นกยูงอินเดีย
นกยูงอินเดียตัวผู้รำแพนหาง
เสียงร้อง
หงอนบนหัวที่เป็นรูปพัดต่างจากนกยูงไทย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Galliformes
วงศ์: Phasianidae
วงศ์ย่อย: Phasianinae
สกุล: Pavo
สปีชีส์: P.  cristatus
ชื่อทวินาม
Pavo cristatus
Linnaeus, 1758
แผนที่แสดงถิ่นกระจายพันธุ์

นกยูงอินเดีย หรือ นกยูงสีน้ำเงิน (อังกฤษ: Indian peafowl, Blue peafowl; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo cristatus[2]) เป็นนกยูงชนิดหนึ่ง ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) พบกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ, ภูฏาน และศรีลังกา

มีขนาดเล็กกว่านกยูงไทย (P. muticus) ซึ่งเป็นนกยูงอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนจนถึงแหลมมลายูเล็กน้อย ขนหงอนจะมีลักษณะเป็นรูปพัดต่างจากนกยูงไทยที่เป็นกระจุก สีของผิวหนังบริเวณหน้าจะมีสีขาว และมีสีดำคาดบริเวณตา ขนบริเวณคอและอกมีสีน้ำเงิน ขนบริเวณปีกเป็นลายสีขาวสลับกับสีดำ ขนตามลำตัวจะมีสีเขียวอมน้ำเงิน ด้านหลังเป็นเกล็ดคล้ายใบไม้ ในตัวเมียนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ ขนตามลำตัวเป็นสีน้ำตาล ขนคอและหลังจะมีสีอ่อนกว่าตัวผู้

นกยูงอินเดียตัวผู้ตัวเต็มวัย เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูสืบพันธุ์จะมีขนคลุมหางที่ยาวออกมา ประมาณ 2 เท่าของลำตัวหรือประมาณ 150 เซนติเมตร ประกอบด้วยขน 2 ประเภทด้วยกัน คือ ขนที่มีวงกลม ซึ่งเรียกว่า "แววมยุรา"[3] และขนที่อยู่บริเวณขอบ เรียกว่า "T Feathers" ซึ่งบริเวณนี้จะไม่มีแววมยุรา ขนคลุมหางของนกยูงหนึ่งตัวจะประกอบด้วยขนคลุมหางประมาณ 200 เส้น แบ่งเป็นขนที่มีแววมยุรา ประมาณ 170 เส้น และขนคลุมหางที่เป็นขอบหรือ T-feathers อีกประมาณ 30 เส้น ซึ่งขนคลุมหางนี้จะมีเพื่อการเกี้ยวพาราสีตัวเมียในฤดูสืบพันธุ์ ที่เรียกว่า "การรำแพน" [4][5]

นกยูงอินเดียวางไข่ ครั้งละ 5-8 ฟอง ระยะฟักไข่นาน 28 วัน และในระยะที่เป็นวัยอ่อนนั้นจะมีความแตกต่างกับนกยูงที่ตัวโตเต็มวัยทั้งสีขนและขนาดของลำตัว ลูกนกยูงในวัยนี้จะไม่สามารถระบุเพศได้จากการสังเกตลักษณะและสีของขนจากภายนอก จนกว่าลูกนกจะมีอายุ 8 เดือน จึงจะสามารถระบุเพศด้วยจากการสังเกตลักษณะภายนอกและสีของขนได้ แต่ถ้ามองผิวเผินอาจจะเหมารวมได้ว่าเป็นลูกนกชนิดเดียวกันดังนั้นจะต้องสังเกตอย่างละเอียด โดยลูกของนกยูงไทยจะมีสีเขียวเป็นมันเหลือบบริเวณปลายขนแต่ละเส้นจะมีสีน้ำตาลแต้ม ขนบริเวณหัวและคอจะมีสีเขียวเป็นมันเหลือบและจะมีขนสีขาวแซมประปราย ขนปลายปีกจะมีสีน้ำตาลทองและมีสีดำแต้มบ้าง ส่วนลูกนกยูงอินเดียจะมีลักษณะแตกต่างกันที่ขน บริเวณลำตัวและหลังจะมีลายสีน้ำตาลประทั้งเส้น ขนบริเวณคอจะมีสีขาวเทาและมีสีเขียวเป็นมันเหลือบแซมประปราย ส่วนขนบริเวณคอส่วนล่างและหน้าอกจะเริ่มเห็นสีน้ำเงินแซมเป็นจุด ๆ ขนปลายปีกจะมีสีน้ำตาลลายดำ เมื่อมองโดยรวมก็จะพบว่าลูกนกยูงอินเดียจะมีสีที่อ่อนและหม่นกว่าลูกนกยูงไทย [6][7]

ตัวผู้ขณะยืนปกติ
ตัวเมียและลูก ๆ

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงในป่าดงดิบทึบ ตัวผู้ชอบทำลานเอาไว้รำแพนหาง และจะรักษาความสะอาดลานอย่างดี เป็นนกที่ระวังตัวมากและสายตาไวมาก ยากที่จะเข้าใกล้ตัวได้ จะบินหนีก่อน เป็นนกที่บินเก่ง ชอบนอนที่สูงและชอบร้องเวลาเช้าและเย็น เป็นนกที่จดจำที่อยู่ของตนได้เป็นอย่างดี[8] [9]

นกยูงอินเดีย ถือเป็นสัตว์ประจำชาติของอินเดีย ในต้นปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐกัว รัฐทางทิศตะวันออกติดชายฝั่งของอินเดียมีความพยายามจะจัดให้นกยูงอินเดียเป็นสัตว์รำคาญ ซึ่งสามารถฆ่าได้ ทำลายได้ เพราะมองว่าสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตร แต่เรื่องนี้ก็มีการคัดค้านอย่างกว้างขวาง[10]

Pavo cristatus

อ้างอิง

แก้
  1. BirdLife International 2012 (2013.1). Pavo cristatus. In: IUCN 2013.1. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2013-10-06.
  2. Linnaeus, Carl (1758). Systema naturae per regna tria naturae, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Tomus I. Editio decima, reformata. Holmiae. (Laurentii Salvii). (ละติน)
  3. Fitzpatrick J (1923). "Folklore of birds and beasts of India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 28 (2): 562–565.
  4. Whistler, Hugh (1949). Popular handbook of Indian birds (4 ed.). Gurney and Jackson, London. pp. 401–410. ISBN 1-4067-4576-6.
  5. Blanford, WT (1898). The Fauna of British India, Including Ceylon and Burma. Birds. Vol. 4. Taylor and Francis, London. pp. 681–70.
  6. "Common (Indian) Peafowl". Rolling Hills Wildlife Adventure. สืบค้นเมื่อ 26 December 2012.
  7. Vyas, R (1994). "Unusual breeding site of Indian Peafowl". Newsletter for Birdwatchers. 34 (6): 139.
  8. Ali, S and Ripley, S D (1980). Handbook of the birds of India and Pakistan. Vol. 2 (2 ed.). Oxford University Press. pp. 123–126. ISBN 0-19-562063-1.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. Dodsworth, PTL (1912). "Occurrence of the Common Peafowl Pavo cristatus, Linnaeus in the neighbourhood of Simla, N.W. Himalayas". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 21 (3): 1082–1083.
  10. "อึ้ง!'นกยูง'สัตว์รำคาญ-ฆ่าได้". คมชัดลึก. 13 February 2016. สืบค้นเมื่อ 14 February 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pavo cristatus ที่วิกิสปีชีส์