คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
คาโรลีเนอ อมาเลีย เอลีซาเบ็ท แห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล (เยอรมัน: Caroline Amalie Elisabeth von Braunschweig-Wolfenbüttel) ทรงเป็นเจ้าหญิงเยอรมันซึ่งอภิเษกเข้าสู่พระราชวงศ์อังกฤษ คาโรลีเนอเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1768 ที่เบราน์ชไวค์ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระธิดาของคาร์ล วิลเฮล์ม แฟร์ดีนันด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล กับเจ้าหญิงออกัสตาแห่งบริเตนใหญ่ (พระขนิษฐาองค์โตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3) คาโรลีเนอเป็นพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1820 จนเสด็จสวรรคตเมื่อ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1821 ที่ลอนดอน อังกฤษ พระบรมศพตั้งอยู่ที่มหาวิหารเบราน์ชไวค์
คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร และฮันโนเฟอร์ | |||||
ดำรงพระยศ | 29 มกราคม ค.ศ. 1820 – 7 สิงหาคม ค.ศ. 1821 | ||||
ก่อนหน้า | ชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ | ||||
ถัดไป | อาเดิลไฮท์แห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน | ||||
พระราชสมภพ | 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1768 เบราน์ชไวค์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ | ||||
สวรรคต | 7 สิงหาคม ค.ศ. 1821 ลอนดอน ประเทศอังกฤษ | (53 ปี)||||
ฝังพระศพ | 25 สิงหาคม ค.ศ. 1921 มหาวิหารเบาวน์ชไวค์ | ||||
คู่อภิเษก | ใน สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร | ||||
| |||||
พระบุตร | เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ | ||||
ราชวงศ์ |
| ||||
พระบิดา | คาร์ล วิลเฮ็ล์ม แฟร์ดีนันท์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ | ||||
พระมารดา | เจ้าหญิงออกัสตาแห่งบริเตนใหญ่ | ||||
ลายพระอภิไธย |
การหมั้นหมาย
แก้ในปี ค.ศ. 1794 คาโรลีเนอก็ทำการการหมั้นหมายกับพระญาติเจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ ผู้เป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทั้งสองพระองค์ไม่เคยทรงพบปะกันมาก่อนหน้านั้น เจ้าชายจอร์จทรงยอมตกลงที่จะเสกสมรสกับคาโรลีเนอเพราะทรงมีหนี้สินล้นพระองค์ ฉะนั้นถ้าทรงทำสัญญาเสกสมรสกับเจ้าหญิงผู้มีฐานะดีทางรัฐสภาก็จะอนุมัติเบี้ยเลี้ยงให้พระองค์เพิ่มขึ้น คาโรลีเนอดูเหมือนจะเป็นสตรีที่เหมาะสมเพราะทรงมีกำเนิดในราชตระกูลและทรงถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ นอกจากนั้นแล้วการเสกสมรสก็ยังเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างเบราน์ชไวค์และบริเตน แม้ว่าเบราน์ชไวค์จะเป็นเพียงอาณาจักรที่ไม่ใหญ่โตนักแต่บริเตนอยู่ในระหว่างสงครามกับฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศสจึงมีความต้องการที่จะหาพันธมิตรบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1794, เจมส์ แฮร์ริส เอิร์ลแห่งมาล์มสบรีที่ 1 ก็เดินทางไปยังเบราน์ชไวค์เพื่อไปนำคาโรลีเนอมายังบริเตน[1] ในอนุทินมาล์มสบรีบันทึกถึงความวิตกเกี่ยวกับความเหมาะสมระหว่างคาโรลีเนอและเจ้าชายจอร์จว่าคาโรลีเนอทรงขาดคุณสมบัติในด้านการควรไม่ควร, ไม่ทรงมีกิริยาและมารยาททางสังคมอันเหมาะสม, ตรัสโดยไม่คิด, ทรงปฏิบัติพระองค์นอกขอบเขต และ ไม่ทรงรักษาความสะอาดเช่นไม่ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ที่ไม่สะอาด[2] และกล่าวต่อไปว่าคาโรลีเนอ "ไม่ทรงมีจริยธรม และ ไม่ทรงมีสัญชาตญาณต่อคุณค่าและความจำเป็น[ของจริยธรรม]"[3] แต่มาล์มสบรีมีความประทับใจในความเด็ดเดี่ยวของพระองค์ ระหว่างการเดินทางกลับอังกฤษคณะผู้เดินได้ยินเสียงปืนใหญ่เพราะเส้นทางที่ใช้ไม่ไกลจากแนวรบเท่าใดนัก ขณะที่พระมารดาของคาโรลีเนอมีความวิตกกังวลถึงความปลอดภัยไปต่างๆ นานา แต่คาโรลีเนอดูเหมือนไม่ทรงจะเดือดร้อนไปกับเหตุการณ์เท่าใดนัก[4]
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1795 คาโรลีเนอและมาล์มสบรีก็ออกจากคุกซ์ฮาเฟนโดย เรือรบหลวงจูปิเตอร์ เรือมาถึงฝั่งอังกฤษที่กรีนิชเมื่อวันอาทิตย์อีสเตอร์ที่ 5 เมษายนหลังจากที่ล่าไปเพราะสภาวะอากาศ ผู้ที่ไปต้อนรับคือฟรานซ์ส วิลเลียรส์ เคานเทสแห่งเจอร์ซีพระสนมในเจ้าชายจอร์จผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ห้องพระบรรทมของคาโรลีเนอ[5] เฮนรี วาซซาล-ฟ็อกซ์ บารอนฮอลแลนด์ที่ 3 กล่าวว่าอาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกแห่งเวลลิงตัน อ้างว่าเลดี้เจอร์ซีเองเป็นผู้เลือกคาโรลีเนอให้เป็นเจ้าสาวของเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเวลลิงตันกล่าวว่าเลดี้เจอร์ซีเลือกสตรีที่ "มีกิริยามารยาทที่ขาดความเหมาะสม บุคลิกที่ไม่มีอะไรเด่น และ หน้าตาที่เรียบ เพื่อหวังให้เจ้าชายจอร์จรังเกียจพระชายาและสร้างความมั่นคงให้กับการเป็นพระสนมต่อไป"[6]
เมื่อได้ทรงพบปะกับคาโรลีเนอเป็นครั้งแรกเจ้าชายจอร์จก็ทรงเรียกขอบรั่นดีแก้วหนึ่ง คงจะเป็นเพราะทรงผิดหวังในตัวผู้ที่จะมาเป็นเจ้าสาวในอนาคต ขณะเดียวกันคาโรลีเนอก็ตรัสกับมาล์มสบรีว่า "[เจ้าชายจอร์จ]ทรงอ้วนมากและไม่ทรงเหมือนกับภาพเหมือนที่ได้เห็น"[7] ระหว่างพระกระยาหารค่ำวันนั้นเจ้าชายจอร์จก็ทรงตกพระทัยในกิริยาและการเหน็บแนมเลดี้เจอร์ซีของคาโรลีเนอ และคาโรลีเนอก็ทรงท้อพระทัยและผิดหวังเมื่อเจ้าชายจอร์จทรงลำเอียงไปทางเลดี้เจอร์ซีอย่างเห็นได้ชัด[8]
ชีวิตการสมรสอันไม่ราบรื่น
แก้คาโรลีเนอและเจ้าชายจอร์จทรงเสกสมรสกันเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1795 ที่ชาเปลหลวงที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน เจ้าชายจอร์จทรงเมามายระหว่างพระพิธี และมีพระดำริว่าคาโรลีเนอทรงเป็นสตรีที่ไม่มีเสน่ห์และสกปรก และตรัสกับมาล์มสบรีว่าพระองค์ทรงมีความสงสัยว่าคาโรลีเนอมิได้เป็นสตรีที่ยังทรงพรหมจารีย์[9] แต่พระองค์เองก็มิได้มีความบริสุทธิ์เพราะทรงได้ทำการเสกสมรสอย่างลับๆ กับมาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต แต่การเสกสมรสดังกล่าวละเมิดพระราชบัญญัติการเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษ ค.ศ. 1772 ซึ่งทำให้การเสกสมรสดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมาย[10]
จากบันทึกการติดต่อของเจ้าชายจอร์จเปิดเผยว่าทรงมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคาโรลีเนอเพียงสามครั้ง สองครั้งในคืนวันเสกสมรส และ อีกครั้งหนึ่งในวันที่สอง[10] ในการมีความสัมพันธ์ทางเพศเจ้าชายจอร์จทรงบันทึกว่าพระองค์ "ต้องใช้ความพยายามพอสมควรที่จะเอาชนะความรังเกียจในตัว[คาโรลีเนอ]"[11] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ออกัสตาแห่งเวลส์ผู้เป็นพระราชธิดาองค์เดียวเกิดจากความสัมพันธ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1796 ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีสิทธิเป็นลำดับที่สองของลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ จากนั้นเจ้าชายจอร์จและคาโรลีเนอก็มิได้ดำรงชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยา และจะปรากฏพระองค์แยกกันในที่สาธารณะ และทั้งสองพระองค์ต่างก็ทรงมีชู้รัก คาโรลีเนอทรงได้รับสมญานามว่า 'พระราชินีผู้ไร้จริยธรรม' กล่าวกันว่าการเสกสมรสเป็นไปอย่างไม่สะดวกใจเพราะความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายจอร์จและเลดี้เจอร์ซี แต่ก็อาจจะเป็นได้ว่าคาโรลีเนอเองก็แทบจะไม่มีความสนพระทัยต่อพระสวามี ซึ่งทำให้ไม่มีความสนใจในความสัมพันธ์ของพระองค์กับสตรีคนใด
สามวันหลังจากการประสูติของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ออกัสตา เจ้าชายจอร์จก็ทรงพินัยกรรมใหม่ โดยทรงทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ "มาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต, ผู้เป็นภรรยาของข้าพเจ้า" และทิ้งเงินหนึ่งชิลลิงให้แก่คาโรลีเนอ[12] หนังสือพิมพ์อ้างว่าเลดี้เจอร์ซีทำการเปิด อ่าน และ แจกจ่ายพระสาส์นส่วนพระองค์ของคาโรลีเนอ[13] คาโรลีเนอทรงชิงชังเลดี้เจอร์ซีและไม่ทรงสามารถที่จะเดินทางได้โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากพระสวามี[14] หนังสือพิมพ์สร้างภาพพจน์ของเจ้าชายจอร์จว่าทรงใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างการสงคราม และ คาโรลีเนอว่าเป็นภรรยาผู้ถูกปฏิบัติด้วยอย่างขาดความเป็นธรรม[15] คาโรลีเนอเป็นที่นิยมของสาธารณชนเพราะทรงเป็นผู้ที่ไม่มีพิธีรีตอง[11] ซึ่งทำให้เจ้าชายจอร์จทรงชิงชังในความนิยมของประชาชนในตัวพระชายา และ ความไม่เป็นที่นิยมของประชาชนในตัวพระองค์เอง และทรงมีความรู้สึกเหมือนติดกับในชีวิตการเสกสมรสอันปราศจากความรักกับสตรีที่ทรงชิงชัง พระองค์จึงทรงต้องการที่จะแยกกันอยู่[16]
เจ้าหญิงแห่งเวลส์
แก้คาโรลีเนอย้ายไปประทับที่ประทับส่วนพระองค์ที่ชาร์ลตันและต่อมาที่คฤหาสน์มองตากิวที่เป็นคฤหาสน์ของเอิร์ลแห่งแซนด์วิชที่แบล็คฮีธทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน เมื่อไม่ทรงต้องอยู่ในกรอบของพระสวามีหรือตามข่าวเล่าลือว่าในกรอบของพันธสัญญาของการสมรส คาโรลีเนอก็ทรงจัดการเลี้ยงผู้ใดก็ได้ที่โปรด[17] พระองค์ตรัสหยอกล้อกับนายพลเรือซิดนีย์ สมิธ และกัปตัน ทอมัส แมนบีย์ และอาจจะทรงมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองจอร์จ แคนนิง[18]
พระธิดาเจ้า หญิงชาร์ลอตต์ตกอยู่ในความดูแลของครูพี่เลี้ยงในคฤหาสน์ไม่ไกลจากคฤหาสน์มองตากิวที่คาโรลีเนอมักจะเสด็จไปเยี่ยม[19] การมีพระธิดาเพียงพระองค์เดียวดูเหมือนจะไม่พอเพียง คาโรลีเนอทรงรับอุปการะเด็กยากจนอีกแปดหรือเก้าคน ที่ทรงส่งไปให้คนดูแลเลี้ยงดูแทนในดิสตริคท์ที่ประทับ[20] ในปี ค.ศ. 1802 พระองค์ทรงรับเลี้ยงวิลเลียม ออสตินผู้มีอายุเพียงสามเดือนครึ่ง และทรงนำเข้ามาพำนักในที่ประทับ มาในปี ค.ศ. 1805 คาโรลีเนอก็ทรงมีเรื่องกับเซอร์จอห์นและเลดี้ดักกลาสผู้เป็นเพื่อนบ้านผู้อ้างว่าพระองค์ทรงส่งจดหมายหยาบคายไปรังควาน เลดี้ดักกลาสกล่าวหาคาโรลีเนอว่าทรงมีชู้ และกล่าวว่าวิลเลียม ออสตินเป็นพระโอรสนอกสมรสของคาโรลีเนอ[21]
ในปี ค.ศ. 1806 ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการลับที่เรียกว่า "การสืบสวนเรื่องละเอียดอ่อน" (Delicate Investigation) เพื่อสอบสวนข้ออ้างของเลดี้ดักกลาส คณะกรรมการประกอบด้วยผู้มีความสำคัญระดับชาติสี่คนที่รวมทั้ง: นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร วิลเลียม เกรนวิลล์ บารอนเกรนวิลล์ที่ 1, ลอร์ดชานเซลเลอร์ ทอมัส เอิร์สคิน บารอนเอิร์สคินที่ 1, ประธานยุติธรรมสูงสุดแห่งอังกฤษและเวลส์ เอ็ดเวิร์ด ลอว์ บารอนเอลเลนโบโรห์ที่ 1 และ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย จอร์จ สเป็นเซอร์ เอิร์ลสเป็นเซอร์ที่ 2 เลดี้ดักกลาสให้การว่าคาโรลีเนอเองทรงยอมรับต่อตนเองในปี ค.ศ. 1802 ว่าทรงพระครรภ์ และวิลเลียม ออสตินเป็นพระโอรสของพระองค์[22] และกล่าวต่อไปว่าคาโรลีเนอทรงมีกิริยาอันหยาบคายต่อพระราชองค์ ทรงแตะต้องตนเองอย่างไม่เหมาะไม่ควรทางเพศ และ ยอมรับว่าสตรีผู้ใดที่เป็นมิตรดีกับชายก็เชื่อได้ว่าจะกลายเป็นคนรักของชายผู้นั้น[22] นอกจากสมิธ, แมนบีย์ และแคนนิงแล้ว, ทอมัส ลอว์เร็นซ์ และเฮนรี ฮูดก็ถูกกล่าวหาว่าอาจจะมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้รักกับพระองค์ คนรับใช้ของคาโรลีเนอไม่สามารถยืนยันหรือไม่ยอมยืนยันว่าบุคคลเหล่านี้เป็นชู้รัก หรือเรื่องการมีครรภ์ของคาโรลีเนอ และกล่าวว่าวิลเลียม ออสตินได้รับการนำมามอบให้แก่พระองค์โดยโซเฟีย ออสตินมารดาของเด็กเอง โซเฟีย ออสตินถูกเรียกตัวมาให้การและยืนยันว่าเด็กเป็นลูกของตนเอง[23] คณะกรรมการตัดสินว่าข้อกล่าวหา "ไม่มีมูล" และแม้ว่าจะเป็นการสืบสวนลับแต่ก็ไม่อาจที่จะป้องกันข่าวซุบซิบจากการแพร่ขยายออกไป ข่าวการสืบสวนจึงรู้ไปถึงหนังสือพิมพ์ในที่สุด[24] การปฏิบัติตนของคาโรลีเนอต่อสุภาพบุรุษถือกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากการกล่าวล้อเลียนระหว่างชายและหญิง คาโรลีเนออาจจะทรงโพล่งไปว่าทรงครรภ์ตามประสาของความโผงผางของพระองค์ แต่ผลที่ตามมาเป็นเรื่องที่ทำให้ทรงเสียชื่อเสียง[23] ต่อมาในปีนั้นคาโรลีเนอก็ได้รับข่าวร้ายว่าเบราน์ชไวค์ถูกรุกรานโดยฝรั่งเศส และพระราชบิดาถูกสังหารในยุทธการเยนา-เออร์ชตัดท์ คาโรลีเนอมีพระประสงค์ที่จะหนีจากบริเตนและเสด็จกลับเบราน์ชไวค์แต่เมื่อแผ่นดินใหญ่ยุโรปส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส พระองค์จึงไม่ทรงมีที่ปลอดภัยที่จะเสด็จไปได้[25]
เมื่อมาถึงปลายปี ค.ศ. 1811 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ก็ทรงมีอาการเสียพระสติอย่างถาวร เจ้าชายจอร์จจึงทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์ทรงจำกัดการเยี่ยมเยือนเจ้าหญิงชาร์ลอตของคาโรลีเนอ ซึ่งทำให้คาโรลีเนอกลายเป็นผู้ที่ขาดการติดต่อทางสังคมมากยิ่งขึ้น เมื่อชนชั้นสูงในสังคมหันมาร่วมงานเลี้ยงรับรองอันหรูหราของเจ้าชายจอร์จกันมากขึ้นแทนที่จะเป็นงานของคาโรลีเนอ[26] คาโรลีเนอจึงพยายามหาพันธมิตรผู้มีอำนาจที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อการห้ามไม่ให้พระองค์ได้พบปะกับพระธิดา ในจำนวนผู้สนับสนุนก็ได้แก่เฮนรี บรูม บารอนบรูมและโวซ์ที่ 1 นักการเมืองพรรควิกผู้ทะเยอทะยานผู้ต้องการที่จะปฏิรูป คาโรลีเนอจึงเริ่มทำการรณรงค์ต่อต้านเจ้าชายจอร์จ[27] เจ้าชายจอร์จตอบโต้ด้วยการปล่อยข่าวเกี่ยวกับการให้การของเลดี้ดักกลาสในกรณี "การสืบสวนเรื่องละเอียดอ่อน" บรูมจึงตอบโต้ด้วยการปล่อยข่าวเกี่ยวกับคำให้การของคนรับใช้เกี่ยวกับโซเฟีย ออสติน[28] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์และสาธารณชนเข้าข้างพระมารดา เจน ออสเตนเขียนจดหมายเกี่ยวกับคาโรลีเนอว่า: "สตรีที่น่าสงสาร, ข้าพเจ้าจะสนับสนุนเธอนานเท่าที่จะทำได้เพราะเธอ เป็น สตรี และ ข้าพเจ้าเกลียดสามีของเธอ"[29]
ในปี ค.ศ. 1814 หลังจากการพ่ายแพ้ของนโปเลียนสมาชิกของพระราชวงศ์ต่างๆ จากราชอาณาจักรต่างๆ ในยุโรปก็มาเฉลิมฉลองกันในกรุงลอนดอนแต่คาโรลีเนอถูกกีดกัน[30] คาโรลีเนอไม่ทรงมีความสุขกับการที่ถูกปฏิบัติเช่นนั้น พระองค์จึงทรงเจรจาต่อรองกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ, โรเบิร์ต สจวต ไวท์เคานท์คาสเซิลรีห์ ว่าจะทรงยอมออกจากบริเตนเป็นการแลกเปลี่ยนกับรายได้ประจำปีเป็นจำนวน £35,000 ทั้งบรูมและเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ต่างก็ผิดหวังต่อการตัดสินใจของคาโรลีเนอ เพราะทั้งสองทราบดีว่าการจากไปของคาโรลีเนอเท่ากับเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่สถานภาพของเจ้าชายจอร์จและบั่นทอนเสถียรภาพของบุคคลทั้งสอง[31] คาโรลีเนอเสด็จออกจากอังกฤษเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1814[32]
อ้างอิง
แก้- ↑ Robins, Jane (2006). Rebel Queen: How the Trial of Caroline Brought England to the Brink of Revolution. Simon & Schuster. ISBN 978-0-7434-7826-7. p.5.
- ↑ Malmesbury's diary quoted in Robins, pp.6–9.
- ↑ Farquhar, Michael (2001). A Treasure of Royal Scandals, p.94. Penguin Books, New York. ISBN 0-7394-2025-9.
- ↑ Malmesbury's diary quoted in Robins, pp.9–10.
- ↑ Robins, pp.11–12.
- ↑ Holland's memoirs quoted in Robins, p.15.
- ↑ Malmesbury's diary quoted in Robins, p.16.
- ↑ Robins, p.16.
- ↑ Robins, p.17
- ↑ 10.0 10.1 Shingleton, Hugh M (2006). "The Tumultuous Marriage of The Prince and The Princess of Wales". ACOG Clinical Review. 11 (6): 13–16.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|month=
ถูกละเว้น (help) - ↑ 11.0 11.1 Robins, p.18.
- ↑ Robins, p.20.
- ↑ Robins, pp.20–21.
- ↑ Robins, p.22.
- ↑ Robins, pp.19, 21.
- ↑ Robins, pp.22–23.
- ↑ Robins, p.25.
- ↑ Robins, pp.26–27.
- ↑ Robins, p.27.
- ↑ Robins, pp.27–28.
- ↑ Robins, p.29.
- ↑ 22.0 22.1 Robins, pp.29–30.
- ↑ 23.0 23.1 Robins, p.31.
- ↑ Robins, pp.31–32.
- ↑ Robins, p.32.
- ↑ Robins, p.36.
- ↑ Robins, pp.37–41.
- ↑ Robins, p.42.
- ↑ Letter from Jane Austen to Martha Lloyd, 16 February 1813, quoted in Robins, p.42.
- ↑ Robins, p.46.
- ↑ Robins, pp.47–50
- ↑ Robins, p.49.
ดูเพิ่ม
แก้