ฅนเหล็ก 2029

(เปลี่ยนทางจาก คนเหล็ก 2029)

ฅนเหล็ก 2029[note 1] (อังกฤษ: The Terminator) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวโลดโผนบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์ ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1984 กำกับโดย เจมส์ คาเมรอน แสดงนำโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ เป็น คนเหล็กหรือเทอร์มิเนเตอร์ ไซบอร์กนักฆ่าซึ่งถูกส่งตัวย้อนเวลาจากปี ค.ศ. 2029 กลับไปปี ค.ศ. 1984 เพื่อฆ่า ซาราห์ คอนเนอร์ (ลินดา แฮมิลตัน) ซึ่งลูกของเธอในวันหนึ่งจะกลายเป็นผู้นำกองกำลังของมนุษย์ต่อต้านเครื่องจักรในโลกหลังหายนะในอนาคต ไมเคิล บีห์น แสดงเป็น ไคลย์ รีส ทหารที่เคารพนับถือถูกส่งตัวย้อนเวลาเพื่อปกป้องซาราห์ บทภาพยนตร์เขียนโดยคาเมรอนและผู้อำนวยการสร้าง เกล แอนน์ เฮิร์ด ขณะที่ผู้เขียนบทร่วม วิลเลียม วิเชอร์ จูเนียร์ มีชื่อจากการเขียนบทสนทนาเพิ่มเติม ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร จอห์น ดาลีและเดเรก กิบสัน จาก แฮมเดลฟิล์มคอร์เปอเรชัน ทำหน้าที่จัดหาเงินทุนและการสร้าง[4][7][8]

ฅนเหล็ก 2029
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับเจมส์ คาเมรอน
เขียนบท
  • เจมส์ คาเมรอน
  • เกล แอนน์ เฮิร์ด
อำนวยการสร้างเกล แอนน์ เฮิร์ด
นักแสดงนำ
กำกับภาพแอดัม กรีนเบิร์ก
ตัดต่อมาร์ก โกลด์แบลตต์
ดนตรีประกอบแบรด ฟีเดล
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายโอไรออนพิกเจอร์ส
วันฉาย
  • 26 ตุลาคม ค.ศ. 1984 (1984-10-26)
ความยาว107 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ[2][3][4][5]
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[6]
ทำเงิน78.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[6]

ฅนเหล็ก 2029 ทำเงินอันดับหนึ่งในบ๊อกซ์ออฟฟิศในสหรัฐเป็นเวลาสองสัปดาห์ ช่วยเปิดโอกาสทางอาชีพภาพยนตร์ของคาเมรอนและเสริมสถานะของชวาร์เซเน็กเกอร์ในฐานะผู้นำคนหนึ่ง ความสำเร็จของภาพยนตร์ นำไปสู่การสร้างแฟรนไชส์ ซึ่งมีการสร้างภาคต่อหลายเรื่องตามมา, ละครโทรทัศน์, หนังสือการ์ตูน, นวนิยายและวิดีโอเกม ในปี ค.ศ. 2008 ฅนเหล็ก 2029 ถูกเลือกโดย หอสมุดรัฐสภา ให้มีการเก็บรักษาใน หอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ ในฐานะที่ภาพยนตร์ "มีวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์, หรือ มีความสุนทรีย์อย่างมีนัยสำคัญ"

เรื่องย่อ

แก้

ภาพยนตร์กล่าวถึงโลกอนาคตในปี ค.ศ. 2029 ที่ถูกปกครองด้วยคอมพิวเตอร์ชื่อ SkyNet หลังเกิดสงครามนิวเคลียร์ ฝ่ายมนุษย์ได้รวมกลุ่มขึ้นต่อต้าน นำโดย "จอห์น คอนเนอร์" ทางฝ่ายผู้ปกครอง(SkyNet) จึงส่ง "เดอะ เทอร์มิเนเตอร์" หุ่นยนต์สังหารรุ่น T-800 (รับบทโดย ชวาร์เซเน็กเกอร์) ย้อนเวลามายังลอสแอนเจลิส ในปี ค.ศ. 1984 เพื่อสังหาร "ซาราห์ คอนเนอร์" มารดาของจอห์น คอนเนอร์ (รับบทโดย แฮมิลตัน)เพื่อแก้ไขอนาคตไม่ให้จอห์น คอนเนอร์เกิดขึ้นมา ฝ่ายจอห์น คอนเนอร์ก็ได้ส่ง "ไคย์ล รีส" ทหารรุ่นน้อง (รับบทโดย บีห์น) เดินทางย้อนเวลากลับมาขัดขวางเดอะ เทอร์มิเนเตอร์

ในระหว่างที่ซาราห์ คอนเนอร์ และไคย์ล รีส เดินทางหลบหนีการตามล่าของเดอะ เทอร์มิเนเตอร์ ก็ได้ร่วมรักกัน เหตุการณ์จึงกลายเป็นว่า แท้ที่จริงแล้ว ไคย์ล รีส นั่นเองที่เป็นบิดาของ จอห์น คอนเนอร์

ภาพยนตร์จบลงโดยที่เดอะ เทอร์มิเนเตอร์ ถูกทำลายไปพร้อมกับการเสียชีวิตของไคย์ล รีส ส่วนซาราห์ คอนเนอร์ ที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ ได้ขับรถตามลำพัง เดินทางออกจากสหรัฐไปยังชายแดนเม็กซิโก

งานสร้าง

แก้

โครงการสร้างภาพยนตร์เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 จากแนวคิดของเจมส์ คาเมรอน ขณะนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอฟเฟกภาพยนตร์ มีผลงานกำกับภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว คือภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง ปิรันญา ภาค 2 คาเมรอนได้คิดพลอตเรื่องร่วมกับ เกล แอนน์ เฮิร์ด (คาเมรอน และ เกล แอนน์ เฮิร์ด แต่งงานกันในเวลาต่อมา) และนำไปเสนอผู้สร้างต่างๆ แต่ไม่ได้รับความสนใจ จนได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โอไรออน ผู้สร้างอิสระ โดยได้รับทุนสร้างเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทผู้สร้างได้เสนอให้อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ นักกล้ามชาวออสเตรีย พิจารณาบทไคย์ลี รีส พระเอกของเรื่อง ขณะนั้นชวาร์เซเน็กเกอร์ ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก เคยดำรงตำแหน่งชายงามจักรวาล และแสดงภาพยนตร์เรื่อง โคแนน เดอะบาร์บาเรียน ของดิโน เดอ ลอเรนติส แต่แล้วชวาร์เซเน็กเกอร์ก็ยอมรับที่จะแสดงบทเดอะ เทอร์มิเนเตอร์ ตัวร้ายของเรื่อง บทที่ส่งให้เขากลายเป็นนักแสดงแอคชั่นชั้นนำ [note 2]

บทซาราห์ คอนเนอร์ สาวเสิร์ฟในร้านอาหาร แสดงโดยลินดา แฮมิลตัน นักแสดงหน้าใหม่ หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ เธอมีผลงานแสดงในซีรีส์ของซีบีเอส เรื่อง Beauty and the Beast (ชื่อไทย อัศวินหน้าสิงห์ ฉายทางช่อง 3) จำนวน 3 ฤดูกาล 56 ตอน ต่อมาเธอได้รับบทซาราห์ คอนเนอร์ ในภาพยนตร์ภาคต่อ และได้แต่งงานกับเจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับ ในปี พ.ศ. 2540

ภาพยนตร์ถ่ายทำด้วยต้นทุนต่ำ เริ่มการถ่ายทำในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2527 เลื่อนจากเดิมที่กำหนดในปี พ.ศ. 2526 เนื่องจากอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ติดการถ่ายทำภาพยนตร์ภาคต่อของโคแนน เดอะบาร์บาเรียน ภาพยนตร์ออกฉายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2527 และประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำรายได้ถึง 38 ล้านเหรียญในสหรัฐ และ 78 ล้านเหรียญทั่วโลก ส่งผลให้ชวาร์เซเน็กเกอร์ และ เจมส์ คาเมรอน กลายเป็นนักแสดงและผู้กำกับชั้นนำ

เชิงอรรถ

แก้
  1. ตอนภาพยนตร์เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2527 ชื่อภาพยนตร์สะกดว่า ฅนเหล็ก (ฅ ฅน) ในภายหลังได้มีสะกดทั้งสองแบบ คือใช้ตัว ฅ ฅน หรือ ค ควาย ต่อมาเมื่อวิดีโอ วิดีโอซีดีและดีวีดีลิขสิทธิ์วางจำหน่าย จึงสะกดด้วย ค ควาย
  2. จากความสำเร็จในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ภาพยนตร์แอคชั่นเกือบทุกเรื่องในเวลาต่อมา ที่นำแสดงโดยอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ถูกตั้งชื่อภาษาไทย โดยมีคำว่า ฅนเหล็ก- หรือ คนเหล็ก- ผสม

อ้างอิง

แก้
  1. "The Terminator". British Board of Film Classification. สืบค้นเมื่อ October 3, 2014.
  2. "LUMIERE : Film: The Terminator". lumiere.obs.coe.int. สืบค้นเมื่อ August 16, 2017.
  3. Petley, Julian (1984). "The Terminator". Monthly Film Bulletin. British Film Institute. 52 (612): 54–55. ISSN 0027-0407. p.c—Cinema '84. A Pacific Western Production. For Orion
  4. 4.0 4.1 "The Terminator". American Film Institute. สืบค้นเมื่อ 15 November 2016.
  5. "The Terminator (1984)". British Film Institute. สืบค้นเมื่อ February 11, 2019.
  6. 6.0 6.1 "The Terminator (1984)". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ October 3, 2014.
  7. Keegan, 2009. p. 38
  8. "High-risk Movie Mogul". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-16. สืบค้นเมื่อ August 16, 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้