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5[12]

เมื่อ พ.ศ. 2458 พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ว่าราชการเมืองกาญจนบุรีล่วงมาถึง 18 ปี[2] จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากตำแหน่งราชการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) เป็นผู้มีบำเหน็จความชอบ และได้รับราชการมาช้านาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสัตยานุกูล (นุช) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2461[13] มีตำแหน่งราชการเป็นผู้กำกับถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา กระทรวงมหาดไทย และพระราชทานเบี้ยหวัดตลอดอายุ

นอกจากพระยาสัตยานุกูล (นุช) ยังรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยแล้วยังได้อาสาช่วยงานนอกราชการอยู่ ณ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร (ต่อมาคือ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี) สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมอบหมายให้พระยาสัตยานุกูล (นุช) เป็นผู้ตรวจทำบัญชีหนังสือจดหมายเหตุ[2]

เมื่อ พ.ศ. 2463 ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยร่วมบำเพ็ญการกุศลทักษินานุปทานอุทิศกัลปนาอานิสงส์ในงานปลงศพ พระยาวุรพุฒิโถไคย (ชุ่ม สุวรรณสุภา) พระยาสัตยานุกูล (นุช) จึงได้ประสานงานนำความแจ้งต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลือก ตำรากระบวรเสด็จ แลกระบวรแห่แต่โบราณ ฉบับรัชกาลที่ 1 ออกพิมพ์แจกบำเพ็ญกุศลในงานดังกล่าว[14]

จนกระทั่งงานบัญชีจดหมายเหตุของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครสำเร็จลุล่วงแล้ว พระยาสัตยานุกูล (นุช) จึงพักราชการเนื่องด้วยทุพพลภาพตามอายุ ต่อมาจึงล้มป่วยด้วยเหตุทุพพลภาพจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 สิริรวมอายุได้ 66 ปี คุณหญิงแปลก สัตยานุกูล ภริยาจึงได้บำเพ็ญกุศลสนองคุณพระยาสัตยานุกูล (นุช) ที่วัดอมรินทรารามวรวิหารเมื่อปีกุน เดือนมีนาคม พ.ศ. 2467 (นับปีแบบเก่าคือ พ.ศ. 2466)[2]

ครอบครัว

แก้

พระยาสัตยานุกูล (นุช) สมรสกับคุณหญิงแปลก สัตยานุกูล (สกุลเดิม: โรจนกุล) นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 6 คน ดังนี้

  1. ขุนสมานสมุทกรรม (บุนย์หนุน มหานีรานนท์)
  2. โน้ม มหานีรานนท์
  3. เนิน มหานีรานนท์
  4. แนบ มหานีรานนท์
  5. เนียน มหานีรานนท์
  6. สำราญ มหานีรานนท์

ยศและบรรดาศักดิ์

แก้

บรรดาศักดิ์

แก้
  • พ.ศ. 2415 หมื่นชำนิอักษร (นุช)
  • พ.ศ. 2432 นายแกว่นคชสาร (นุช)
  • พ.ศ. 2436 หลวงจินดารักษ์ (นุช) ถือศักดินา 800[15]
  • พ.ศ. 2441 พระจินดารักษ์ (นุช)
  • พ.ศ. 2442 พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ถือศักดินา 3000
  • พ.ศ. 2461 พระยาสัตยานุกูล (นุช)

ยศพลเรือน

แก้
  • พ.ศ. 2454 อำมาตย์เอก[16]

ตำแหน่งราชการ

แก้
  • พ.ศ. 2413 เสมียนกรมมหาดไทย
  • พ.ศ. 2432 นายเวรกรมมหาดไทย
  • พ.ศ. 2437 ข้าหลวงคลัง มณฑลราชบุรี รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี
  • พ.ศ. 2441 ผู้รักษาราชการเมืองราชบุรี[17]
  • พ.ศ. 2442 ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี
  • พ.ศ. 2460 ผู้กำกับถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา กระทรวงมหาดไทย และผู้ตรวจทำบัญชีหนังสือจดหมายเหตุ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร

ต้นสกุลมหานีรานนท์

แก้

มหานีรานนท์ (อักษรโรมัน: Mahanirananda) เป็นนามสกุลพระราชทานรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 1,062 ใน สมุดทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน สำหรับผู้สืบสกุลจากขุนเณร ราชินิกุลบางช้าง[18][19]: 204 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการตั้งชื่อสกุลโดยนำชื่อ ขุนเณร ทรงแปลงคำว่า "ขุน" เป็นคำว่า "มหา" มีความหมายว่า เป็นใหญ่ และทรงแปลงคำว่า "เณร" แผลงเป็นคำว่า "นีร" แล้วทรงเติมคำว่า "นนท์" ต่อท้ายนามสกุล ฉะนั้นนามสกุล มหานีรานนท์ จึงมีความหมายว่า ปลาบปลื้มอยู่ในขุนเณร[19]: 29–30  แล้วทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสกุลแก่พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457[20] และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2457 (ปีปฏิทินแบบเก่าคือ พ.ศ. 2456) ตาม ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๑๓[21] โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรในขณะนั้นรับพระบรมราชโองการ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. กรมศิลปากร. (2468). “ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง,” สมุดราชบุรี พ.ศ. ๒๔๖๘. พระยาคทาธรบดีนำมาถวายที่โฮเต็ลหัวหิน เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. หน้า 43.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 ภาณุพันธ์วงศ์วรเดช, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2466). “ประวัติพระยาสัตยานุกูล,” เรื่องไทรโยคเป็นอย่างไร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาสัตยานุกูล เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๖๖. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 4–12.
  3. พระราชทานสัญญาบัตร. (2442, 16 กรกฎาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 16. หน้า 201.
  4. จำรัส มังคลารัตน์ และคณะ, สมาคมชาวกาญจนบุรี. (2516). เจดีย์ยุทธหัตถีมีมาอย่างไร?. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. หน้า 162.
  5. กรมศิลปากร. (2526). อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย: อักษร ฆ ง จ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 339. ISBN 974-792-228-2
  6. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “นางข้าหลวงชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองทองผาภูมิ,” ศิลปวัฒนธรรม, 44(3)(มกราคม 2566): 123–125. อ้างใน มหานครข่าว. (2562). ทองโยะ ขนมกะเหรี่ยง.
  7. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2504). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๗. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 285.
  8. กรมศิลปากร. (2504). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมอาบ ต.จ.ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๔. พระนคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย. หน้า 12–18.
  9. วรวุธ สุวรรณฤทธิ์. (2543). ประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 63. ISBN 978-974-2-77729-6
  10. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2506). “พงศาวดารเรื่อง ไทยรบพม่า (สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕),” ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๕ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 158.
  11. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2493). พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓. พระนคร: กรมศิลปากร. หน้า 168.
  12. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2511). นิทานโบราณคดี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางเนียร ลพานุกรม ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. หน้า 228–229.
  13. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์. (2461, 15 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 35. หน้า 2,289.
  14. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2463). ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๐ เรื่อง ตำรากระบวรเสด็จ ฯ แลกระบวรแห่แต่โบราณ. ในงานปลงศพพระยาวุรพุฒิโถไคย (ชุ่ม สุวรรณสุภา) เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า คำนำ.
  15. พระราชทานสัญญาบัตร. (2436, 22 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 10. หน้า 314.
  16. ประกาศพระราชทานยศแก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย. (2454, 20 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 38. หน้า 974.
  17. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย. (2441, 28 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 15. หน้า 298.
  18. เทพ สุนทรศารทูล. (2540). พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง. กรุงเทพฯ: พระนารายณ์. หน้า 155. ISBN 978-974-8-23975-0
    • เทพ สุนทรศาลทูล. (2511). "ราชสกุลบางช้าง," งานฉลองวันพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. พระนคร: โรงพิมพ์ประยูรวงศ์. หน้า 108
  19. 19.0 19.1 เทพ สุนทรศาลทูล. (2534). มงคลนามตามตําราโหราศาสตร์. กรุงเทพฯ: พระนารายณ์. หน้า 29–30, 204. ISBN 978-974-5-75190-3
  20. นามสกุลพระราชทาน หมวดอักษร ม ลำดับที่ ๑๐๖๒. พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2567.
  21. ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๑๓. (2456, 22 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 30. หน้า 3,009.
  22. 22.0 22.1 กระทรวงมหาดไทย. (2449). ทำเนียบข้าราชการหัวเมือง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 10.
  23. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบัน. (2456, 15 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 30. หน้า 2,677.