ตะเคียน
ตะเคียน หรือ ตะเคียนทอง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hopea odorata) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ไม้ตะเคียน สามารถพบในประเทศบังกลาเทศ, ประเทศกัมพูชา, ประเทศอินเดีย, ประเทศลาว, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศพม่า, ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม[1] ต้นตะเคียนสามารถโตสูงถึง 45 เมตร โดยฐานลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่กว้างถึง 4.5 เมตร ต้นตะเคียนมักเติบโตในป่า โดยเฉพาะริมแม่น้ำที่บริเวณความสูงระหว่าง 0 ถึง 600 เมตร ในบางบริเวณเช่นเบงกอลตะวันตกและหมู่เกาะอันดามันมักปลูกเป็นต้นไม้ร่มเงา[3] เนื่องจากเนื้อไม้ของต้นนี้มีค่า ทำให้มันอยู่ในกลุ่มชนิดที่ถูกคุกคามในที่อยู่อาศัยธรรมชาติ[4]
ตะเคียน | |
---|---|
ใบตะเคียน | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงคู่แท้ Eudicots |
เคลด: | โรสิด Rosids |
อันดับ: | ชบา Malvales |
วงศ์: | วงศ์ยางนา Dipterocarpaceae |
สกุล: | Hopea Hopea Roxb. |
สปีชีส์: | Hopea odorata |
ชื่อทวินาม | |
Hopea odorata Roxb. | |
ชื่อพ้อง[2] | |
รายการ
|
ตะเคียนยังมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกดังนี้ : กะกี้ โกกี้ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) แคน (ตะวันออกเฉียงเหนือ, เลย) จะเคียน (เหนือ) จืองา (มลายู นราธิวาส) จูเค้ โซเก (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) ตะเคียนใหญ่ (กลาง) ตะเคียนทอง (กลาง, ประจวบคีรีขันธ์) ไพร (ละว้า เชียงใหม่)[5]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แก้ตะเคียนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 20-40 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบกลมหรือรูปเจดีย์ต่ำ เปลือกหนาสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลแดง ใบรูปไข่แกมรูปหอก หรือรูปดาบ กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 6-14 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้องหนา ปลายใบเรียว โคนใบบนป้านและเบี้ยว หลังใบที่ตุ่มเกลี้ยง ๆ อยู่ตามง่ามแขนงใบ[6] เส้นแขนงใบมี 9-13 คู่ ปลายโค้ง แต่ไม่จรดกัน ดอกเล็ก ออกเป็นช่อยาว สีขาว ตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ โดยเชื่อมติดกัน มีกลิ่นหอม ผล กลม หรือรูปไข่เกลี้ยง ปลายมน เป็นติ่งคล้ายหนามแหลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร ปีกยาว 1 คู่ รูปใบพาย
การกระจายพันธุ์
แก้ตะเคียนมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ในแถบประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย บังกลาเทศ และอินเดีย พบในป่าดิบชื้น
การนำไปใช้ประโยชน์
แก้ประโยชน์ตะเคียนทอง
- 1. ไม้ตะเคียน จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ทนปลวกดี เลื่อย ไสกบ ตกแต่งและชักเงาได้ดีมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน หน้าต่าง วงกบประตู ทำพื้นกระดาน ฝ้าหลังคา รั้วไม้ หีบใส่ของ ด้ามเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ พานท้ายและรางปืน หรือใช้ทำสะพาน ต่อเรือ ทำเรือมาด เรือขุด เรือแคนู เสาโป๊ะ กระโดงเรือ ทำรถลาก ทำหมอนรองรางรถไฟ ตัวถังรถ กังหันน้ำ เกวียน หูกทอผ้า ทำไม้ฟืน ฯลฯ ไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานไม้ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน เหนียวและเด้ง
- 2. เปลือกต้นให้น้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol
- 3. ชันจากไม้ตะเคียนใช้ทำน้ำมันชักเงาตบแต่งเครื่องใช้ในร่ม ใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ยาแนวเรือ หรือใช้ผมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อใช้ในงานต่าง ๆ เช่น ใช้สำหรับทาเคลือบเรือเพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้และป้องกันเพรียงทำลาย เป็นต้น
- 4. ใบตะเคียนมีสารแทนนินอยู่ประมาณ 10% โดยน้ำหนักแห้ง ส่วนในเปลือกต้นก็มีสารประกอบนี้อยู่ด้วยเช่นกัน โดยคุณสมบัติของแทนนินที่ได้จากไม้ตะเคียนทองนี้ เมื่อนำมาใช้ฟอกหนังจะช่วยทำให้แผ่นหนังแข็งขึ้นกว่าเดิม จึงเหมาะกับการนำมาใช้เฉพาะงานได้เป็นอย่างดี
- 5. ใช้ปลูกตามป่าหรือตามสวนสมุนไพรเพื่อเป็นไม้บังลม เพื่อให้ร่มเงา และช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เพราะไม้เป็นไม้ไม่ผลัดใบพร้อมกัน จึงเป็นไม้ที่ช่วยรักษาความเขียวได้ตลอดปี ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี
สรรพคุณของตะเคียนทอง
แก้- 1. แก่นมีรสขมอมหวาน มีสรรพคุณช่วยแก้โลหิตและกำเดา (แก่น)
- 2. ช่วยคุมธาตุ (เนื้อไม้)[10] ปิดธาตุ (แก่น,ยาง)
- 3. ช่วยแก้ไข้สัมประชวร หรือไข้ที่เกิดมาจากหลายสาเหตุ และมักมีอาการแสดงที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคล้ำ เป็นต้น (แก่น)
- 4. แก่นไม้ตะเคียน ใช้ผสมกับยารักษาทางเลือดลม กษัย (แก่น)
- 5. ช่วยแก้อาการลงแดง (เปลือกต้น)
- 6. ช่วยขับเสมหะ (แก่น)
- 7. เปลือกต้นนำมาต้มกับเกลือ ใช้อมช่วยป้องกันฟันหลุด เนื่องจากินยาเข้าปรอท (เปลือกต้น)
- 8. ช่วยแก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม (แก่น)
- 9. ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ (เปลือกต้น)
- 10. ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปาก (เปลือกต้น)
- 11. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
- 12. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (แก่น,เนื้อไม้)
- 13. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ยาง)
- 14. ช่วยห้ามเลือด (เปลือกต้น,เนื้อไม้)
- 15. ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)
- 16. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลเรื้อรัง (เปลือกต้น)
- 17. ช่วยแก้อาการอักเสบ (เปลือกต้น,เนื้อไม้)
- 18. ยางใช้ผสมกับน้ำใช้ทารักษาบาดแผล หรือจะทำเป็นยางแห้งบดเป็นผงใช้รักษาบาดแผล
- 19. เปลือกเนื้อไม้มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้ฆ่าเชื้อโรค (เปลือกต้น,เนื้อไม้)
- 20. ยางจากไม้ตะเคียนเมื่อนำมาบดเป็นผง สามารถใช้เป็นยารักษาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น ใช้ทำยาหม่องเพื่อช่วยบรรเทารักษาบาดแผลหรือบริเวณที่มีอาการฟกช้ำตามร่างกาย (ยาง)
- 21. ช่วยรักษาคุดทะราด (แก่น)
- 22. ดอกใช้เข้าในตำรับยาเกสรร้อยแปด ใช้ผสมเป็นยาทิพย์เกสร (ดอก)
- 23. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะเคียนทอง มีข้อมูลระบุว่ามีฤทธิ์แก้แพ้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Ly, V.; Newman, M.F.; Khou, E.; Barstow, M.; Hoang, V.S.; Nanthavong, K.; Pooma, R. (2017). "Hopea odorata". IUCN Red List of Threatened Species. 2017: e.T32305A2813234. doi:10.2305/IUCN.UK.2017-3.RLTS.T32305A2813234.en. สืบค้นเมื่อ 16 November 2021.
- ↑ "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ April 9, 2014.
- ↑ AgroForestryTree Database - Species information
- ↑ 2006 IUCN Red List of Threatened Species เก็บถาวร 2014-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Downloaded on 21 August 2007.
- ↑ สำนักงานหอพรรณไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
- ↑ ตะเคียนทอง ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Hopea odorata
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ตะเคียน ที่วิกิสปีชีส์
- Hopea odorata Roxb.
- Buddha Magic Thai Beliefs in the Nang Ta-Khian Tree Spirit within Hopea Odorata trees
- ตะเคียนทอง เก็บถาวร 2016-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน