ยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง
ยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง หมายถึง ดินแดนอธิปไตยในทวีปยุโรปที่ถูกยึดครองทั้งหมดหรือบางส่วนโดยฝ่ายพลเรือน (รวมทั้งรัฐบาลหุ่นเชิดด้วย) กองกำลังทหาร และรัฐบาลของนาซีเยอรมนี ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันระหว่าง ค.ศ. 1939–1945 หรือในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปกครองด้วยระบอบนาซีภายใต้เผด็จการของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์[1]
บางประเทศที่ถูกยึดครองเป็นผู้ประกาศสงครามในฐานะฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักรหรือสหภาพโซเวียต บางประเทศถูกบีบบังคับให้ยอมจำนนหรือถูกปราบปรามก่อนที่จะถูกยึดครองในภายหลัง เช่น ออสเตรียหรือเชโกสโลวาเกีย[2] หรือในบางกรณี รัฐบาลถูกบีบบังคับให้พลัดถิ่น หรือไม่ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นใหม่โดยพลเมืองของประเทศนั้น ๆ เช่น โปแลนด์หรือฝรั่งเศส บางประเทศซึ่งถูกนาซียึดครองนั้นก็ดำรงตนเป็นกลางอย่างเป็นทางการ หรือดินแดนที่ถูกยึดครองเคยเป็นอดีตสมาชิกของฝ่ายอักษะ และถูกยึดครองโดยกองกำลังเยอรมันในช่วงปลายของสงคราม เช่น ฮังการี เป็นต้น[3][4]
ประวัติ
แก้ก่อนการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1939 เยอรมนีเริ่มเข้ายึดครองดินแดนเพื่อนบ้านตั้งแต่ ค.ศ. 1935 โดยการลงประชามติ เยอรมนีได้ผนวกดินแดนแห่งลุ่มน้ำซาร์ ซึ่งในขณะนั้นถูกควบคุมโดยสันนิบาตชาติ[5] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 ได้เกิดเหตุการณ์อันชลุส ทำให้ออสเตรียถูกผนวกรวมกับเยอรมนี หรือในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ภูมิภาคซูเดเทินลันท์ของเชโกสโลวาเกียถูกผนวกรวมกับออสเตรีย ในปีต่อมา ฮิตเลอร์ได้เข้ารุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวาเกียและแบ่งส่วน ถือกำเนิดเป็นรัฐในอารักขาโบฮีเมียและมอเรเวีย[6] และรัฐสโลวาเกียอิสระ[7] การขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศแสนยนิยมของเยอรมนีได้รับการสนับสนุนจากการเฉยเมยของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก ซึ่งใน ค.ศ. 1936 ได้มีการอนุญาตให้ฮิตเลอร์นำทหารกลับไปที่ไรน์ลันท์ ซึ่งขัดต่อข้อบัญญัติของสนธิสัญญาแวร์ซาย[8]
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 กองกำลังแวร์มัคท์ได้เข้ารุกรานโปแลนด์[1] และทำให้สงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น ตลอดเวลาที่เกิดสงครามโลก กองกำลังแวร์มัคท์ได้รุกรานดินแดนทั่วทวีปยุโรป ในบางประเทศมีการจัดตั้งเขตการปกครองฝ่ายทหารบริหาร เช่น เบลเยียม กรีซ และยูโกสลาเวีย (ในส่วนของเซอร์เบีย) โดยมีผู้ว่าการทหารเป็นผู้ควบคุมดินแดน เยอรมนียังคงแบ่งส่วนอาณาเขตในทวีปยุโรปเรื่อยมา โดยในบางพื้นที่ได้มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ เช่น ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทนีเดอร์ลันด์ ในเนเธอร์แลนด์ หรือเป็นการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดด้วยความช่วยเหลือจากผู้นำท้องถิ่น เช่น รัฐเอกราชโครเอเชีย ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการบุกครองยูโกสลาเวีย[9] ฝรั่งเศสถือเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากภายหลังการสงบศึก 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ได้มีการก่อตั้งรัฐบาลทหารขึ้นทางตอนเหนือและตะวันตกของประเทศ ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสควบคุมพื้นที่ทางตอนใต้หรือเขตเสรี (zone libre) รัฐบาลฝรั่งเศสเขตวีชียังคงควบคุมอาณานิคมในแอฟริกาและจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส แม้ว่ารัฐบาลวีชีจะยังมีอิสรภาพในการปกครองบางส่วน แต่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1942 เยอรมนีได้เข้าผนวกเขตเสรีและรวมเข้ากับเขตการปกครองทหารส่วนอื่น ๆ ของประเทศ
การยึดครองทวีปยุโรปของเยอรมนีส่งผลให้สหราชอาณาจักรถูกโดดเดี่ยวเมื่อเผชิญภัยคุกคามจากนาซี หลายประเทศที่ถูกยึดครอง เช่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เชโกสโลวาเกีย โปแลนด์ และยูโกสลาเวีย ได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในกรุงลอนดอน หรือในบางกรณี รัฐบาลพลัดถิ่นก็ถูกจัดตั้งขึ้นโดยพลเมืองภายในประเทศนั้น (เช่นเดียวกันกับกรณีของพลพรรคยูโกสลาเวียที่นำโดย ยอซีป บรอซ ตีโต)
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 กองทัพเยอรมันได้เข้ารุกรานสหภาพโซเวียต โดยมีเป้าหมายที่จะทำลายกองทัพแดงใน 4 เดือน และเข้าควบคุมดินแดนรัสเซียที่ขยายไปถึงเทือกเขาอูรัลและคอเคซัส ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน รัฐบอลติก เบลารุส และยูเครนก็ถูกยึดครอง กองกำลังแวร์มัคท์เคลื่อนพลเข้าใกล้มอสโกมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กองกำลังโซเวียตก็สามารถหยุดยั้งไว้ได้[10] ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 กองทัพเยอรมันได้เข้ายึดครองดินแดนในแถบลุ่มน้ำดอนและวอลกา และดินแดนส่วนใหญ่ของคอเคซัส ซึ่งถือเป็นขีดจำกัดของการรุกของกองทัพเยอรมันในช่วงสงคราม ได้มีการจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ในเขตปกครองโซเวียตเดิม ทั้งการจัดตั้ง ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทอ็อสท์ลันท์ และ ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทยูเครน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกสำหรับการตั้งอาณานิคมของเยอรมนีในดินแดนเหล่านี้และเป็นการขับไล่อิทธิพลของสหภาพโซเวียต การยึดครองดินแดนเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวคิด เลเบินส์เราม์ และการค้นหา "พื้นที่อยู่อาศัย" ของประชากรชาวเยอรมัน[11]
ในช่วงฤดูหนาวระหว่าง ค.ศ. 1942-1943 กองกำลังเยอรมันยังคงความได้เปรียบทางทหารอย่างท่วมท้น แต่ภายหลังจากความพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด ตูนิเซีย และคูสค์ โอกาสแห่งชัยชนะของเยอรมนีจึงหมดลง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1943 เบนิโต มุสโสลินีถูกโค่นล้มและชาวอิตาลีพยายามเจรจาหาทางออกจากสงคราม[12] แต่กองกำลังเยอรมันได้เข้าบุกครองอิตาลีในเดือนกันยายน แล้วจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมา (สาธารณรัฐสังคมอิตาลี)[13] โดยให้มุสโสลินีกลับมาเป็นดูเชอีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติ เขาเป็นเพียงหุ่นเชิดและดินแดนก็ถูกควบคุมโดยเยอรมนี ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ฮังการีก็ถูกยึดครองเช่นกัน เนื่องจากความกังวลว่าฮังการีพยายามเปลี่ยนฝ่าย แต่สิ่งนี้ก็ไร้ผล เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางทหารของเยอรมนีในช่วงฤดูร้อน (การยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดีและปฏิบัติการบากราติออน) ถือเป็นการเสื่อมลงอย่างหนักของระบอบนาซีในทวีปยุโรป ความพ่ายแพ้อย่างรุนแรงในแนวรบด้านตะวันออกนำไปสู่ความขัดแย้งของระบบพันธมิตรในคาบสมุทรบอลข่าน หลังจากยุทธการที่เบอร์ลิน ในระหว่างวันที่ 7–9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 นาซีเยอรมนีได้ยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป[14][15] ในเวลานั้น กองกำลังเยอรมันยังคงยึดครองดินแดนสำคัญต่าง ๆ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ หรือบางส่วนของรัฐในอารักขาโบฮีเมียและมอเรเวีย เป็นต้น
ดินแดนที่ถูกยึดครอง
แก้ดินแดนที่ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมนี (แม้ว่าจะมีบางส่วนได้ถูกแบ่งปันระหว่างนาซีเยอรมนีและพันธมิตร) มีดังนี้
ชื่อประเทศ | การยึดครอง1 | ปลดปล่อย |
---|---|---|
ออสเตรีย | 12 มีนาคม 1938 | 27 เมษายน 1945 |
เชโกสโลวาเกีย | 16 มีนาคม 1939 (ร่วมกับฮังการี) | 11 พฤษภาคม 1945 |
โปแลนด์ | 6 ตุลาคม 1939 (ร่วมกับสหภาพโซเวียต) | มีนาคม-เมษายน 1945 |
เดนมาร์ก | 9 เมษายน 1940 | 5 พฤษภาคม 1945 |
นอร์เวย์ | 9 เมษายน 1940 | 8 พฤษภาคม 1945 |
เบลเยียม | 28 พฤษภาคม 1940 | 25 มกราคม 1945 |
ลักเซมเบิร์ก | พฤษภาคม 1940 | มีนาคม 1945 |
ยูโกสลาเวีย | 17 เมษายน 1941 | 20 ตุลาคม 1944 |
เนเธอร์แลนด์ | 15 พฤษภาคม 1940 | มีนาคม 1945 |
ฝรั่งเศส | 25 มิถุนายน 1940 (บางส่วนกลายเป็นฝรั่งเศสเขตวีชี) | 23 ตุลาคม 1944 |
, หมู่เกาะแชนแนล | 30 มิถุนายน 1940 | 9 พฤษภาคม 1945 |
กรีซ | 27 เมษายน 1941 (ร่วมกับอิตาลีและบัลแกเรีย) | มีนาคม 1945 |
ลัตเวีย2 | 10 กรกฎาคม 1941 | 9 พฤษภาคม 1945 |
ลิทัวเนีย2 | 25 มิถุนายน 1941 | 8 พฤษภาคม 1945 |
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน2 | 17 กรกฎาคม 1941 | ไม่ทราบวันที่แน่ชัด |
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเอสโตเนีย2 | 28 กรกฎาคม 1941 (ร่วมกับภราดรชาวป่า) 3 | 23 พฤศจิกายน 1944 |
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบียโลรัสเซีย2 | สิงหาคม 1941 | สิงหาคม 1944 |
โมนาโก | 1943 | ไม่ทราบวันที่แน่ชัด |
อิตาลีและอาร์เอสไอ4 | 23 กันยายน 1943 | 25 เมษายน 1945 |
แอลเบเนีย | กันยายน 1943 | 29 พฤษภาคม 1944 |
ฮังการี | 19 มีนาคม 1944 | 4 เมษายน 1945 |
1 เป็นวันที่ได้มีการลงนามยอมจำนนอย่างเป็นทางการ หรือกองทัพนาซีเยอรมันสามารถยึดครองได้ทั้งประเทศ 2 รัฐเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มิใช่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นประเทศเดียว 3 ภราดรชาวป่า (อังกฤษ: Forest Brothers) เป็นกองทัพอิสระของเอสโตเนียที่ทำการต่อต้านสหภาพโซเวียต 4 สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีเป็นประเทศที่นาซีเยอรมนีทำการจัดตั้งให้ และได้ส่งกองทหารเข้าไปดูแลประเทศ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนดินแดนยึดครองของนาซีเยอรมนีไปโดยปริยาย |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Encyclopædia Britannica, German occupied Europe. World War II. Retrieved 1 September 2015 from the Internet Archive.
- ↑ Goldstein, Erik; Lukes, Igor (2012-10-12). The Munich Crisis, 1938: Prelude to World War II (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 9781136328329.
- ↑ Hanson, Victor Davis (2017-10-17). The Second World Wars: How the First Global Conflict Was Fought and Won (ภาษาอังกฤษ). Basic Books. ISBN 9780465093199.
- ↑ Cornelius, Deborah S. (2011). Hungary in World War II: Caught in the Cauldron (ภาษาอังกฤษ). Fordham Univ Press. ISBN 9780823233434.
- ↑ Evans 2005, p. 623.
- ↑ Evans 2005, p. 683.
- ↑ Beevor 2012, p. 24.
- ↑ Evans 2005, pp. 633.
- ↑ "Yugoslavia". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. Retrieved 8 September 2009. Archived 31 October 2009.
- ↑ Taylor, A.J.P. and Mayer, S.L., eds. (1974). A History of World War Two. London: Octopus Books. ISBN 0-7064-0399-1. p.109
- ↑ Kershaw, Ian. Fateful Choices, pp.66–69.
- ↑ McGowen, Tom. Assault From The Sea: Amphibious Invasions in the Twentieth Century, pgs. 43-44
- ↑ Blinkhorn, Martin. Mussolini and Fascist Italy, pg. 52
- ↑ Donnelly, Mark. Britain in the Second World War, pg. xiv
- ↑ Glantz, David M. (1995). When Titans Clashed: How the Red Army Stopped Hitler. Lawrence, Kansas: University Press of Kansas. p. 34. ISBN 0700608990.
บรรณานุกรม
แก้- Beevor, Antony (2012). The Second World War. New York: Little, Brown. ISBN 978-0-316-02374-0.
- Evans, Richard J. (2005). The Third Reich in Power. New York: Penguin. ISBN 978-0-14-303790-3.