แมกกี สมิธ
เดม มาร์กาเรต นาตาลี สมิธ (อังกฤษ: Dame Margaret Natalie Smith; 28 ธันวาคม ค.ศ. 1934 – 27 กันยายน ค.ศ. 2024) เป็นนักแสดงชาวอังกฤษ มีผลงานการแสดงทั้งในภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวที นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 สมิธปรากฏอยู่ในภาพยนตร์กว่า 60 เรื่อง และละครเวทีอีก 70 เรื่อง เป็นทั้งเจ้าของรางวัลออสการ์สองครั้ง รางวัลโทนีหนึ่งครั้ง และรางวัลไพรม์ไทม์เอมมีอีกสี่ครั้ง (ทำให้เธอเป็นนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่ได้รับ "สามมงกุฎแห่งการแสดง") นอกเหนือจากการได้รับรางวัลแบฟตาเจ็ดครั้ง รางวัลลูกโลกทองคำสามครั้ง และรางวัลสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์อีกห้าครั้ง เธอยังเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้มีคำนำหน้านามว่า เดม และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติชจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1990[1]
แมกกี สมิธ | |
---|---|
สมิธ ป. 1970 | |
เกิด | มาร์กาเรต นาตาลี สมิธ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1934 อิลฟอร์ด เอสเซกซ์ สหราชอาณาจักร |
เสียชีวิต | 27 กันยายน ค.ศ. 2024 ลอนดอน สหราชอาณาจักร | (89 ปี)
สัญชาติ | บริติช |
อาชีพ | นักแสดง |
ปีปฏิบัติงาน | 1952–2024 |
คู่สมรส | รอเบิร์ต สตีเฟนส์ (สมรส 1967; หย่า 1975) เบเวอร์ลีย์ ครอส (สมรส 1975; เสียชีวิต 1998) |
บุตร | คริส ลาร์กิน โทบี สตีเฟนส์ |
สมิธเริ่มการแสดงบนละครเวทีในปี 1952 ที่โรงละครออกซฟอร์ด และเริ่มแสดงละครบรอดเวย์เรื่องแรกใน New Faces of '56 ตลอดอาชีพการแสดงบนเวทีในลอนดอน เธอได้รับรางวัลอีฟนิงสแตนดาร์ดเธียเตอร์อะวอดส์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมหกครั้ง ซึ่งมากกว่านักแสดงหญิงใด ๆ จากผลงานเรื่อง The Private Ear, The Public Eye (1962), Hedda Gabler (1970), Virginia (1981), The Way of the World (1984), Three Tall Women (1994) และ A German Life (2019) รวมถึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนีจาก Private Lives (1975) และ Night and Day (1979) ก่อนจะชนะในปี 1990 สาขานักแสดงนำหญิงจาก Lettice and Lovage
บนจอเงิน สมิธได้แสดงในภาพยนตร์อาชญากรรมเรื่อง Nowhere to Go (1958) ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงรางวัลแบฟตาเป็นครั้งแรก[2] เธอยังชนะรางวัลออสการ์ถึงสองครั้ง ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง The Prime of Miss Jean Brodie (1969) และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง California Suite (1978)[3] ทำให้สมิธเป็นหนึ่งในเจ็ดนักแสดงหญิงที่ได้รับรางวัลทั้งสองสาขา เธอยังได้รับรางวัลแบฟตาสี่ครั้ง รางวัลลูกโลกทองคำสามครั้ง และเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกสี่ครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง โอเทลโล (1965), Travels with My Aunt (1972), จูบครั้งนั้น...ฉันฝันถึงเธอ (1986) และ รอยสังหารซ่อนสื่อมรณะ (2001)[4]
สมิธแสดงเป็นศาสตราจารย์มิเนอร์ว่า มักกอนนากัลในภาพยนตร์ชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ (2001–2011) รวมถึง Love and Pain and the Whole Damn Thing (1973), ฆาตกรรมบนแม่น้ำไนล์ (1978), ศึกพิภพมหัศจรรย์ (1981), ปีศาจใต้ดวงอาทิตย์ (1982), ฮุค อภินิหารนิรแดน (1991), Sister Act (1992), Sister Act 2: Back in the Habit (1993), The Secret Garden (1993), โรงแรมสวรรค์ อัศจรรย์หัวใจ (2012) และ คุณป้ารถแวน (2015) สมิธได้รับรางวัลเอ็มมีในปี 2003 จากเรื่อง My House in Umbria กลายเป็นนักแสดงหญิงเพียงไม่กี่คนที่ชนะรางวัลจากเวทีสำคัญของวงการฮอลลีวูด[5][6] สมิธยังแสดงเป็นไวโอเลต ครอว์ลีย์ เคาน์เตสแห่งแกรนแธมในละครชุด ดาวน์ตันแอบบีย์ (2010–2015)
อ้างอิง
แก้- ↑ Spears, W. (30 December 1989). "Queen Honors Naipaul, Maggie Smith". The Philadelphia Inquirer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 1 January 2014.
- ↑ "Film in 1959". British Academy of Film and Television Arts. สืบค้นเมื่อ 1 January 2014.
- ↑ "Academy Awards Best Actress". Filmsite.org. สืบค้นเมื่อ 7 August 2013.
- ↑ "Maggie Smith BAFTA Awards". British Academy of Film and Television Arts. สืบค้นเมื่อ 10 July 2019.
- ↑ "What do Al Pacino and Maggie Smith have in common?". Los Angeles Times. 9 July 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 7 August 2013.
- ↑ Croggon, Alison (10 June 2009). "Jewel in the triple crown". News.com.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-14. สืบค้นเมื่อ 1 January 2014.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แมกกี สมิธ ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- งานโดยหรือเกี่ยวกับ แมกกี สมิธ ในห้องสมุดต่าง ๆ ในแคตาลอกของเวิลด์แคต
- แมกกี สมิธ ที่เอ็มมี่