ยูอาร์แอล

(เปลี่ยนทางจาก URL)

ตัวชี้แหล่งในอินเทอร์เน็ต หรือ โปรแกรมชี้แหล่งทรัพยากรสากล[1] (อังกฤษ: Uniform Resource Locator, Universal Resource Locator) เรียกโดยย่อว่า ยูอาร์แอล (อังกฤษ: URL) คือตัวระบุแหล่งทรัพยากรสากล (URI) ประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้สำหรับระบุแหล่งที่อยู่ของทรัพยากรที่ต้องการ และมีกลไกบางอย่างสำหรับดึงข้อมูลทรัพยากรนั้นมา ในการใช้ในเอกสารทางเทคนิคและการอภิปรายทั่วไป มักจะใช้ยูอาร์แอลแทนความหมายที่คล้ายกับยูอาร์ไอ [2] ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้องและอาจทำให้เกิดความสับสน ในภาษาพูดทั่วไป ยูอาร์แอลอาจหมายถึง ที่อยู่บนเว็บ หรือ ที่อยู่อินเทอร์เน็ต ก็ได้ ซึ่งปกติแล้วเรามักพิมพ์ยูอาร์แอลในแถบที่อยู่ของเว็บเบราว์เซอร์เพื่อเรียกข้อมูลจากเว็บไซต์

ประวัติ

ตัวชี้แหล่งในอินเทอร์เน็ตสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) โดยทิม เบอร์เนิร์ส-ลี โดยเป็นส่วนหนึ่งของตัวระบุแหล่งทรัพยากรสากล [3] ซึ่งเขาก็ไม่พอใจกับรูปแบบของยูอาร์แอลเท่าใดนัก เพราะว่าแทนที่เขาจะแบ่งเส้นทางจากใหญ่ไปหาเล็ก แต่เขาแยกเซิร์ฟเวอร์ที่แบ่งด้วยจุด กับเส้นทางของไฟล์ที่แบ่งด้วยทับออกจากกัน [4] ตัวอย่างเช่นยูอาร์แอลนี้ http://www.serverroute.com/path/to/file.html เขาคิดไว้ว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ http://com/serverroute/www/path/to/file.html

วากยสัมพันธ์

ยูอาร์แอลทุกชื่อประกอบขึ้นจาก แผนของตัวระบุแหล่งทรัพยากรสากล (URI scheme) (โดยทั่วไปเรียกว่าโพรโทคอล), ตามด้วยทวิภาค (:) และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแผนที่ใช้งาน, ชื่อแม่ข่าย (hostname) หรือที่อยู่ไอพี, หมายเลขพอร์ต, ชื่อเส้นทางไปยังไฟล์ที่จะดึงข้อมูลมาหรือโปรแกรมที่จะทำงาน, และสุดท้ายคือสายอักขระสอบถาม (query string) โดยเฉพาะเมื่อทำงานกับโปรแกรมต่อประสานร่วมสำหรับเกตเวย์ (CGI) [5][6] สำหรับการเรียกไฟล์เอชทีเอ็มแอล สามารถใส่จุดตรึง (anchor) เป็นทางเลือก เพื่อเลื่อนเว็บเพจไปยังจุดที่ต้องการได้ด้วย [7] ดังนั้นรูปแบบโดยทั่วไปของยูอาร์แอลก็คือ

resource_type://domain:port/filepathname?query_string#anchor
  • แผนของตัวระบุ หรือชนิดของทรัพยากร ได้นิยามเนมสเปซ จุดประสงค์ และวากยสัมพันธ์ของส่วนอื่นที่เหลือของยูอาร์แอลไว้แล้ว โปรแกรมที่ทำงานบนเว็บจะพยายามถอดความหมายยูอาร์แอลตามแผนและบริบทของมัน ตัวอย่างเช่น เว็บเบราว์เซอร์จะถอดความหมายของยูอาร์แอล http://example.org:80 ว่าให้ส่งการร้องของไปบนเอชทีทีพี ไปยังเครื่องแม่ข่ายที่ชื่อว่า example.org ที่พอร์ตหมายเลข 80 หรือสำหรับชื่อทรัพยากรสากล (URN) เช่น mailto:bob@example.com จะเป็นการเริ่มต้นโปรแกรมเขียนอีเมล แล้วนำชื่อ bob@example.com ไปใส่ในฟีลด์ชื่อผู้รับ เป็นต้น สำหรับแผนของตัวระบุอื่น ๆ ก็มีอย่างเช่น https:, gopher:, wais:, ftp: ฯลฯ
  • ชื่อโดเมนที่จดทะเบียนหรือที่อยู่ไอพีเป็นที่อยู่เป้าหมายสำหรับยูอาร์แอล เช่นชื่อโดเมน google.com หรือไอพี 72.14.207.99 ก็เป็นที่อยู่ของเว็บไซต์กูเกิล เป็นต้น
  • ชื่อแม่ข่ายหรือชื่อโดเมนที่เป็นส่วนหนึ่งของยูอาร์แอลนั้น อักษรตัวเล็กตัวใหญ่ไม่มีความสำคัญ เพราะว่าระบบการตั้งชื่อโดเมน (DNS) ได้กำหนดไว้เช่นนั้น ดังนั้น http://en.wiki.x.io/ กับ HTTP://EN.WIKIPEDIA.ORG/ ทั้งคู่เปิดไปยังหน้าเดียวกัน
  • หมายเลขพอร์ตเป็นส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นต้องใส่ ซึ่งถ้าหากไม่ใส่ก็จะใช้หมายเลขพอร์ตปริยายของแผนนั้น ตัวอย่างเช่น หากพิมพ์ยูอาร์แอลนี้ http://myvncserver.no-ip.org:5800 ลงไปในช่องที่อยู่ เว็บเบราว์เซอร์จะเชื่อมต่อไปยังหมายเลขพอร์ต 5800 ของเครื่องแม่ข่าย myvncserver.no-ip.org ซึ่งพอร์ตนี้ถูกใช้โดยโปรแกรมควบคุมระยะไกลของ Virtual Network Computing ถ้าไม่ใส่ จะเชื่อมต่อไปยังพอร์ตหมายเลข 80 ซึ่งเป็นพอร์ตปริยายของเอชทีทีพี เครื่องแม่ข่ายหนึ่งอาจสามารถเชื่อมต่อได้หลายพอร์ตและต่างบริการก็ได้
  • ชื่อเส้นทางของไฟล์ คือที่อยู่ในเครื่องแม่ข่ายซึ่งไฟล์หรือโปรแกรมนั้นบันทึกอยู่ ส่วนนี้อักษรตัวเล็กตัวใหญ่มีความสำคัญตามหลักการ แต่ก็อาจไม่มีความสำคัญในเครื่องให้บริการบางเครื่องก็ได้ โดยเฉพาะเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่ทำงานอยู่บนไมโครซอฟท์ วินโดวส์ เช่นว่า สำหรับบนเครื่องแม่ข่ายที่อักษรตัวเล็กตัวใหญ่มีความสำคัญ การเรียกทรัพยากรไปยังยูอาร์แอล http://en.wiki.x.io/wiki/URL ให้ผลที่ถูกต้อง แต่ถ้าเรียกไปยัง http://en.wiki.x.io/WIKI/URL หรือ http://en.wiki.x.io/wiki/url จะคืนค่าเป็นหน้าข้อความผิดพลาดรหัส 404 แต่สำหรับเว็บเซิร์ฟเวอร์บนวินโดวส์ ยูอาร์แอลทั้งสามจะเปิดไปยังหน้าเดียวกัน
  • สายอักขระสอบถามเป็นข้อมูลที่ส่งผ่านไปยังเว็บแอปพลิเคชัน เช่นโปรแกรมซีจีไอ สายอักขระสอบถามจะถูกแบ่งไว้เป็นชื่อตัวแปร เครื่องหมายเท่ากับ (=) และค่าของมันเป็นคู่ ๆ คั่นด้วยแอมเพอร์แซนด์ (&) เช่น first_name=John&last_name=Doe การส่งสายอักขระสอบถามไปกับทรัพยากรธรรมดาอาจไม่มีประโยชน์อะไร
  • จุดตรึงในยูอาร์แอล ใช้กับเอชทีทีพีสำหรับระบุตำแหน่งบนหน้าเว็บ เช่นยูอาร์แอลนี้ http://en.wiki.x.io/wiki/URL#Syntax จะเป็นการระบุถึงส่วนที่ชื่อว่า Syntax ในหน้าเว็บนั้น ในบางเว็บไซต์ ส่วนประกอบจุดตรึงอาจมีฟังก์ชันการทำงานอย่างอื่น ดูเพิ่มในตัวระบุชิ้นส่วน (fragment identifier)

ยูอาร์แอลสัมบูรณ์และยูอาร์แอลสัมพัทธ์

ยูอาร์แอลสัมบูรณ์ (absolute URL) หรือยูอาร์แอลเต็ม คือการระบุทรัพยากรไฟล์ในตำแหน่งที่แน่นอน และมีเพียงหนึ่งเดียว หมายความว่าถ้ายูอาร์แอลสองชื่อเหมือนกัน จะโยงมาที่ไฟล์เดียวกันเสมอ ไม่ว่าจะเรียกจากที่ตำแหน่งใด [8] ตัวอย่างเช่น

http://en.wiki.x.io/wiki/File:Raster_to_Vector_Mechanical_Example.jpg

ในทางตรงข้าม ยูอาร์แอลสัมพัทธ์ (relative URL) หรือยูอาร์แอลย่อ คือการระบุแหล่งทรัพยากรไฟล์ที่ต้องการจากตำแหน่งอ้างอิงหรือตำแหน่งปัจจุบัน การใช้งานแบบนี้มักพบได้ในการอ้างถึงไฟล์อื่นที่อยู่ต่างไดเรกทอรี [8] โดยจะใช้จุดสองจุด (..) เพื่ออ้างถึงไดเรกทอรีชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไป

../directory_path/file.txt

และใช้จุดเดียว (.) หรือไม่ใส่ทั้งจุดและเครื่องหมายทับ เพื่ออ้างถึงไดเรกทอรีปัจจุบัน

./directory_path/file.txt
directory_path/file.txt

ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้ยูอาร์แอลสองชื่อเหมือนกัน แต่ก็อาจไม่ได้โยงไปไฟล์เดียวกัน ถ้าหากเรียกทรัพยากรนี้จากต่างไดเรกทอรี

ชื่อแม่ข่ายอินเทอร์เน็ต

ชื่อแม่ข่าย (hostname) คือชื่อโดเมนที่กำหนดให้ไว้กับคอมพิวเตอร์ที่รับฝากไฟล์บนอินเทอร์เน็ต (host) มักจะเป็นการรวมกันระหว่างชื่อคอมพิวเตอร์ภายในเครือข่ายกับชื่อโดเมนส่วนบน ตัวอย่างเช่น "en.wiki.x.io" ประกอบด้วยชื่อภายใน "en" และชื่อโดเมน "wikipedia.org" ชื่อแม่ข่ายประเภทนี้จะถูกแปลงไปเป็นที่อยู่ไอพีโดยไฟล์ hosts หรือโดยระบบการตั้งชื่อโดเมน (DNS) คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องสามารถมีชื่อแม่ข่ายได้หลายชื่อ ปกติแล้วระบบปฏิบัติการในเครื่อง จะมีชื่อแม่ข่ายหนึ่งชื่อที่ใช้สำหรับการอ้างถึงเครื่องตัวเอง (localhost)

ชื่อโดเมนก็สามารถใช้เป็นชื่อแม่ข่ายได้เช่นกัน ในกรณีที่มีการกำหนดที่อยู่ไอพีให้กับชื่อโดเมนนั้น เช่น ทั้ง "en.wikimedia.org" และ "wikimedia.org" และ "rr.pmtpa.wikimedia.org" ต่างก็เป็นชื่อแม่ข่ายเพราะมีที่อยู่ไอพี แต่สำหรับชื่อโดเมน "pmtpa.wikimedia.org" ไม่เป็นชื่อแม่ข่ายเพราะไม่มีไอพีกำหนดเอาไว้ (แม้ว่า "rr.pmtpa" จะเป็นส่วนย่อยของ "pmtpa" ก็ตาม) ดังนั้นชื่อแม่ข่ายทุกชื่อจึงเป็นชื่อโดเมน แต่ชื่อโดเมนบางชื่อเท่านั้นที่เป็นชื่อแม่ข่าย (ชื่อแม่ข่ายเป็นเซตย่อยของชื่อโดเมน)

อ้างอิง

  1. "ศัพท์บัญญัติ ราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2009-06-03.
  2. Tim Berners-Lee, Roy T. Fielding, Larry Masinter. (January 2005). “Uniform Resource Identifier (URI) : Generic Syntax เก็บถาวร 2008-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน”. Internet Society. RFC 3986; STD 66.
  3. URL Specification
  4. "World Wide Web History". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ 2009-02-10.
  5. RFC 1738
  6. PHP parse_url () Function, สืบค้นเมื่อ 2009-03-12
  7. "URL Syntax". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-17. สืบค้นเมื่อ 2009-06-03.
  8. 8.0 8.1 Absolute vs Relative URLs