หมู่พระวิมาน (พระราชวังบวรสถานมงคล)
หมู่พระวิมาน เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล [note 1] สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสมเด็จพระราชอนุชาร่วมพระชนกพระชนนีกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หมู่พระวิมานเป็นหมู่พระที่นั่งหลายองค์ประกอบกัน และมีการซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบัน เป็นอาคารหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใช้เป็นสถานที่ที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ปัจจุบัน หมู่พระวิมาน ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด คงเหลือไว้แต่เพียงพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ
หมู่พระวิมาน | |
---|---|
พระราชมณเฑียร | |
พระที่นั่งทักษิณาภิมุข (บน) และพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข (ล่าง) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 | |
ประเภท | หมู่พระที่นั่ง |
ที่ตั้ง | แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
สร้างเมื่อ | พ.ศ. 2325 |
สร้างโดย | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท |
การใช้งานดั้งเดิม | สถานที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล |
สถานะ | ยังมีอยู่ |
สถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมไทย |
ผู้ดูแล | กรมศิลปากร |
ขึ้นเมื่อ | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | พระราชวังบวรสถานมงคล |
เลขอ้างอิง | 0000015 |
ประวัติ
แก้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ ในช่วงแรกนั้นพระราชมณเฑียรนั้นมีลักษณะและตั้งอยู่ที่ไหนนั้น ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด เพียงแต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตำหนักเจ้าพิกุลทอง[1] ในปี พ.ศ. 2332 จึงได้สร้างเป็นพระวิมาน 3 หลังเรียงต่อกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าทำตามคติที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ว่า การสร้างที่ประทับของพระราชาธิบดีนั้น ควรมีพระมณเฑียร 3 หลัง ใช้เป็นที่เสด็จประทับในฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว ฤดูกาลละ 1 หลัง แต่ระยะหลังได้ลดส่วนลงมาเป็นการสร้างเป็นเพียงหมู่พระวิมานเดียวที่ประกอบด้วยพระวิมาน 3 หลังต่อกัน[2]
หมู่พระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ นั้น ประกอบด้วย พระวิมาน เรียงต่อกัน 3 หลัง โดยมีชาลา ซึ่งหมายถึง ชานเรือนหรือพื้นภายนอกเรือน[3] คั่นอยู่ระหว่างพระวิมาน พระวิมานทั้ง 3 หลังนี้เป็นตึก 2 ชั้น มีนามว่า
- พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระวิมานหลังใต้
- พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง
- พระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์ เป็นพระวิมานหลังเหนือ ต่อมา ได้เปลี่ยนนามเป็น พระที่นั่งพรหมเมศธาดา เมื่อสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เพื่อให้สอดคล้องกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่ทรงสร้างขึ้นใหม่
ต่อจากพระวิมานทั้ง 3 หลังนั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิมานมีการสร้างพระที่นั่งชั้นเดียวขวางตลอดแนวพระวิมาน ประกอบด้วย พระที่นั่งมุข 4 องค์ พระที่นั่งมุขด้านหลังต่อออกมาจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ใช้เป็นท้องพระโรงหลัง และพระที่นั่งมุขด้านหน้าที่ต่อจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ มีนามว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ซึ่งในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น ตั้งพระบุษบกมาลาเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกแขกเมือง
เมื่อมีการซ่อมแซมพระราชมณเฑียรเมื่อครั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ทรงให้เรียกพระที่นั่งมุขทั้ง 4 องค์ว่า[4]
- พระที่นั่งอุตราภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
- พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้
- พระที่นั่งบูรพาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
- พระที่นั่งทักษิณาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ดัดแปลงพระที่นั่งมุขด้านหน้าให้เป็นมุขกระสัน แล้วขนานนามว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร ส่วนมุขด้านหลังนั้นให้ต่อเพิ่มเติมแล้วขนานนามว่า พระที่นั่งปฤษฏางค์ภิมุข นอกจากนี้ พระองค์ยังสร้าง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อจากมุขเดิมของพระวิมานด้วย[5]
พระที่นั่งที่สำคัญ
แก้พระที่นั่งวสันตพิมาน
แก้พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น 1 ใน 3 หลังของหมู่พระวิมาน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พระบรรทมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในทำนองว่าใช้ประทับในฤดูฝน[6] โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเคยเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ หลังจากการปรับปรุงในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ก็มิได้เสด็จเข้ามาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จมาประทับในพระที่นั่งองค์นี้ชั่วระยะหนึ่ง โดยมีการตั้งพระแท่นแขวนเศวตฉัตร ดังเช่นห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง[7] หลังจากนั้น พระองค์จึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น[8]
ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ ในส่วนชั้นล่างนั้น จัดแสดงเครื่องถ้วยต่าง ๆ[9] ส่วนชั้นบนแสดงงาช้าง จากช้างต้นและช้างสำคัญ รวมทั้ง งานศิลป์ที่สร้างขึ้นจากงาช้างด้วย[10]
พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ
แก้พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง 1 ใน 3 หลังของหมู่พระวิมาน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรทมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกันกับพระที่นั่งวสันตพิมาน แต่สร้างในทำนองเพื่อใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว[6] สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ใช้เป็นที่พระบรรทมและเสด็จทิวงคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้[11] พระที่นั่งองค์นี้ได้รับการซ่อมแซมในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งของปราสาททองสำหรับประดิษฐานพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ ทั้ง 3 พระองค์ โดยสร้างเป็นปราสาทยาว 3 ห้อง ห้องกลางยกพื้นสูงกว่าอีกสองห้อง เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อีกสองห้องเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ดังนั้น พระที่นั่งองค์นี้จึงมีความสำคัญมากกว่าพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ในหมู่พระราชมณเฑียร[8] หลังจากนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเชิญพระอัฐิขแงกรมพระราชวังบวรฯ ไปไว้ที่วิหารพระธาตุ ภายในพระบรมมหาราชวัง[7]
ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องทองต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องประดับ เครื่องทองที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในศาสนพิธี หรือประกอบพิธีกรรมความเชื่ออื่น ๆ รวมทั้ง จัดแสดงบุษบกประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าในรัชกาลที่ 1-3 และเครื่องสูงสำหรับวังหน้าอันเป็นของที่ตั้งอยู่เดิมภายในพระที่นั่ง[12]
พระที่นั่งพรหมเมศธาดา
แก้พระที่นั่งพรหมเมศธาดา เป็นพระวิมานหลังเหนือในหมู่พระวิมาน เมื่อแรกสร้างในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น มีนามว่า "พระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์" โดยมีการสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะมีนามอื่นมาก่อน ในทำนองความว่าใช้เป็นที่ประทับในฤดูร้อน แต่อาจมีเหตุทำให้ต้องเปลี่ยนนามพระที่นั่งใหม่[6] ภายหลังการซ่อมแซมพระราชมณเฑียรในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ทรงเปลี่ยนสร้อยพระที่นั่งใหม่ว่า "พระที่นั่งพรหมเมศธาดา" เพื่อให้ชื่อสอดคล้องกับ "พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย" ที่พระองค์โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ด้วย พระวิมานหลังนี้เคยใช้เป็นหอพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท แต่ภายหลังจากการย้ายพระอัฐิไปประดิษฐานที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศแล้ว ก็ไม่มีปรากฏว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใดเสด็จมาประทับ ณ พระวิมานองค์นี้ ภายหลังจึงใช้เป็นที่เก็บของตลอดมา[5]
ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ใช้จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ โดยชั้นล่างจัดแสดงเครื่องแต่งกายของเจ้านายและผ้าโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบัน[13] ส่วนชั้นบนนั้นจัดแสดงเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา เช่น พัดพระราชลัญจกร เครื่องบริขารสงฆ์ เป็นต้น[14]
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
แก้พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์หมู่พระวิมาน พร้อมทั้งสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง เนื่องจากพระองค์เสด็จลงมาประทับ ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข ซึ่งตั้งอยู่ที่มุขหน้าของพระวิมาน และโปรดฯ ให้นำพระที่นั่งบุษบกมาลาซึ่งตั้งอยู่ในมุขเดิมมาตั้งไว้ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ด้วย พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยสร้างโดยถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง แต่มีขนาดที่เล็กลงและไม่ทำซุ้มพระแกลและพระทวาร ส่วนการใช้สอยพระที่นั่งนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย คือ ใช้เป็นที่เสด็จออกแขกเมือง และบำเพ็ญพระราชกุศล นอกจากนี้ พระที่นั่งองค์นี้ยังใช้เป็นที่ตั้งประกอบพิธีอุปราชาภิเษกและใช้ตั้งพระศพของกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างของการใช้สอยพระที่นั่งระหว่างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[5][15]
ปัจจุบัน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษและยังคงเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบุษบกมาลา พระราชบัลลังก์ที่ประทับของกรมพระราชวังบวรฯ อยู่เช่นเดิม[16]
เชิงอรรถ
แก้- ↑ พระราชวังบวรสถานมงคล เรียกว่า หมู่พระวิมาน, พระบรมมหาราชวัง เรียกว่า หมู่พระมหามณเฑียร
อ้างอิง
แก้- ↑ สุนิสา มั่นคง, หน้า 37
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 141
- ↑ พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ สุนิสา มั่นคง, หน้า 59
- ↑ 5.0 5.1 5.2 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 147
- ↑ 6.0 6.1 6.2 จุลลดา ภักดีภูมินทร์, ที่ลงพระบังคน เก็บถาวร 2005-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2478, ปีที่ 48, ประจำวันที่ 16 เมษายน 2545
- ↑ 7.0 7.1 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 161
- ↑ 8.0 8.1 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 146
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องถ้วย
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : งาช้าง
- ↑ สุนิสา มั่นคง, หน้า 52
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องทอง
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องแต่งกายและผ้าโบราณ
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องใช้เนื่องในพระพุทธศาสนา
- ↑ สุนิสา มั่นคง, หน้า 111
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
หนังสือ
แก้- แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
- สุนิสา มั่นคง, วังหน้า รัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน, 2543, ISBN 974-322-030-5