การทำให้เป็นประชาธิปไตย

การทำให้เป็นประชาธิปไตย[1] หรือ การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย (อังกฤษ: Democratization) เป็นการเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญไปในทางประชาธิปไตย การเปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมไปเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ จากระบอบอำนาจนิยมไปเป็นกึ่งประชาธิปไตย หรือจากกึ่งประชาธิปไตย/อำนาจนิยมไปเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจมีผลเป็นความมั่นคงทางประชาธิปไตย (ดังที่สหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่าง) หรืออาจจะกลับไปกลับมาบ่อย ๆ (ดังที่ อาร์เจนตินาเป็นตัวอย่าง) รูปแบบต่าง ๆ ของการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมักใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ เช่น ประเทศจะเริ่มทำสงครามหรือไม่ เศรษฐกิจจะเติบโตหรือไม่ กระบวนการมีปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ประวัติ และประชาสังคม ผลสูงสุดของกระบวนการนี้ก็เพื่อประกันว่า ประชาชนจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และมีส่วนตัดสินใจในระบอบการปกครอง

เหตุ

แก้

มีเรื่องถกเถียงไม่ใช่น้อยเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผล โดยที่สุดที่จำกัดการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ปัจจัยมากมายรวมทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ล้วนอ้างว่ามีผลต่อกระบวนการ โดยที่อ้างบ่อยมากที่สุดจะกล่าวในหัวข้อต่อ ๆ ไป

ความร่ำรวย

แก้

การมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อประชากรที่สูงกว่า สัมพันธ์กับประชาธิปไตย โดยบางคนอ้างว่า รัฐประชาธิปไตยซึ่งรวยที่สุดไม่เคยปรากฏว่าตกอยู่ใต้ลัทธิอำนาจนิยม[2] แต่การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์และพรรคนาซีในสาธารณรัฐไวมาร์ ก็เป็นตัวอย่างคัดค้านที่ชัดเจน แม้ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 เยอรมนีจะมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า แต่ในเวลาที่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ ประเทศก็กำลังเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งได้แย่ลงเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

ยังมีข้อสังเกตทั่วไปว่า ประชาธิปไตยเกิดก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมน้อยมาก งานวิจัยเชิงหลักฐานจึงทำให้นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจถ้าไม่เพิ่มโอกาสเปลี่ยนเป็นประชาธิไปตย ก็จะช่วยประชาธิปไตยที่เกิดใหม่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น[2][3]

งานศึกษาหนึ่งพบว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจจะกระตุ้นให้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแต่ต้องเป็นระยะเวลาปานกลาง คือ 10-20 ปี เพราะแม้พัฒนาการอาจสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้นำที่อยู่ในอำนาจ แต่การจะให้ลูกหรือคนเชื่อใจอื่นสืบทอดอำนาจต่อไปก็เป็นเรื่องยาก[4]

ถึงกระนั้น การถกเถียงว่า ประชาธิปไตยเป็นผลของความร่ำรวย เป็นเหตุ หรือไม่สัมพันธ์กัน ก็ยังเป็นเรื่องยังไม่ยุติ[5] งานศึกษาอีกงานหนึ่งแสดงว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศเพื่อจะมีผลโปรโหมตประชาธิปไตยได้[6]

นักวิชาการกลุ่มหนึ่งอธิบายว่า ไม่ใช่การเพิ่มความร่ำรวยในประเทศเองที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดจากความร่ำรวย โดยมีนักวิชาการอื่น ๆ ที่อ้างว่า ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเป็นเหตุหลัก ๆ ที่ประเทศยุโรปกลายเป็นประชาธิปไตย

เมื่อโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เพราะความก้าวหน้าทำให้เกษตรกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีการลงทุนทั้งเวลาและทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อใช้ในการผลิตและการบริการ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ สมาชิกของพวกผู้ดีได้ลงทุนในกิจการค้ามากขึ้น ทำให้พวกตนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อประเทศมากขึ้น กิจกรรมเยี่ยงนี้จะมาพร้อมกับอำนาจทางเศรษฐกิจ เพราะทรัพย์สมบัตินับได้ยากขึ้น ดังนั้น รัฐจึงหักภาษีได้ยากขึ้น เพราะเหตุนี้ การปล้นสะดมทรัพย์ตรง ๆ จึงเป็นไปไม่ได้ และดังนั้น รัฐจึงต้องต่อรองกับอภิสิทธิชนทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่เพื่อจะหารายได้ ข้อตกลงแบบยั่งยืนกลายเป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐต้องอาศัยประชาชนที่ยังคงความจงรักภักดี ดังนั้น ประชาชนจึงได้อำนาจแสดงเสียงในกระบวนการตัดสินใจของประเทศ[7]

ความเท่าเทียมกันทางสังคม

แก้

นักวิชาการคู่หนึ่งอ้างว่า ความสัมพันธ์ของความเท่าเทียมกันทางสังคมกับการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องซับซ้อน ประชาชนจะมีแรงจูงใจเพื่อกบฏน้อยกว่าในสังคมที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยก็จะมีโอกาสน้อยกว่า เทียบกับสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันแบบสุดโต่ง (เช่น แอฟริกาใต้ภายใต้ระบบการถือผิว) การจัดสรรปันส่วนของทั้งความมั่งคั่งและอำนาจภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นผลร้ายต่ออภิสิทธิชน พวกเขาจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนในประเทศที่อยู่ตรงกลาง ๆ ที่ไม่สุดโต่ง การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยจะมีโอกาสสูงกว่า โดยอภิสิทธิชนจะยอมให้เพราะ (1) พิจารณาว่าการกบฏอาจเป็นไปได้ (2) ราคาของการยินยอมไม่สูงเกินไป[8] ความคาดหวังเช่นนี้เข้ากับหลักฐานการทดลองที่แสดงว่า ประชาธิปไตยจะเสถียรภาพกว่าในสังคมที่เท่าเทียมกัน[2]

วัฒนธรรม

แก้

มีผู้ที่อ้างว่า วัฒนธรรมบางอย่างเข้ากับค่านิยมประชาธิปไตยได้มากกว่า ซึ่งอาจเป็นมุมมองแบบชาติพันธุ์นิยม เพราะปกติแล้ว จะอ้างว่าวัฒนธรรมตะวันตก "เข้าได้ดีที่สุด" กับประชาธิปไตย และอ้างวัฒนธรรมอื่นว่า มีค่านิยมที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นเรื่องยากหรือเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา เป็นข้ออ้างที่บางครั้งใช้โดยระบอบการปกครองอื่น ๆ เพื่อแก้ต่างความล้มเหลวในการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบัน มีรัฐประชาธิปไตยที่ไม่ใช่คนตะวันตกมากมาย รวมทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย นามิเบีย บอตสวานา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มีงานวิจัยที่พบว่า "ผู้นำที่ได้การศึกษาในประเทศตะวันตกจะเพิ่มโอกาสเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยอย่างสำคัญ"[9]

ค่านิยมของสังคม

แก้

มีนักวิชาการที่อ้างว่า มีลักษณะบางอย่างที่ทำให้สังคมมีโอกาสมีวัฒนธรรมการทำงานเพื่อส่วนรวมมากกว่า และทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสูงกว่า คือชุมชนที่มีเครือข่ายองค์กรพลเมืองที่ช่วยปรับปรุงดูแลละแวกบ้าน ที่มีโครงสร้างเป็น "แนวนอน" คือมีสมาชิกมีฐานะ/อิทธิพลเท่าเทียมกัน จะช่วยสร้าง "ความเชื่อใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง" ได้ดีกว่า ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย และจะเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า เทียบกับเครือข่ายที่มีโครงสร้างเป็นแนวตั้ง คือมีการจัดตำแหน่งการงานเป็นชั้น ๆ หรือที่มีความสัมพันธ์แบบผู้อุปถัมภ์-ผู้พึ่งพา ซึ่งก็จะมีโอกาสสร้างวัฒนกรรมการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่จำเป็นในการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่า[10]

กลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

แก้

นักวิชาการอีกคนหนึ่งคาดว่า การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเมื่ออภิสิทธิชนไม่สามารถคืนรูประบอบอัตตาธิปไตยได้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มอำนาจต่าง ๆ อยู่ร่วมกันในเขตภูมิภาคหนึ่ง ๆ อันทำให้อภิสิทธิชนจำเป็นต้องสร้างสถาบันประชาธิปไตยและสถาบันตัวแทนเพื่อควบคุมเขตนั้น และเพื่อจำกัดอิทธิพลของกลุ่มอภิสิทธิชนผู้เป็นคู่แข่ง[11]

การแทรกแซงจากประเทศอื่น

แก้

ประชาธิปไตยบางครั้งเกิดเพราะการแทรกแซงทางทหารของประเทศอื่น ดังที่เกิดในญี่ปุ่นและเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[12][13] อิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมบางครั้งก็อำนวยให้ก่อตั้งประชาธิปไตย ที่ต่อมาไม่นานก็ถูกแทนที่ด้วยระบอบอำนาจนิยม ตัวอย่างเช่น ซีเรียหลังจากได้อิสรภาพจากอาณัติของฝรั่งเศสเมื่อต้นสงครามเย็น ไม่ได้ทำประชาธิปไตยให้มั่นคง แล้วในที่สุดก็ล้มและถูกแทนที่ด้วยระบอบเผด็จการของพรรคบะอัธ[14]

การศึกษา

แก้

มีทฤษฎีมานานแล้วว่า การศึกษาจะช่วยโปรโหมตสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคง[15] งานวิจัยแสดงว่า การศึกษาทำให้ยอมรับความแตกต่างทางการเมืองได้มากกว่า เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วม และลดความไม่เท่าเทียมกัน[16] งานวิจัยหนึ่งพบว่า "การเพิ่มระดับการศึกษาจะเพิ่มระดับประชาธิปไตย โดยผลของการศึกษาต่อการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยจะมีพลังยิ่งกว่าในประเทศยากจน"[16]

การค้าขายระหว่างประเทศ

แก้

งานศึกษาปี 2559 พบว่า ความตกลงค้าขายแบบบุริมสิทธิ (PTA) "กระตุ้นให้ประเทศเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้าคู่ความตกลงก็เป็นรัฐประชาธิปไตยเองด้วย"[17]

การร่วมมือระหว่างประเทศ

แก้

งานศึกษาปี 2545 พบว่า การเป็นสมาชิกในองค์กรนานาชาติ "สัมพันธ์กับการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในช่วงปี 2493-2535"[18]

รูปแบบระบอบเผด็จการ

แก้

ระบอบเผด็จการสามอย่าง คือ ราชาธิปไตย เผด็จการพลเรือน และเผด็จการทหาร จะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยโดยต่างกันเพราะมีเป้าหมายต่างกัน เผด็จการของพระราชาและพลเรือนต้องการอยู่ในอำนาจอย่างไม่มีกำหนด ผ่านการสืบทอดพระราชวงศ์สำหรับพระราชาและการกดขี่ศัตรูสำหรับเผด็จการพลเรือน ส่วนเผด็จการทหารจะยึดอำนาจแล้วปฏิบัติการเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อทดแทนรัฐบาลพลเรือนที่พิจารณาว่าบกพร่อง เผด็จการทหารมีโอกาสเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากกว่า เพราะตั้งแต่เริ่มก็หมายเป็นแค่การแก้ปัญหาชั่วคราวในขณะที่กำลังตั้งรัฐบาลที่ยอมรับได้ใหม่[19][20][21]

การประท้วงเพื่อประชาธิปไตย

แก้

การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยสัมพันธ์กับการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย งานวิจัยปี 2559 พบว่า กรณี 1 ใน 4 ของการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยระหว่างปี 2532-2554 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย[22]

ภัยสงครามเมือง

แก้

งานวิจัยแสดงว่า ภัยสงครามเมืองกระตุ้นให้ผู้ปกครองยอมเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตย งานศึกษาปี 2559 พบว่า การจลาจลเหตุความแห้งแล้งในแอฟริกาใต้สะฮาราทำให้ผู้ปกครองเกรงสงครามการเมือง แล้วยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย[23]

การก่อสงคราม

แก้

ในบทความที่ได้รับความยกย่องชื่อว่า "สงครามและสภาพในแอฟริกา (War and the state in Africa)" นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันอธิบายว่า ประเทศในยุโรปเกิดขึ้นอาศัยการทำสงครามซึ่งเป็นเหตุที่ไม่มีอย่างหนึ่งในแอฟริกาปัจจุบัน คือสงครามเป็นเหตุให้รัฐต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเก็บรายได้ บังคับให้ผู้นำต้องจัดระบบการบริหารปกครองให้ดีขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ประชาชนจะรู้สึกสามัคคีกัน ดังที่พบในรัฐยุโรปที่เสี่ยงต่อการถูกรุกรานหรือเกิดสงครามอย่างฉับพลันกับประเทศเพื่อนบ้าน

การบังคับให้ระวังระไวเช่นนี้ทำให้เกิดพัฒนาการเก็บภาษีที่ดีขึ้น เพราะรัฐที่ไม่มีรายได้พอทำสงครามก็จะสูญเสียเอกราช สงครามยังสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันที่มีพลังระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะประชาชนก็จะรู้สึกถึงภัยเหมือนกับรัฐ และต้องอาศัยประเทศเพื่อที่จะเจริญรุ่งเรืองได้ การทำสงครามทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นส่วนของรัฐมากขึ้น[24]

การเปลี่ยนเป็นชุมชนเมือง

แก้

มีงานวิจัยที่แสดงว่า การเปลี่ยนเป็นชุมชนเมืองมากขึ้นโดยวิธีต่าง ๆ ช่วยการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย[25]

ทรัพยากรธรรมชาติ

แก้

คำอธิบายหนึ่งสำหรับการกลับไปเป็นประชาธิปไตยของประเทศเอกวาดอร์ อันเป็นเหตุการณ์ที่ค้านความเห็นทั่วไปว่า รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติมักกระตุ้นให้เกิดรัฐบาลเผด็จการ ก็คือ มีสถานการณ์บางอย่างที่รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่นจากน้ำมัน จะลดความเสี่ยงที่นโยบายทางสังคมจะมีต่ออภิสิทธิชน เพราะรัฐมีรายได้อื่นเพื่อเป็นงบประมาณดำเนินการนโยบายสังคม โดยไม่เกี่ยวพันกับความมั่งคั่งหรือรายได้ของอภิสิทธิชน[26] และในประเทศที่มากไปด้วยความไม่เท่าเทียมกัน เช่นเอกวาดอร์ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ผลก็คือโอกาสการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยจะเพิ่มขึ้น[27]

รัฐประหารของทหารในเอกวาดอร์ปี 2515 มีเหตุโดยมากจากความเกรงกลัวของอภิสิทธิชนว่า จะมีการปรับกระจายรายได้[28] แต่ในปีเดียวกัน น้ำมันก็กลายเป็นแหล่งรายได้เพิ่มยิ่ง ๆ ขึ้นของประเทศ[28] แม้รายได้ในช่วงแรกนั้นจะใช้เพื่องบประมาณทางทหาร แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2522 ต่อมาได้ดำเนินขนานกับการเปลี่ยนกลับไปเป็นประชาธิปไตยของประเทศอีก[28] นักวิชาการจึงอ้างว่า การเปลี่ยนกลับไปเป็นประชาธิปไตยของเอกวาดอร์ มีเหตุจากการเพิ่มรายได้จากน้ำมันอย่างสำคัญ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มงบประมาณของรัฐ แต่ยังลดความกลัวของอภิสิทธิชนว่า รายได้/ความมั่งคั่งของตนจะถูกปรับกระจายไปใช้เป็นงบประมาณของรัฐ[28] การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทำให้รัฐบาลสามารถออกนโยบายเกี่ยวกับราคาสินค้าและสินจ้าง ที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนโดยที่อภิสิทธิชนไม่มีผลกระทบ แล้วจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของสถาบันประชาธิปไตยต่าง ๆ[28]

ผู้ครองอำนาจเผด็จการ

แก้

การเสียชีวิตของผู้เผด็จการ น้อยครั้งที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย นักวิเคราะห์รายหนึ่งพบว่า "ในบรรดาผู้เผด็จการ 79 ท่านที่ได้เสียชีวิตในอำนาจ (พ.ศ. 2489-2557) ในกรณีโดยมาก (92%) ระบอบการปกครองก็ดำเนินต่อไปหลังจากการเสียชีวิต"[29]

การเปลี่ยนแปลง

แก้

พัฒนาการให้เป็นประชาธิปไตยบ่อยครั้งช้า รุนแรง และถอยกลับบ่อย ๆ[30]

กรณีในประวัติศาสตร์

แก้

ในประเทศอังกฤษ สงครามกลางเมืองอังกฤษ (พ.ศ. 2185-2194) เป็นสงครามระหว่างพระราชาและรัฐสภาที่ได้รับเลือกตั้งแต่มีลักษณะของคณาธิปไตย[31] ต่อมา ยุครัฐในอารักขา (2196-2202) และเหตุการณ์การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ (2203-2231) จึงได้คืนการปกครองแบบอัตตาธิปไตย ในปี 2231 ก็เกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ที่ตั้งรัฐสภาที่เข้มแข็ง แล้วผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ค.ศ. 1689 ซึ่งบัญญัติสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางอย่าง[32] บัญญัติบังคับให้มีการเลือกตั้งเป็นประจำ ตั้งกฎเสรีภาพในการพูดในรัฐสภา และจำกัดอำนาจของพระราชา ซึ่งรับรองว่า โดยไม่เหมือนยุโรปโดยมากในยุคนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์จะไม่มีชัย[33][34] แต่ต้องรอจนถึงราชบัญญัติการมีตัวแทนของประชาชนปี 2427 (Representation of the People Act 1884) ที่ประชาชนชายส่วนใหญ่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

การปฏิวัติอเมริกา (2308-2326) ได้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา จากมุมมองต่าง ๆ มันเป็นชัยชนะทางอุดมคติ เพราะเป็นสาธารณรัฐที่แท้จริงโดยไม่เคยมีผู้เผด็จการสักคนหนึ่ง แม้สิทธิการออกเสียงเลือกตั้งจะจำกัดให้ชายผิวขาวอเมริกันผู้มีที่ดินในเบื้องต้น[35] แต่ทาสก็ยังไม่ได้เลิกโดยเฉพาะในรัฐภาคใต้จนกระทั่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา (2404-2408) และชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาก็ไม่ได้สิทธิพลเมืองจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1960

การปฏิวัติฝรั่งเศส (2332) ทำให้คนจำนวนมากสามารถออกเสียงเลือกตั้งได้เป็นเวลาสั้น ๆ แต่ก็ตามด้วยสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (2335-2345) และสงครามนโปเลียน (2346-2358) ที่ยาวนานกว่า 20 ปี การปฏิวัติช่วง French Directory (2338-2342) มีลักษณะทางคณาธิปไตยมากกว่า จักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่ง (2347-2358) แล้วตามด้วยการคืนสู่ราชบัลลังก์ของราชวงศ์บูร์บง (2358-2373) ทั้งสองก็กลับคืนการปกครองแบบอัตตาธิปไตย ส่วนสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 2 ต่อมา (2391-2395) ก็ได้ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปแก่ชาย แต่แล้วก็ตามมาด้วยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง (2395-2413) ต้องอาศัยสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (2413-2414) จึงได้ตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 (2413-2483)

จักรวรรดิเยอรมันตั้งขึ้นเมื่อปี 2414 แล้วตามด้วยสาธารณรัฐไวมาร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมานาซีเยอรมนีจึงคืนการปกครองแบบอัตตาธิปไตยจนกระทั่งแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ราชอาณาจักรอิตาลีซึ่งตั้งขึ้นหลังการรวมเอกราชของอิตาลีในปี 2404 เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมมนูญ ที่พระราชาทรงมีอำนาจค่อนข้างมาก ต่อมาลัทธิฟาสซิสต์อิตาลีจึงตั้งระบอบเผด็จการขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐอิตาลีดังปัจจุบัน

ยุคเมจิหลังปี 2411 เป็นจุดเริ่มปรับประเทศญี่ปุ่นให้ทันสมัย โดยมีการปฏิรูปทางประชาธิปไตยอย่างจำกัดด้วย ต่อมาในยุคไทโช (2455-2469) จึงมีการปฏิรูปเพิ่มขึ้น แต่ยุคโชวะก่อนสงคราม (2469-2488) ที่ตามมาก็พลิกกลับจนกระทั่งยุติสงครามโลกครั้งที่ 2

ตั้งแต่ พ.ศ. 2515

แก้

ตามงานศึกษาโดย "ฟรีดอมเฮาส์"[36] ในประเทศ 67 ประเทศที่ระบอบเผด็จการได้ล้มลงตั้งแต่ปี 2515 การต่อต้านของพลเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นปัจจัยที่มีกำลังในกรณี 70 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้เนื่องจากการรุกรานของประเทศอื่น และมีน้อยมากที่เนื่องจากการก่อการกำเริบที่ใช้อาวุธ หรือเนื่องจากการปฏิรูปที่อภิสิทธิชนสมัครใจเริ่มเอง แต่อย่างท่วมท้นเนื่องจากปฏิบัติการขององค์กรประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ไม่ใช้วิธีการรุนแรง และเนื่องจากการต่อต้านแบบสันติอื่น ๆ เช่น การนัดหยุดงาน การคว่ำบาตร การขัดขืนเจ้าหน้าที่/กฎหมายอย่างสงบ และการชุมนุมประท้วง[37]

ตัวบ่งชี้

แก้

ในเรื่องการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย องค์กร "ฟรีดอมเฮาส์"[36] ทำงานสำรวจที่ทรงอิทธิพล ซึ่งเริ่มขึ้นในระหว่างสงครามเย็น องค์กรปัจจุบันเป็นสถาบันนโยบาย (think tank) ที่ผลิตรายงานเสรีภาพที่ครอบคลุมกว้างขวางมากที่สุดงานหนึ่งทั้งในประเทศและในระหว่างประเทศ ซึ่งโดยปริยายก็เป็นรายงานการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยด้วย องค์กรจัดหมวดหมู่ประเทศทั้งหมดในโลกตามค่า 7 อย่างโดยมีคำถามกว่า 200 คำถามในงานสำรวจ และมีเจ้าหน้าที่หลายคนในทุก ๆ ประเทศ คะแนนจากส่วนต่าง ๆ ของการสำรวจจะสรุปประเทศลงใน 3 หมวด คือ เสรี กึ่งเสรี และไม่เสรี

งานศึกษาหนึ่งที่ตรวจความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจตลาดเสรี (วัดด้วยดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ) พัฒนาการทางเศรษฐกิจ (วัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) /ประชากร) และเสรีภาพทางการเมือง (วัดด้วยดัชนีฟรีดอม์เฮาส์) พบว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจระดับสูงจะเพิ่ม GDP/ประชากร ซึ่งก็ป้อนกลับเพิ่มเสรีภาพทางเศรษฐกิจ GDP/ประชากรยังเพิ่มเสรีภาพทางการเมืองอีกด้วย แต่เสรีภาพทางการเมืองไม่ได้เพิ่ม GDP/ประชากร และเสรีภาพทางเศรษฐกิจก็ไม่สัมพันธ์กับเสรีภาพทางการเมืองโดยตรง ถ้า GDP/ประชากรอยู่คงที่[38]

มุมมองต่าง ๆ

แก้

นักรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ศ. ดร. ฟรานซิส ฟุกุยะมะ ได้เขียนบทความเรื่องการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยที่คลาสสิกอีกงานหนึ่งในชื่อเรื่อง อวสารประวัติศาสตร์และมนุษย์คนสุดท้าย (The End of History and the Last Man) ซึ่งกล่าวถึงการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยเสรีนิยมว่าเป็นรูปแบบการปกครองสุดท้ายของมนุษย์ แต่ก็มีผู้อ้างว่า การขยายปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสรี มีผลผสมผเสต่อการเปลี่ยนเป็นประชาธิไตย คืออ้างว่า จากหลาย ๆ มุมมอง สถาบันทางประชาธิปไตยต่าง ๆ ถูกจำกัดหรือถูกขังไว้เพื่อประโยชน์ของตลาดทุนนานาชาติ หรือเพื่ออำนวยการค้าขายทั่วโลก[39]

ส่วนนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ศ. ดร. ซามูเอล ฮันติงตัน ได้เขียนหนังสือชื่อว่า คลื่นลูกที่ 3 - การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (The Third Wave: Democratization in the Late 20th century) ซึ่งเขากำหนดคลื่นการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย 3 ลูกที่เกิดในประวัติศาสตร์[40] คลื่นลูกแรกนำประชาธิปไตยมาสู่ยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือในคริสต์ทศวรรษที่ 19 แล้วตามด้วยการเกิดระบอบเผด็จการช่วงในระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ลูกที่สองเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หมดพลังลงช่วงระหว่าง ค.ศ. 1962 กับกลางคริสต์ทศวรรษ 1970 คลื่นล่าสุดเริ่มที่ปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) และยังดำเนินไปอยู่ การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในละตินอเมริกาและกลุ่มตะวันออก (Eastern Bloc) เป็นส่วนของคลื่นลูกที่สามนี้

ตัวอย่างที่ดีของเขตที่ผ่านคลื่นทั้งสามก็คือตะวันออกกลาง ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เขตนี้เป็นส่วนของจักรวรรดิออตโตมัน ในศตวรรษที่ 19 "เมื่อจักรวรรดิออตโตมันล้มลงในที่สุด ... ช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพชาวตะวันตกในที่สุดก็ได้เข้าไปยึดครองเขต"[41] นี่เป็นทั้งการขยายอาณาเขตของชาวยุโรป และเป็นการสร้างประเทศเพื่อเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยด้วย

แต่ก็มีนักวิชาการที่อ้างว่า "การแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ... เป็น (อุปสรรค) ที่ขวางความพยายามของสหรัฐเพื่อเปลี่ยนอิรักให้เป็นประชาธิปไตย" ซึ่งแสดงปัญหาที่น่าสนใจในเรื่องการรวมปัจจัยต่างชาติและภายในประเทศในกระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย[42] นอกจากนั้นแล้ว ศ. ดร. เอ็ดวาร์ด เซด ยังกล่าวตำหนิความรู้สึกที่เป็นของคนตะวันตกโดยมากว่ามี "ความเข้ากันไม่ได้โดยธรรมชาติระหว่างค่านิยมทางประชาธิปไตยกับอิสลาม" ว่าเป็น "orientalist" คือเป็นไปตามความรู้สึกปรามาสและเรื่องที่ไม่เป็นจริงเกี่ยวกับ "คนตะวันออก" เขาเสนอเหตุผลว่า "ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังไม่มีปัจจัยที่ต้องมีก่อนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย" (ไม่ใช่เพราะเข้ากันไม่ได้กับอิสลาม)

ส่วนนักข่าวผู้ชำนาญเรื่องการปกครองคนหนึ่ง ได้ตรวจสอบเรื่องความมั่นคงที่การโปรโหมดประชาธิปไตยช่วยเสริมสร้าง แล้วชี้ความสัมพันธ์ระหว่างระดับประชาธิปไตยกับระดับการก่อการร้ายในประเทศ แม้จะเป็นเรื่องที่ยอมรับว่า ความยากจนในประเทศมุสลิมเป็นเหตุแนวหน้าในการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น นักข่าวก็ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ก่อการร้ายหลักในเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นคนชั้นกลางหรือคนชั้นสูง เขาเสนอว่า สังคมที่ผู้ก่อการร้ายของอัลกออิดะฮ์ใช้ชีวิต มักเป็นที่หาเงินได้ง่าย ๆ (เช่นจากน้ำมัน) และดังนั้นจึงไม่มีแรงจูงใจให้พัฒนาทางเศรษฐกิจหรือการเมือง[43] เมื่อมีโอกาสมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย เยาวชนชาวอาหรับจึงได้ถูกล่อให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ เช่นในลัทธิต้นคัมภีร์อิสลาม (Islamic fundamentalism) การเจริญขึ้นของลัทธิต้นคัมภีร์อิสลาม และความรุนแรงที่เป็นผลในเหตุการณ์ 9/11 แสดงความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยธรรมชาติ และรัฐบาลประชาธิปไตยหรือที่มีกระบวนการทางประชาธิปไตย (เช่น การเปิดให้มีส่วนร่วมทางการเมือง) เป็นลานประชาคมที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง

ผู้ออกความเห็นคนหนึ่ง (Larry Pardy) ให้ข้อสังเกตว่า รัฐบาลมีแรงจูงใจเพื่อจะรักษาอำนาจโดยมีปัจจัยสองอย่าง คือ ความชอบธรรมและวิถีทาง ความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตยจะได้จากการยอมรับของประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเปิดเผย และวิถีทางด้านการเงินจะมาจากแหล่งภาษีที่สมบูรณ์อันเกิดจากเศรษฐกิจที่ดี โดยความสำเร็จทางเศรษฐกิจก็จะมาจากเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ สิทธิในทรัพย์สิน ฝ่ายตุลาการที่ยุติธรรมและเป็นอิสระ ความมั่นคง และหลักนิติธรรม อนึ่ง องค์ประกอบหลักที่สนับสนุนเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ก็ยังสืบไปยังสิทธิพื้นฐานของปัจเจกบุคคลอีกด้วย ในนัยตรงข้าม เมื่อรัฐบาลสามารถกดขี่คู่แข่งทางการเมือง ก็จะไม่มีหลักนิติธรรม และเมื่อความมั่งคั่งสามารถยึดได้ตามใจชอบ ก็จะไม่มีสิทธิทางทรัพย์สิน

ตามนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง แบบจำลอง "ทางออก การมีเสียง และความจงรักภักดี (exit, voice, and loyalty model)" แสดงว่า ถ้าประชาชนสามารถมีทางออกไม่อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล ก็จะมีโอกาสเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยสูงกว่า คือ รัฐบาลอาจจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือประชากรที่มีทางออกต่าง ๆ ได้ยาก[44] และการออกไม่ใช่เป็นเพียงแค่ออกจากอาณาเขตของรัฐที่มีแต่บีบบังคับ แต่หมายเอาการตอบสนองปรับตัวที่ทำให้รัฐลำบากในการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือตนมากขึ้น รวมทั้งการปลูกพืชที่รัฐไม่สามารถนับได้ (และไม่สามารถเก็บภาษี) หรือเลี้ยงสัตว์ที่นำไปที่อื่นได้ง่ายกว่า

จริง ๆ แล้วกำเนิดของรัฐก็เป็นผลของการปรับตัวของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม และของการเลือกว่าจะอยู่หรือจะออกจากบริเวณนั้น[44] ถ้าประชาชนมีอิสรภาพในการย้ายที่ แบบจำลองนี้พยากรณ์ว่า รัฐจะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนไปที่อื่น[45] ดังนั้น ถ้าบุคคลมีทางออกที่เป็นไปได้โดยไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล ก็จะสามารถจำกัดพฤติกรรมตามอำเภอใจของรัฐบาลเพราะสามารถขู่ด้วยการเลือกทางออกได้[45]

ประชาธิปไตยที่คงยืนเป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและโปร่งใส มันต้องอาศัยพื้นฐานที่หนักแน่นของเสรีภาพทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ที่ประชาชนในประเทศตะวันตกต้องแคะงัดจากรัฐบาลด้วยความยากลำบากเป็นศตวรรษ ๆ โดยเริ่มอย่างช้าก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1758 เมื่อพระเจ้าจอห์นทรงยอมรับข้อจำกัดต่อพระอำนาจ คือทรงยอมให้ประชาชนมีสิทธิตามมหากฎบัตร สมัยนั้นก็ดี แม้แต่สมัยนี้ก็ดี รัฐบาลจะมีแรงจูงใจสนับสนุนสิทธิเสรีภาพก็ต่อเมื่อมันมีผลโดยตรงต่อการรักษาและใช้อำนาจของรัฐบาล มันไม่ได้เกิดจากแนวคิดอุดมคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเสรีภาพ จากการมีสัญญาโดยนัยกับประชาชน จากการเคี่ยวเข็ญของประเทศที่เป็นผู้บริจาค หรือการป่าวประกาศขององค์กรนานาชาติ

ตามนักวิชาการท่านหนึ่ง ดร. ฟุกุยะมะถูกแล้วในคำกล่าวถึงอวสานแห่งประวัติศาสตร์ เพราะประชาธิปไตยเสรีนิยมที่มีในประเทศตะวันตก เป็นที่สุดของวิวัฒนาการทางอุดมคติของมนุษย์ เป็นกลไกที่ระบบตลาดเสรีสามารถจัดสรรปันส่วนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยพึ่งอาศัยซึ่งกันและกันกับระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจะมีแรงจูงใจปกป้องเศรษฐกิจ ในขณะที่มูลฐานของเศรษฐกิจเช่นนั้นก็จะสร้างปัจจัยของความเป็นประชาธิปไตย[46]

ในบริบทอื่น ๆ

แก้

แม้การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมักจะกล่าวในเรื่องการเมืองระดับประเทศหรือท้องถิ่น แต่ก็สามารถใช้ในบริบทอื่น ๆ ได้ด้วย

องค์กรนานาชาติ

แก้

องค์กรนานาชาติ (เช่น สหประชาชาติ) มักจะมีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปและเปลี่ยนโครงสร้างการออกเสียงลงคะแนน และเปลี่ยนระบบการนับคะแนน

บริษัท

แก้

แนวคิดการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยสามารถประยุกต์ใช้ในบรรษัท ที่ทั่วไปมีโครงสร้างอำนาจแบบหัวหน้าสั่งลูกน้อง หรือหัวหน้ารู้ดีที่สุด ซึ่งต่างจากวิธีบริหารแบบปรึกษา ให้อำนาจแก่ลูกน้อง และการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปทั่วบริษัท ดังที่สนับสนุนโดยขบวนการประชาธิปไตยในที่ทำงาน

อินเทอร์เน็ต

แก้

โครงสร้างแบบอนาธิปไตยของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ต (IETF) และของตัวอินเทอร์เน็ตเอง เป็นแรงดลใจให้กลุ่มบางกลุ่มเรียกร้องให้ระบบการได้และการเสียชื่อโดเมนเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย พวกเขาให้ข้อสังเกตว่าระบบการตั้งชื่อโดเมนขององค์กร ICANN เป็นส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและรวมศูนย์อำนาจมากที่สุดของอินเทอร์เน็ต โดยใช้แบบง่าย ๆ คือใครมาก่อนได้ก่อน

ความรู้

แก้

การเปลี่ยนความรู้ให้เป็นประชาธิปไตย คือการให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป เทียบกับความรู้ที่จำกัดอยู่กับกลุ่มอภิสิทธิชน

การออกแบบ

แก้

มีความโน้มเอียงที่ผลิตภัณฑ์ออกแบบโดยนักออกแบบชื่อดัง จะมีราคาถูกลงซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงได้ และความโน้มเอียงที่บริษัทจะออกแบบตามการตัดสินใจของผู้บริโภค[47]

ดูเพิ่ม

แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง

แก้
  1. "Democratization", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (รัฐศาสตร์) การทำให้เป็นประชาธิปไตย
  2. 2.0 2.1 2.2 Przeworski, Adam; และคณะ (2000). Democracy and Development: Political Institutions and Well-Being in the World, 1950-1990. Cambridge: Cambridge University Press.
  3. Rice, Tom W.; Ling, Jeffrey (2002-12-01). "Democracy, Economic Wealth and Social Capital: Sorting Out the Causal Connections". Space and Polity. 6 (3): 307–325. doi:10.1080/1356257022000031995. ISSN 1356-2576.
  4. Treisman, Daniel (2015-10-01). "Income, Democracy, and Leader Turnover". American Journal of Political Science (ภาษาอังกฤษ). 59 (4): 927–942. doi:10.1111/ajps.12135. ISSN 1540-5907. S2CID 154067095.
  5. Traversa, Federico (2014). "Income and the stability of democracy: Pushing beyond the borders of logic to explain a strong correlation?". Constitutional Political Economy. 26 (2): 121–136. doi:10.1007/s10602-014-9175-x. S2CID 154420163.
  6. FENG, YI (July 1997). "Democracy, Political Stability and Economic Growth". British Journal of Political Science. 27 (3): 416, 391–418. doi:10.1017/S0007123497000197. S2CID 154749945.
  7. Clark, William Roberts, Matt Golder, and Sona N. Golder. 2013. “Power and politics: insights from an exit, voice, and loyalty game.” Unpublished manuscript, University of Michigan and Pennsylvania State University.
  8. Acemoglu, Daron; James A. Robinson (2006). Economic Origins of Dictatorship and Democracy. Cambridge: Cambridge University Press.
  9. Gift, Thomas; Krcmaric, Daniel (2015). "Who Democratizes? Western-educated Leaders and Regime Transitions". Journal of Conflict Resolution. doi:10.1177/0022002715590878. สืบค้นเมื่อ 2015-12-23.
  10. Putnam, Robert (1993-03). "What makes democracy work?". National Civic Review. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  11. Olson, Mancur (1993). "Dictatorship, Democracy and Development". American Political Science Review.
  12. Therborn, Göran (May–June 1977). "The rule of capital and the rise of democracy". New Left Review. I (103): 3–41.
  13. "Did the United States Create Democracy in Germany?". The Independent. 11 (2). Fall 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-25.
  14. Krokowska, Katarzyna (2011). "The Fall of Democracy in Syria" (PDF). Perceptions. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-12.
  15. Friedman, Milton (1962). Capitalism and Freedom. p. 86.
  16. 16.0 16.1 Alemán, Eduardo; Kim, Yeaji (2015-10-01). "The democratizing effect of education". Research & Politics (ภาษาอังกฤษ). 2 (4): 2053168015613360. doi:10.1177/2053168015613360. ISSN 2053-1680.
  17. Manger, Mark S.; Pickup, Mark A. (2016-02-01). "The Coevolution of Trade Agreement Networks and Democracy". Journal of Conflict Resolution (ภาษาอังกฤษ). 60 (1): 164–191. doi:10.1177/0022002714535431. ISSN 0022-0027.
  18. Pevehouse, Jon C. (2002-06-01). "Democracy from the Outside-In? International Organizations and Democratization". International Organization. 56 (03): 515–549. doi:10.1162/002081802760199872. ISSN 1531-5088.
  19. Debs, Alexandre (2016-02-18). "Living by the Sword and Dying by the Sword? Leadership Transitions in and out of Dictatorships". International Studies Quarterly (ภาษาอังกฤษ): sqv014. doi:10.1093/isq/sqv014. ISSN 0020-8833.
  20. Cheibub, Jose Antonio; Ghandi, Jennifer; Vreeland, James (2010). "Democracy and Dictatorship Revisited". Public Choice.
  21. Smith, Peter (2005). Democracy in Latin America. Oxford University Press.
  22. Brancati, Dawn (2016). Democracy Protests: Origins, Features and Significance. Cambridge: Cambridge University Press.
  23. Aidt, Toke S.; Leon, Gabriel (2016-06-01). "The Democratic Window of Opportunity Evidence from Riots in Sub-Saharan Africa". Journal of Conflict Resolution (ภาษาอังกฤษ). 60 (4): 694–717. doi:10.1177/0022002714564014. ISSN 0022-0027.
  24. Herbst, Jeffrey (1990). ""War and the State in Africa". International Security: 117–139.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  25. Glaeser, Edward L.; Steinberg, Bryce Millett (2016-11-01). "Transforming Cities: Does Urbanization Promote Democratic Change?". National Bureau of Economic Research. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  26. Dunning, Thad (2008). "1". Crude Democracy: Natural Resource Wealth and Political Regimes. Cambridge University Press. p. 3. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  27. Dunning 2008, ch. 1, p. 21
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 Dunning 2008, ch. 1, p. 34
  29. "When Dictators Die". Foreign Policy. สืบค้นเมื่อ 2016-02-26.
  30. Berman, Sheri (2007-01). "How Democracies Emerge" (PDF). Journal of Democracy. 18 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-11. สืบค้นเมื่อ 2017-08-01. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  31. "Origins and growth of Parliament". The National Archives. สืบค้นเมื่อ 2015-04-07.
  32. "Britain's unwritten constitution". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08. สืบค้นเมื่อ 2015-11-27. The key landmark is the Bill of Rights (1689), which established the supremacy of Parliament over the Crown.... The Bill of Rights (1689) then settled the primacy of Parliament over the monarch's prerogatives, providing for the regular meeting of Parliament, free elections to the Commons, free speech in parliamentary debates, and some basic human rights, most famously freedom from 'cruel or unusual punishment'.
  33. "Constitutionalism: America & Beyond". Bureau of International Information Programs (IIP), U.S. Department of State. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-24. สืบค้นเมื่อ 2014-10-30. The earliest, and perhaps greatest, victory for liberalism was achieved in England. The rising commercial class that had supported the Tudor monarchy in the 16th century led the revolutionary battle in the 17th, and succeeded in establishing the supremacy of Parliament and, eventually, of the House of Commons. What emerged as the distinctive feature of modern constitutionalism was not the insistence on the idea that the king is subject to law (although this concept is an essential attribute of all constitutionalism). This notion was already well established in the Middle Ages. What was distinctive was the establishment of effective means of political control whereby the rule of law might be enforced. Modern constitutionalism was born with the political requirement that representative government depended upon the consent of citizen subjects.... However, as can be seen through provisions in the 1689 Bill of Rights, the English Revolution was fought not just to protect the rights of property (in the narrow sense) but to establish those liberties which liberals believed essential to human dignity and moral worth. The "rights of man" enumerated in the English Bill of Rights gradually were proclaimed beyond the boundaries of England, notably in the American Declaration of Independence of 1776 and in the French Declaration of the Rights of Man in 1789.
  34. "Citizenship 1625-1789". The National Archives. สืบค้นเมื่อ 2010-08-22.
  35. "Expansion of Rights and Liberties - The Right of Suffrage". Online Exhibit: The Charters of Freedom. National Archives. สืบค้นเมื่อ 2015-04-21.
  36. 36.0 36.1 Freedom House เป็นองค์การนอกภาครัฐที่ได้รับทุน 66-85% จากรัฐบาลกลางสหรัฐระหว่างปี 2549-2558 เพื่อทำงานสนับสนุนและวิจัยในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน องค์กรทำรายงานประจำปีรวมทั้ง
    • รายงานเสรีภาพในโลก (Freedom in the World Report) ซึ่งประเมินเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพของพลเรือน เป็นรายงานที่นักรัฐศาสตร์ นักข่าว และผู้ออกนโยบายรัฐ อ้างอิงบ่อย ๆ
    • รายงาน เสรีภาพของนักข่าว (Freedom of the Press) และ เสรีภาพของอินเทอร์เน็ต (Freedom of Net) ซึ่งตรวจตราการตรวจพิจารณา (การเซ็นเซอร์) การคุกคามและความรุนแรงต่อนักข่าว และการเข้าถึงข้อมูลได้ของประชาชน
    แม้องค์การจะถูกตำหนิโดยกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้ง รัสเซีย จีน คิวบา ซูดาน พร้อมทั้งนักรัฐศาสตร์และนักปฏิบัติการทางการเมืองของสหรัฐเอง แต่งานวิเคราะห์ของนักวิชาการพวกหนึ่ง (Kenneth A. Bollen) ก็ไม่พบความเอนเอียงอย่างเป็นระบบของดัชนีที่เป็นผลงาน ส่วนอีกงานหนึ่ง (Mainwaring et. al) พบความเอนเอียงอย่างเป็นระบบสองอย่าง แม้ค่าที่ได้เกี่ยวกับประเทศลาตินอเมริกาจะสัมพันธ์กับที่พบในงานวิเคราะห์ของกลุ่มอื่น ๆ
  37. "Study: Nonviolent Civic Resistance Key Factor in Building Durable Democracies". 2005-05-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-23. สืบค้นเมื่อ 2017-08-01.
  38. Farr, Ken; Lord, Richard A; Wolfenbarger, J Larry (1998). "Economic Freedom, Political Freedom, and Economic Well-Being: A Causality Analysis". Cato Journal. 18 (2): 247–262.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) Full PDF เก็บถาวร 2005-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  39. Roberts, Alasdair S (2008-12-23). "Empowerment or Discipline? Two Logics of Governmental Reform". Social Science Research Network.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  40. Huntington, Samuel P. (1991). Democratization in the Late 20th century. Norman: University of Oklahoma Press.
  41. Simon, Bromley (1994). Rethinking Middle East Politics: State Formation and Development. Cambridge: Polity Press.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  42. doi:10.1111/j.1949-3606.2007.tb00069.x
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  43. Zakaria, Fareed (2007). The Future of Freedom: Illiberal Democracy at Home and Abroad. W.W. Norton. p. 138.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  44. 44.0 44.1 C., Scott, James (2010). The Art of not being governed : an anarchist history of upland Southeast Asia. NUS Press. p. 7. ISBN 9780300152289. OCLC 872296825.
  45. 45.0 45.1 "Power and politics: insights from an exit, voice, and loyalty game" (PDF).
  46. Pardy, Larry D (2014). Understanding the Determinants of Democracy: Opening the Black Box. Amherst, NS.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  47. Harry (2007). "The Democratization of Design". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-09.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)

อ่านเพิ่ม

แก้
  • Acemoglu, Daron, and James A. Robinson. 2006. Economic Origins of Dictatorship and Democracy. New York, NY: Cambridge University Press.
  • Albertus, Michael and Victor Menaldo. 2018. Authoritarianism and the Elite Origins of Democracy. New York: Cambridge University Press.
  • Berman, Sheri. 2019. Democracy and Dictatorship in Europe: From the Ancien Régime to the Present Day. New York: Oxford University Press.
  • Boix, Carles. 2003. Democracy and Redistribution. New York: Cambridge University Press
  • Brancati, Dawn. 2016. Democracy Protests: Origins, Features and Significance. New York: Cambridge University Press
  • Carothers, Thomas. 1999. Aiding Democracy Abroad: The Learning Curve. Washington, DC: Carnegie Endowment for International Peace.
  • Collier, Ruth Berins. 1999. Paths Toward Democracy: Working Class and Elites in Western Europe and South America. New York: Cambridge University Press
  • Coppedge, Michael, Amanda Edgell, Carl Henrik Knutsen, and Staffan I. Lindberg (eds.). 2022. Why Democracies Develop and Decline. New York, NY: Cambridge University Press.
  • Fukuyama, Francis. 2014. Political Order and Political Decay. From the Industrial Revolution to the Globalization of Democracy. New York: Farrar, Straus and Giroux.
  • Haggard, Stephen and Robert Kaufman. 2016. Dictators and Democrats: Elites, Masses, and Regime Change. Princeton, NJ: Princeton University Press.
  • Inglehart, Ronald and Christian Welzel. 2005. Modernization, Cultural Change and Democracy: The Human Development Sequence. New York: Cambridge University Press.
  • Hadenius, Axel. 2001. Institutions and Democratic Citizenship. Oxford: Oxford University Press.
  • Levitsky, Steven, and Lucan A. Way. 2010. Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes After the Cold War. New York, NY: Cambridge University Press.
  • Linz, Juan J., and Alfred Stepan. 1996. Problems of Democratic Transition and Consolidation: Southern Europe, South America and Post-Communist Europe. Baltimore, MD: The Johns Hopkins University Press.
  • Lipset, Seymour Martin. 1959. "Some Social Requisites of Democracy: Economic Development and Political Legitimacy." American Political Science Review 53(1): 69-105.
  • Mainwaring, Scott, and Aníbal Pérez-Liñán. 2014. Democracies and Dictatorships in Latin America. Emergence, Survival, and Fall. New York: Cambridge University Press.
  • Møller, Jørgen and Svend-Erik Skaaning (eds.). 2016. The State-Democracy Nexus. Conceptual Distinctions, Theoretical Perspectives, and Comparative Approaches. London: Routledge.
  • O'Donnell, Guillermo, and Philippe C. Schmitter. 1986. Transitions from Authoritarian Rule. Tentative Conclusions about Uncertain Democracies. Baltimore, MD: The Johns Hopkins University Press.
  • Przeworski, Adam. 1991. Democracy and the Market. Political and Economic Reforms in Eastern Europe and Latin America. New York, NY: Cambridge University Press.
  • Przeworski, Adam, Michael E. Alvarez, José Antonio Cheibub, and Fernando Limongi. 2000. Democracy and Development: Political Institutions and Well-Being in the World, 1950-1990. New York, NY: Cambridge University Press.
  • Rosenfeld, Bryn. 2020. The Autocratic Middle Class: How State Dependency Reduces the Demand for Democracy. Princeton, NJ, Princeton University Press.
  • Schaffer, Frederic C. Democracy in Translation: Understanding Politics in an Unfamiliar Culture. 1998. Ithaca, NY: Cornell University Press.
  • Teele, Dawn Langan. 2018. Forging the Franchise: The Political Origins of the Women's Vote. Princeton, NJ: Princeton University Press.
  • Teorell, Jan. 2010. Determinants of Democratization: Explaining Regime Change in the World, 1972 -2006. New York, NY: Cambridge University Press.
  • Tilly, Charles. 2004. Contention and Democracy in Europe, 1650-2000. New York: Cambridge University Press.
  • Tilly, Charles. 2007. Democracy. New York: Cambridge University Press.
  • Vanhanen, Tatu. 2003. Democratization: A Comparative Analysis of 170 Countries. Routledge.
  • Welzel, Christian. 2013. Freedom Rising: Human Empowerment and the Quest for Emancipation. New York: Cambridge University Press.
  • Weyland, Kurt. 2014. Making Waves: Democratic Contention in Europe and Latin America since the Revolutions of 1848. New York: Cambridge University Press
  • Zakaria, Fareed. The Future of Freedom: Illiberal Democracy at Home and Abroad. 2003. New York: W.W. Norton.
  • Ziblatt, Daniel. 2017. Conservative Parties and the Birth of Democracy. New York: Cambridge University Press.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้