ซูเปอร์เวลเตอร์เวท
ซูเปอร์เวลเตอร์เวท (อังกฤษ: super welterweight) เป็นพิกัดน้ำหนักมวยในระดับกลาง นักมวยที่ชกในรุ่นนี้ ต้องมีน้ำหนักตัวมากกว่า 147 ปอนด์ (66.678 กิโลกรัม) และไม่เกิน 154 ปอนด์ (69.853 กิโลกรัม)
ในทางสภามวยโลก (WBC) และ สมาคมมวยโลก (WBA) ครั้งแรกเรียกพิกัดนี้ว่า "ไลท์มิดเดิลเวท" ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อเป็น "ซูเปอร์เวลเตอร์เวท" ตั้งแต่ ค.ศ. 1998 ขณะที่ สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) , องค์กรมวยโลก (WBO) และในแวดวงมวยสากลสมัครเล่นจะเรียกชื่อรุ่นนี้ว่า จูเนียร์มิดเดิลเวท (junior middleweight) อีกทั้งในรุ่นนี้ยังเป็นรุ่นแรกที่ตามกติกาแล้ว นักมวยที่ชกในพิกัดนี้ (และในพิกัดที่ใหญ่กว่านี้) ต้องใช้นวมขนาด 10 ออนซ์ แต่ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนกันได้ตามแต่จะตกลงกัน[1]
นักมวยที่มีชื่อเสียงที่ได้ชกหรือเคยชกในพิกัดนี้ ได้แก่ วิลเฟร็ด เบนิเตซ , โคจิ วาจิมะ , ชูการ์ เรย์ เลนเนิร์ด, โรเบร์โต ดูรัน, โธมัส เฮิร์นส์, ฮูลิโอ ซีซาร์ กรีน, เทอรี นอร์ริส, ออสการ์ เดอ ลา โฮยา, รอย โจนส์ จูเนียร์, เฟอร์นันโด วาร์กัส, แมนนี ปาเกียว, มีเกล กอตโต, ซาอุล อัลบาเรซ , ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เป็นต้น
ในส่วนนักมวยชาวไทยยังไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก แต่ก็มีบางคนที่ได้แชมป์ในระดับนานาชาติ หรือมีชื่อเสียงทั้งในอดีต เช่น เขียวหวาน ยนตรกิจ, อภิเดช ศิษย์หิรัญ เป็นต้น[2][3][4] (มีอยู่หนึ่งคน คือ เกียรติชัย ไอซ์เจลลิบาล์ม แต่เป็นแชมป์โลกของสหพันธ์มวยโลก (WBF) ซึ่งเป็นสถาบันเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการยอมรับ)
ในส่วนของมวยสากลสมัครเล่น มีอยู่หนึ่งคนที่ได้รับเหรียญรางวัลโอลิมปิก คือ พรชัย ทองบุราณ ได้รับเหรียญทองแดง จากการแข่งขันโอลิมปิก 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ หน้า 8 กีฬา, "ฟลอยด์" ใช้นวม 8 ออนซ์ตะบันแม็คเกรเกอร์. "กีฬารอบโลก". คมชัดลึกปีที่ 16 ฉบับที่ 5765: วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560
- ↑ junior middleweight (อังกฤษ)
- ↑ ชายพจน์. มวยดังไทยแลนด์ในอดีต: "ซ้ายฟ้าฟาด" เขียวหวาน ยนตรกิจ อดีตแชมป์ทั้งมวยไทยทั้งมวยไทยและ OPBF. นิตยสารมวยโลก. ฉบับที่ 843 พฤศจิกายน 2543 หน้า 42 -43
- ↑ ชายพจน์. มวยดังไทยแลนด์ในอดีต:"จอมเตะบางนกแขวก" อภิเดช ศิษย์หิรัญ แชมป์ OPBF คนที่ 11 ของไทย. นิตยสารมวยโลก ฉบับที่ 849 ธันวาคม พ.ศ. 2543 หน้า 42 - 46
- ↑ ["Pornchai Thongburan (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-19. สืบค้นเมื่อ 2014-09-28. Pornchai Thongburan (อังกฤษ)]