พระเจ้าบุเรงนอง
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
พระเจ้าบุเรงนอง หรือพระนามเต็มว่า พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา (พม่า: ဘုရင့်နောင် ကျော်ထင်နော်ရထာ บะหยิ่นนองจอทีนนอยะทา; 16 มกราคม พ.ศ. 2059 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2124) หรือ พระเจ้าหงษานีพัตร[4] เป็นพระเจ้าหงสาวดีจากราชวงศ์ตองอู เสวยราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2093 ถึงปี พ.ศ. 2124 อาณาจักรของพระองค์เป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาณาเขตแผ่ไปถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง รัฐมณีปุระ และอาณาจักรอยุธยา[5]
บุเรงนอง | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพม่า | |||||
พระเจ้ากรุงหงสาวดี | |||||
ครองราชย์ | 30 เมษายน พ.ศ. 2093 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2124 (31 ปี 164 วัน) | ||||
ราชาภิเษก | 12 มกราคม พ.ศ. 2097 | ||||
ก่อนหน้า | พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ | ||||
ถัดไป | พระเจ้านันทบุเรง | ||||
พระราชสมภพ | 16 มกราคม พ.ศ. 2059 ตองอู | ||||
สวรรคต | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2124 (65 พรรษา) หงสาวดี | ||||
พระอัครมเหสี | พระนางอตุลสิริมหาราชเทวี พระนางจันทาเทวี พระนางราชเทวี[1] | ||||
พระราชบุตร | อังวะมิบะยา พระเจ้านันทบุเรง นรธาเมงสอ พระเจ้าญองยาน พระนางเมงเกงสอ พระนางราชธาตุกัลยา สิริสุธรรมราชา[1][2] เจ้าภุ้นชิ่[3] | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ตองอู | ||||
พระราชบิดา | มินจีเสวฺ่ | ||||
พระราชมารดา | ชีน-มโย่เมียะ |
พระองค์ถือเป็นหนึ่งในสามมหาราชพม่าพร้อมด้วยพระเจ้าอโนรธามังช่อแห่งราชวงศ์พุกาม และพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์โก้นบอง สถานที่หลายแห่งในพม่าปัจจุบันตั้งชื่อตามพระนาม พระองค์ยังทรงเป็นที่รู้จักในประเทศไทยว่า "พระเจ้าชนะสิบทิศ" จากนวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ
พระราชประวัติ
แก้พระเจ้าบุเรงนอง พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2058 ก่อนพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เพียง 1 เดือน พระนามดั้งเดิมของพระองค์ในนวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศคือ "จะเด็ด" แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระนามดั้งเดิมของพระองค์อาจออกเสียงว่า "จะเต็ด" โดยอาจแปลได้ว่า "เจ้าปลวกไต่" (จะ หมายถึง ปลวก, เต็ด หมายถึง ไต่ หรือ ปีนป่าย) และมีอีกหนึ่งหลักฐานที่ระบุว่า พระนามดั้งเดิมคือ "ชีนแยทุ" โดยแปลได้ว่า "เจ้ายอดผู้กล้า" (ชีน เป็นคำที่เรียกหน้าชื่อบุคคลสำคัญ แย หมายความว่า กล้าหาญ และ ทุ อาจแปลได้หลากหลาย แต่ในบริบทเช่นนี้ควรแปลว่า ยอด)
พระเจ้าบุเรงนอง ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ กำเนิดเป็นบุตรของสามัญชนที่มีอาชีพปาดตาล แต่ข้อเท็จจริงแล้ว พระองค์เองมีเชื้อกษัตริย์ในตัว โดยเป็นบุตรชายของเมงเยสีหตู (สำเนียงพม่าออกว่า มี่นแยตีฮะตู) ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมงเยสีหตูผู้นี้ เชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโย และได้รับการอวยยศเป็นถึงเจ้าเมืองตองอูเมืองหลวงอีกด้วย[6]
ในวัยเยาว์ พระเจ้าบุเรงนองเติบโตมาพร้อมกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แม้มิได้เป็นพระญาติกันโดยสายเลือด แต่ทั้งสองก็มีความผูกพันกันเหมือนพระญาติ เนื่องจากเมงเยสีหตูบิดาของพระเจ้าบุเรงนองก็เป็นบุคคลที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เคารพ โดยมีฐานะเป็นถึงพระอาจารย์ที่ปรึกษาขุนนางคนสำคัญ และมีสถานะอีกด้านเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ด้วย โดยบุตรสาวของเมงเยสีหตูก็เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ และพระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นามว่า พระนางอตุลสิริมหาราชเทวี ก็เป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนองด้วยเช่นกัน
พระเจ้าบุเรงนองก่อนขึ้นครองราชย์มีสถานะเป็นแม่ทัพคนสำคัญของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2093 ด้วยการปราบดาภิเษก เพราะมีกบฏเกิดขึ้นมากมาย ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระนามของพระเจ้าบุเรงนองออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า "บะหยิ่นนอง" มีความหมายว่า "พระเชษฐาธิราช" และมีพระนามเต็มว่า "บะหยิ่นนองจอทีนนอยะทา" (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น "บุเรงนองกะยอดินนรธา") แปลว่า "พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภินิหาร" โดยพระนามนี้ เชื่อว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระราชทานให้ หลังจากพระเจ้าบุเรงนองชนะศึกนองโย อันเป็นศึกไล่ตามทัพของพระเจ้าสการะวุตพีกษัตริย์มอญ ที่เสียกรุงหงสาวดีให้แก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อันเป็นเกียรติประวัติที่เลืองลือครั้งแรก ๆ ของพระองค์
พระนามต่าง ๆ ก็มีอีกมาก เช่น "เซงพะยูนีมยาตะเกง ภะวะเชงเมงตะยาจีพะยา" แปลว่า "พระมหาธรรมราชาช้างเผือกแลช้างเนียม" หรือ "ตะละพะเนียเธอเจาะ" อันแปลว่า "พระเจ้าชนะสิบทิศ" เป็นฉายาที่พบในศิลาจารึกของชาวมอญ และชาวตะวันตกรู้จักพระองค์ในพระนาม "บราจินโนโก" (Braginoco) โดยทิศทั้งสิบนี้หมายถึงทิศทั้งแปดตามความเชื่อทางพุทธศาสนา และยังรวมไปถึงทิศเบื้องบน คือ สรวงสรรค์ และทิศเบื้องล่าง คือ บาดาล อีกด้วย[7]
พระเจ้าบุเรงนองนับเป็นกษัตริย์ที่ทางพม่านับว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ 1 ใน 3 พระองค์ ด้วยความเป็นกษัตริย์นักรบอันเป็นที่ปรากฏพระเกียรติเลื่องลือ โดยยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิรวดีจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่าง ๆ มากมายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ หงสาวดี ล้านช้าง ไทใหญ่ เขมร ญวน อยุธยา เชียงใหม่ เป็นต้น
ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าระบุว่า ก่อนพระองค์จะออกทำศึกคราวใด จะทรงนมัสการเจดีย์ชเวมอดอ หรือที่ชาวไทยเรียกตามชาวมอญว่าพระธาตุมุเตา พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองหงสาวดีก่อนทุกครั้ง จุดที่เชื่อว่าพระองค์ถวายการสักการะก็ปรากฏอยู่หน้าพระธาตุตราบจนปัจจุบัน[8]
ไม่เพียงแต่มิติของการเป็นนักรบเท่านั้น พระเจ้าบุเรงนองยังถือว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองและบริหารที่เก่งกาจอีกด้วย ด้วยการสามารถปกครองและบริหารข้าทาสบริวารมากมาย ทั้งของพระองค์เองและของประเทศราช เช่น การยึดเอาพระราชวงศ์ที่สำคัญ ๆ ของประเทศราชต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพระราชวังเพื่อเป็นองค์ประกัน เป็นต้น
พระราชวังของพระองค์ที่หงสาวดี มีชื่อว่า "กัมโพชธานี" นับว่าเป็นพระราชวังที่ใหญ่โตสมพระเกียรติ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2109 ปีที่ 15 ของการครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เรืองอำนาจสูงสุด พระองค์ตัดสินพระทัยเผาพระราชวังเก่าไปเนื่องจากมีการกบฏ พระราชวังกัมโพชธานีสร้างขึ้นโดยใช้แรงงานจากประเทศราชต่าง ๆ และพระองค์โปรดให้ใช้ชื่อประตูต่าง ๆ ตามชื่อของแรงงานประเทศราชที่สร้าง เช่น ประตูทางตอนเหนือปรากฏชื่อ ประตูโยเดีย (อยุธยา) ประตูตอนใต้ชื่อ ประตูเชียงใหม่ เป็นต้น
พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. 2124 ด้วยพระอาการประชวร ขณะยกทัพไปตียะไข่ ปัจจุบันพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์มีมากมายหลายที่ในประเทศพม่า
ด้วยพระราชประวัติอันพิสดารและน่าสนใจ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าช่วงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนชาวไทย ยาขอบ ได้หยิบยกขึ้นมาแต่งเป็นนิยายจากพงศาวดารชื่อดัง คือ ผู้ชนะสิบทิศ [7]
พระบรมวงศานุวงศ์
แก้พระอัครมเหสีและพระสนม
แก้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างพม่าระบุชัดว่า[9] พระเจ้าบุเรงนองมีมเหสีสามพระองค์ โดยในสามพระองค์นี้มีพระนางตะขิ่นจีเป็นมเหสีเอก ทรงเป็นราชินีพม่าองค์เดียวที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาราณี และมีพระสนมกว่า 50 พระองค์[10] ซึ่งหลายพระองค์เป็นเจ้านายจากหัวเมืองต่าง ๆ[11]
- พระอัครมเหสีตำหนักใต้ ตำแหน่ง มีพะยากองจี พระนางอตุลสิริมหาราชเทวี พระนามเดิมคือ ตะขิ่นจี (พระพี่นางในพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้)
- พระมเหสีตำหนักเหนือ ตำแหน่ง อมะเย้านาน พระนางจันทาเทวี (พระนามเดิม สิริโพงทุต พระธิดาพระเจ้าชเวนันจอชิน พระเจ้ากรุงอังวะ)
- พระมเหสีตำหนักกลาง ตำแหน่ง อะเลนานดอ พระนางราชเทวี (พระนามเดิมฉิ่นเทฺวละ หรือ เชงทะเว พระธิดาพระเจ้ากรุงหงสาวดี)
หนึ่งในสนมที่โดดเด่นของพระองค์คือ พระสุพรรณกัลยา (พระธิดาในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
พระโอรสและพระธิดา
แก้ตามพงศาวดารมหาราชวงศ์และมหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว กล่าวว่าพระองค์มีพระราชโอรส 35 พระองค์ และพระราชธิดา 56 พระองค์ ที่ประสูติจากพระมเหสีและพระสนม[12][13] แต่รายละเอียดในพงศาวดารมหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว ระบุว่าพระองค์มีพระราชบุตร 86 พระองค์ (พระราชโอรส 32 พระองค์ พระราชธิดา 54 พระองค์) ส่วนพระราชบุตรที่เหลือถูกกล่าวถึงในส่วนต่าง ๆ ของพงศาวดาร รวมยอดทั้งหมดอย่างน้อย 92 พระองค์ที่พระนามต่างกัน ประกอบด้วยพระราชโอรส 33 พระองค์และพระราชธิดา 59 พระองค์ ความคลาดเคลื่อนอาจเกิดจากข้อผิดพลาดในการบันทึกเพศ หรือจำนวนพระราชบุตรที่ไม่ปรากฏพระนามซึ่งอาจเสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตัวอย่างพระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าบุเรงนอง เช่น
- เจ้าชายงาสู่ด่ายะก่ามิน หรือที่แปลว่า เจ้าวังหน้า (พระเจ้านันทบุเรง) พระราชโอรสองค์โตของพระนางตะขิ่นจี
- พระนางเมงเกงสอ พระราชธิดาของพระนางจันทาเทวี ต่อมาได้ถูกส่งไปอภิเษกกับพระเจ้าตองอู เป็นพระมารดาของนะฉิ่นเหน่าง์ หรือ พระสังขทัต
- พระนางราชธาตุกัลยา พระราชธิดาของพระนางราชเทวี
- นรธาเมงสอ พระราชโอรสของพระนางราชเทวี
- เจ้าหญิงเมงอทเว พระราชธิดาที่เกิดจากพระสุพรรณกัลยา
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของพระเจ้าบุเรงนอง | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Tun Aung Chain (2004). Selected Writings of Tun Aung Chain. Myanmar Historical Commission. p. 119.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 272 ISBN 978-974-8132-15-0
- ↑ กิตติ วัฒนะมหาตม์. ตำนานนางกษัตริย์. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553, หน้า 275
- ↑ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 410
- ↑ Lieberman 2003: 150–154
- ↑ "กำเนิดอยุธยาและวาระสุดท้ายสุริโยทัย โดย วีระ ธีรภัทร และ ดร.สุเนตร ชุตินธานนท์". ตรินิตี้เรดิโอ F.M. 97.00 Mhz. สืบค้นเมื่อ 22 June 2014.
- ↑ 7.0 7.1 ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์. บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550. 214 หน้า. ISBN 974-323-512-4
- ↑ "Chill Out Travel Note: Myanmar". ช่อง 5. 22 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-03. สืบค้นเมื่อ 23 June 2014.
- ↑ Sein Lwin Lay 2006: 309–310
- ↑ Hmannan Vol. 3 2003: 68–73
- ↑ Lieberman 2003: 155
- ↑ Maha Yazawin Vol. 3 2006: 77
- ↑ Hmannan Vol. 3 2003: 73
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
ก่อนหน้า | พระเจ้าบุเรงนอง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ | พระมหากษัตริย์พม่า (อาณาจักรพม่ายุคที่ 2) (พ.ศ. 2093 - พ.ศ. 2124) |
พระเจ้านันทบุเรง |