ตัวเอ๋อร์กุ่น
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ตัวเอ๋อร์กุ่น (จีน: 多爾袞; อักษรโรมัน: Dorgon แปลว่า "แบดเจอร์"[1]; 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 – 31 ธันวาคม ค.ศ. 1650) บ้างเรียก รุ่ยชินหวัง (睿親王) เป็นพระราชโอรสของหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努爾哈赤) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ชิง เป็นพระอนุชาของหฺวัง ไท่จี๋ (皇太極) จักรพรรดิพระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ชิง และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิชุ่นจื้อ (順治) พระโอรสของหฺวัง ไท่จี๋ ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ชิง
ตัวเอ๋อร์กุ่น | |||||
---|---|---|---|---|---|
เหอชั่วรุ่ยชินหวัง | |||||
ดำรงพระยศ | ค.ศ.1636–1650 | ||||
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งต้าชิง | |||||
ดำรงตำแหน่ง | ค.ศ.1643 – 1650 | ||||
ร่วมกับ | จี้เอ่อร์ฮาหลาง (1643–1644) | ||||
ผู้ช่วย | จี้เอ่อร์ฮาหลาง (1644–1647) ตัวตั๋ว (1647–1649) | ||||
จักรพรรดิ | จักรพรรดิชุ่นจื้อ | ||||
ประสูติ | 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 | ||||
สิ้นพระชนม์ | 31 ธันวาคม ค.ศ. 1650 | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ชิง | ||||
พระบิดา | พระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ | ||||
พระมารดา | อาปาไฮ่ |
ตัวเอ๋อร์กุ่นเริ่มรับราชการในรัชสมัยของหฺวัง ไท่จี๋ ด้วยการศึกปราบปรามราชวงศ์หมิงและปราบปรามชาวมองโกลกับเกาหลี ครั้นหฺวัง ไท่จี๋ สวรรคตใน ค.ศ. 1643 ตัวเอ๋อร์กุ่น กับเหาเก๋อ (豪格) พระโอรสหัวปีของหฺวัง ไท่จี๋ แย่งชิงบัลลังก์กัน แต่มาตกลงกันได้โดยหนุนให้ฝูหลิน (福臨) พระโอรสพระองค์ที่ 9 ของหฺวัง ไท่จี๋ ขึ้นเป็นจักรพรรดิชุ่นจื้อ และตัวเอ๋อร์กุ่นสำเร็จราชการแทน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาดำรงตั้งแต่ ค.ศ. 1643 จนสิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1650 ระหว่างนั้น ใน ค.ศ. 1645 เขาได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ว่า "หฺวังชูฟู่เช่อเจิ้งหวัง" (皇叔父攝政王; "พระเจ้าอาผู้สำเร็จราชการ") ต่อมาใน ค.ศ. 1649 เปลี่ยนเป็น "หฺวังฟู่เช่อเจิ้งหวัง" (皇父攝政王; "พระบิดาผู้สำเร็จราชการ")
ในช่วงที่ตัวเอ๋อร์กุ่นสำเร็จราชการนั้น กองทัพราชวงศ์ชิงสามารถยึดเป่ย์จิง (北京) นครหลวงของราชวงศ์หมิงเดิม และค่อย ๆ พิชิตพื้นที่ที่เหลือของราชวงศ์หมิงผ่านการทำศึกอย่างต่อเนื่องเพื่อปราบปรามหมิงใต้ (南明) กลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิง และปราบปรามกลุ่มอื่น ๆ ที่ขัดขืนอำนาจทั่วจักรวรรดิ ตัวเอ๋อร์กุ่นยังริเริ่มนโยบายบีบบังคับให้พลเมืองชาวฮั่นตัดผมแบบแมนจู
ตัวเอ๋อร์กุ่นถึงแก่ความตายใน ค.ศ. 1650 ขณะออกไปล่าสัตว์ เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว เขาได้รับยกย่องเป็นจักรพรรดิ แม้ตอนมีชีวิตจะมิได้เป็นก็ตาม อย่างไรก็ดี หนึ่งปีให้หลัง จักรพรรดิชุ่นจื้อทรงถอดยศศักดิ์ทั้งปวงของเขา และให้ขุดศพเขาขึ้นโบยตีต่อหน้าสาธารณชน ด้วยข้อหาอาญาหลายประการ ครั้น ค.ศ. 1778 จักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆) ทรงประกาศให้เขาเป็นผู้ไม่มีมลทินมัวหมอง และให้คืนยศถาดังเดิม
อ้างอิง
แก้- ↑ Elliott 2001, p. 242.
ก่อนหน้า | ตัวเอ๋อร์กุ่น | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
– | รุ่ยชินหวัง (ค.ศ. 1636 – 1650) |
ฉุนอิ่ง |