ลินุกซ์
ลินุกซ์ (อังกฤษ: Linux) และรู้จักในชื่อ กะนู/ลินุกซ์ (อังกฤษ: GNU/Linux) โดยทั่วไปเป็นคำที่ใช้ในความหมายที่หมายถึงระบบปฏิบัติการที่เหมือนยูนิกซ์ โดยใช้ใจกลางลินุกซ์ เป็นศูนย์กลางทำงานร่วมกับไลบรารีและเครื่องมืออื่น ลินุกซ์เป็นตัวอย่างหนึ่งในฐานะซอฟต์แวร์เสรี และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง ทุกคนสามารถดูหรือนำโค้ดของลินุกซ์ไปใช้งาน, แก้ไข, และแจกจ่ายได้อย่างเสรี ลินุกซ์นิยมจำหน่ายหรือแจกฟรีในลักษณะเป็นแพคเกจ โดยผู้จัดทำจะรวมซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานในด้านอื่นเป็นชุดเข้าด้วยกัน
ผู้พัฒนา | ลินุส โตร์วัลดส์ และชุมชนผู้พัฒนา |
---|---|
เขียนด้วย | ภาษาซี, ภาษาแอสเซมบลี, ภาษารัสต์ |
ตระกูล | เหมือนยูนิกซ์ |
สถานะ | ปัจจุบัน/เสถียร |
รูปแบบ รหัสต้นฉบับ | โอเพนซอร์ส |
วันที่เปิดตัว | 17 กันยายน 1991 |
ภาษาสื่อสาร | หลายภาษา |
ตัวจัดการ แพกเกจ | dpkg, rpm (software) และอื่นๆ |
แพลตฟอร์ม ที่รองรับ | Alpha, ARC, ARM, C6x, H8/300, Hexagon, Itanium, m68k, Microblaze, MIPS, NDS32, Nios II, OpenRISC, PA-RISC, PowerPC, RISC-V, s390, SuperH, SPARC, Unicore32, x86, Xtensa |
ชนิดเคอร์เนล | Monolithic |
ส่วนติดต่อผู้ใช้ปริยาย | หลายอย่าง |
สัญญาอนุญาต | และ สัญญาอนุญาตเสรีและโอเพนซอร์สอื่นๆ[1] ("Linux" trademark owned by Linus Torvalds[2]) |
เว็บไซต์ | kernel |
เริ่มแรกของของลินุกซ์พัฒนาและใช้งานในเฉพาะกลุ่มผู้ที่สนใจ ซึ่งในปัจจุบันลินุกซ์ได้รับความนิยมเนื่องมาจากระบบการทำงานที่เป็นอิสระ ปลอดภัย เชื่อถือได้ และราคาต่ำ จึงได้มีการพัฒนาจากองค์กรต่าง ๆ เช่น ไอบีเอ็ม ฮิวเลตต์-แพคการ์ด และโนเวลล์ ใช้สำหรับในระบบเซิร์ฟเวอร์และพีซี เริ่มแรกลินุกซ์พัฒนาสำหรับใช้กับเครื่อง อินเทล 386 ไมโครโพรเซสเซอร์ หลังจากที่ได้รับความนิยมปัจจุบัน ลินุกซ์ได้พัฒนารับรองการใช้งานของระบบสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ในระบบต่าง ๆ รวมถึงในโทรศัพท์มือถือ และกล้องวิดีโอ
ลินุกซ์มีสัญญาอนุญาตแบบ GPL ซึ่งเป็นสัญญาอนุญาตที่กำหนดให้ผู้ที่นำโค้ดไปใช้ต้องใช้สัญญาอนุญาตแบบเดิมต่อคือใช้สัญญาอนุญาต GPL เช่นเดียวกัน ซึ่งลักษณะสัญญาอนุญาตแบบนี้เรียกว่า copyleft
ประวัติ
แก้ผู้เริ่มพัฒนาลินุกซ์ เคอร์เนลเป็นคนแรก คือ ลินุส โตร์วัลดส์ (Linus Torvalds) ชาวฟินแลนด์ เมื่อสมัยที่เขายังเป็นนักศึกษาคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ โดยแรกเริ่ม ริชาร์ด สตอลแมน (Richard Stallman) ได้ก่อตั้งโครงการกะนูขึ้นในปี พ.ศ. 2526 จุดมุ่งหมายโครงการกะนู คือ ต้องการพัฒนาระบบปฏิบัติการคล้ายยูนิกซ์ที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีทั้งระบบ ราวช่วงพ.ศ. 2533 โครงการกะนูมีส่วนโปรแกรมที่จำเป็นสำหรับระบบปฏิบัติการเกือบครบทั้งหมด ได้แก่ คลังโปรแกรม (Libraries) คอมไพเลอร์ (Compiler) โปรแกรมแก้ไขข้อความ(Text Editor) และเปลือกระบบยูนิกซ์(Shell) ซึ่งขาดแต่เพียงเคอร์เนล(Kernel) เท่านั้น ในพ.ศ. 2533 โครงการกะนูได้พัฒนาเคอร์เนลชื่อ Hurd เพื่อใช้ในระบบกะนูซึ่งในขณะนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความเร็วในการประมวลผล
ในพ.ศ. 2534 โตร์วัลดส์เริ่มโครงการพัฒนาเคอร์เนล ขณะศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว โดยอาศัย Minix ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายกับ Unix ซึ่งมากับหนังสือเรื่องการออกแบบระบบปฏิบัติการ มาเป็นเป็นต้นแบบในการเขียนขึ้นมาใหม่โดย Torvalds เขาพัฒนาโดยใช้ IA-32 assembler และภาษาซี คอมไพล์เป็นไฟล์ไบนารี่และบูทจากแผ่นฟลอปปี้ดิสก์ เขาได้พัฒนามาเรื่อยๆจนกระทั่งสามารถบูทตัวเองได้ (กล่าวคือสามารถคอมไพล์ภายในลินุกซ์ได้เลย) และในปัจจุบันมีนักพัฒนาจากทั่วโลกพันกว่าคนได้เข้ามามีส่วนรวมในการพัฒนาโครงการ Eric S. Raymond ได้ศีกษากระบวนการพัฒนาดังกล่าวและเขียนบทความเรื่อง The Cathedral and the Bazaar
ในรุ่น 0.01 นี้ถือว่ามีเครื่องมือที่เพียงพอสำหรับระบบ POSIX ที่ใช้เรียก ลินุกซ์ ที่รันกับ กะนู Bash Shell และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและอย่างรวดเร็ว
โตร์วัลดส์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบต่อไป ซึ่งต่อมาก็สามารถรันบน X Window System และมีการเลือกนกเพนกวินที่ชื่อ Tux ให้เป็นตัวนำโชคหรือ Mascot ของระบบลินุกซ์
การอ่านออกเสียง
แก้ในขณะที่ในไทยใช้คำว่า "ลินุกซ์" ในหลายประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักนิยมออกเสียงเป็น "ลินิกซ์" หรือ "ไลนิกซ์" โดยพยางค์ท้ายอ่านเหมือนพยางค์ท้ายของคำว่า"ยูนิกซ์" โดยลินุส โตร์วัลดส์ผู้ที่คิดค้นลินุกซ์ได้กล่าวไว้ว่า "li" อ่านเหมือนเสียงสระอิ /ɪ/ และ "nux" อ่านเสียงสระเหมือนเสียง /ʊ/ ซึ่งคล้ายเสียง "อุ" ในภาษาไทย ในซอร์ซโค้ดของลินุกซ์เคอร์เนลมีไฟล์ที่เก็บคำพูดของโตร์วัลดส์ ที่พูดว่า "Hello, this is Linus Torvalds, and I pronounce Linux as Linux"(
) เก็บไว้เนื่องจากมีการโต้เถียงกันมากในเรื่องการออกเสียงการใช้งาน
แก้การใช้งานดั้งเดิมของลินุกซ์ คือ ใช้เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ แต่จากราคาที่ต่ำ ความยืดหยุ่น พื้นฐานจากยูนิกซ์ ทำให้ลินุกซ์เหมาะกับงานหลาย ๆ ประเภท
ลินุกซ์ ถือเป็นส่วนสำคัญของซอฟต์แวร์เซิร์ฟเวอร์ที่เรียกว่า LAMP ย่อมาจาก Linux, Apache, MySQL, Perl/PHP/Python ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ และพบมากสุดระบบหนึ่ง ตัวอย่างซอฟต์แวร์ซึ่งพัฒนาสำหรับระบบนี้คือ มีเดียวิกิ ซอฟต์แวร์สำหรับวิกิพีเดีย
เนื่องจากราคาที่ต่ำและการปรับแต่งได้หลากหลาย ลินุกซ์ถูกนำมาใช้ในระบบฝังตัว เช่นเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ ลินุกซ์เป็นคู่แข่งที่สำคัญของ ซิมเบียนโอเอส ซึ่งใช้ในโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก และใช้แทนวินโดวส์ซีอี และปาล์มโอเอส บนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา เครื่องบันทึกวิดีโอก็ใช้ลินุกซ์ที่ดัดแปลงเป็นพิเศษ ไฟร์วอลล์และเราเตอร์หลายรุ่น เช่นของ Linksys ใช้ลินุกซ์และขีดความสามารถเรื่องทางเครือข่ายของมัน
ระยะหลังมีการใช้ลินุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการของซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากขึ้น ในรายชื่อซูเปอร์คอมพิวเตอร์ TOP500 ของเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่เร็วที่สุดสองอันดับแรกใช้ลินุกซ์ และจาก 500 ระบบ มีถึง 371 ระบบ (คิดเป็น 74.2%) ให้ลินุกซ์แบบใดแบบหนึ่ง
เครื่องเล่นเกม โซนี่ เพลย์สเตชัน 3 ที่ออกในปี พ.ศ. 2549 รันลินุกซ์ โซนียังได้ปล่อย PS2 Linux สำหรับใช้กับเพลย์สเตชัน 2 อีกด้วย ผู้พัฒนาเกมอย่าง Atari และ id Software ก็เคยออกซอฟต์แวร์เกมบนลินุกซ์มาแล้ว
ส่วนแบ่งการตลาด
แก้ส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบันของลินุกซ์มีเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องจากรายงานการวิจัยจาก Company IDC ในปี พ.ศ. 2545 โดย 25% ของเซิร์ฟเวอร์ และ 2.8% ของ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทำงานระบบลินุกซ์ เนื่องจากคุณสมบัติต่าง ๆ ของลินุกซ์ ฟรี และระบบความปลอดภัยสูง ทำให้ลินุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการที่เติบโตสูงที่สุดในปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]
การติดตั้ง
แก้การติดตั้งโดยทั่วไป จะติดตั้งผ่านซีดีหรือยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ที่มีโปรแกรมบรรจุอยู่ในนั้น ซึ่งแผ่นซีดีนั้นสามารถหามาได้หลายวิธี เช่นสามารถเบิร์นได้จาก ISO image ที่ดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ต หรือสามารถหาซื้อซีดีได้ในราคาถูกโดยอาจจะซื้อรวมหรือแยกพร้อมกับคู่มือ เนื่องจากสัญญาอนุญาตของโปรแกรมเป็นแบบ GPL ลินุกซ์จากผู้จัดทำบางตัวเช่น เดเบียน สามารถติดตั้งได้จากโปรแกรมขนาดเล็กผ่านฟลอปปีดิสก์ ซึ่งเมื่อติดตั้งส่วนหนึ่งสำเร็จ ตัวโปรแกรมของมันเองจะดาวน์โหลดส่วนอื่นเพิ่มขึ้นมาผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือสำหรับบางตัวเช่นอูบุนตุ สามารถทำงานได้ผ่านซีดีโดยติดตั้งในแรมในช่วงที่เปิดเครื่อง
การทำงานของลินุกซ์สามารถติดตั้งได้ในเครื่องเซิร์ฟเวอร์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง จนถึงเครื่องที่สมรรถนะต่ำ ที่ไม่มีฮาร์ดไดรฟ์หรือมีแรมน้อยโดยทำงานเป็นเครื่องไคลเอนต์โดยที่เครื่องไคลเอนต์ สามารถบูตและเรียกใช้งานโปรแกรมต่างๆผ่านทางเน็ตเวิร์กจากเครื่องเทอร์มินอลเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งวิธีการนี้ยังคงช่วยให้ประหยัดเวลาในการติดตั้งโปรแกรม เพราะติดตั้งเพียงเครื่องเดียวที่เทอร์มินอลเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงราคาของเครื่องไคลเอนต์ที่ไม่จำเป็นต้องมีสมรรถภาพสูงซึ่งมีราคาถูกกว่าเครื่องทั่วไป
การเขียนโปรแกรมบนลินุกซ์
แก้ส่วน GNU Compiler Collection (GCC) สนับสนุนการเขียนภาษาโปรแกรมที่สำคัญ เช่น ภาษาซี ภาษาซีพลัสพลัส และภาษาจาวา รวมถึงภาษาอื่น ๆ รวมถึงมี IDE จำนวนมาก ซึ่งได้แก่ Emacs Vim Eclipse KDevelop Anjuta
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "Debian GNU/Linux Licenses – Ohloh". ohloh.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-07. สืบค้นเมื่อ 2009-03-27.
- ↑ "U.S. Reg No: 1916230". United States Patent and Trademark Office. สืบค้นเมื่อ 2006-04-01.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Linux Foundation - สถานที่ที่ลินุส โตร์วัลดส์ทำงานพัฒนาลินุกซ์อยู่ในตอนนี้
- www.spalinux.com - แหล่งความรู้ลินุกซ์ภาษาไทย