พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย

พระหยก หรือ พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย เป็นพระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก[1] สร้างจากก้อนหยกเขียวบริสุทธิ์ น้ำหนัก 32 ตัน ซึ่งขุดพบที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาหลวงพ่อหยก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เขตพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร

พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย
ชื่อเต็มพระพุทธมงคลธรรมศรีไทย
ชื่อสามัญพระหยก
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะศิลปะรัตนโกสินทร์
ความกว้าง1.66 เมตร
ความสูง2.20 เมตร
วัสดุหินหยกสีเขียวบริสุทธิ์
สถานที่ประดิษฐานศาลาหลวงพ่อหยก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
ความสำคัญพระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้พระนามว่า พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย

พุทธลักษณะ

แก้

พระหยก เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย มีส่วนสูง 2.20 เมตร พระเพลากว้าง 1.66 เมตร[2]

ประวัติการสร้าง

แก้

สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร)ปรารภว่า พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นของวิเศษนับว่าเป็นแก้วรัตนมงคลของโลก เมื่อประพฤติตามแล้วก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างเป็นระเบียบและมีความสุข เมื่อถึงขั้นอริยมรรค เขาทั้งหลายก็จะพ้นจากทุกข์ถึงซึ่งพระนิพพานในที่สุด หลวงพ่อประสงค์ให้พระพุทธศาสนานี้มีความยั่งยืนให้ยาวนานที่สุด มิใช่เพียงพัน ๆ ปี แต่ขอให้เป็นแสน ล้านปี การสร้างพระพุทธรูปที่เป็นองค์แทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เป็นรูปธรรมแต่ก็มีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นสื่อที่จะนำบุคคลผู้มีความเชื่อ ความเลื่อมใสให้เข้าไปถึงนามธรรม พระพุทธรูปจะต้องมีค่าสูงและน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เพื่อจะเป็นศูนย์รวมของคนทั่วโลกต่อไปในอนาคต โดยคิดถึงวัตถุที่มีความคงทนและมีค่าสูงให้สมกับพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นของดีของวิเศษ นับว่าเป็นแก้วรัตนมงคลของโลก วัตถุเช่นทองเหลือง ทองแดง อิฐ ปูน ทราย วัตถุเหล่านี้จะเสื่อมสลายไปตามอายุของมันในเวลาอันไม่นานนัก ท่านจึงมีความคิดว่า หยกเขียว เป็นวัตถุอันหนึ่งที่มีอายุยิ่งยืนนานเท่าไหร่ยิ่งมีค่าสูงและวัตถุนั้นมีอายุนานนับแสนนับล้าน ๆ ปีไม่มีการเสื่อมสภาพ เพื่อให้เป็นสิ่งที่สูงค่ายิ่งขึ้นก็ต้องเป็นหยกเขียวบริสุทธิ์ที่มีก้อนใหญ่ที่สุดในโลก[3]

 
ก้อนหยกเขียวถูกขนย้ายมาเพื่อตัดที่โรงงานในจังหวัดสระบุรี

หลวงพ่อได้ใช้ความพยายามแสวงหาหินหยกอย่างเต็มที่ มาในภายหลังหลวงพ่อได้ทราบข่าวว่าที่ประเทศแคนนาดามีบริษัททำเหมืองหยก ท่านจึงได้เดินทางไปยังประเทศแคนาดาในปี พ.ศ. 2530 เพื่อไปสืบหาหยกเขียวมาแกะสลักให้ได้ แต่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วก็ยังไม่พบหยกตามต้องการ ท่านจึงเข้าพบเจ้าของบริษัททำเหมืองหยก ขอสั่งจองก้อนหยกขนาดใหญ่ไว้ หากขุดได้ท่านจะซื้อกลับมาเมืองไทย เวลาก็ผ่านไปเรื่อย ๆ ก็ยังไม่มีข่าวดีสักทีเพราะแม้ทางเหมืองจะขุดพบหยกเขียว และนำขึ้นมาได้ก็ยังไม่ได้ขนาดตามที่หลวงพ่อต้องการ

กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ช่วงเวลา 03.00 น. ในขณะที่หลวงพ่อนั่งสมาธิก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็นหยกสีเขียวบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากท่านได้นิมิตแล้วก็เกิดความเชื่อมั่นว่าก้อนหยกที่ต้องการนั้นใกล้จะเป็นจริงแล้ว ท่านจึงเดินทางไปยังประเทศแคนาดาอีกครั้ง[4]

การค้นพบและการขนย้าย

แก้
 
ช่างชาวอิตาลีทำการแกะสลักพระพุทธมงคลธรรมศรีไทย, กรุงเทพ, พ.ศ. 2536

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งตรงกับวันที่หลวงพ่อท่านนั่งสมาธิมีนิมิตเห็นหยกเขียวพอดี ได้มีการขุดพบก้อนหยกสีเขียวบริสุทธิ์ น้ำหนัก 32 ตัน ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดพบมา ขุดค้นพบที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งสถานที่พบหยกก้อนนี้ไม่ใช่ที่เหมืองหยกแต่เป็นเหมืองทองคำของ นายจอห์น สกัลเลอร์ การขุดพบหินหยกครั้งนี้เป็นการพบโดยไม่คาดฝันมาก่อน นายจอห์นเล่าว่าวันนั้นขณะกำลังคุมงานขุดหาแร่ทองคำตามปกติ จู่ ๆ ก็เกิดความต้องการให้คนงานขุดเจาะลงไปยังที่แห่งหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลและไม่สามารถอธิบายได้ว่าเพราอะไรจึงอยากให้ขุดบริเวณนั้นขึ้นมา ซึ่งเมื่อคนงานเริ่มขุดเจาะผิวดินและหินก็พบว่าตรงบริเวณนั้นมีสายแร่ทองคำมากพอสมควร จึงให้ขุดต่อไปอีก เมื่อขุดต่อไปสายแร่ทองคำก็หายไป นายจอห์นก็จะบอกให้หยุดขุดเพียงเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไรจึงพูดไม่ออกและน่าแปลกที่คนงานซึ่งกำลังขุดก็ไม่ทักท้วง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แร่ทองคำขึ้นมาเลย คล้ายกับมีพลังอำนาจจากอะไรบางอย่างบังคับให้ขุดต่อไป จนในที่สุดได้ขุดพบก้อนหยกสีเขียวขนาดมหึมาอยู่ภายในหลุมลึก ไร้รอยตำหนิ เพียงก้อนเดียวที่มาผุดในเหมืองทองคำ

นายจอห์นและนักธรณีวิทยาผู้ร่วมทีมขุด สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดหยกก้อนนี้คือยอดเขาคิงส์เม้าท์เท่น ซึ่งไกลจากที่นั่นประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเคลื่อนไหลโดยประมาณ 8,000 - 10,000 ปี กว่าจะมาปรากฏ ณ ที่ขุดพบ หลังจากขุดพบก้อนหยกก็ต้องใช้เวลาถึง 7 วัน กว่าจะนำขึ้นจากดินได้โดยไม่มีส่วนใดบุบสลาย ก้อนหยกได้ถูกขนส่งทางเรือเพื่อนำมาที่ประเทศไทย เดินทางมาถึงท่าเรือคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยเรือชื่อ Luanhe จากนั้นได้ขนส่งต่อมาถึงวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535[5]

การแกะสลักหยกเป็นองค์พระปฏิมากร

แก้

เนี่องจากก้อนหยกขนาดใหญ่ที่ได้มานั้นมีมูลค่ามากและเป็นสิ่งหายาก มีอยู่ก้อนเดียวเท่านั้น จำเป็นต้องหาช่างฝีมือดีมาแกะสลัก ทั้งนี้หลวงพ่อได้รับการแนะนำว่าช่างแกะสลักฝีมือเยี่ยมที่สุดในโลกมีอยู่ที่ประเทศอิตาลีเท่านั้น หลวงพ่อจึงตัดสินใจเดินทางไปเมืองคาร์รารา แคว้นทัสกานี ประเทศอิตาลี เพื่อไปติดต่อช่างแกะสลักนายหนึ่งชื่อว่า เปาโล เวี้ยกกี้ โดยไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า ทราบแต่เพียงว่าช่างคนนี้เป็นอาจารย์สอนในมหาลัยด้วย แต่เมื่อคณะของท่านเดินทางไปถึงก็ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยปิดและไม่สามารถติดต่อช่างเปาโลได้ ทำให้หลวงพ่อผิดหวังอย่างยิ่งจึงต้องเดินทางกลับประเทศไทย แต่แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น เพราะก่อนที่จะเดินทางในวันรุ่งขึ้น คณะของหลวงพ่อได้พากันไปซื้อรองเท้าที่ร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งบังเอิญอย่างเหลือเชื่อที่ช่างเปาโลก็เข้าไปซื้อรองเท้าในร้านเดียวกัน จึงได้เจรจารายละเอียดและนัดหมายในเรื่องการแกะสลักพระพุทธรูปหยกเขียว หลังจากนั้นช่างเปาโลและช่างอีกคนหนึ่งชื่อ ซีซี่ ก็เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อทำการแกะสลักหยกเขียวเป็นองค์พระพุทธรูป ซึ่งมีการเปิดเผยภายหลังจากปากของช่างเปาโลว่า เขารู้สึกประหลาดใจมากในการมาแกะสลักพระพุทธรูปหยกครั้งนี้ เพราะขณะที่เขากำลังแกะสลักนั้น มันเหมือนกับมีแม่เหล็กมาดูดที่มือเขาตลอดเวลา และตามความรู้สึกของเขานั้นเหมือนกับพระพุทธเจ้า เสด็จมาคอยให้เห็นอยู่ตรงหน้าและเวลาฝันก็จะฝันเห็นพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยครั้ง[6]

หยกเขียวก้อนใหญ่ได้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งนำมาแกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูป ส่วนที่สองนำมาแกะสลักเป็นเจ้าแม่กวนอิม มูลค่าก้อนหยกและค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 29,528,200 บาท[7] ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาหลวงพ่อหยก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เขตพระขโนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร

อ้างอิง

แก้
  1. Multiple sources:
    • "ไหว้พระหยก กราบเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ วัดธรรมมงคล". Sanook. 1 August 2011. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
    • วัชรประดิษฐ์, อ.ราม. "หยก กับ พระพุทธรูป". สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
    • "วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์วิหาร (หลวงพ่อวิริยังค์) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร". Tourwatthai. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  2. "เยือนวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์ - วัดธรรมมงคล ถนนสุขุมวิท 101". Khaosod News. 28 December 2020. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  3. "พิธีเจริญพระพุทธมนต์(พิเศษ) ณ ศาลาพุทธมงคลธรรมศรีไทย". 26 February 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-24. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  4. คณะศิษย์ 2009, p. 265.
  5. Multiple sources:
  6. "วัดธรรมมงคล หลวงพ่อวิริยังค์ พระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น". Faiththaistory. 22 July 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 November 2020. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  7. Multiple sources:

เชิงถรรถ

แก้
  • คณะศิษย์, บ.ก. (2009). อัตชีวประวัติ พระเทพเจติยาจารย์. Kyodo Nation Printing Service Co.,Ltd.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้