ปลานวลจันทร์ทะเล
ปลานวลจันทร์ทะเล หรือ ปลานวลจันทร์ เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถอาศัยในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดได้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chanos chanos อยู่ในวงศ์ Chanidae ซึ่งถือเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์นี้และสกุลนี้[2][3][4] แต่พบสกุลที่สูญพันธุ์จากยุคครีเทเชียสเท่าที่พบอย่างน้อย 5 ชนิด[4]
ปลานวลจันทร์ทะเล ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 100–0Ma ครีเทเชียสตอนต้น–ปัจจุบัน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | อันดับปลานวลจันทร์ทะเล Gonorynchiformes |
วงศ์: | ปลานวลจันทร์ทะเล Chanidae |
วงศ์ย่อย: | Chaninae Chaninae Lacépède, 1803 |
สกุล: | Chanos Chanos (Forsskål, 1775) |
สปีชีส์: | Chanos chanos |
ชื่อทวินาม | |
Chanos chanos (Forsskål, 1775) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลานวลจันทร์ทะเลมีรูปร่างเพรียวยาว เกล็ดเล็กละเอียดสีเงินแวววาว ครีบหางเว้าลึก ครีบท้องและครีบหลังเล็ก เป็นปลาที่มีความปราดเปรียวว่องไว พบได้ตามชายฝั่งทะเลแถบอบอุ่นทั่วภูมิภาคของโลก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง กินอาหารได้แก่ ปลาอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า และสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ รวมถึงสาหร่ายทะเลด้วย มีขนาดโตเต็มที่ยาวได้ถึง 1.5 เมตร ในประเทศไทยพบมากที่แถบจังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และบางส่วนในจังหวัดตราด โดยมีการสำรวจพบครั้งแรกที่บ้านคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[5]
ลูกปลาวัยอ่อนจะเข้ามาอาศัยเจริญเติบโตในป่าชายเลน ในราวเดือนเมษายน–พฤษภาคม การที่จะนำลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อเพื่อเป็นปลาเศรษฐกิจจะกระทำในช่วงเวลานี้ โดยปลาจะวางไข่ในเวลากลางคืน ไข่เป็นแบบไข่ลอย มีสีเหลืองอ่อน ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 36 ชั่วโมง ลูกปลาในระยะแรกจะมีลำตัวใส และจะพัฒนาการเหมือนตัวเต็มวัยในอายุราว 21 วัน ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 7 เดือนก็สามารถจับขายได้ ในต่างประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย และยังส่งลูกปลาไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น สหรัฐ, ไต้หวัน ที่นั่นนิยมรับประทานปลานวลจันทร์ทะเลด้วยการแปรรูปเป็นลูกชิ้นเนื้อปลา ส่วนหัวและท้องนิยมต้มใส่ขิงรับประทาน[5] ชาวฟิลิปปินส์รู้จักปลาชนิดนี้เหมือนที่ชาวไทยรู้จักปลาทู[6] นอกจากจะใช้บริโภคเป็นปลาเศรษฐกิจแล้ว ยังนิยมตกเป็นเกมกีฬาและเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย
การเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 จากการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลในเชิงพาณิชย์ หลังจากที่ได้ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลานิลจากมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นแล้ว จึงเริ่มมีการเพาะเลี้ยงโดยมีการนำปลาส่วนหนึ่งที่จับได้จากธรรมชาติไปทดลองเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน ในโครงการพระราชดำริ และนำลูกปลาไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ด้วยองค์ความรู้ทางการประมงในขณะนั้นยังมีไม่เพียงพอ เรื่องการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลก็ได้ถูกลืมเลือนหายไป จนกระทั่งในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2544 จึงมีรับสั่งเรื่องปลานวลจันทร์ทะเลอีกครั้ง กรมประมงจึงทำการศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจังจนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2553 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2556 จึงเริ่มถ่ายองค์ความรู้นี้แก่ชาวประมงเกษตรกรได้ นอกจากการบริโภคสดแล้ว ปลานวลจันทร์ทะเลยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ปลากระป๋อง, ลูกชิ้น, ปลานวลจันทร์ทะเลตากแห้งหรือแดดเดียว, ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม หรือทำเป็นน้ำยารับประทานคลุกกับขนมจีน เป็นต้น[7]
ปลานวลจันทร์ทะเลยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า "ปลาดอกไม้", "ปลาชะลิน" หรือ "ปลาทูน้ำจืด" เป็นต้น[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ Freyhof, J.; Sparks, J.S.; Kaymaram, F.; Feary, D.; Bishop, J.; Al-Husaini, M.; Almukhtar, M.; Hartmann, S.; Alam, S.; Al-Khalaf, K. (2019). "Chanos chanos". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T60324A151598011. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-2.RLTS.T60324A151598011.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ Eschmeyer, W. N.; R. Fricke, บ.ก. (4 January 2016). "Catalog of Fishes". California Academy of Sciences. สืบค้นเมื่อ 25 January 2016.
- ↑ Froese, Rainer, and Daniel Pauly, eds. (2015). "Chanidae" ในฐานข้อมูลปลา. ฉบับ October 2015
- ↑ 4.0 4.1 Nelson, J. S. (2006). Fishes of the World (4th ed.). Hoboken, NJ: John Wiley & Sons. pp. 135–136. ISBN 978-0-471-25031-9.
- ↑ 5.0 5.1 หน้า 24 เกษตร, ปลานวลจันทร์ทะเล ตลาดยังสดใส, "เกษตรนวัตกรรม". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,759: วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย
- ↑ ชนิดของสัตว์ : ในป่าชายเลน
- ↑ หน้า 7, ปลานวลจันทร์ทะเล หนึ่งเดียวในพระราชกระแสรับสั่ง โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21344: วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 แรม 10 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
- ↑ [https://web.archive.org/web/20120831122605/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-23-search.asp เก็บถาวร 2012-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นวลจันทร์ทะเล น. จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ปลานวลจันทร์ทะเล ที่วิกิสปีชีส์
- Boneless Bangus เก็บถาวร 2020-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- FishBase entry for milkfish
- SEAFDEC milkfish hatchery info
- DA, Philippines, About Bangus
- แม่แบบ:Sealifephotos