จักรพรรดิซา ล็อง
ซา ล็อง (เวียดนาม: Gia Long, 嘉隆) ตรงกับเอกสารไทยเรียกว่า พระเจ้าเวียดนามยาลอง[1] มีพระนามาภิไธยเดิมว่า เหงียน ฟุก อั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, 阮福暎) ตรงกับเอกสารไทยว่า เหงี่วงเพือกอั๋น[2] นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักในพระนาม องเชียงสือ[1] หรือ เจ้าอนัมก๊ก[3] ตามพงศาวดารไทย (8 กุมภาพันธ์ 2305-3 กุมภาพันธ์ 2363) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหงียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม
จักรพรรดิซา ล็อง | |||||
---|---|---|---|---|---|
จักรพรรดิเวียดนาม | |||||
ครองราชย์ | 1 มิถุนายน 2345 – 3 กุมภาพันธ์ 2363 (17 ปี 247 วัน) | ||||
ราชาภิเษก | 1 มิถุนายน 2345 | ||||
ก่อนหน้า | จักรพรรดิกั๋ญ ถิ่ญ (ราชวงศ์เต็ยเซิน) | ||||
ถัดไป | จักรพรรดิมิญ หมั่ง | ||||
ประสูติ | 8 กุมภาพันธ์ 2305 | ||||
สวรรคต | 3 กุมภาพันธ์ 2363 (57 ปี 360 วัน) พระราชวังเมืองเว้ | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์เหงียน | ||||
พระราชบิดา | เหงียน ฟุก ลวน | ||||
พระราชมารดา | เหงียน ถิ ฮหว่าน |
พระราชประวัติ
แก้วัยเยาว์
แก้จักรพรรดิซา ล็องประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1762 พระนามเดิมว่า เหงียน ฟุก อั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, 阮福暎) เป็นบุตรชายคนที่สามของเหงียน ฟุก ลวน (Nguyễn Phúc Luân, 阮福㫻) เอกสารไทยเรียกองคางเบือง (Ông Khương Vương, 翁康王)[4] กับเหงียน ถิ ฮหว่าน (Nguyễn Thị Hoàn, 阮氏環) เอกสารไทยเรียกนางเหงวี่งคางว่างโหว่ (Nguyễn Khang hoàng hậu, 阮康皇后)[5] ซึ่งเหงียน ฟุก ลวนนั้นเป็นบุตรชายของเหงียน ฟุก ควั้ต (Nguyễn Phúc Khoát, 阮福濶) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น จั๊วเหงียน (Chúa Nguyễn, 主阮) หรือเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน ปกครองเวียดนามภาคกลางและภาคใต้จากเมืองฟู้ซวน (Phú Xuân, 富春 เมืองเว้ในปัจจุบัน) โดยขึ้นกับ ฮว่างเด๊ ราชวงศ์เลที่เมืองฮานอยแต่เพียงในนามเท่านั้น เหงียนฟุกควั้ตหมายมั่นจะให้เหงียนฟุกลวนบุตรชายของตนสืบทอดตำแหน่งจั้วเหงียนต่อไป แต่ทว่าเมื่อเหงียนฟุกควั้ตถึงแก่อสัญกรรมลงในค.ศ. 1765 ขุนนางชื่อว่าเจือง ฟุก ลวน (Trương Phúc Loan, 張福巒) ได้ยกน้องชายของเหงียน ฟุก ควั้ต คือเหงียน ฟุก ถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần, 阮福淳) ขึ้นดำรงตำแหน่ง จั๊วเหงียน แทนที่จะเป็นเหงียนฟุกลวนบุตรชายของเหงียน ฟุก ควั้ต เหงียน ฟุก ลวนจึงต้องโทษทางการเมืองถูกจองจำและเสียชีวิตในปีเดียวกัน เหงียน ฟุก อั๊ญจึงจำต้องกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุสามปี
การปกครองของ จั๊วเหงียน เหงียน ฟุก ถ่วน และเจือง ฟุก ล้วนนั้นเต็มไปด้วยการฉ้อราชย์บังหลวง ประชาชนชาวเวียดนามใต้ล้วนความเดือดร้อน จนนำไปสู่กบฏเต็ยเซิน (Tây Sơn, 西山) ใน ค.ศ. 1774 เหงียน ญัก (Nguyễn Nhạc, 阮岳) ผู้นำกบฏเต็ยเซินยกทัพเข้ายึดนครฟู้ซวนได้สำเร็จ สมาชิกตระกูลเหงียนรวมทั้งเหงียน ฟุก อั๊ญหลบหนีไปทางใต้ไปยังเมืองซาดิ่ญ (Gia Định, 嘉定 เมืองไซ่ง่อนในปัจจุบัน) พร้อมกับ จั๊วเหงียน เหงียน ฟุก ถ่วน
สองปีต่อมาใน ค.ศ. 1777 เหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ, 阮惠) ซึ่งเป็นน้องชายของเหงียน ญัก ยกทัพนำกบฏเต็ยเซินติดตามตระกูลเหงียนลงมาจนถึงเมืองซาดิ่ญ และสามารถยึดเมืองซาดิ่ญได้ จั๊วเหงียน เหงียน ฟุก ถ่วน และสมาชิกตระกูลเหงียนเกือบทั้งหมดถูกทัพของเหงียน เหวะสังหารรวมไปถึงพี่ชายของเหงียน ฟุก อั๊ญ เหงียน ฟุก อั๊ญสามารถหลบหนีออกมาจากเมืองซาดิ่ญได้ในขณะนั้นอายุ 15 ปี
ปกครองเมืองไซ่ง่อนในช่วงแรก
แก้หลังจากที่สมาชิกตระกูลเหงียนที่เป็นผู้ชายถูกสังหารไปจนเกือบหมดที่เมืองซาดิ่ญ ทำให้องเชียงสือกลายเป็นสมาชิกตระกูลเหงียนที่อาวุโสที่สุดที่ยังคงเหลือรอดชีวิตอยู่ องเชียงสือพร้อมกับน้องชายคือเหงียน ฟุก มัน (Nguyễn Phúc Mân, 阮福旻) หลบหนีไปยังเมืองห่าเตียน (เมืองบันทายมาศ) อย่างไรก็ตามกบฏเต็ยเซินครองเมืองไซ่ง่อนได้เพียงไม่นาน โด๋ ทัญ เญิน (Đỗ Thanh Nhơn, 杜清仁) ได้ยกกองทัพดงเซิน (Đông Sơn, 東山) เข้าช่วยเหลือฝ่ายตระกูลเหงียน เข้ายึดนครไซ่ง่อนซาดิ่ญคืนจากกบฎเต็ยเซินได้สำเร็จใน ค.ศ. 1778 องเชียงสือเดินทางกลับเข้าเมืองซาดิ่ญเป็นผู้นำของตระกูลเหงียนในการต่อสู้เพื่อคืนอำนาจจากกบฎเต็ยเซิน
ใน ค.ศ. 1780 เหงียน ฟุก อั๊ญ ประกาศตนเป็น จั๊วเหงียน เจ้าญวนใต้ และในปีเดียวกัน นางต๊ง ฟุก ถิ ลาน (Tống Phúc thị Lan, 宋福氏蘭) ภรรยาของเหงียน ฟุก อั๊ญ ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกชื่อว่า เหงียน ฟุก กั๋ญ (Nguyễn Phúc Cảnh, 阮福景)
ใน ค.ศ. 1781 องเชียงสือแกล้งป่วย หลอกล่อให้โด๋ ทัญ เญินมาพบยังที่พักของตน เมื่อโด๋ ทัญ เญินมาพบแล้ว เหงียน ฟุก อั๊ญให้ทหารสังหารโด๋ ทัญ เญิน ด้วยเหตุผลที่ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าโด๋ ทัญ เญินผู้มีชัยชนะเหนือกบฎเต็ยเซินที่เมืองซาดิ่ญอาจเปรียบเสมือนเป็นหอกข้างแคร่สำหรับเหงียน ฟุก อั๊ญ การสังหารโด๋ ทัญ เญินทำให้ฝ่ายตระกูลเหงียนสูญเสียขุนพลผู้มีความสามารถ เปิดโอกาสให้กบฏเต็ยเซินเข้ายึดครองเมืองซาดิ่ญอีกครั้ง
เมื่อเสียเมืองซาดิ่ญให้แก่เต็ยเซินอีกครั้ง เหงียน ฟุก อั๊ญจึงหลบหนีไปยังเกาะฟู้โกว๊ก (Phú Quốc) เจิว วัน เตี๋ยป (Châu Văn Tiếp, 朱文接) ยกทัพยึดเมืองซาดิ่ญมาจากเต็ยเซินและมอบให้แก่เหงียน ฟุก อั๊ญ เหงียน ฟุก อั๊ญกลับเข้าเมืองซาดิ่ญเป็นครั้งที่สามและอยู่ได้เพียงไม่ถึงปีกบฎเต็ยเซินยึดเมืองซาดิ่ญไปได้อีกครั้ง เหงียน ฟุก มันน้องชายของเหงียน ฟุก อั๊ญถูกสังหาร เหงียน ฟุก อั๊ญ และเจิว วัน เตี๋ยปหลบหนีไปยังเกาะฟู้โกว๊ก แต่ทว่าทัพของกบฎเต็ยเซินติดตามมาจนถึงเกาะ ทำให้เหงียน ฟุก อั๊ญต้องหลบหนีต่อไปยังเกาะรง (Koh Rong จังหวัดสีหนุวิลล์ในปัจจุบัน) จนกระทั่งพระยาชลบุรีออกตระเวนสลัดพบกับองเชียงสือที่เกาะกระบือ พระยาชลบุรีได้เชื้อเชิญให้องเชียงสือเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[6] เหงียน ฟุก อั๊ญพร้อมกับมารดา ภรรยา ครอบครัว และเจิว วัน เตี๋ยปจึงเดินทางมาถึงยังกรุงรัตนโกสินทร์ในที่สุด
ลี้ภัยในสยามและความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส
แก้องเชียงสือได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดฯ พระราชทานที่พักให้แก่องเชียงสือบริเวณบ้านต้นสำโรง รวมทั้งพระราชทานเบี้ยหวัดและเครื่องประกอบเกียรติยศต่าง ๆ ให้แก่องเชียงสือ ใน พ.ศ. 2326 (ค.ศ. 1783)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพเรือนำกองทัพเรือสยามเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อนของเต็ยเซิน และให้พระยาวิชิตณรงค์เกณฑ์ทัพกัมพูชาเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อนทางบก องเชียงสือและเจิว วัน เตี๋ยปติดตามไปกับทัพเรือสยามด้วย พระยาวิชิตณรงค์นำทัพกัมพูชาเข้ายึดเมืองซาเด๊ก (Sa Đéc) ได้ ส่วนกรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงนำทัพเรือสยามเข้าไปในคลองวามนาว เหงียนเหวะนำทัพเรือเข้าปิดทางออกคลองวามนาวเพื่อขังทัพเรือสยามไว้ข้างใน แล้วนำทัพเรือเข้าตีกระหนาบสองข้างจนทัพเรือสยามแตกพ่ายไป[7] ทัพเรือของเต็ยเซินได้รับชัยชนะ เรียกว่า การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút) เจิว วัน เตี๋ยปถูกสังหารในที่รบ กรมหลวงเทพหริรักษ์เสด็จไปอยู่กัมพูชาพร้อมกับองเชียงสือ และเสด็จเข้ากรุงเทพฯ ในที่สุด
ในขณะที่พำนักอยู่ที่กรุงรัตนโกสินทร์ องเชียงสือขอความช่วยเหลือจากบาทหลวงปิโญ เดอ เบแอน (Pigneau de Béhaine) เขาได้พบกับบาทหลวงปิโญ เดอ เบแอน ตั้งแต่ครั้งที่หลบหนีไปยังเมืองห่าเตียนใน ค.ศ. 1777 เหงียน ฟุก อั๊ญเห็นว่าวิทยาการทางการทหารของชาวตะวันตกมีความจำเป็นในการกอบกู้ดินแดนเวียดนามคืนจากกบฎเต็ยเซิน เหงียน ฟุก อั๊ญได้ฝากฝังเหงียน ฟุก กั๋ญ บุตรชายของตนแก่บาทหลวงปิโญ เดอ เบแอน
ใน ค.ศ. 1785 บาทหลวงปิโญ เดอ เบแอนพร้อมกับเหงียน ฟุก กั๋ญออกเดินทางจากกรุงรัตนโกสินทร์ทางเรือไปยังเมืองพอนดิเชอร์รี (Pondicherry) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของฝรั่งเศสในอินเดีย เพื่อขอความช่วยเหลือจากทางการอาณานิคมฝรั่งเศสในการกอบกู้เวียดนามคืนให้แก่เหงียน ฟุก อั๊ญ แต่ทว่าทางการอาณานิคมฝรั่งเศสเมืองพอนดิเชอร์รีไม่เห็นด้วยกับการยกกองทัพของฝรั่งเศสเข้าช่วยเหลือเงียน ฟุก อั๊ญ เนื่องจากประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับมีน้อย แต่อนุญาตให้บาทหลวงปิโญ เดอ เบเอน เดินทางไปยังเมืองแวร์ซายเพื่อขอความช่วยเหลือจากราชสำนักฝรั่งเศสโดยตรง
บาทหลวงปิโญ เดอ เบเอนพร้อมกับเหงียน ฟุก กั๋ญออกเดินทางจากปอนดิเชอรีใน ค.ศ. 1786 และถึงยังนครแวร์ซายใน ค.ศ. 1787 ราชสำนักฝรั่งเศสร่วมลงนามกับบาทหลวงปิโญ เดอ เบเอนในฐานะตัวแทนของเหงียน ฟุก อั๊ญ ตกลงที่จะส่งกองทัพเรือและทหารเข้าช่วย เรียกว่า สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles) โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ เมื่อเหงียน ฟุก อั๊ญกอบกู้บ้านเมืองได้แล้ว จะต้องยกเมืองท่าดานังและเกาะกนด๋าว (Côn Đảo) ให้แก่ฝรั่งเศส
บาทหลวงปิโญ เดอ เบแอนพร้อมทั้งเหงียน ฟุก กั๋ญ นำทัพเรือฝรั่งเศสมาถึงเมืองปอนดิเชอรีใน ค.ศ. 1788 ทว่าทางการอาณานิคมที่พอนดิเชอร์รีปฏิเสธที่จะให้ทัพเรือหลวงฝรั่งเศสเข้าร่วมรบในเวียดนาม บาทหลวงปิโญ เดอ เบเอนจึงจำต้องใช้เงินที่เรี่ยไรมาได้จากฝรั่งเศสทำการต่อเรือและจ้างทหารสร้างกองทัพขึ้นมาเอง ขุนพลเรือชาวฝรั่งเศสที่เข้าร่วมทัพของบาทหลวงปิโญ เดอ เบแอน ได้แก่ ฌ็อง บาติสต์ แชโญ (Jean-Baptiste Chaigneau) ฟิลิป วานีเย (Phillippe Vannier) และฌ็อง มารี ดาโย (Jean-Marie Dayot)
เหตุการณ์ทางฝั่งเวียดนามใน ค.ศ. 1778 เหงียน ญัคผู้นำกบฎเต็ยเซินปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิไท้ ดึ๊ก (Thái Đức, 泰德) แห่งราชวงศ์เต็ยเซิน ใน ค.ศ. 1786 เหงียน เหวะ พระอนุชาในจักรพรรดิไท้ ดึ๊ก ยกทัพเต็ยเซินขึ้นทางเหนือและเข้ายึดนครทังล็องจาก จั๊วจิ่ญ (Chúa Trịnh) หรือเจ้าญวนเหนือได้สำเร็จ ราชวงศ์เต็ยเซินสามารถรวบรวมเวียดนามเหนือใต้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์เล แต่ไม่นานจากนั้นเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในระหว่างสองพี่น้องเต็ยเซิน ระหว่างพระจักรพรรดิไท้ดึ้กและพระอนุชาเหงียน เหวะ
ใน ค.ศ. 1788 เหงียน เหวะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิกวาง จุง (Quang Trung, 光中) ที่เมืองกวีเญิน (Quy Nhơn) องเชียงสือเห็นเป็นโอกาสที่สมควรแก่การเข้ากอบกู้เวียดนามคืนจากราชวงศ์เต็ยเซิน ทางฝ่ายสยามติดพันกับสงครามกับพม่าในช่วงสงครามเก้าทัพจึงไม่สามารถช่วยเหลือองเชียงสือได้อย่างเต็มที่ องเชียงสือจึงลักลอบเดินทางออกจากกรุงรัตนโกสินทร์ใน ค.ศ. 1788 โดยทิ้งจดหมายขอพระราชทานอภัยโทษไว้ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงทราบว่าองเชียงสือหลบหนีออกไป ก็ทรงยกเรือพระที่นั่งติดตามองเชียงสือไปด้วยพระองค์เองแต่ไม่ทัน[8] องเชียงสือยกทัพเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จ และเข้าปกครองเมืองไซ่ง่อนอีกครั้งในปีเดียวกัน
ปกครองเมืองไซ่ง่อนในช่วงหลัง
แก้เมื่อได้ปกครองเมืองซาดิ่ญหรือเมืองไซ่ง่อนอีกครั้ง เหงียน ฟุก อั๊ญจัดระเบียบกองทัพและปรับปรุงป้อมปราการเสียใหม่ กองทัพเรือฝรั่งเศสนำโดยบาทหลวงปิโญ เดอ เบแอน และเหงียน ฟุก กั๋ญ เดินทางมาถึงยังเมืองไซ่ง่อนใน ค.ศ. 1789 เหงียน ฟุก อั๊ญจึงมีกองทัพเรือฝรั่งเศสและขุนพลเรือฝรั่งเศสไว้ในครอบครอง โอลิวิเย เดอ ปีมาเนล (Olivier de Puymanel) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ออกแบบและก่อสร้างป้อมปราการเมืองไซ่ง่อนตามแบบป้อมปราการของยุโรป รวมทั้งให้ชาวเวียดนามเรียนรู้การต่อเรือปืนใหญ่แบบตะวันตก โดยที่เหงียนฟุกอั๊ญคอยสังเกตการณ์ต่อเรือตะวันตกด้วยตนเอง
ใน ค.ศ. 1792 พระจักรพรรดิกวาง จุง หรือเหงียน เหวะแห่งราชวงศ์วงศ์เต็ยเซินสวรรคต โอรสของจักรพรรดิกวาง จุงขึ้นครองราชย์สมบัติต่อมาเป็นจักรพรรดิเหงียน กวาง ตว๋าน (Nguyễn Quang Toản, 阮光纘) ซึ่งมีพระชนมมายุเพียงแค่สิบชันษา ทำให้ราชวงศ์เต็ยเซินอ่อนแอลง เหงียนฟุกอั๊ญมอบหมายให้เหงียน ฟุก กั๋ญบุตรชายของตนยกทัพผสมเวียดนามและฝรั่งเศสเข้ารุกรานเมืองกวีเญินอันเป็นราชธานีของราชวงศ์เต็ยเซิน โดยอาศัยลมในฤดูมรสุมช่วยพลักดันให้ทัพเรือของฝ่ายตระกูลเหงียนเข้าโจมตีเมืองกวีเญิน
ใน ค.ศ. 1794 เหงียน ฟุก อั๊ญมีคำสั่งให้เดอปีมาเนลสร้างป้อมปราการขึ้นที่เมืองเซียนคั้ญ (Diên Khánh) ใกล้กับเมืองกวีเญินไว้สำหรับเป็นที่พักทัพเรือของฝ่ายเหงียนเพื่อที่ไม่ต้องยกทัพเรือกลับเมืองไซ่ง่อนเมื่อหมดฤดูมรสุม ในระหว่างการโจมตีเมืองกวีเญินในปี ค.ศ. 1799 บาทหลวงปิโญ เดอ เบแอน ได้ล้มป่วยเสียชีวิตลง สร้างความเศร้าโศกแก่เหงียน ฟุก อั๊ญอย่างมากเนื่องจากบาทหลวงปีโญทำคุณประโยชน์ให้แก่ฝ่ายตระกูลเหงียนไว้นานับประการ
ใน ค.ศ. 1800 เหงียน ฟุก กั๋ญผู้เป็นบุตรชายสามารถเข้ายึดเมืองกวีเญินอันเป็นราชธานีของราชวงศ์เต็ยเซินได้ และในปีต่อมาใน ค.ศ. 1801 เหงียน ฟุก อั๊ญเข้ายึดเมืองฟู้ซวนอันเป็นเมืองเกิดของตนเองได้สำเร็จ จักรพรรดิเหงียนกวางตว๋านเสด็จหนีไปยังเมืองทังล็อง นับตั้งแต่อายุ 15 ปี ที่เหงียน ฟุก อั๊ญเดินทางหลบหนีออกจากเมืองฟู้ซวน จนสามารถกลับเข้ามายังเมืองฟู้ซวนได้อีกครั้งเมื่ออายุ 39 ปี
เหงียน ฟุก อั๊ญปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็น ฮว่างเด๊ หรือ พระจักรพรรดิ เป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหงียนที่เมืองฟู้ซวน ประกาศใช้รัชศก "ซา ล็อง" (Gia Long, 嘉隆) มาจากชื่อเมืองสองเมืองได้แก่ เมืองซาดิ่ญ (ไซ่ง่อน) และเมืองทังล็อง (ฮานอย) มีความหมายว่ารวมแผ่นดินเวียดนามตั้งแต่เหนือจรดใต้ไว้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน ท่ามกลางความสำเร็จเหล่านี้ เหงียน ฟุก กั๋ญ พระโอรสของพระจักรพรรดิซา ล็อง ประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยโรคฝีดาษในปีเดียวกัน ปีต่อมาใน ค.ศ. 1802 จักรพรรดิซา ล็องทรงยกทัพขึ้นทางเหนือเข้ายึดเมืองทังล็องได้ และปลงพระชนม์พระจักรพรรดิเหงียนกวางตว๋านแห่งราชวงศ์เต็ยเซิน เป็นการสิ้นสุดการกบฎเต็ยเซินและราชวงศ์เต็ยเซินลงไปในที่สุด จักรพรรดิซา ล็องทรงรับเจ้าหญิงเล หง็อก บิ่ญ (Lê Ngọc Bình, 黎玉萍) พระธิดาในจักรพรรดิเล เหียน ตง (Lê Hiển Tông, 黎顯宗) มาเป็นพระชายา
ในช่วงที่เหงียน ฟุก อั๊ญปกครองเมืองไซ่ง่อน ได้แต่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เป็นจำนวนห้าครั้ง ได้แก่ พ.ศ. 2331, 2333, 2336, 2338 และ 2340
รัชสมัย
แก้ในสมัยราชวงศ์ก่อนหน้าทั้งหลายของเวียดนาม มีราชธานีอยู่ที่เวียดนามภาคเหนือโดยเฉพาะเมืองฮานอย แต่ในรัชสมัยของพระจักรพรรดิซา ล็องทรงรวบรวมเวียดนามได้หมดตั้งแต่เหนือจรดใต้ จึงทรงเลือกเมืองฟู้ซวนหรือเมืองเว้ซึ่งตั้งอยู่ในเวียดนามภาคกลางเป็นราชธานี เพื่อให้สะดวกในการปกครองประเทศ เมื่อปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระจักรพรรดิซา ล็องได้ทรงแต่งทุตานุทูตไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและขอพระราชทานการรับรองจากพระจักรพรรดิเจียชิ่งแห่งราชวงศ์ชิง โดยพระจักรพรรดิซา ล็องทรงทูลขออนุญาตเปลี่ยนชื่อประเทศจากเดิมชื่อว่า "ดั่ยเหวิยด" (Đại Việt, 大越) เปลี่ยนเป็น "นัมเหวิยด" (Nam Việt, 南越) พระจักรพรรดิเจียชิ่งไม่โปรดชื่อนัมเวียต จึงมีพระราชโองการให้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "เหวิยดนัม" (Việt Nam, 越南) จนนำไปสู่ชื่อของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
พระจักรพรรดิซา ล็องทรงปูนบำเหน็จขุนนางต่างที่ได้เคยช่วยเหลือพระองค์ในการกอบกู้ประเทศ โดยเฉพาะขุนนางชาวฝรั่งเศส ได้แก่ ฟิลิป วานีเย และฌ็อง-บาติสต์ แชโญ ซึ่งพระจักรพรรดิซา ล็องพระราชทานไพร่พลให้แก่ขุนนางฝรั่งเศสสองคนนี้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางการอาณานิคมฝรั่งเศสไม่อนุญาตให้ทัพเรือหลวงฝรั่งเศสเข้าช่วยกอบกู้เวียดนาม (กองทัพฝรั่งเศสที่มาถึงนั้นเป็นกองทัพที่บาทหลวงปีโญเรี่ยไรจัดจ้างขึ้นเอง) พระจักรพรรดิซา ล็องจึงมิได้ทรงยกดินแดนส่วนใดให้แก่ฝรั่งเศส
เนื่องจากราชวงศ์เต็ยเซินได้พยายามลดอิทธิพลของลัทธิขงจื้อในเวียดนามลง พระจักรพรรดิซา ล็องจึงทรงดำเนินนโยบายที่ตรงข้ามกันคือทรงส่งเสริมลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติของเวียดนาม เฉกเช่นเดียวกับในสมัยราชวงศ์เล ทรงก่อตั้งโกว๊กตื๋อซ้าม (Quốc Tử Giám, 國子監) หรือราชบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นที่เมืองฟู้ซวนใน ค.ศ. 1803 มีไว้เพื่อให้บัณฑิตต่าง ๆ จากทั่วประเทศเข้ามาศึกษาหลักปรัชญาของลัทธิขงจื้อ ใน ค.ศ. 1807 จักรพรรดิซา ล็องมีพระราชโองการให้จัดการสอบจอหงวนเพื่อคัดเลือกบัณฑิตเข้ารับราชการเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์เหงียน
จักรพรรดิซา ล็องมีพระราชโองการให้ซินแสค้นหาชัยภูมิที่ดีในการสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่เมืองเว้ฟู้ซวน เริ่มสร้างพระราชวังเมืองเว้ หรือ ฮว่างถ่าญ (Hoàng thành, 皇城) ขึ้นใน ค.ศ. 1804 ตามแบบพระราชวังต้องห้ามของจีน ฮว่างถ่าญเป็นพระราชวังใหม่อันจะเป็นที่ประทับของฮว่างเด๊และพระราชวงศ์ไปจนตลอดสมัยราชวงศ์เหงียน
ทางด้านการปกครอง พระจักรพรรดิซา ล็องแม้ว่าจะทรงรวมเวียดนามไว้ทั้งหมดแต่มิได้ทรงรวบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางแต่เพียงอย่างเดียว พระจักรพรรดิซา ล็องทรงมีอำนาจปกครองโดยตรงเฉพาะในเวียดนามภาคกลางเท่านั้น ในเวียดนามภาคเหนือและเวียดนามภาคใต้ทรงแต่งตั้งข้าหลวงไปปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งข้าหลวงเหล่านั้นมีอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ในพื้นที่ของตน ในเวียดนามภาคเหนือทรงแต่งตั้ง บั๊กถ่าญ (Bắc Thành) ไปปกครองที่เมืองฮานอย และในเวียดนามภาคใต้ทรงแต่งตั้ง ซาดิ่ญถ่าญ (Gia Định Thành) ไปปกครองที่เมืองไซ่ง่อน
เหงียน ฟุก กั๋ญ พระโอรสองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ ค.ศ. 1801 ตามหลักของลัทธิขงจื้อ ซึ่งเน้นเรื่องการสืบทอดจากบิดาไปสู่บุตรชายเท่านั้น สิทธิ์ในการสืบทอดราชสมบัติจึงควรจะเป็นของเจ้าชายเหงียนฟุกหมีเดื่อง (Nguyễn Phúc Mỹ Đường) ซึ่งเป็นพระโอรสของเหงียน ฟุก กั๋ญ แต่เจ้าชายเหงียนฟุกหมีเดื่องนั้นยังทรงพระเยาว์ พระจักรพรรดิซา ล็องทรงเกรงว่าหากเจ้าชายเหงียนฟุกหมีเดื่องได้ราชสมบัติราชสำนักราชวงศ์เหงียนจะตกอยู่ภายใต้อำนาจขุนนางใหญ่ อีกทั้งสายเชื้อวงศ์ของเหงียน ฟุก กั๋ญมีความนิยมในคริสต์ศาสนาและอารยธรรมตะวันตก เหงียน ฟุก กั๋ญเมื่อเสด็จนิวัติเวียดนามแม้จะมิได้ทรงเข้ารีตศาสนาคริสต์แต่ทรงปฏิเสธที่จะเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พระจักรพรรดิซา ล็องซึ่งทรงส่งเสริมลัทธิขงจื้อจึงทรงไม่ไว้วางพระทัย ทรงโปรดเจ้าชายเหงียนฟุกด๋าม (Nguyễn Phúc Đảm, 阮福膽) พระโอรสองค์ที่สี่ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพ เจ้าชายเหงียนฟุกด๋ามมีความยึดมั่นในลัทธิขงจื้อ จักรพรรดิซา ล็องจึงทรงมีพระประสงค์ให้เจ้าชายเหงียนฟุกด๋ามสืบทอดราชสมบัติต่อไป
ในช่วงปลายรัชสมัย ขุนนางใหญ่ในราชสำนักเมืองเว้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สนับสนุนเหงียน ฟุก หมี เดื่อง นำโดยเหงียน วัน ถ่าญ (Nguyễn Văn Thành, 阮文誠) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นบั๊กถ่าญ และกลุ่มที่สนับสนุนเหงียน ฟุก ด๋าม นำโดยขันทีเลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นซาดิ่ญถ่าญเมื่อ ค.ศ. 1812
ใน ค.ศ. 1815 บุตรชายของเหงียน วัน ถ่าญแต่งกลอนสนับสนุนเหงียน ฟุก หมี เดื่องให้เป็นเจ้าชายรัชทายาท เลวันเสวียตเมื่อทราบจึงนำบทกลอนนั้นไปถวายแด่จักรพรรดิซา ล็อง จักรพรรดิซา ล็องพิโรธและทรงพระราชอาญาประหารชีวิตบุตรชายของเหงียน วัน ถ่าญใน ค.ศ. 1817 ส่วนเหงียน วัน ถ่าญ ดื่มยาพิษกระทำอัตวินิบาตกรรมเสียชีวิต[9] หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้เลวันเสวียตกลายเป็นขุนนางผู้มีอำนาจมากที่สุดในเวียดนาม พระจักรพรรดิซา ล็องทรงแต่งตั้งเหงียน ฟุก ด๋ามให้เป็น ท้ายตื๋อ (Thái Tử, 太子) หรือเจ้าชายรัชทายาทเมื่อค.ศ. 1815
จักรพรรดิซา ล็องเสด็จสวรรคต ณ พระราชวังเมืองเว้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2363 ขณะพระชนม์ได้ 57 พรรษาหรือ 5 วันก่อนพระชนม์ครบ 58 พรรษา พระสุสานพระนามว่า เทียนโถะลัง (Thiên Thọ Lăng, 天授陵) พระยุพราชเหงียน ฟุก ด๋าม ขึ้นครองราชสมบัติต่อมาเป็นจักรพรรดิมิญ หมั่ง
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 168
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 68
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๙๕. เจ้าอนัมก๊กได้เมืองญวนและตั้งตัวเป็นพระเจ้ากรุงเวียตนามยาลอง". พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1.
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 67
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 66
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๑๐. องเชียงสือญวนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร". พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1.
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๑๙. ทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ไปตีเมืองไซ่ง่อน". พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1.
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๔๓. องเชียงสือหนีจากกรุงเทพฯ". พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1.
- ↑ K. W. Taylor. A History of the Vietnamese. Cambridge University Press, 9 พ.ค. 2556
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สุเจน กรรพฤทธิ์. (2562, มกราคม). ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป “องเชียงสือ” ในหลักฐานเวียดนาม. ศิลปวัฒนธรรม 40(3): 64-79.
- สุเจน กรรพฤทธิ์. (2560). ความสัมพันธ์เวียดนาม-สยามในเอกสารยุคต้นราชวงศ์เหงวียน ปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19. วิทยานิพนธ์ อ.ม. (ประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ถ่ายเอกสาร.
ก่อนหน้า | จักรพรรดิซา ล็อง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สถาปนาราชวงศ์ | สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม (เหงียน) (ค.ศ. 1802 – 1820) |
สมเด็จพระจักรพรรดิมิญ หมั่ง |