ขิง
ขิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber Officinale Roscoe เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบรูปหอกเกลี้ยง ๆ กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 12-20 ซม. หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางน้ำปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ตรงช่วงระหว่างกาบกับตัวใบจะหักโค้งเป็นข้อศอก ดอกสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบองโบราณ แทงขึ้นมาจากเหง้า ชูก้านสูงขึ้นมา 15-25 ซม. ทุก ๆ ดอกที่กาบสีเขียวปนแดงรูปโค้ง ๆ ห่อรองรับ กาบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะขยายอ้าให้ เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 3 กลีบ อุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออกเกสรตัวผู้มี 6 อัน ผล กลม แข็ง โต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.[2]
ขิง | |
---|---|
ภาพวาดใน ค.ศ. 1896 จาก Köhler's Medicinal Plants | |
ช่อดอก | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงเดี่ยว Monocots |
เคลด: | Commelinids Commelinids |
อันดับ: | ขิง Zingiberales |
วงศ์: | วงศ์ขิง Zingiberaceae |
สกุล: | สกุลขิง Zingiber Roscoe[1] |
สปีชีส์: | Zingiber officinale |
ชื่อทวินาม | |
Zingiber officinale Roscoe[1] |
ขิงขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องห่างกัน 30 ซม. ปลูกห่างกัน 20 ซม. ลึก 5-10 ซม. ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังอาจโดนโรคเชื้อรา และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนสูงแต่คุ้มค่าและจะได้พันธุ์ที่ปลอดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่โรคที่พบมักติดมากับท่อนพันธุ์ขิง
ขิงมีอยู่หลายชื่อ ตามแต่ละถิ่น ได้แก่ ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทบุรี), ขิงเผือก (เชียงใหม่), สะเอ (แม่ฮ่องสอน)[3], ขิงบ้าน, ขิงแครง, ขิงป่า, ขิงเขา, ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง), เกีย (จีนแต้จิ๋ว)
ขิง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ขิงเล็กหรือขิงเผ็ด ลักษณะมีข้อถี่ แง่งขิงไม่ค่อยใหญ่ ต้นขึ้นเบียดกันชิดมาก เนื้อมีเสี้ยนมาก รสชาติค่อนข้างเผ็ด มักใช้เป็นสมุนไพรในการประกอบยารักษาโรค ตุ่มตาที่แง่งจะมีลักษณะแหลม ปลายใบแหลม การแตกขยายของแง่งดี
2. ขิงหยวกหรือขิงใหญ่ เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยน รสเผ็ดน้อย ตุ่มตามีลักษณะกลมมมน ปลายใบมนกว่าขิงเล็ก ขนาดของแง่งใหญ่สีขาวอมเหลืองจางกว่า ต้นสูงกว่าขิงเล็กเป็นพันธุ์ที่ใช้ปลูกกินกันทั่วไป
สรรพคุณ
แก้- เหง้า : รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ [4]
- ต้น : รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง
- ใบ : รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ
- ดอก : รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ
- ราก : รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่น เจริญอาหาร แก้ลม แก้เสมหะ แก้บิด
- ผล : รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ
- แก่น : ฝนทำยาแก้คัน
ขิงยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินเอ และอีกมากมาย ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและมีใยอาหารมาก นำเหง้าสดย่างไฟให้สุก ตำผสมกับน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำเหง้าสดหมกไฟรับประทานเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร [5]
สรรพคุณของเหง้าขิงสด แก้ท้องอืด จุกเสียดท้อง ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาเจริญอาหารบำรุงธาตุลมพรรดึก (ลมที่ทำให้ท้องผูกมากๆ) แก้โรคพยาธิในลำไส้ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ไข้ แก้เบาไม่ปกติ แก้นิ่ว ทำให้ผิวหนังสดชื่น แก้นอนไม่หลับ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้จุกแน่นน้าท้อง ขับเสมหะ แก้โรคในทรวงอก แก้ปากคอเป็นแผล แก้ปากเปื่อย แก้ลมอัมพฤกษ์ (ลมที่ทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตชั่วครู่ชั่วคราว) แก้โรคหัวใจ บำรุงน้ำนม
วิธีการใช้เหง้าขิงสด ใช้วิธีการต้ม ชงน้ำร้อนหรือคั้นเอาน้ำกิน (ใช้ขิงขนาดเท่าหัวแม่มือ) กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ยกเว้นสรรพคุณขับเสมหะใช้วิธีจิบน้ำคั้นผสมน้ำผึ้ง จิบบ่อยๆ สรรพคุณแก้ปากคอเป็นแผลปากเปื่อยใช้ขิงอมสดๆ
สรรพคุณของเหง้าแห้ง มีสรรพคุณเหมือนเหง้าขิงสดตั้งแต่แก้ท้องอืดจนถึงแก้ปากเปื่อย สรรพคุณที่ต่างออกไปคือแก้ลมป่วงทุกชนิด แก้ท้องร่วงอย่างรุนแรง แก้บิด แก้อุจาระมีสีเหลืองเนื่องจากน้ำดีตกลำไส้ แก้ไอลึกมาจากยอดอก แก้สะอึก
วิธีการใช้เหง้าแห้ง ใช้วิธีการต้ม ชงน้ำร้อน เช่นเดียวกับเหง้าขิงสดหรือบดเป็นลูกกลอนกินวันละ 2-3 เม็ด วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอนยกเว้นแก้ไอ ขับเสมหะใช้ละลายน้ำผึ้งจิบกิน
สรรพคุณดอกขิง ใช้ต้มกินแก้ตาเปียกตาแฉะ แก้เบาไม่ปกติ แก้นิ่ว แก้โรคอันบังเกิดแก่ใจ แก้จิตมัวหมอง ทำให้จิตใจสดชื่น
สรรพคุณต้นขิง ใช้ต้มขับถ่ายลมในท้องในลำไส้ ทำให้ท้องสบาย แก้ลมวิงเวียน
สรรพคุณใบขิง ใช้ต้มแก้โรคกำเดา
สรรพคุณรากขิง ใช้ต้มกินทำให้ลำคอโล่งโปร่งบำรุงเสียงทำให้เสียงเพราะ แก้ลมแน่นในอก แก้โรคพยาธิ เป็นยาเจริญอาหาร แก้พรรดึก แก้ไข้
ข้อควรรระวังในการใช้
1. คนที่ไตไม่ดีไม่ควรกินขิง
2. คนที่ผิวหนังมักเป็นตุ่มคันหรือแผลพุพอง ไม่ควรกินของมากเกินไป
3. คนที่ร้อนในง่ายไม่ควรกินน้ำขิงมาก เพราะขิงเป็นยาร้อน กินแล้วทำให้เกิดอาการร้อนในขึ้นมาได้ ควรกินพอเหมาะพอดีกับร่างกายของตนเอง
การใช้เป็นอาหาร
แก้ขิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ขิงอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช้ทำผัดขิง ใสในยำเช่นยำหอยแครง ใส่ในแกงฮังเล น้ำพริก กุ้งจ่อม ซอยใส่ในต้มส้มปลา เมี่ยงคำ ไก่สามอย่าง ใช้ทำขิงดอง ใส่ในบัวลอยไข่หวานเพื่อดับกลิ่นคาวไข่ [6]ทำเป็นอาหารหวาน เช่น น้ำขิง เต้าฮวย ขิงแช่อิ่ม ขนมปังขิง และยังทำเป็นขิงผงสำเร็จรูป สำหรับชงดื่ม
คุณค่าทางโภชนาการ
แก้เมื่อบริโภคขิง 100 กรัม คุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับคือ พลังงาน 25 กิโลแคลอรี โปรตีน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.4 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 18 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม บีตา-แคโรทีน 10 ไมโครกรัม วิตามินซี 1 มิลลิกรัม ไทอามีน 0.02 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1 มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม
สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ
แก้ในเหง้าขิงมี น้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 1-3 % ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงการเก็บรักษา ในน้ำมันประกอบด้วยสารเคมี ที่สำคัญคือ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene) , ซิงจิเบอรอล (Zingiberol) , ไบซาโบลีน (bisabolene) และแคมฟีน (camphene) มีน้ำมัน (oleo - resin) ในปริมาณสูง เป็นส่วนที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุน และมีรสเผ็ด ส่วนประกอบสำคัญ ในน้ำมันซัน ได้แก่ จิงเจอรอล (gingerol) , โชกาออล (shogaol) , ซิงเจอโรน (zingerine) มีคุณสมบัติเป็นยากัดบูด กันหืน ใช้ใส่ในน้ำมันหรือไขมัน เพื่อป้องกันการบูดหืน สารที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติเป็นยากันบูด กันหืนได้คือ สารจำพวกฟีนอลิก
อ้างอิง
แก้- ↑ "Zingiber officinale". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 10 December 2017.
- ↑ "มารู้จัก "ขิง" กันเถอะ".
- ↑ เต็ม สมิตินันทน์ (2557). ราชันย์ ภู่มา; สมราน สุดดี (บ.ก.). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สำนักงานหอพรรณไม้ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 ed.). กรุงเทพฯ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. p. 355. ISBN 9786163161734.
- ↑ ขิง ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ↑ "สรรพคุณน่ารู้ : หมวดพืชสวนครัว : ขิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-16.
- ↑ กรณิศ รัตนามหัทธนะ. ขิงอ่อน.ครัว. ปีที่ 20 ฉบับที่ 240 หน้า 12
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Zingiber officinale
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Zingiber officinale ที่วิกิสปีชีส์
- Zingiber officinale List of Chemicals (Dr. Duke's)