พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุเอเชียตะวันออก
พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุเอเชียตะวันออก (สวีเดน: Östasiatiska museet; อังกฤษ: Museum of Far Eastern Antiquities) ตั้งอยู่ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรสวีเดนใน พ.ศ. 2469 โดยร่วมมือกับยูฮัน กุนนาร์ อันแดร์สัน (พ.ศ. 2417–2503) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ อาคารพิพิธภัณฑ์มีชื่อว่าทิกฮูเซตตั้งอยู่ที่ เชปป์โฮล์มเมน และพิพิธภัณฑ์ได้เป็นส่วนหนึ่งของ หน่วยงานพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโลกแห่งชาติสวีเดน ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ร่วมกับพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโลก พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนา และพิพิธภัณฑ์เมดิเตอร์เรเนียน
Östasiatiska museet | |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2469 |
---|---|
ที่ตั้ง | สต็อกโฮล์ม สวีเดน |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 59°19′37″N 18°04′55″E / 59.327°N 18.082°E |
จำนวนผู้เยี่ยมชม | 74,082 คน (พ.ศ. 2560) |
ผู้อำนวยการ | แอน ฟูลิน |
เว็บไซต์ | www |
ภาพรวม
แก้แต่เดิมพิพิธภัณฑ์มีรากฐานมาจากการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในประเทศจีนของอันแดร์สันในช่วง พ.ศ. 2463–2472 ซึ่งวัตถุต่าง ๆ มาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกที่ยังไม่ทราบที่มาจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้ พิพิธภัณฑ์มีของสะสมหลากหลายจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และจีน[1] มีการจัดแสดงนิทรรศการโบราณคดี ศิลปะแบบดั้งเดิม และวัฒนธรรมร่วมสมัย และเปิดให้สาธารณชนได้เข้าถึงห้องสมุดค้นคว้าวิจัยขนาดใหญ่ ครั้งสุดท้ายที่พิพิธภัณฑ์เผยแพร่สารบัญรายการวัตถุคือ พ.ศ. 2506 พิพิธภัณฑ์ยังเผยแพร่วารสารรายปีเกี่ยวกับงานวิจัยหัวข้อเอเชียตะวันออกยุคโบราณที่มีชื่อว่า แถลงการณ์ของพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุเอเชียตะวันออก (Bulletin of the Museum of Far Eastern Antiquities[1])
ประวัติและตัวอาคาร
แก้ประวัตศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2469 เมื่อชุดของสะสมจากเอเชียตะวันออกในพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุเอเชียตะวันออกได้ก่อตั้งขึ้นในฐานะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโดยการริเริ่มของคณะกรรมธิการประเทศจีน ชุดของสะสมที่เป็นแก่นหลักของพิพิธภัณฑ์ได้รับการนำกลับมาที่ประเทศสวีเดนโดยกุสตาฟ กุนนาร์ อันแดร์สัน[1]
อาคารหลักของพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารเก็บปืนใหญ่เก่าของกองทัพเรือที่สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2242–2247[2] เพื่อเป็นโรงม้าขององครักษ์ในพระเจ้าคาร์ลที่ 12 อาคารออกแบบโดยสถาปนิกชื่อว่า นิโคเดมุส เทสซิน[2] ปีกอาคารทางทิศใต้สร้างใน พ.ศ. 2267–2271 และตกแต่งให้เป็นโรงเก็บเรือไปจนถึงปืนใหญ่จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงปืนใหญ่ ในกลางศตวรรษที่ 19 มีการต่อเติมเพิ่มอีกหนึ่งชั้นซึ่งออกแบบโดยกุสตาฟ อดอล์ฟ โบลม และได้กลายมาเป็นอาคารในรูปแบบปัจจุบันใน พ.ศ. 2460 และโถงด้านในได้รับการบูรณะในช่วง พ.ศ. 2503–2506
ของสะสม
แก้พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาของสะสมไว้ราว 100,000 ชิ้น จุดสำคัญคือโบราณคดีและศิลปะจากประเทศจีน และยังสะสมวัตถุจากประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับมาผ่านการซื้อขายและการบริจาค พิพิธภัณฑ์มีห้องสมุดเอเชียตะวันออกขนาดใหญ่ที่เก็บรักษาหนังสือจากห้องสมุดหลวงและห้องสมุดมหาวิทยาสต็อกโฮล์ม
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรักษาของสะสมจากประเทศไทยจำนวน 140 ชิ้นโดยประมาณ เช่น พระพุทธรูป เครื่องปั้นจากสวรรคโลก วัตถุหลายชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของชุดของสะสมโดยจอร์จ ฟอน เบเคซี ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเอเชียและนักสะสมศิลปะ เบเคซีได้บริจาคชุดของสะสมทั้งหมดของตนให้แก่มูลนิธิโนเบลเมื่อเสียชีวิตใน พ.ศ. 2515
-
รูปปั้นอวโลกิเตศวร เก็บสะสมโดยสเวน เฮดินใน พ.ศ. 2473 ณ วัดคอลคา ประเทศมองโกเลีย
-
รูปปั้นพระพุทธรูปยืนจากอาณาจักรชิลลาช่วงรวมแผ่นดิน (ประเทศเกาหลีในปัจจุบัน) ช่วงศตวรรษที่ 8
-
รูปปั้นเศียรพระพุทธเจ้าจากสวรรคโลก (ประเทศไทยในปัจจุบัน)
-
ภาชนะเครื่องเคลือบดินเผาจากสวรรคโลก (ประเทศไทยในปัจจุบัน)
-
ถ้วยปากกว้างวาดด้วยลายดอกบัวจากประเทศจีน ในช่วงราชวงศ์หมิง (ยุคจักรพรรดิจิ่งไท่ พ.ศ. 1993–2000)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "Om museet". Östasiatiska museet (ภาษาสวีเดน).
- ↑ 2.0 2.1 "Östasiatiska museet i Tyghuset". SFV (ภาษาสวีเดน).
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุเอเชียตะวันออก (ภาษาอังกฤษ)
- เว็บไซต์หน่วยงานพิพิธภัณฑ์โลกแห่งชาติสวีเดน (เว็บไซต์ทางการ) (ภาษาอังกฤษ)
- ฐานข้อมูลดิจิทัลคาร์ล็อตตา (เว็บไซต์ทางการ) (ภาษาอังกฤษและสวีเดน)
- แหล่งรวมงานเขียนตีพิมพ์ของพิพิธภัณฑ์ ในอินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์