คลองลัดโพธิ์
คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน, กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
คลองลัดโพธิ์ | |
---|---|
คลองลัดโพธิ์ | |
ตำแหน่ง | ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ความยาว | 0.6 km (0.37 ไมล์) |
ความกว้างประตูกั้นน้ำ | 14 m (46 ft) |
ประตูกั้นน้ำ | 1 |
ประวัติ | |
วันที่บูรณะ | พ.ศ. 2523 |
ข้อมูลภูมิศาสตร์ | |
จุดเริ่มต้น | แม่น้ำเจ้าพระยา |
จุดสิ้นสุด | แม่น้ำเจ้าพระยา |
สาขาของ | แม่น้ำเจ้าพระยา |
เชื่อมต่อกับ | แม่น้ำเจ้าพระยา |
มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกะเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้
คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงประกอบพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ พร้อมทั้งทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ประวัติ
แก้ขุดคลอง
แก้คลองลัดโพธิ์ขุดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ โดยโปรดให้พระยาราชสงคราม (ปาน) เป็นแม่กองขุดคลองนี้ในช่วงคอคอดที่แม่น้ำเจ้าพระยาโค้งเข้าหากัน เมื่อแรกขุดมีความยาว 25 เส้น (1,000 เมตร) ขุดขึ้นเพื่อย่นระยะการเสด็จประพาสไปทรงเบ็ดที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นกีฬาที่ทรงโปรด
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริว่า คลองลัดอาจทำให้น้ำเค็มจากปากน้ำไหลมาถึงกรุงเทพฯ ได้เร็วขึ้น และกระแสน้ำ อาจทำให้คลองลัดกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ได้ในภายหลังดังที่เกิดขึ้นกับคลองลัดเกร็ดและคลองลัดบางกอก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำทำนบกั้นปากคลองและถมคลองให้แคบลง ถึงกระนั้นก็ยังคงเกิดการเซาะตลิ่งจนคลองมีความยาว เหลือเพียง 600 เมตร[1]
ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริแก่รุ่งเรือง จุลชาต อธิบดีกรมชลประทาน, พลตำรวจเอก จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรมชลประทานและกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการและดำเนินการปรับปรุงขุดลอก พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538[2]
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานน้ำอันมหาศาลที่ระบายผ่านประตูระบายน้ำนี้ และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549[3] เป็นที่มาของการจัดสร้างกังหันพลังน้ำและมีพระราชดำริให้ศึกษาการใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองให้เกิดประโยชน์ กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกันประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ขึ้น รวมทั้งยื่นขอจดสิทธิบัตรงานทั้ง 2 ชิ้น ในพระปรมาภิไธย[4]
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งเกี่ยวกับคลองลัดโพธิ์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนไว้เป็นจำนวนมากทุกภาค เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลต้องประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากน้ำเหนือหลากพร้อมกับน้ำทะเลหนุนอยู่เสมอ จนกระทั่งหลายหน่วยงานได้ร่วมกันวางโครงการขุดลอกคลองลัดโพธิ์ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล[5]
สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ซึ่งอยู่ในบริเวณคลองลัดโพธิ์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนถ่ายลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและภูมิภาคอื่น เพื่อไม่ให้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปในตัวเมืองหรือทิศทางอื่น
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคราวน้ำท่วมปี พ.ศ. 2548 เมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ถึงการบริหารจัดการน้ำของคลองลัดโพธิ์ว่า "สมเด็จพระบรมฯ กับกรมสมเด็จพระเทพฯ ไป มันต้องมีเรื่องเวลาให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง"
|
||
— พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 4 ธันวาคม 2549[6] |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประทับเรือพระที่นั่งอังสนาเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงประกอบพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ พร้อมทั้งทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และ 2 ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 16.30 น. โดยครั้งนี้ถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทั้งนี้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยมีการถ่ายทอดสดการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. [7]
มหาอุทกภัย
แก้ในช่วงอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์มีส่วนช่วยบรรเทาการบ่าของน้ำเหนือ โดยมีการระบายน้ำผ่านคลองลัดโพธิ์ด้วยการใช้เรือดันตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 สามารถเร่งการเดินทางของน้ำจากความเร็ว 2 น็อต เป็น 6 น็อต ทำให้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของการไหลในอัตราปกติ ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่อำเภอบางไทรลงมา ลดระดับลงจากก่อนหน้านั้น ไม่ท่วมเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร บางกระเจ้า และพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ[8]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
- ↑ "เว็บไซต์ฐานข้อมูลโครงการพระราชดำริฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-24.
- ↑ "เว็บไซต์ฐานข้อมูลโครงการพระราชดำริฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-24.
- ↑ ข่าวพระราชสำนัก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9:01น.ล หัวข้อข่าว 'ในหลวง'เสด็จฯทางชลมารคไปสมุทรปราการ ทรงเปิดประตูน้ำใน 'คลองลัดโพธิ์' สะพานภูมิพล 1-2
- ↑ ข่าวพระราชสำนัก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9:01น.ล หัวข้อข่าว 'ในหลวง'เสด็จฯทางชลมารคไปสมุทรปราการ ทรงเปิดประตูน้ำใน 'คลองลัดโพธิ์' สะพานภูมิพล 1-2
- ↑ [1]
- ↑ ข่าวมติชนออนไลน์ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 11:35:46 น. เก็บถาวร 2011-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวในหลวงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์-สะพานภูมิพล1-2 ทีวีพูลยิงสดเย็นนี้
- ↑ "จากขุดคลองลัดโพธิ์ เพื่อย่นระยะทางไปทรงเบ็ด!มาเป็นย่นระยะทางระบายน้ำลงทะเล มหัศจรรย์ ๕ ชั่วโมง เหลือ ๑๐ นาที!". ผู้จัดการออนไลน์.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- http://www.oknation.net/blog/darknews/2010/11/24/entry-1
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คลองลัดโพธิ์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°40′01″N 100°32′22″E / 13.666909284167046°N 100.539327854509°E