คณิต ณ นคร
ศาสตราจารย์ คณิต ณ นคร[1][2] (เกิด 9 เมษายน พ.ศ. 2480) อาจารย์พิเศษประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3] อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์[4] กรรมการกฤษฎีกา ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ กรรมการสภามหาวิทยาลัยทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[5] อดีตอัยการสูงสุด อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 และอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยคนแรก (ชุดจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง)[6]
คณิต ณ นคร | |
---|---|
คณิต ใน พ.ศ. 2557 | |
อัยการสูงสุด | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2537 – 30 กันยายน 2540 | |
ก่อนหน้า | โอภาส อรุณินท์ |
ถัดไป | สุชาติ ไตรประสิทธิ์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 9 เมษายน พ.ศ. 2480 อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศสยาม |
คู่สมรส | โสธร ณ นคร |
ประวัติ
แก้คณิต ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศสยาม เป็นบุตรของนับ ณ นคร กับเปรียบ ณ นคร มีพี่น้องจำนวน 8 คน สมรสกับโสธร ณ นคร มีบุตรธิดารวม 3 คน ในวัยเด็ก คณิต ณ นคร เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดม่วง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช จากนั้นจึงเข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2504 และสอบไล่ได้ความรู้ชั้นเนติบัณฑิตจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2505 ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้รับทุนรัฐบาลให้ไปศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงบอนน์ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Laws: Dr.jur.) ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นอกจากนั้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ยังได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย
การทำงาน
แก้คณิต ณ นคร เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย และได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆ อาทิ อัยการจังหวัดผู้ช่วย อัยการประจำกรม อัยการพิเศษประจำกรม เป็นอัยการพิเศษฝ่ายคดีแรงงาน ในปี พ.ศ. 2531 เป็นรองอธิบดีกรมอัยการฝ่ายคดี ในปี พ.ศ. 2533 เป็นรองอัยการสูงสุดในปี พ.ศ. 2535 และเป็นอัยการสูงสุด ในปี พ.ศ. 2537 จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2540 และมาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554
คณิต ณ นคร ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 สาขากฎหมายมหาชน และในปี พ.ศ. 2540 จึงได้เข้าร่วมกับดร.ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้น แต่ก็ได้ลาออกในภายหลัง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 หลังการรัฐประหารของพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ได้มีการแต่งตั้งคณิต ณ นคร เป็นประธานสอบสวนคดีฆ่าตัดตอนในช่วงประกาศสมครามยาเสพติด ในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร
ต่อมาภายหลังการสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ พฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งให้คณิต ณ นคร เป็นประธานคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุทหาร–ตำรวจขอคืนพื้นที่จากลุ่มนปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. และ 19 พ.ค.[7] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จนครบวาระ 4 ปี ในปี พ.ศ. 2558
ปัจจุบัน คณิต ณ นคร เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[8] กรรมการสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2556
นอกจากนั้น ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ถึงปัจจุบัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2537 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[9]
- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[10]
- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[11]
- พ.ศ. 2531 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ
- ↑ "รายชื่ออาจารย์พิเศษ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-16. สืบค้นเมื่อ 2019-10-16.
- ↑ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- ↑ ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคไทยรักไทย
- ↑ คณิต ณ นคร นั่งปธ.สอบสลายชุมนุม
- ↑ "กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-11. สืบค้นเมื่อ 2011-01-23.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๓, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๑๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓๔, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๑