แกงฮังเล

อาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือ

แกงฮังเล หรือ แกงฮินเล เป็นอาหารไทยภาคเหนือประเภทแกงรสชาติเค็ม-เปรี้ยว แกงฮังเลมีต้นกำเนิดจากประเทศพม่า โดยคำว่า ฮี่น (ဟင်း) ในภาษาพม่าแปลว่า แกง และ เล่ (လေး) ในภาษาพม่าแปลว่า เนื้อสัตว์ แกงฮังเลได้รับความนิยมจากชาวไทยภาคเหนือ และแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน

แกงฮังเล
แกงฮังเลที่เชียงราย
ชื่ออื่นแกงฮี่นเล่
แหล่งกำเนิดไทย พม่า
ภูมิภาคภาคเหนือของไทย พม่า และสิบสองปันนาในจีน
ส่วนผสมหลักแกงใส่เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ
รูปแบบอื่นแบบพม่า แบบเชียงแสน แบบไทใหญ่
พลังงาน
(ต่อ หน่วยบริโภค)
540 กิโลแคลอรี (2261 กิโลจูล)

วิธีปรุงแกงฮังเลมีสองแบบคือแบบพม่าและแบบเชียงแสน โดยแบบพม่าได้รับความนิยมมากกว่า แกงฮังเลพม่ารสชาติออกเปรี้ยวเค็ม น้ำขลุกขลิก ใส่ขิง น้ำมะขามเปียก กระเทียมดอง ถั่วลิสง น้ำตาลอ้อย ส่วนแกงฮังเลเชียงแสนเพิ่มถั่วฝักยาว พริก หน่อไม้ดอง งาคั่ว ส่วนประกอบสำคัญจะต้องมีผงแกงฮังเลหรือผงมัสล่าซึ่งเป็นผงเครื่องเทศแบบผสมแบบเดียวกับการัม มาซาลาของอินเดีย น้ำพริกแกงประกอบด้วยพริกแห้ง เกลือ ข่าแก่ ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง[1] แกงฮังเลแบบไทใหญ่ น้ำขลุกขลิกและกินกับมะม่วงสะนาบซึ่งเป็นมะม่วงสับ ยำกับกะปิคั่ว กุ้งแห้งป่น และกระเทียมเจียว[2]

ประเภท

แก้

แกงฮังเลมีสองแบบ คือ แกงฮังเลม่าน มีลักษณะเป็นแกงที่มีสีน้ำตาลแดง น้ำแกงขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าสีแดงส้มจากเครื่องแกง เนื้อสัมผัสของหมูเปื่อยนุ่ม รสเปรี้ยว เค็ม หวาน และเผ็ด แกงฮังเลอีกชนิดคือ แกงฮังเลเชียงแสน มีการนำผักพื้นบ้านตามฤดูกาลมาเพิ่มในส่วนผสม เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือยาว มะเขือพวง พริก ผักชีฝรั่ง ใบชะพลู และหน่อไม้ดอง มีลักษณะคล้ายกับแกงโฮะ แต่แกงฮังเลเชียงแสนไม่มีวุ้นเส้นเป็นส่วนผสม มีส่วนของน้ำแกงเล็กน้อย สีของแกงออก สีเหลืองเขียวจากส่วนผสมของผัก[3]

อ้างอิง

แก้
  1. ญดา ศรีเงินยวงและชนิรัตน์ สำเร็จ. แกงไทย. กทม. แสงแดด. 2556 หน้า 56
  2. สิริรักษ์ บางสุด และ พลวัฒน์ อารมณ์. โอชะล้านนา. กรุงเทพฯ: แสงแดด. 2558 หน้า 187 และ 192
  3. ""แกงฮังเล" วัฒนธรรมและความเชื่อ". วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์).