ผาด ตุงคะสมิต (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2527) เป็นอดีตนายทหารม้าและอดีตนายตำรวจรถถัง ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490[1]

ผาด ตุงคะสมิต
กรรมการบริหารกลางพรรคเสรีมนังคศิลา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด16 กรกฎาคม พ.ศ. 2452
ไทย ประเทศไทย
เสียชีวิต3 ตุลาคม พ.ศ. 2527 (75 ปี)[1]
ศาสนาพุทธ[1]
ศิษย์เก่าโรงเรียนนายทหารฝึกหัดราชการทหารม้า[1]
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[1]
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
สังกัดกรมตำรวจ
ยศ พลตำรวจจัตวา (ก่อนถูกถอดยศ)[1]
หน่วยตำรวจรถถัง[1]
บังคับบัญชารถรบ[1]
พลร่ม[1]
ผ่านศึกการบุกครองไทยของญี่ปุ่น[1]
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490[1]
กบฏเสนาธิการ[1]
กบฏวังหลวง[1]
กบฏแมนฮัตตัน[1]

ประวัติ

แก้

ผาด ตุงคะสมิต เกิดในครอบครัวชาวนา และเคยเป็นศิษย์วัด ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขารับราชการเป็นนายทหารม้าในปี พ.ศ. 2480 ต่อมา ผาดได้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 2 รถรบ บางซื่อ พระนคร และเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายทหารฝึกหัดราชการทหารม้า เป็นเวลา 1 ปี[1]

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้เกิดเหตุการณ์การบุกครองไทยของญี่ปุ่น ผาด ตุงคะสมิต ได้รับคำสั่งให้นำกำลังไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และปี พ.ศ. 2485 เขาได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บัญชาการกองร้อยรถรบประจำกองทัพที่ 2 เพื่อคุมกำลังไปประจำจังหวัดสระบุรี ครั้นปี พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ผาดได้นำกำลังรถรบกลับสู่กรุงเทพมหานคร[1]

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ผาดถูกสั่งการให้เข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย กระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน ของปีเดียวกัน เขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการสูงสุดให้ทำหน้าที่ผู้บังคับการรถรบ ก่อนคืนหน้าที่นี้ให้แก่ผู้บังคับการรถรบคนเดิมเมื่อเหตุการณ์รัฐประหารสงบลง ซึ่งเขาได้รับการชมเชยถึงการปฏิบัติงาน[1]

ในปี พ.ศ. 2491 เขาได้เปลี่ยนอาชีพจากทหารมาเป็นตำรวจ ในตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง 4 โดยวันที่ 1 ตุลาคม ของปีดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่ในการจับกุม[1]

ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ได้เกิดเหตุการณ์กบฏวังหลวง แม้ผาดจะเป็นตำรวจแล้ว แต่เขาก็ได้รับคำสั่งจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้นำรถถัง 2 คันไปยึดกรมโฆษณาการ ซึ่งประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ ได้เกิดคดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี โดยที่ผาดได้ระบุในอัตชีวประวัติของเขาว่าไม่ทราบใครเป็นคนยิง[1]

และในปีเดียวกันนี้ เขาได้รับคำสั่งให้ไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ และซื้อรถเกราะที17อี1 สแตกฮาวด์ จำนวน 50 คัน[1]

กระทั่งวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ได้เกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งผาด ตุงคะสมิต ได้สั่งรถเกราะออกปฏิบัติการทันทีหลังจากที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ถูกจับ จากการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้ผาดได้บำเหน็จ 3 ขั้น[1]

รวมถึงในปีเดียวกัน เขาได้รับคำสั่งให้ไปตรวจรับรถลาดตระเวนเบามอร์ริส ซึ่งเป็นรถเกราะที่ประเทศอังกฤษ ตลอดจนดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี[1] นอกจากนี้ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494[2] และปีดังกล่าว เขายังได้เป็นนายตำรวจราชสำนักเวร เพื่อถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัว[1]

รับราชการ

แก้

พ.ศ. 2497 เขาได้รับยศพันตำรวจเอก และได้รับคำสั่งให้เดินทางไปสหรัฐ รวมถึงฮาวาย, ญี่ปุ่น และฮ่องกง รวมถึงในปีเดียวกัน เขาได้ปรับปรุงสถานที่ทำงานใหม่ในวังปารุสกวันและโรงช้างดุสิต ตลอดจนได้รับคำสั่งให้บังคับบัญชาหน่วยพลร่ม ซึ่งเขาได้รับการติดปีกพลร่ม และแหวนพลร่ม[1]

พ.ศ. 2499 ผาด ตุงคะสมิต ได้รับยศพลตำรวจจัตวา และทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ ณ บริเวณหลังสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ นอกจากนี้ เขายังได้เป็นกรรมการบริหารกลางของพรรคเสรีมนังคศิลาถึง 2 ครั้ง[1]

ในภายหลัง เขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492 และศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต[3][4] อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนที่คิดว่าเขาเป็นแพะรับบาป[5] ผู้คนบางส่วนมีความเชื่อว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง และจากบันทึกบางส่วนของหนังสือ 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ที่เขียนโดยพันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ มีการบันทึกว่าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด[6]

ชีวิตส่วนตัว

แก้

ผาด ตุงคะสมิต กับภรรยามีลูกเป็นชาย 2 คน และหญิง 5 คน รวมถึงผาดยังมีผลงานอัตชีวประวัติ ที่เผยมุมมองของเขาว่าไม่ต้องการเห็นการคอร์รัปชัน และความเหลวแหลกของบ้านเมือง[1]

ผาดเคยมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ แต่ไม่สามารถเป็นได้ โดยเขาให้เหตุผลว่าไม่มีพวกหนุน นอกจากนี้ เขาไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 เนื่องด้วยสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน[1]

อ้างอิง

แก้