คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492

คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492 คือการสังหารจำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองเปลว ชลภูมิ, และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตรัฐมนตรี 4 คน[1] ในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เกิดขึ้นในเวลาดึกสงัดบนถนนสายเปลี่ยวอย่างมีเงื่อนงำ บุคคลเหล่านี้เป็นรัฐมนตรีที่เคยร่วมงานในขบวนการเสรีไทย[2]

คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492
ส่วนหนึ่งของกบฏแบ่งแยกดินแดน
จากซ้ายไปขวา : จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
วันที่4 มีนาคม พ.ศ. 2492 (75 ปีที่แล้ว)
เวลา03.00 น.
ที่ตั้งจังหวัดพระนคร
เสียชีวิต4 คน

เกิดเหตุ

แก้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากกบฏวังหลวงยุติลงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ฝ่ายกบฏได้ยอมแพ้และแยกย้ายกันหลบหนี ทางรัฐบาลก็ยังได้ส่งตำรวจติดตามและสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น พันตรี โผน อินทรทัต ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าผาก ศพพบที่อำเภอดุสิต ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์, พันตำรวจเอก บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากถูกจับกุม ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เป็นต้น

1 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทางการได้ออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับ โดยลดหลั่นกันลงไป เช่น ปรีดี หัวหน้าขบวนการ มีรางวัลนำจับ 50,000 บาท, พลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท เป็นต้น

สำหรับบุคคลทั้ง 4 ที่เสียชีวิต ประกอบไปด้วย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย, ถวิล อุดล อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทวี บุณยเกตุ, จำลอง ดาวเรือง อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคเดียวกัน ถูกจับกุมตัวพร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในสถานที่ที่ต่างกันออกไป เช่น นายถวิลถูกจับที่สโมสรราชนาวี เป็นต้น และทองเปลว ชลภูมิ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง ตำรวจส่งโทรเลขเป็นรหัสไปลวงว่า การปฏิวัติสำเร็จแล้ว ให้รีบกลับมา เพราะทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ บุคคลทั้ง 4 นี้ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของปรีดี และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น และไม่มีชื่อในประกาศจับของทางการ ทั้งนี้ ได้มีการเปิดเผยภายหลังว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อการหรือเป็นแกนนำ แต่ถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมายและประกาศฉบับต่าง ๆ หากการปฏิวัติสำเร็จ

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ญาติของผู้ต้องหาไม่ระแวงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นบุคคลทั้ง 4 ก็ได้เข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำเป็นประจำอยู่แล้วในข้อหาทางการเมืองต่าง ๆ โดยติดอยู่หนึ่งเดือนบ้าง 2 เดือนบ้างก็ถูกปล่อยตัวออกมาพบครอบครัว การถูกจับกุมในครั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับการให้ประกันตัว

 
พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) ผู้ควบคุมการขนย้าย 4 ผู้ต้องหา
 
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์สยามนิกรในปี พ.ศ. 2500

ค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) เป็นผู้ควบคุม โดยรับตัวทองเปลวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน รับตัวจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา รับตัวถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และรับตัวทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ ได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุ กลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่าง ๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของทั้งหมดอยู่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพอยู่เสมอ

จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่า เป็นการกระทำของตำรวจเองภายใต้การบัญชาการของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น

หลังจากนั้นไม่นาน มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น เตียง ศิริขันธ์, หะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, อารีย์ ลีวีระ เป็นต้น

การดำเนินคดี

แก้

คดีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นและตัดสินอย่างจริงจังหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ศาลดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 พบผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต, พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโท จำรัส ยิ้มละมัย, ร้อยตำรวจโท ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์ ศาลพิพากษาในปี พ.ศ. 2504 จำคุกผู้ต้องหา 3 รายตลอดชีวิต คือ พลตำรวจจัตวา ผาด, พลตำรวจจัตวา ทม, และสิบตำรวจเอก แนบ ส่วนร้อยตำรวจโท จำรัส และร้อยตำรวจโท ธนู ศาลได้ยกฟ้อง แต่กระนั้น ก็ยังมีความเชื่อว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและไม่จริงใจในการดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะมีผู้ต้องหาหลายคนที่เคยเป็นทหารและตำรวจในสังกัดของจอมพล แปลก มาก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องการให้ทหารและตำรวจเหล่านี้ค้ำจุนอำนาจไว้

ในหนังสือ 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย ของ พันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของพลตำรวจเอก เผ่า ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุขึ้น ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ สิบตำรวจเอก แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พันตำรวจเอก พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย แต่การกระทำแบบนี้ต้องใช้การประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาด นั่นคือใช้วิธีการที่เรียกว่า Eliminate คือการลบให้หายจากบัญชีพลเมืองของโลกไปเลย

อ้างอิง

แก้
  1. การสังหาร 4 รัฐมนตรี: คดีการเมืองสะเทือนขวัญของไทย
  2. สถาบันพระปกเกล้า. นักการเมืองถิ่นจังหวัดแพร่ กรุงเทพ : สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า. 2555

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • รายการย้อนรอย ตอน คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี - VDO
  • วินทร์ เลียววาริณประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2537. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8585-47-6
  • เพลิง ภูผา. ย้อนรอยขบวนการยึดอำนาจ ปฏิวัติเมืองไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เครือเถา, พ.ศ. 2550. 232 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8337-16-6
  • ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป.ทวีชาติ). รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันชนะ, พ.ศ. 2545. 304 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-90614-5-4